ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: Sleep Apnea : ง่วง นอนกรน นอนไม่อิ่ม  (อ่าน 1634 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

หมวยจ้า

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +40/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1336
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Sleep Apnea : ง่วง นอนกรน นอนไม่อิ่ม
« เมื่อ: กรกฎาคม 01, 2011, 04:00:38 am »
0


ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ(sleep apnea) เป็นภาวะที่มีการหยุดหายใจเป็นระยะๆหรือมีการหายใจตื้นๆสลับกับการหายใจที่ เป็นปกติในระหว่างที่นอนหลับ ซึ่งช่วงการหยุดหายใจดังกล่าวอาจเป็นเพียงไม่กี่วินาทีหรืออาจยาวเป็นนาทีก็ ได้ โดยมักเกิด 5-30 ครั้งหรือมากกว่าในเวลา 1 ชั่วโมง ส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ และมีอาการง่วงมากผิดปกติในช่วงระหว่างวันตามมา ซึ่งอาจนำมาสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น การหลับขณะขับรถ เป็นต้น รวมทั้งสมาธิและความจำก็จะลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงไปด้วย

            โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่พบนั้นจะเป็นประเภทที่มีการอุดกั้น ของทางเดินหายใจ (obstructive sleep apnea) มีสาเหตุมาจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ทางเดินหายใจ การหนาตัวของเนื้อเยื่อผนังคอในผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาก การโตของต่อมทอนซิลในเด็ก หรือภาวะเนื้องอกบริเวณทางเดินหายใจ เป็นต้น ซึ่งการที่อากาศต้องเดินทางผ่านทางเดินหายใจที่แคบลงสามารถก่อให้เกิด เสียงกรนขึ้นได้

            อีกประเภทหนึ่งที่พบได้น้อยกว่านั่นคือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเนื่องความผิดปกติของการสั่งงานของสมอง (central sleep apnea) ภาวะนี้สมองส่งสัญญาณควบคุมที่ผิดปกติไปยังกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการหยุดหายใจชั่วครู่

 อันตรายหรือไม่? หายานอนหลับมารับประทานเองได้หรือไม่?

            การหยุดหายใจขณะหลับทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง ส่งผลให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงมีการกระตุ้นร่างกายให้ตื่นขึ้นมาเพื่อหายใจ เมื่อเกิดการหยุดหายใจบ่อยๆ ผู้ป่วยจึงหลับๆตื่นๆตลอดคืนและไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำให้รู้สึกว่าตนเองนอนไม่หลับและตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น จากระดับออกซิเจนในเลือดที่ลดลงประกอบกับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ส่งผลเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจวาย นอกจากนี้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ไม่ได้รับการรักษายังสามารถนำไปสู่การใช้ พลังงานของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเพิ่มความเสี่ยงของภาวะอ้วนและเบาหวาน

          จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ป่วยบางรายที่รู้สึกว่าตนเองนอนไม่หลับนั้นจะพยายามหายานอนหลับมารับประ ทางเองเพื่อให้นอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งยานอนหลับบางชนิดที่ออกฤทธิ์กดประสาทแรง เช่น midazolam, alprazolam และ diazepamจะมีผลกดการกระตุ้นของร่างกายที่ทำให้ตื่นขึ้นเมื่อระดับออกซิเจนใน เลือดลดต่ำลง ดังนั้นการใช้ดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิตจากการหยุดหายใจได้ เพราะฉะนั้นแล้วจึงไม่ควรหายามาใช้เอง

 ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง?

            ภาวะหยุดหายใจขณะหลับพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมีการพบสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ผู้หญิงมักเริ่มมีภาวะนี้เมื่อตั้งครรภ์และเข้าสู่วัยทอง นอกจากนี้บุคคลที่มีโครงสร้างของระบบทางเดินหายใจแคบ ไม่ว่าจะเพราะโครงสร้างแต่กำเนิด ภูมิแพ้ หรือผลจากการใช้ยาบางชนิด มีแนวโน้มที่จะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าปกติ

 จะสังเกตได้อย่างไร?

            ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้ สามารถสังเกตเบื้องต้นได้จากอาการต่อไปนี้

    * การกรน ถือเป็นอาการหลักเนื่องจากการเกิดเสียงกรนเป็นลักษณะที่พบมากในผู้ที่มีภาวะ หยุดหายใจขณะหลับประเภทที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจ และประเภทดังกล่าวเป็นประเภทที่พบได้มากดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่มิได้หมายความว่าผู้ที่มีอาการกรนทุกคนจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การกรนที่เกิดขึ้นอาจมีการหยุดเป็นช่วงๆร่วมกับการสำลักซึ่งการสังเกตดังกล่าวต้องอาศัยคนในครอบครัวหรือคนรอบตัวเป็นผู้สังเกต
    * อาการอ่อนล้าเมื่อตื่นนอนตอนเช้า หรือรู้สึกว่านอนไม่เต็มอิ่มทั้งๆที่นอนพักผ่อนเต็มที่แล้ว
    * อาการง่วงมากผิดปกติในช่วงระหว่างวัน จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานหรือเรียนลดลง
    * ในเด็กอาจหงุดหงิดง่าย สมาธิจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งสั้น ท่านอนผิดปกติ หรือปัสสาวะราดที่นอนในเวลากลางคืน

 ควรปฏิบัติตนอย่างไร?

            เมื่อเริ่มสังเกตหรือสงสัยว่าอาจมีภาวะดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 มีวิธีการรักษาหรือไม่? อย่างไรบ้าง

            วิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีหลากหลายตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้เครื่องมือช่วยให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น ไปจนถึงการผ่าตัด ซึ่งการตัดสินใจเลือกใช้วิธีใดนั้นต้องพิจารณาตามความเหมาะสมตามแต่ละบุคคล จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์

            1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

    * หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    * ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางแรง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาทบางชนิด
    * ควบคุมน้ำหนักหากมีภาวะน้ำหนักเกิน
    * เปลี่ยนท่าทางในการนอนเป็นท่านอนตะแคง หลีกเลี่ยงท่านอนหงาย เนื่องจากอาจทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าท่านอนตะแคง
    * เลิกการสูบบุหรี่

            2. การใช้เครื่องมือ

    * อุปกรณ์ mouthpieceช่วยปรับให้กรามล่างและลิ้นอยู่ในลักษณะที่ไม่ปิดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ
    * เครื่องมือcontinuous positive airway pressure (CPAP) ลักษณะเป็นหน้ากากที่จะให้ลมที่ความดันเป็นบวกออกมา ทำให้ทางเดินหายใจไม่เกิดการอุดกั้น

            3. การผ่าตัด

                        ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจและการดูแลของแพทย์

 

บทความโดย: ภญ.กิตติมา วัฒนากมลกุล

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=49
บันทึกการเข้า
ถึงเป็นผู้หญิง ตัวเล็ก แต่ก็ยังสู้ได้อยู่ด้วยตัวคนเดียว
พุทโธ พุทโธ พุทโธ ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกถึง