ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ร่วมทำบุญสร้างวิหาร'พระพุทธอุดมมงคลเวฬุวัน'  (อ่าน 2714 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

หมวยจ้า

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +40/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1336
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) หรือพุทธศาสนิกชนทั่วไปคุ้นเคยในสมญา “สมเด็จโต” นั้น เป็นพระเถราจารย์ผู้ทรงคุณทางด้านสรรพวิชาต่าง ๆ ครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นพุทธมนต์อาคมขลัง เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคลที่ท่านสร้างแจกญาติโยมในอดีตก็คือ “พระสมเด็จวัดระฆัง” พระผงรูปทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ด้านหน้าเป็นรูปองค์พระนั่งสมาธิหรือปรกโพธิ์ด้านหลังเรียบ ได้รับความนิยมกว้างขวางและเป็นที่ต้องการของผู้คนจำนวนมาก จนถูกจัดเข้าในทำเนียบพระเบญจภาคี ๑ ใน ๕ ของสุดยอดพระเครื่อง มูลค่าการเช่าบูชาหลายล้านบาท ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่านที่เล่าขานกันมา คนไทยทั่วไปนับถือว่าท่านในฐานะสุดยอด “อมตะเถราจารย์” รูปหนึ่งของเมืองไทย

ประวัติโดยย่อ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) เกิดเมื่อเวลา ๐๗.๐๐ น. ของวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๓๑ ณ ต.ไก่จัน อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ในรัชสมัยต้นแผ่นดินรัตนโกสินทร์ มารดานามว่า เกสรคำ เมื่อวัยเยาว์ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดระฆังโฆสิตารามมหาวรวิหาร จังหวัดธนบุรี ทรงประพฤติอยู่ในเพศพรหมจรรย์โดยตลอด จนพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา จึงได้ทรงอุปสมบท ณ วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานครนั่นเอง และอยู่ในสมณเพศจนสิ้นอายุขัย ในเช้าตรู่ของวันอาทิตย์เวลา ๐๖.๐๐ น. ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๕ สิริอายุนับรวมได้ ๘๔ ปี กับ ๒ เดือนเศษ ถือว่าเป็นพระสงฆ์ ๕ แผ่นดิน ในยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ องค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีชวด พุทธศักราช ๒๔๐๗

อย่างไรก็ตามมีข้อมูลบางส่วนยังขัดแย้งกันอยู่ เกี่ยวกับการบรรพชาเป็นสามเณรของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) บ้างก็ว่าบรรพชาตั้งแต่วัย ๕ ขวบ บางข้อมูลว่าบรรพชาอายุ ๑๓ ปี แต่จากหลักฐานจากการสร้างพระเป็นรูปไก่ ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุก ไก่เถื่อน) ทรงบันทึกข้อความไว้ว่า “ไก่ ตัวนี้ สุก ไก่ เถื่อน เป็นผู้สร้าง ประสม ทอง เงิน นาน (นาก) ปลุกเสก ๓ พรรษา พ.ศ. ๒๓๓๒ พอ พ.ศ. ๒๓๓๕ หัวโต วัดระฆังก็ขอไปเลี้ยง” ปัจจุบันหลักฐานชิ้นนี้เก็บรักษาไว้ที่สำนักธรรมพรหมรังสี หากอ้างอิงตามบันทึกของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) บ่งชี้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) น่าจะบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่สิริอายุ ๕ พรรษา ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งข้อมูลนี้ยังต้องค้นคว้าข้อเท็จจริงกันต่อไป

ครั้นบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรโต ก็เริ่มศึกษาด้านปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ตลอดจนเร่งฝึกวิปัสสนาพระกรรมฐานความรู้แจ้งเห็นจริงก็ปรากฏขึ้นในดวงจิตที่ มุ่งมั่นสะอาดและบริสุทธิ์ จวบจนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝึกฝนจนจิตกล้าแกร่งก็ธุดงค์จาริกแสวงบุญตามป่าเขาและสถานที่เงียบสงัด หนึ่งในสถานที่ที่ท่านเคยไปคือ ถ้ำอิสีคูหาสวรรค์ จ.กำแพงเพชร ซึ่งมีการค้นพบของเก่าและที่สำคัญคือใบลานเก่าชำรุด เขียน “พระคาถาชินบัญชร” เป็นภาษาสิงหล ท่านได้นำกลับมาเรียบเรียงแก้ไขเป็นภาษามคธ-บาลี เพื่อให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย และได้แปลความหมายของพระคาถาที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์เป็นร้อยแก้ว สามารถนำไปใช้ได้ ๑๐๘ ประการด้วยการสวดท่องและอธิษฐานให้ขจัดทุกข์และบำรุงสุขได้อย่างมหัศจรรย์ ได้รับความนิยมตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญพระคาถาและพลังจิตอันเป็นหนึ่งของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) คือ การทำผงวิเศษต่าง ๆ ด้วยดินสอพอง โดยเขียนลงกระดานชนวนลงอักขระเลขยันต์ตามสูตรและลบกลายเป็นผงวิเศษ คือ ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงตรีนิสิงเห ผงมหาราช นำมาผสมคละเคล้ากับ เกสรร้อยแปด ดินเจ็ดโป่งเจ็ดท่า ดินใจกลางเมือง ดินกำฤาษี ผงวิเศษตามป่าตามเขา ตามถ้ำต่าง ๆ ไคลเสมา ไคลโบสถ์ ดินใจกลางเมือง ว่านยาต่าง ๆ ที่ท่านเก็บรวบรวมมาจาก จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นต้น เพื่อนำมาทำพระสมเด็จวัดระฆังอันเลื่องลือ

ปัจจุบันนี้ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า “พระสมเด็จวัดระฆัง” ของท่านมีกี่พิมพ์ กี่เนื้อหากันแน่ แต่ตามสากลนิยม โดยสมาคมผู้นิยมพระเครื่อง พระบูชาไทย ได้แบ่งพิมพ์มาตรฐาน ได้แก่ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์เกศบัวตูม และพิมพ์ฐานแซม นอกเหนือจากนี้ยังมีพิมพ์ปรกโพธิ์ (มีจำนวนน้อยมาก)

ทั้งนี้ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) นอกจากเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระแล้ว ท่านยังเป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงและไม่ปรารถนาลาภ ยศ สมณศักดิ์ใด ๆ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ท่านจึงยอมน้อมรับสมณศักดิ์โดยดี

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระมหาโตเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ในปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี ศรีนายกตรีปิฎกปรีชามหาคณฤศร บวรสังฆราชคามวาสี ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศ มรณภาพ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รูปที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๐๗

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) ได้สร้างวัดและสิ่งปลูกสร้างในพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม หลวงพ่อโตนั่งกลางแจ้งวัดไชโย จังหวัดอ่างทอง พระเจดีย์นอน วัดลครทำ เป็นต้น

ด้วยคุณวิเศษอันอเนกอนันต์ของ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) ที่กล่าวทั้งหมดในข้างต้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ก็ทรงศรัทธาในสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นอันมาก ทรงศึกษาประวัติและบทสวดมนต์ต่าง ๆ รวมทั้ง พระคาถาชินบัญชร จนเชี่ยวชาญและพระองค์ท่านทรงรวบรวมบทนิพนธ์เป็นประวัติพระคาถาชินบัญชรขึ้น ซึ่งใช้เป็นพระคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนนิยมสวดเพื่อความเป็นสิริ มงคลในทุกวันนี้

เมื่อกล่าวถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) และสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) แล้ว ทั้ง ๒ องค์ ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่ต่างยุคสมัยกัน แต่หากพิจารณาปฏิปทาจริยาวัตรและทรงคุณด้านวิชาคาถาอาคมแล้ว ในปัจจุบันนี้พระพุทธศาสนิกชนได้มีความศรัทธาในเจ้าประคุณสมเด็จทั้ง ๒ องค์ยิ่งนัก

ด้านประวัติการสร้างวัตถุมงคลนั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงสร้างพระพุทธพิมพ์ และพระกริ่งเอาไว้เป็นส่วนมาก แต่มีที่พิเศษคือเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ คราวพระองค์ท่านยังพระพลานามัยแข็งแรง ได้ทรงสร้างรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) เอาไว้ ประกอบด้วย รูปหล่อบูชา ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว มี ๓ เนื้อ คือ เนื้อเงิน เนื้อสัตโลหะ และเนื้อทองเหลืองรมดำ นอกจากนี้ยังได้สร้างเหรียญสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) มีลักษณะเป็นเหรียญกลม ด้านหลังเป็นรูปพระพรหม มี ๔ เนื้อ คือ เนื้อผง เนื้อทองแดงนอก เนื้อเงิน และเนื้อทองคำ อีกด้วย

ในการสร้างรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) ครั้งนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงประกอบพิธีเททอง และพิธีมังคลาภิเษกด้วยพระองค์เอง ทรงจุดเทียนชัยและนั่งอธิษฐานจิตตลอดพิธี เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๖ เวลา ๑๕.๑๙ น. โดยมีพระเกจิที่มีชื่อเสียงยุคนั้นทั่วประเทศเป็นจำนวนมากเดินทางมาร่วมนั่ง ปรก โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม) วัดชนะสงครามประกอบพิธีดับเทียนชัย วัตถุมงคลรุ่นนี้จึงได้รับความนิยมกันมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเปี่ยมล้นด้วยพุทธคุณและความเข้มขลัง

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี พระรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) รุ่นนี้ยังเหลือเก็บไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เนื่องจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ โปรดให้เก็บรักษาเอาไว้บางส่วน และพระองค์ท่านทรงมีดำริมอบให้สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชฯ นำออกมาให้ผู้มีจิตศรัทธาเช่าบูชาในปี ๒๕๕๔ เพื่อหาทุนทรัพย์ร่วมก่อสร้างพระพุทธวิหารพระพุทธอุดมมงคลเวฬุวัน ณ วัดเวฬุวัน จ.บึงกาฬ เพื่อให้แล้วเสร็จตามโครงการที่ทรงดำริไว้

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชฯ โทร.๐-๒๒๘๑-๒๘๓๑-๒, ๐๘-๑๕๕๒-๙๙๖๗.

อาราธนานัง รายงาน

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=502&contentId=149794
บันทึกการเข้า
ถึงเป็นผู้หญิง ตัวเล็ก แต่ก็ยังสู้ได้อยู่ด้วยตัวคนเดียว
พุทโธ พุทโธ พุทโธ ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกถึง