ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญหาเรื่อง แบ่งส่วนบุญ กับ อนุโมทนาบุญ  (อ่าน 776 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ปัญหาเรื่อง แบ่งส่วนบุญ กับ อนุโมทนาบุญ

มีการตั้งปัญหาถามกันว่า คนทำบุญ ไม่ได้แบ่งส่วนบุญให้เรา คือ ไม่ได้อุทิศส่วนบุญให้เรา (อาจเป็นเพราะเขาไม่รู้จักเราหรือเพราะเหตุใดๆ ก็ตาม) แต่เรารู้เห็นว่าเขาทำบุญ เราจึงอนุโมทนา ดังนี้ เราจะได้บุญหรือไม่ ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า

(๑) เขาจะแบ่งส่วนบุญหรือไม่ได้แบ่ง ถ้าเราอนุโมทนา เราก็ได้บุญทันที หรือว่า
(๒) เขาต้องแบ่งส่วนบุญก่อน ถ้าเขาไม่ได้แบ่ง แม้เราจะอนุโมทนา เราก็ไม่ได้บุญ

@@@@@@@

คำถามคือ หลักในเรื่องนี้มีว่าอย่างไร.?

(คำว่า “แบ่ง” ให้เข้าใจว่าคือ “อุทิศส่วนบุญ”)

    – มีบางคนบอกว่า “ผู้อนุโมทนา ไม่ได้บุญ เพราะคนที่ทำบุญไม่ได้อุทิศให้…”
    – บางคนบอกว่า “เขาจะอุทิศให้ หรือไม่ได้อุทิศให้ ผู้ใดอนุโมทนา ผู้นั้นก็ได้บุญ”
      (คำตอบในเบื้องต้นในที่นี้ ก็คือว่า “ผู้อนุโมทนา ย่อมได้บุญแน่แท้)

ข้อที่ควรศึกษาก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ก็คือว่า คำว่า “บุญ” นั้น คืออะไร.? เกิดที่ไหน.? เกิดอย่างไร.? เกิดกับใคร ต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้องด้วย จึงจะสามารถตอบคำถามานี้ได้อย่างมีหลักเกณฑ์

คำว่า “บุญ” ภาษาบาลีเขียนว่า “ปุญฺญ” มีปริยายโวหารให้ความหมายไปในลักษณะต่าง ๆ มากมาย เช่น
    – หมายถึง กรรมดี, ความดี
    – ความสุข (คำว่าบุญ เป็นชื่อของความสุข)
    – กรรมที่ชำระสันดานของบุคคลให้สะอาด
    – กรรมที่ชำระผู้กระทำให้สะอาด
    – เป็นธรรมที่บัณฑิตบูชา
    – บางทีก็ใช้คำว่า “สบายใจ” ทำอะไรแล้วตนเองสบายใจ ไม่เดือดร้อนใจ ก็เรียกว่าเป็นบุญ หรือทำบุญ ฯลฯ

“บุญ” แต่เมื่อพูดโดยสภาวะแล้ว ก็เป็นเช่นเดียวกันกับคำว่า “กุศล” เป็นไวพจน์ คือคำที่ใช้แทนกันได้ แต่คำว่าบุญมักจะกล่าวกันในระดับกามาวจรกุศล อย่างที่ใช้ในคำว่า “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เช่น ทานมัย,ศีลมัย เป็นต้น”

ถ้าเป็นในระดับรูปาวจร, อรูปาวจร, หรือในระดับโลกุตตระแล้ว มักใช้ศัพท์ว่า “กุศล” ไม่ใช้ศัพท์ว่า “บุญ” แท้จริง บุญในระดับกามาวจร ถ้าพูดถึงจิต ก็มักจะเรียกเป็นกุศลเช่นเดียวกัน เช่น มหากุศลจิต, กามาวจรกุศลจิต เป็นต้น

คำว่า “บุญ” เป็นปริยายโวหารที่กล่าวเรียกกันในสุตตันตปิฎก เป็นส่วนมาก ส่วนคำว่า “กุศล” เป็นธรรมที่กล่าวเรียกกันในอภิธรรมปิฎก เช่นคำว่า “กุสลา ธัมมา”, กามาวจรกุศล, รูปาวจรกุกศล เป็นต้น


@@@@@@@

บุญ คืออะไร.?

บุญ คือสภาวะธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ได้แก่ ธรรมที่ประกอบกับจิต เรียกว่า “เจตสิก” บ้าง เรียกว่า “ธรรมที่สัมปยุตตจิต” บ้าง ว่าโดยสภาวะปรมัตถ์ได้แก่คุณธรรมต่าง ๆ มี ศรัทธา, สติ, หิริ, โอตตัปปะ, อโลภะ, อโทสะ, เมตตา,กรุณา, วีรตี, ปัญญา เป็นต้น ภาษาอภิธรรมจะเรียกธรรมเหล่านี้ว่า “โสภณเจตสิก” ซึ่งมี ๒๕ ชนิด ด้วยกัน คือ

     – โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙
     – วิรตีเจตสิก ๓
     – อัปปมัญญาเจตสิก ๒
     – ปัญญาเจตสิก ๑

โดยภาพรวมแล้ว “บุญ” ก็คือจิตและคุณธรรมที่สัมปยุตหรือประกอบกับจิตนั้น (กุศลจิตตุปบาท) ในอภิธรรมปิฎกหมายถึง กุศลจิต ๒๑ เจตสิกที่ประกอบ ๓๘ ดวง (ดูรายละเอียดท้ายบทความ)

     เพราะเหตุไร จึงเรียกธรรมเหล่านี้ว่า “เป็นบุญ หรือเป็นกุศล.?

     เพราะดูที่ผล (วิบาก) ซึ่งเกิดจากคุณธรรมเหล่านี้ ธรรมเหล่านี้ เมื่อเข้าถึงความเป็นเหตุ หรือเป็นกรรม ย่อมให้วิบากที่เป็นสุข ไม่มีโทษ ซึ่งแตกต่างจากธรรมที่เป็นบาป อกุศล ซึ่งให้ผลเป็นความทุกข์ ที่เรียกว่าเป็นบุญ กุศล มิใช่เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ หรือบัญญัติไว้
     พระพุทธเจ้าจะตรัส หรือไม่ได้ตรัส สิ่งนั้นๆก็เป็นบุญ เป็นกุศลโดยธรรมดาของมันเองอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบและทราบความจริง แล้วนำมาบอกกล่าว เท่านั้นฯ

@@@@@@@

อนึ่ง นอกจากคุณธรรม คือโสภณเจตสิก ๒๕ ดวงดังกล่าวมาแล้วนั้น ธรรมที่ชื่อว่า “บุญ หรือกุศล” ยังอนุโลมเจตสิกธรรมอื่น ๆ ที่ประกอบร่วมกับจิต และเจตสิกธรรมทั้ง ๒๕ ดวงนี้อีก ๑๓ ชนิด คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗, ปกิณกเจตสิก ๖ ตามสมควรที่ประกอบได้

     อย่างเช่นที่รู้จักกันดีก็คือ “วิริยะเจตสิก ซึ่งอยู่ในกลุ่มของปกิณกเจตสิก ๖”
     วิริยะได้แก่ความเพียร ถ้าประกอบกับกุศลจิต วิริยะก็พลอยเป็นกุศล เป็นบุญไปด้วย เช่น สัมมัปธาน ๔, วิริยิทธิบาท ,วิริยสัมโพชฌงค์ เป็นต้น,
     แต่ถ้าวิริยะไปประกอบกับอกุศลธรรม มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น วิริยะก็จะกลายเป็นอกุศลไปด้วย เช่น มีความเพียรพยายามในการฆ่าสัตว์(ประกอบกับโทสะ) มีความพยายามในการลักทรัพย์(ประกอบกับโลภะ) เป็นต้น

ประการหนึ่ง เนื่องจากคำว่า “บุญ” นั้น เป็นชื่อของการกระทำ (กรรม) ตัวที่ให้สำเร็จการกระทำ หรือตัวที่เรียกว่าเป็นกรรมนั้น ก็ได้แก่ “เจตนา” ดังพุทธพจน์ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ…”

“เจตนา” คือ ธรรมชาติที่ทำให้จิตสำเร็จการกระทำที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งแสดงออกมาทางกาย วาจา และใจ การกระทำนั้นจะออกมาเป็นบุญ, กุศล ได้นั้น เจตนาต้องประกอบกับคุณธรรม คือประกอบกับโสภณเจตสิกดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าเจตนานั้น ไปเกิดพร้อมกับอกุศลธรรม มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เจตนานั้นก็จัดว่าเป็นอกุศลกรรม หรือเป็นเจตนาที่เป็นบาป, ชั่วช้า (รายละเอียดของโสภณเจสิกทั้งหมด ให้ดูท้ายบทความนี้)

“บุญ” ที่บุคคลทั้งหลายรู้จักและพูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือบุญในระดับกามาวจร มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น

    ในขณะที่ให้ทาน สิ่งที่เรียกว่า “บุญ” คือจิตที่ประกอบด้วยคุณธรรม มีศรัทธา, มี สติ, มี อโลภะ(ความไม่ตระหนี่),มีเมตตา,กรุณา เป็นต้น ดังกล่าวแล้ว สิ่งอื่น ๆ เช่น วัตถุสิ่งของ,ข้าว,น้ำ,พระภิกษุ,สามเณร หรือปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น ที่เป็นวัตถุธรรม หรือปฏิคคาหก ไม่จัดว่าเป็นบุญ เป็นแต่เพียงอุปกรณ์ หรือสิ่งที่อำนวยให้เกิดคุณธรรมที่เป็นบุญในจิตใจขึ้นเท่านั้น ตัวที่เป็นบุญจริงๆนั้น มุ่งหมายเอาจิตและเจตสิกธรรมดังกล่าวแล้วเท่านั้น


@@@@@@@

การอนุโมทนาในบุญกุศล หรือในคุณธรรมความดีของผู้อื่น เป็นบุญอย่างไร.?

อย่างที่บอก “บุญได้แก่คุณธรรม มีศรัทธา,สติ,หิริ,โอตตัปปะ เป็นต้น ที่เกิดพร้อมกับจิต” ในกาลใดก็ตาม บุคคลมีจิตพลอยยินดี (อนุโมทนา) ในบุญกุศลหรือคุณงามความดีที่บุคคลอื่นๆ ได้กระทำไปแล้ว ในกาลนั้น จิตของผู้นั้น ย่อมเป็นจิตที่เบิกบาน ผ่องใส ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา ริษยา เป็นต้น

และจิตที่เกิดในขณะอนุโมทนานั้น ย่อมเป็นจิตที่ประกอบด้วยคุณธรรม มี ศรัทธา เชื่อในคุณพระรัตนตรัย มี สติ,หิริ,โอตตัปปะ อโลภะ,(ไม่ตระหนี่) อโทสะ เป็นต้น บุญกุศลย่อมเกิดแก่ผู้นั้นอย่างเต็มที่ แม้จะมีหรือไม่มีผู้แบ่งส่วนบุญ หรืออุทิศส่วนบุญก็ตาม

เหมือนอย่างว่า “พ่อ-แม่ อยู่ต่างจังหวัด ส่งลูกมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ บุตรนั้นมีความขยัน ไม่เกเร เรียนเก่ง ครบกำหนดก็จบการศึกษา เมื่อพ่อแม่ ได้ทราบข่าวว่า ลูกของตนเอง มีความขยัน ไม่เกเร เรียนเก่งจนจบการศึกษา พ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด ย่อมเกิดความยินดี ย่อมพลอยยินดีกับความสำเร็จของลูกตนเอง แม้ลูกของตนเองนั้นจะแบ่งหรือไม่แบ่งความสำเร็จในการศึกษานั้นให้ตนก็ตาม พ่อแม่ก็พลอยยินดีได้ เกิดความบันเทิงใจได้ ฉันใด. นาย ก.ได้ทำบุญ หรือกระทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว บุคคลอื่นเห็นว่าการกระทำของนาย ก. เป็นบุญกุศลเป็นความดี ก็พลอยยินดีอนุโมทนากับนาย ก.นั้น ได้ฉันนั้น

(การพลอยยินดี อนุโมทนาบุญนั้นนั่นแหละ เป็นบุญซึ่งเกิดขึ้นกับจิตของเขาเอง เพราะจิตที่เกิดขณะนั้นประกอบด้วยคุณธรรมที่เป็นบุญ จะเห็นได้ว่า ผู้อนุโมทนาบุญ เป็นผู้ที่สร้างบุญให้เกิดกับจิตใจของตนเอง มิใช่เขาได้บุญเพราะคนที่ทำบุญแบ่งมาให้เขา)

บุญไม่ใช่วัตถุสิ่งของ ไม่ใช่เค้กวันเกิด ที่จะตัดเป็นชิ้นๆแล้วแบ่งให้คนโน้น คนนี้ แต่บุญจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อผู้นั้นทำใจของตนเองให้เป็นบุญเท่านั้น การอนุโมทนาบุญนั่นแหละเป็นการทำบุญ ได้บุญอย่างหนึ่ง ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ข้อที่ว่า “ปัตตานุโมทนามัย” บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาบุญ

@@@@@@@@

ภาคผนวก : โสภณเจตสิก มี ๒๕ ดวง แบ่งเป็น

ก.) โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง

     ๑. สัทธาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ คือ มีความเลื่อมใสใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในกรรมและผลของกรรม เป็นต้น (ศรัทธาต้องมีปัญญากำกับ)
     ๒. สติเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความระลึกได้ในอารมณ์ ทำให้จิตเป็นกุศลธรรม
     ๓. หิริเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นความเกลียด และ ละอายต่อทุจริตกรรม (บอกตัวเอง)
     ๔. โอตตัปปเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่สะดุ้งกลัวต่อทุจริตกรรม (บอกผู้อื่น)
     ๕. อโลภเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ไม่อยากได้และไม่ติดอยู่ในอารมณ์
     ๖. อโทสเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ไม่ประทุษร้ายอารมณ์
     ๗. ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำให้โสภณเจตสิก สม่ำเสมอในกิจการของตน โดยไม่ยิ่งหย่อน (ไม่ให้เจตสิกดวงใดมีกำลังมากเกินไป)
     ๘. กายปัสสัทธิเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความสงบให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนา สัญญา สังขาร) ในการงานอันเป็นกุศล
     ๙. จิตตปัสสทธิเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความสงบให้จิตในการงานอันเป็นกุศล
   ๑๐. กายลหุตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความเบาให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล
   ๑๑. จิตตลหุตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความเบาให้จิต ในการงานอันเป็นกุศล
   ๑๒. กายมุทุตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความอ่อนให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล
   ๑๓. จิตตมุทุตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความอ่อนให้จิต ในการงานอันเป็นกุศล
   ๑๔. กายกัมมัญญตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความเหมาะควรให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล
   ๑๕. จิตตกัมมัญญตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความเหมาะควรให้จิต ในการงานอันเป็นกุศล
   ๑๖. กายปาคุญญตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความคล่องแคล่วให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล
   ๑๗. จิตตปาคุญญตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความคล่องแคล่วให้จิต ในการงานอันเป็นกุศล
   ๑๘. กายุชุกตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความซื่อตรงให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล
   ๑๙. จิตตุชุกตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความซื่อตรงให้จิต ในการงานอันเป็นกุศล

ข.)วีรติเตตสิก ๓ ดวง

    ๑. สัมมาวาจาเจตสิก เว้นการกล่าววจีทุจริต ๔ (ที่ไม่เป็นอาชีพ)
    ๒. สัมมากัมมันตเจตสิก เว้นจากกายทุจริต ๓ (ที่ไม่เป็นอาชีพ)
    ๓. สัมมาอาชีวเจตสิก เว้นจากวจีทุจริต ๔ และ กายทุจริต ๓ ที่เกี่ยวด้วยอาชีวะ

ค.) อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง

     ๑. กรุณาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความสงสารต่อทุกขิตสัตว์
     ๒. มุทิตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความยินดีต่อสุขิตสัตว์

ง.) ปัญญินทรีย์เจตสิก ๑ ดวงมี

    ๑. ปัญญา(อโมหะ)เจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่รู้สภาพธรรมทั้งหลาย ตามความเป็นจริง

รวมเป็น โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง

กุศลธรรม (กุศลจิตตุปบาท) ได้แก่ กุศลจิต ๒๑ เจตสิกที่ประกอบ ๓๘ ได้แก่
     – มหากุศลจิต ๘
     – รูปาวจรกุศลจิต ๕
     – อรูปาวจรกุศลจิต ๔
     – มรรคจิต ๔

เจตสิก ที่ประกอบ ๓๘ คือ

    – สัพพสาธารณเจตสิก ๗ ได้แก่ ผัสสะ, เวทนา,สัญญา, เจตนา,เอกัคคตา, ชีวิตินทรีย์, มนสิการ
    – ปกิณกเจตสิก ๖ ได้แก่ วิตก, วิจาร, อธิโมกข์, วิริยะ, ปีติ, ฉันทะ
    – โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ (ดูรายละเอียดด้านบน)
    – วิรตีเจตสิก ๓ (ดูรายละเอียดด้านบน)
    – อัปปมัญญาเจตสิก ๒ (ดูรายละเอียดด้านบน)
    – ปัญญาเจตสิก ๑ (ดูรายละเอียดด้านบน)

รวมเป็นเจตสิก ๓๘ ดวง





ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2018/11/03/ปัญหาเรื่องแบ่งส่วนบุญ/
By VeeZa ,๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 24, 2021, 06:38:46 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ