ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระสังฆราช ศรี, ศุข, มี, สุก..มีความเป็นเลิศต่างกันอย่างไร.?  (อ่าน 4606 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28496
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


พระสังฆราช ศรี, ศุข, มี, สุก..มีความเป็นเลิศต่างกันอย่างไร.?
คอลัมภ์ : เล่าไปเรื่อยๆ (17) โดย วิษณุ เครืองาม wis.k@hotmail.com

กรุงเทพฯ หรือกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุ 230 ปีเข้านี่แล้ว (พ.ศ. 2325-2555) มีสมเด็จพระสังฆราชรวม 19 องค์


องค์แรก คือ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี หรือ สี)
เดิมท่านเคยเป็นพระอยู่วัดพนัญเชิง อยุธยา เมื่อเสียกรุงท่านก็ลี้ภัยไปอยู่นครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปปราบก๊กเจ้านครก็เลยนิมนต์ท่านขึ้นมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชครองวัดบางหว้าใหญ่หรือวัดระฆังโฆสิตาราม แต่อยู่มาปลายรัชกาลท่านไปเกิดข้อขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเรื่องที่ว่าพระสงฆ์จะต้องกราบไหว้ฆราวาสที่บรรลุโสดาบันหรือไม่

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เห็นว่าไม่ต้องเพราะโสดาปัตติบุคคลเป็นเพียงผู้มีดวงตาเห็นธรรม ยังไม่เป็นอริยบุคคล ยังละวางหลายอย่างไม่ได้ ในขณะที่พระสงฆ์มีศีล 227 ข้อ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกริ้วว่าสมเด็จพระสังฆราชขัดพระทัย และหาว่าเป็นถึงสมเด็จพระสังฆราชยังจะไม่รู้จริง

จึงจับสึกส่งไปทำงานหนักอยู่ที่วัดหงส์ริมคลองบางกอกใหญ่ ตั้งพระราชาคณะรูปอื่นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแทน พระเวลานั้นก็ประจบคฤหัสถ์เชียร์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกันยกใหญ่ถึงขนาดตั้งพระนามถวายว่า “พระยอดโยคาวจร” เทียบเท่าพระพุทธเจ้าไปโน่น!

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะวิปริตวิปลาสหรือไม่ ไม่รู้ล่ะ แต่พระไม่ว่าสมัยไหนก็มีส่วนส่งเสริมให้ฆราวาสเฟื่อง ๆ อยู่เหมือนกัน

เมื่อรัชกาลที่ 1 ครองราชย์แล้ว มีพระราชปรารภว่าสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) มีสันดานมั่นคงในศาสนา ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ควรแก่การเคารพนบไหว้ จึงโปรดให้กลับมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชมีพระนามว่า
    สมเด็จพระอริยวงษญาณครองวัดบางหว้าใหญ่ตามเดิม ท่านได้เป็นพระราชอุปัชฌาย์ของสมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม กรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 2) และพระเจ้าหลานเธออีก 2 พระองค์คราวทรงผนวช ทั้งยังได้เป็นประธานในการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงเทพฯ ที่วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุ) เมื่อ พ.ศ.2331 อีกด้วย


แม้จะไม่ทราบพระชนมายุของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) แน่ชัด แต่น่าจะมีชันษายืนยาวมาก ในกฎพระสงฆ์ที่รัชกาลที่ 1 ทรงตราขึ้นออกพระนามว่า “สมเด็จพระสังฆราชผู้เฒ่า” รวมเวลาที่ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชสมัยกรุงธนบุรี 12 ปี และสมัยกรุงเทพฯ 12 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2337

พูดถึงวัดบางหว้าใหญ่เป็นวัดโบราณอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งธนบุรี อยู่ใกล้เรือนเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเสด็จมาทรงฝึกวิปัสสนา และเจ้าพระยาจักรีเคยส่งบุตรชายคือพ่อฉิมมาเรียนหนังสือ ในวัดมีพระปรางค์องค์ใหญ่งดงามจัดว่าเป็นแบบอย่างพระปรางค์ชั้นครู เจ้าพระยาจักรีเคยยกเรือนของท่านให้วัดทำเป็นหอไตร

บัดนี้ยังอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงทรงบูรณะวัดใหม่ มีผู้ขุดพบระฆังเสียงดีมาก จึงตั้งชื่อว่าวัดระฆังโฆสิตาราม ระฆังนั้นบัดนี้อยู่ที่หอระฆังวัดพระแก้ว วัดนี้มาโด่งดังอีกคราวสมัยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นเจ้าอาวาสในสมัยรัชกาลที่ 4-5





สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2 ของสมัยกรุงเทพฯ
ยังใช้พระนามตามตำแหน่งว่าสมเด็จพระอริยวงษญาณเหมือนองค์ก่อน พระนามเดิมว่า “ศุข” หรือ “สุข” สมัยกรุงธนบุรีท่านได้เป็นพระผู้ใหญ่ชื่อพระญาณสมโพธิ อยู่วัดสลัก (วัดมหาธาตุ) ต่อมาได้เป็นพระธรรมเจดีย์ เมื่อขึ้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงมีเรื่องแค้นเคืองกับพระพนรัตน วัดบางหว้าใหญ่จึงกราบทูลให้ประหาร

แต่รัชกาลที่ 1 มีพระราชดำริว่าพระพนรัตนเคยเป็นอาจารย์เก่าของสมเด็จเจ้าฟ้าฉิม พระราชโอรส จึงลงโทษแค่สึกไม่ถึงประหารแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการจนได้เป็นพระยา ส่วนสมณศักดิ์พระพนรัตนที่ว่างลง โปรดให้พระธรรมเจดีย์ (ศุข) วัดสลักเลื่อนขึ้นเป็นพระพนรัตนแทน ในคราวทำสังคายนา ท่านได้เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎกแสดงว่าชำนาญทางพระวินัยมาก

เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) สิ้นพระชนม์ ท่านก็ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2 สืบต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 จึงสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2359 พระชันษาน่าจะมากกว่า 80 ปี ทรงอยู่ในตำแหน่งนานถึง 23 ปี ผลงานสำคัญก่อนสิ้นพระชนม์คือ ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการสนองพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 2 จัดส่งคณะสมณทูตออกไปลังกา หลังจากที่เคยไปในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเมื่อ 50 ปีก่อนมาแล้วชุดหนึ่ง

การที่สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ประทับอยู่วัดสลักหรือวัดมหาธาตุและวัดนี้เคยใช้เป็นที่ทำสังคายนา จึงมีการซ่อมสร้างเสนาสนะต่าง ๆ มากมาย โดยหวังให้เป็นพระอารามประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสืบไป ใครเป็นสมเด็จพระสังฆราชต้องย้ายมาครองวัดนี้คล้าย ๆ โป๊ปที่ต้องอยู่โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม

วัดมหาธาตุเป็นวัดสำคัญ มีชื่อวัดนี้ปรากฏในทุกพระนคร เช่นที่สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา หรือแม้แต่พิษณุโลก กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช วัดมหาธาตุที่กรุงเทพฯ เดิมชื่อวัดสลัก
     ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดนิพพานาราม และวัดมหาธาตุตามลำดับ ความที่อยู่ใกล้วังหน้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงรับอุปถัมภ์มาแต่แรก ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับอุปถัมภ์ต่อไป จึงเติมสร้อยนามวัดเป็น “ยุวราชรังสฤษฎิ์”

เมื่อสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระสังฆราชองค์ที่ 2 สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 2 โปรดให้สถาปนาสมเด็จพระพนรัตน (มี) วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 3 และเข้าขบวนแห่จากวัดราชบุรณะไปสถิต ณ วัดมหาธาตุตามตำแหน่ง





องค์ที่ 3 สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นคนกรุงเก่า
เกิดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อุปสมบทแล้วได้ย้ายมาอยู่วัดเลียบ บางกอก สอบได้เป็นเปรียญเอก ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เป็นพระราชาคณะที่พระวินัยรักขิต ต่อมาเป็นพระพิมลธรรม ในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เป็นสมเด็จพระพนรัตน เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) สิ้นพระชนม์จึงได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่อยู่ในตำแหน่งเพียง 3 ปีก็สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2362 พระชันษา 70 ปี

วัดเลียบหรือราชบุรณะเป็นวัดเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ชื่อวัดอาจได้มาจากต้นเลียบใหญ่หน้าวัด แต่บ้างก็ว่าจีนเลี้ยบเป็นผู้สร้างเพราะในหนังสือเก่า ๆ เคยเรียกวัดจีนเลี้ยบ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 1 ได้โปรดฯ ให้พระเจ้าหลานเธอพระองค์หนึ่งบูรณะขึ้นใหม่จึงได้ชื่อว่าวัดราชบุรณะเหมือนชื่อวัดที่กรุงเก่า

วัดนี้เคยเป็นสำนักเรียนบาลีชื่อดัง แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ความที่อยู่ใกล้สะพานพุทธฯ และโรงไฟฟ้าวัดเลียบ จึงถูกเครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดจนเสียหายยับเยิน รัฐบาลประกาศยุบวัด ภายหลังรัฐบาลจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณะขึ้นใหม่หมดดังปรากฏในปัจจุบัน

เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระพนรัตน ท่านเป็นบุคคลสำคัญที่รับสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นธุระจัดพระสงฆ์ส่งไปสืบข่าวพระศาสนาในลังกา พูดอย่างปัจจุบันก็คือส่งพระไปดูงานและเจริญสัมพันธไมตรีกับคณะสงฆ์ลังกา

ส่วนผลงานที่เกิดหลังทรงรับตำแหน่งแล้วก็มี เช่น การเป็นกำลังสำคัญของรัชกาลที่ 2 ในการรื้อฟื้นประเพณีวิสาขบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2360 จนเราได้มาฉลองพุทธชยันตีกันในปีนี้ (พ.ศ. 2555) และยังทรงจัดการศึกษาคณะสงฆ์ใหม่จากหลักสูตรเรียนตรี โท เอก เป็นระบบการศึกษา 9 ประโยค ผู้สอบได้ตั้งแต่ประโยค 3 ขึ้นไปเรียกว่าเปรียญ อันเป็นแบบแผนการศึกษาจนทุกวันนี้

ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อสร้างกรุงเทพฯ แล้วมีพระราชปรารภว่าคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พระเณรผู้มีความรู้ต่างสึกเสียก็มาก หลบหนีไปอยู่ที่อื่นก็มาก ทรงห่วงก็แต่พระที่ยังคงอยู่ในกรุงศรีอยุธยา จะยากแค้นขัดสนลำบากอย่างไรไม่รู้ ถ้ายังมีอยู่ก็ควรอาราธนาให้ลงมาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ จะได้ทรงอุปถัมภ์บ้าง

    เมื่อสืบความไปก็ได้พบว่า พระสุก ชาวกรุงเก่าเกิดนอกกำแพงเมือง
    บวชเป็นพระมานานแล้ว อายุร่วม 50 ปี ขณะนั้นเป็นสมภารเจ้าวัดท่าหอย ริมคลองคูจาม
    มีศีลาจารวัตรงดงาม ชำนาญทางวิปัสสนาธุระ มีเมตตาเป็นที่รักใคร่นับถือของชาวบ้านทั่วไป

    จึงโปรดให้อาราธนาลงมาอยู่วัดพลับ ฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นวัดป่าเหมาะแก่การฝึกวิปัสสนากรรมฐาน
    แล้วทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ “พระญาณสังวรเถร” ในฝ่ายอรัญวาสี


รัชกาลที่ 1 และ 2 ทรงนับถือพระญาณสังวรเถร (สุก) มาก โปรดให้อาราธนามาร่วมพระราชพิธีต่าง ๆ อยู่เป็นนิจ รวมทั้งได้เป็นพระอุปัชฌาย์คราวที่รัชกาลที่ 3 ครั้งยังเป็นพระเจ้าหลานเธอทรงผนวช และเป็นพระอาจารย์ถวายหนังสือรัชกาลที่ 2 และ 4 เมื่อทรงผนวชอีกด้วย

เกียรติคุณยิ่งใหญ่ของพระญาณสังวรเถร (สุก) คือ การเอาใจใส่และส่งเสริมวิปัสสนาธุระในประเทศไทยอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก จนเกิดสำนักต่าง ๆ ทั้งในกรุงและหัวเมือง แทบทุกวัดจะมีพระสอนกรรมฐานหรือการปฏิบัติธรรม

ด้วยความที่ท่านเป็นพระมหาเถระทรงคุณทางวิปัสสนากรรมฐานจึงเป็นพระที่มีเมตตาสูง สามารถแผ่พรหมวิหารธรรมจนทำให้ไก่ป่า ซึ่งปกติจะดุร้ายกลายเป็นสัตว์ที่เชื่องได้ และการที่ท่านมีพรรษายุกาลสูงกว่าสมเด็จพระสังฆราช (มี) เวลามีงานพระราชพิธีท่านมักได้รับอาราธนาให้นั่งหัวแถวก่อนสมเด็จพระสังฆราช (มี) เสมอ





สมเด็จพระสังฆราชลำดับที่ 4 ของกรุงเทพฯ
เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2362 รัชกาลที่ 2 ได้สถาปนาท่านเป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราชลำดับที่ 4 ของกรุงเทพฯ และแห่จากวัดราชสิทธารามหรือวัดพลับไปครองวัดมหาธาตุตามตำแหน่ง แต่ท่านก็มักปลีกตัวไปสอนกรรมฐานที่วัดพลับ ธนบุรี คนทั้งหลายมักเรียกท่านว่าหลวงปู่สุกหรือไม่ก็สังฆราชไก่เถื่อน ท่านอยู่ในตำแหน่งได้เกือบ 2 ปีก็สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2365 พระชันษา 90 ปี

    วัดพลับนั้นบัดนี้คือวัดราชสิทธาราม รัชกาลที่ 3 และ 4 ทรงถือว่าเป็นศิษย์วิปัสสนาวัดนี้
    จึงโปรดฯ ให้สร้างเจดีย์ประจำพระองค์ไว้คู่กัน และยังเป็นสำนักสอนกรรมฐานสำคัญมาจนทุกวันนี้
    ส่วนสมณศักดิ์ “ญาณสังวรเถร” ก็สงวนไว้สำหรับพระที่ทรงวิทยาคุณพิเศษ
    ทางกรรมฐาน มีเมตตาสูง เป็นที่เคารพนับถือของพระมหากษัตริย์

    ซึ่งต่อมาได้ใช้เป็นสมณศักดิ์ของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ) วัดบวรฯ จนกระทั่งท่านได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชก็ยังคงใช้สมณศักดิ์นี้ต่อมา

    "มาถึงบัดนั้น กรุงเทพฯ มีอายุ 40 ปี มีพระมหากษัตริย์ 2 รัชกาล แต่มีสมเด็จพระสังฆราชแล้ว 4 องค์
    เรียกตามพระนามเดิมคือศรี ศุข มี สุก แต่ละองค์ทรงเกียรติคุณต่าง ๆ กัน
    สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นเลิศทางซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรงคงมั่น ไม่หวั่นไหวเกรงภัยใด ๆ
    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นเลิศทางพระวินัย แม่นยำชัดเจน
    สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นเลิศด้านคันถธุระคือการจัดการปกครองและการศึกษาคณะสงฆ์ได้ดี
    ส่วนสมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั้นเป็นเลิศทางวิปัสสนาธุระและเมตตาธรรม"


    เราได้พระมหากษัตริย์ที่เอาพระทัยใส่ในพระศาสนา และได้พระมหาเถระที่ทรงวิทยาคุณเกื้อหนุนอีกแรงอย่างแข็งขันเช่นนี้เอง มิน่าล่ะ อาณาจักรและสังฆมณฑลจึงได้ยั่งยืนมั่นคงสืบมาจนทุกวันนี้.





ขอบคุณบทความและภาพ
http://www.dailynews.co.th/article/224/154260
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 19, 2012, 10:09:47 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

สมภพ

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 485
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
แล้วพระสังฆราช ประจำ กรุงธนบุรี มีกี่พระองค์ครับ
 :c017:
บันทึกการเข้า

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28496
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ท่านใดเก่งด้านรูปหล่อหรือพระเครื่อง ลองแสดงความเห็นสักนิด
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ลูกเกด

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 50
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
มีเนื้อหา ที่อ่านแล้ว ทำให้นึกถึงคุณของพระสงฆ์ ทันที คะ

  :25: :25: :25: :c017:
บันทึกการเข้า