สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

พระไตรปิฏก => พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: นิรตา ป้อมนาวิน ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2012, 04:02:27 pm



หัวข้อ: อินทสมานโคตตชาดก(การสมาคมกับสัตบุรุษ)
เริ่มหัวข้อโดย: นิรตา ป้อมนาวิน ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2012, 04:02:27 pm
อินทสมานโคตตชาดก(การสมาคมกับสัตบุรุษ)

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภ ภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้
 
ในอดีตกาลครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยละเพศฆราวาส ออกบวชเป็นฤๅษี เป็นครูของเหล่าฤๅษี ๕๐๐ อาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ ในครั้งนั้นบรรดาศิษย์ดาบสเหล่านั้น ได้มีดาบสชื่ออินทสมานโคตร เป็นผู้ว่ายากไม่เชื่อฟังใคร ดาบสนั้นเลี้ยงลูกช้างไว้เชือกหนึ่ง
     พระโพธิสัตว์ได้ทราบข่าว จึงเรียกดาบสนั้นมาถามว่า เขาว่าเธอเลี้ยงลูกช้างไว้จริงหรือ ?
               ดาบสตอบว่าจริงขอรับอาจารย์ ข้าพเจ้าเลี้ยงลูกช้างไว้เชือกหนึ่ง แม่มันตาย
               พระโพธิสัตว์พูดเตือนว่า ขึ้นชื่อว่าช้าง เมื่อเติบโต มักฆ่าคนเลี้ยง เธออย่าเลี้ยงลูกช้างนั้นเลย
               ดาบสกล่าวว่า ท่านอาจารย์ข้าพเจ้าไม่อาจทิ้งมันได้
               พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นเธอจักได้รู้เอง
               ดาบสเลี้ยงดูช้างนั้น ต่อมามันมีร่างกายใหญ่โต
               คราวหนึ่งพวกฤๅษีพากันไปในที่ไกลเพื่อหารากไม้ และผลาผลในป่า แล้วพักอยู่ ณ ที่นั้น ๒ - ๓ วัน
ช้างก็ตกมัน รื้อบรรณศาลาเสียกระจุยกระจาย ทำลายหม้อน้ำดื่ม โยนแผ่นหินทิ้ง ถอนแผ่นกระดานแขวนทิ้ง แล้วเข้าไปยังที่ซ่อนแห่งหนึ่งยืนคอยมองดูทางมาของดาบส ด้วยหวังว่าจักฆ่าดาบสนั้นแล้วหนีไป
     ดาบสอินทสมานโคตรหาอาหารไว้ให้ช้างเดินมาก่อนดาบสทั้งหมด ครั้นเห็นช้างนั้น จึงเข้าไปหามันตามปกติ ครั้นแล้วช้างนั้นออกจากที่ซ่อนเอางวงจับดาบสนั้นฟาดลงกับพื้น เอาเท้าเหยียบศีรษะขยี้ให้ถึงความตาย แล้วแผดเสียงดังหนีเข้าป่าไป พวกดาบสที่เหลือจึงแจ้งข่าวนั้นให้พระโพธิสัตว์ทราบ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ไม่ควรทำความคลุกคลีกับคนชั่ว แล้วกล่าวคาถานี้ว่า:
บุคลไม่พึงทำความสนิทสนมกับคนชั่ว
ท่านผู้เป็นอริยะ รู้ประโยชน์อยู่ ไม่พึงทำความสนิทสนมกับอนารยชน
เพราะอนารยชนนั้นแม้อยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน ก็ย่อมทำความชั่ว
ดุจช้างผู้ทำลายดาบสอินทสมานโคตรฉะนั้น
บุคคลพึงรู้บุคคลใดว่า ผู้นี้เช่นเดียวกับเรา
ด้วยศีล ด้วยปัญญา และแม้ด้วยสุตะ
พึงทำไมตรีกับบุคคลผู้นั้นนั่นแหละ
เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษนำมาซึ่งความสุขแท้
 
อรถกถาอธิบายความว่า
บุคคลไม่พึงทำความสนิทสนมด้วยอำนาจตัณหา หรือความสนิทสนมด้วยความเป็นมิตร กับคนมักโกรธที่น่าชัง
ในบรรดาอริยะ ๔ จำพวก คืออาจารอริยะ ได้แก่อริยะในทางมารยาท ๑ ลิงคอริยะ อริยะในทางเพศ ๑ ทัสสนอริยะ อริยะในทางความเห็น ๑ ปฏิเวธอริยะอริยะในทางรู้แจ้งแทงตลอด ๑ บรรดาอริยะเหล่านั้น ในที่นี้ท่านหมายถึงอริยะประเภท อาจารอริยะ ผู้รู้จักประโยชน์ คือรู้จักผล ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ดำรงอยู่ในอาจาระ ไม่พึงทำความสนิทสนมด้วยอำนาจตัณหาหรือความสนิทสนมด้วยความเป็นมิตร กับคนที่มิใช่อริยะ คือคนทุศีลไม่มียางอายเพราะคนที่มิใช่อริยะนั้น แม้อยู่ร่วมกันนาน ก็มิได้คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันนั้น ย่อมกระทำกรรมอันลามกเท่านั้น เหมือนช้าง ฆ่าอินทสมานโคตรดาบส
พึงรู้จักบุคคลใดว่า ผู้นี้เหมือนเราโดยศีลเป็นต้น พึงกระทำไมตรีกับบุคคลนั้นเท่านั้น การสมาคมกับด้วยสัตบุรุษย่อมนำความสุขมาให้
พระโพธิสัตว์สอนหมู่ฤๅษีว่า ธรรมดาคนเราไม่ควรเป็นผู้สอนยาก ควรศึกษาให้ดี แล้วให้จัดการเผาศพอินทสมานโคตรดาบส เจริญพรหมวิหาร ได้เข้าถึงพรหมโลก
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วทรงประชุมชาดกว่าอินทสมานโคตรในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุสอนยากนี้ในครั้งนี้ ส่วนครูประจำคณะได้เป็นเราตถาคตนี้แล
จบ อินทสมานโคตรชาดก


http://www.youtube.com/watch?v=usuZBRY8Yy0#ws (http://www.youtube.com/watch?v=usuZBRY8Yy0#ws)

ที่มา http://www.intaram.org/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=34&thispage=1 (http://www.intaram.org/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=34&thispage=1)