ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : เบื้องหลังสุข-ทุกข์  (อ่าน 1162 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28499
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : เบื้องหลังสุข-ทุกข์

      “เบื้องหลังเห็ดโผล่ขึ้นจากดิน
       ย่อมมีดินติดขึ้นมาด้วย
       เบื้องหลังทารกคลอดลืมตามาดูโลก
       ก็ส่งเสียงร้องตามติดออกมาด้วย
       เบื้องหลังความสุข ย่อมมีความทุกข์ซ่อนเร้น
       ผู้ที่เฝ้าค้นหาคำตอบมักจะพบ ‘จิตแห่งพุทธะ’ คือ ผู้รู้แจ้ง
       แวบหนึ่งของความคิด เป็นคำตอบที่จู่ๆ ก็รู้ขึ้นมา เพื่อเฉลยเบื้องหลัง ซึ่งไม่ใช่ความคิดแบบที่ปล่อยใจคิดไปเรื่อยเปื่อย...อย่างนั้นฟุ้งซ่าน”


        :96: :96: :96: :96:

       ผู้ที่ต้องพลัดพราก อกหักซ้ำซาก หดหู่ เซื่องซึม ตรอมตรม ล้มเหลว แพ้พ่าย หรือคนที่หมดไฟ ไร้ความทะยานอยาก ในทางกลับกัน คนที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น กระตือรือร้น คิดค้นสร้างสรรค์ ทำนู่นนี่นั่น ขยันราวกับหนูถีบจักร เบื้องหลังสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญก็คือ “ความอยาก” นั่นเองที่เป็นปัญหา แต่เป็นปัญหาที่แตกต่างระหว่างสองขั้ว คืออยากในทางที่ดี ภาษาพระเรียกว่า “ฉันทะ” กับอยากในทางที่ชั่ว อย่างนี้เรียกว่า “ตัณหา”
       
       ฉันทะเกิดขึ้นกับใครย่อมให้แรงบันดาลใจ เป็นแรงจูงใจใฝ่กระทำในทางสร้างสรรค์ บันดาลให้คนมีดวงตาเป็นประกาย เพราะมีเป้าหมายในชีวิต ตรงข้ามกับตัณหา เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็อาจทำให้บางคนมีนัยน์ตามืดบอด มองไม่เห็นความงามแห่งสัจธรรม แถมบางครั้งยังทำตัวน่ารังเกียจ เหมือนคนแก่ตัณหากลับ

        :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144:

       นั่นเพราะสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง มันมีอำนาจคอยบงการชักใย ให้เขาเหล่านั้นแสดงพฤติกรรมออกมา ปากกาแต่ละด้าม มือถือแต่ละเครื่อง ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละชิ้นแต่ละอัน ล้วนมีความอยากเป็นแรงจูงใจอยู่เบื้องหลัง ก่อนที่มันจะปรากฏเป็นภาพอยู่ในสมองนักคิด แล้วถูกผลิตออกมาเป็นนวัตกรรม
       
       เบื้องหลังดังกล่าวเหล่านี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราต้องเลือกอย่างพิถีพิถันว่า จะหยิบจับด้านไหนมาทำประโยชน์ อย่างที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ดังที่พระพุทธองค์ตรัสรับรองคำที่พระอานนท์ประกาศว่า
       
       “เราอาจใช้ตัณหา...เพื่อละตัณหาได้
       ใช้มานะ...เพื่อละมานะได้
       ใช้อาหาร...เพื่อละอาหารได้
       แต่เราไม่อาจใช้เมถุน(การร่วมเพศ)
       เพื่อละเมถุนได้”


        :25: :25: :25: :25:

       ทุกสรรพสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
       แต่ทุกอย่างของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ย่อมจะต้องมีเบื้องหลัง เป็นเหตุปัจจัยชักนำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น...
       เบื้องหลังเสียงกระหึ่มของลำโพงคอนเสิร์ต
       เบื้องหลังเสียงระฆังที่ดังกังวาน
       เบื้องหลังปั้นจั่นที่ตอกเสาเข็มลึกลงไป ทำให้แผ่นดินสะเทือน ย่อมมีสายตาที่คอยเฝ้ามอง จับจ้อง สังเกต ครุ่นคิด มุ่งมั่น จดจ่อ วางแผน ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ด้วยความสร้างสรรค์กว่าวิธีเก่าๆ อุปกรณ์เดิมๆที่เคยมีมา
       เบื้องหลังความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น คือ ความอยาก
       เบื้องหลังความอยาก ก็คือ สมอง
       เบื้องหลังสมอง คือ ปัญญา
       เบื้องหลังปัญญา คือ สมาธิ
       เบื้องหลังสมาธิ คือ การสำรวมกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย

        st12 st12 st12 st12

       แสดงว่าหลังฉากแห่งบุคลิกภาพ มีความอยากซ่อนอยู่เบื้องหลัง คอยขับเคลื่อนให้ทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจมัน สุดแท้แต่ว่า ความอยากที่เกิดขึ้นนั้น จะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร
       
       บางคนอยากได้ บางคนอยากเป็น อยากนู่นนี่นั่น สารพัดความอยากที่จิตจะคิดปรุงแต่งขึ้นมา เหมือนกับเจ้ากบจอมอยาก ในนิทานเรื่องนี้ โดย พระราชธรรมวาที(ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน)


        st11 st11 st11 st11

       กาลครั้งนั้นมีกบตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในสระใกล้กุฏิพระ ยามเช้าตรู่เจ้ากบเห็นพระตื่นจากจำวัด จัดแจงครองผ้า สวดมนต์ภาวนา พอฟ้าแจ้งก็ออกบิณฑบาต ได้อาหารมาก็ฉัน เป็นอย่างนี้ทุกวัน เจ้ากบก็เกิดความยินดี อยากเป็นพระขึ้นมาบ้าง
       
       เพราะเมื่อเทียบกับตนแล้วเห็นว่า ตนเองนั้นแย่มากๆ วันๆกว่าจะหาอาหารใส่ปากท้อง ก็ยังไม่ค่อยจะพอ หนำซ้ำยังต้องคอยกระโดดหลบภัยอยู่เรื่อย ก็เลยคิดว่า “ทำอย่างไรหนอ...ข้าจะได้เป็นพระ?”

       

       ต่อมาพระฉันอาหารเสร็จ ท่านก็เอาข้าวมาโปรยให้ไก่ เจ้ากบเห็นไก่อยู่เฉยๆ ก็มีลาภปาก ได้จิกกินอาหารอย่างสบายใจ จึงเปลี่ยนความคิดใหม่
       
       “อ้า...! สงสัยข้าจะคิดผิด เป็นพระนี่ท่าจะสู้ไก่ไม่ได้ เพราะกว่าจะได้อาหารมาขบฉันต้องเดินไกล ออกไปบิณฑบาตนี่ก็เหนื่อยไม่ใช่เล่น เทียบกันแล้วสู้ไก่ไม่ได้ เป็นไก่สบายกว่าพระ ไก่อยู่เฉยๆ ไม่ต้องดิ้นรนอะไร ถึงเวลาพระก็เอาข้าวมาโปรยให้กิน เอ...แล้วนี่ทำอย่างไรหนอข้าจะได้เป็นไก่?”


        :03: :03: :03: :03:

       ขณะนั้นก็มีหมาเดินมาแย่งอาหารไก่กิน ไก่มันกลัวหมา ก็เลยละอาหารหนีเอาตัวรอดไป เจ้ากบมองตาไม่กระพริบ แล้วเปรยกับตัวเอง
       
       “เฮ้ย! เป็นหมานี่มีอำนาจนะ แค่เดินมาเฉยๆ ก็ยึดอาหารไปกินได้แล้ว”
       
       เจ้ากบเห็นแบบนี้ก็เลยหันไปชื่นชมหมา แล้วก็มีความคิดขึ้นว่า “เอ...แล้วทำอย่างไร ข้าจะได้เป็นหมาบ้างนะ?”

        :91: :91: :91: :91:

       แต่แล้วก็มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในวัด พอหมาเห็นคนมันก็เห่า แล้วก็กระโดดกัด ชายคนนั้นถือไม้ติดมือมาด้วย ก็เลยหวดหมาเข้าไปเต็มแรง เสียงหมาร้องลั่น โกยแนบวิ่งหางจุกตูดไป เจ้ากบเห็นเต็มสองตา ก็เลยเปลี่ยนใจ ไม่อยากเป็นหมา
       
       “โธ่! หมานี่กระจอกจริงๆเชียว สู้คนก็ไม่ได้ ทำอย่างไรหนอ ข้าจะได้เป็นคน?”
       
       แล้วชายคนนั้นก็มานั่งอยู่ที่ขอบสระอย่างสบายอารมณ์ จู่ๆก็มีแมลงวันบินมาตอม จนชายผู้นี้รู้สึกรำคาญอารมณ์เสีย จึงลุกเดินหนีไป แต่ก็บ่นให้กบได้ยินว่า “รำคาญแมลงวันจริงโว้ย!”
       
       เจ้ากบหูผึ่งเลย นึกในใจบอก “อะไรวะ! มนุษย์นี่ใจเสาะจริงเชียว นึกว่าจะแน่แค่ไหน ที่แท้ก็แพ้ทางแมลงวันตัวเล็กๆ อะโธ่!”


        :49: :49: :49: :49:

       ขณะที่เจ้ากบกำลังฝันเคลิบเคลิ้มอยากจะเป็นแมลงวัน ทันใดนั้นมันก็เหลือบไปเห็นแมลงวันบินมาจับแหมะที่ปลายจมูกตัวเองพอดี ด้วยสัญชาตญาณความเคยชิน เจ้ากบก็เลยแลบลิ้นเลียแผล็บ กินแมลงวันเป็นอาหาร พอรู้รสชาติของแมลงวันเท่านั้นแหละ เจ้ากบก็เกิดนึกขึ้นได้ จึงอุทานออกมาดังลั่นสระว่า
       
       “โอ๊บๆ!!” แปลเป็นภาษาคนว่า “อะโธ่เอ๊ย! เป็นกูนี่แหละดีที่สุดแล้ว”
       
       ทุกครั้งที่เกิดความอยาก แล้วรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ให้คิดถึงเจ้ากบในนิทานเรื่องนี้เอาไว้ว่า เบื้องหลังความอยาก ในท้ายที่สุดแล้ว มันจบลงได้ด้วยความพอใจ พอเพียง ภาษาพระเรียกว่า “สันโดษ”

        :25: :25: :25: :25:

       สันโดษในที่นี้ไม่ได้หมายถึง คนที่อยู่เฉยไปวันๆ โดยไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ แล้วอ้างว่าถือสันโดษ อย่างนี้ไม่เรียกว่าสันโดษ แต่เรียกว่าขี้เกียจ
       
       และที่สำคัญต้องสันโดษในสิ่งที่เป็นความชั่ว เต็มไปด้วยตัณหา พาให้ตัวเองเป็นทุกข์ แต่ไม่สันโดษในการทำความดี อาทิ เบื้องหลังสิ่งดีๆ เหล่านี้ที่ทำให้โลกเจริญ เช่น เบื้องหลังความไม่สันโดษในทางโลก คือ จินตนาการอันสร้างสรรค์ของ “นักคิด” ผู้มีความอยากประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรม


        st12 st12 st12 st12

       เบื้องหลังความไม่สันโดษในทางธรรม ภายหลังการตรัสรู้เป็น “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” แล้ว ตลอดระยะเวลา 45 พรรษา พระพุทธองค์ต้องเสด็จจาริกรอนแรมไปประกาศพระสัทธรรม ตามสถานที่ต่างๆทั่วชมพูทวีป เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก ให้พ้นจากทะเลทุกข์ในสังสารวัฏ นี่คือข้อดีของความอยากที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่สันโดษ ไม่ควรงดเว้นในการกระทำ
       
       สรุปก็คือ เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ หลังม่านหมอกแห่งอวิชา(ความไม่รู้) ที่ปิดกั้นไว้คือ...
       
       “เบื้องหลังความทุกข์ ก็คือความอยากหรือตัวตัณหา เบื้องหลังความสุข คือความพอเพียง พอใจ ยินดีในสิ่งที่ตัวเองมี ตัวเองเป็น ไม่กระหายใคร่อยาก เพื่อจะได้มาในสิ่งซึ่งไม่ชอบธรรม”

       
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558 โดย ทาสโพธิญาณ
http://manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9580000037194
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ