ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สำนักวิปัสสนากรรมฐานแห่งแรกของไทย  (อ่าน 2499 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28461
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
สำนักวิปัสสนากรรมฐานแห่งแรกของไทย

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นวัดที่สร้างแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสลัก”

       
       ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นพระอนุชา ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดนิพพานาราม”
       
       เหตุที่ทรงเปลี่ยนชื่อนั้นสันนิษฐานว่า เดิมจะทรงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ เพราะสิ่งก่อสร้าง เช่น พระมณฑป ได้ทรงถ่ายแบบมาจากวัดพระศรีสรรเพชญที่กรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีจตุรมุข และพระประสงค์ที่ทรงสร้างก็เพื่อบรรจุพระอัฐิ แบบเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ
       
       กระทั่งในปี พ.ศ. 2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนิพพานาราม เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎก จึงโปรดให้เปลี่ยนนามเป็น “วัดพระศรีสรรเพชญดาราม”
       
       ต่อมา พ.ศ. 2346 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ประชุมพระราชาคณะสอบไล่พระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณรที่วัดแห่งนี้ แล้วโปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้ง ว่า “วัดมหาธาตุ”

       


       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่ทรงผนวช ได้เสด็จไปประทับที่วัดมหาธาตุ 5 ปี เพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
       
       ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดมหาธาตุได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปยกช่อฟ้าใบระกา และโปรดให้เขียนผนังพระอุโบสถ
       
       ใน พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งบาลีวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุฯ เรียกว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” เพื่อเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ต่อมา พ.ศ.2437 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารถาวรวัตถุ เรียกว่า “สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย” เพื่อใช้ในงานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

        หลังจากนั้นจึงทรงอุทิศถวายแก่มหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูง และได้พระราชทานนามว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” (งานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงจัดที่วัดบวรสถานสุทธาวาส เพราะอาคารหลังนี้ได้สร้างเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

       

       ครั้นถึง พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อุทิศพระราชทานให้ปฏิสังขรณ์พระอารามจนสำเร็จ และโปรดให้เพิ่มสร้อยต่อนามพระอารามเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นั้นว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”
       
       สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ องค์ที่ 12 ได้ประกาศตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นแห่งแรกที่วัดมหาธาตุฯ และได้แต่งตั้ง พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.9) เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นรูปแรก พระวิปัสสนาจารย์ทั่วประเทศส่วนมากเป็นศิษย์ของท่าน
       
       ในระหว่าง พ.ศ. 2497-2498 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล โดยทรงศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน กับพระธรรมธีรราชมหามุนี ณ วัดมหาธาตุแห่งนี้
       
       และเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน และทรงมีพระราชดำรัสถามถึงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในวัดมหาธาตุฯ ว่ายังมีอยู่ไหม ตามที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเคยเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติเมื่อ 39 ปีก่อน
       
       พระสุเมธาธิบดี อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯในเวลานั้น ได้ถวายพระพรว่า “ยังมีการปฏิบัติอยู่และยังมั่นคงดี มหาบพิตร” อันยังความโสมนัสแช่มชื่นในพระราชหฤทัย

       


       ดังนั้น เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553 และในโอกาสครบรอบ 116 ปีวันสวรรคตของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยพระธรรมสุธี (พีร์ สุชาตมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ จึงเห็นสมควรให้จัดสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ด้านหน้าของอาคาร เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
       
       โดยวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารปฏิบัติธรรม และทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์ ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระราชานุสาวรีย์
       
       ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาให้การจัดสร้างอาคารและพระราชานุสาวรีย์ อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมกับพระราชทานชื่ออาคารหลังนี้ว่า “เบญจมราชวรานุสรณ์” การก่อสร้างครั้งนี้ใช้เวลาเพียงปีเศษก็ได้อาคารปฏิบัติธรรมร่วมสมัยที่สง่างาม พร้อมประโยชน์ใช้สอยครบครัน โดยได้รับความสนับสนุนจากอุบาสกอุบาสิกาของวัดมหาธาตุฯ บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมทั้งประชาชนผู้มีจิตศรัทธา
       
       ปัจจุบัน อาคารหลังนี้ใช้เป็นศูนย์ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนานาชาติ โดยมีหลักสูตรปกติที่ปฏิบัติทุกวัน และหลักสูตรพิเศษ ทุกวันที่ 1-7 ของทุกเดือน

   
อ้างอิง :-
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9560000066899
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

VongoleX

  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 402
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
 st11 st12

   ยังไมเคยเข้าไปร่วมปฏิบัติธรรม ที่วัดมหาธาตุสักครั้ง เข้าไปแล้วเห็นว่าพลุกพล่านด้วยผู้คน อีกอย่างรถติด อย่าบอกใครที่จอดรถก็หายาก ดังนั้นจึงพลาดโอกาสเลยไปวัดระฆัง วัดราชสิทธารามแทนครับ


  thk56
บันทึกการเข้า
ผู้พิทักษ์รุ่นที่ 10 แห่ง Vongole จับมือกับ แก็งค์ อ๊บ อ๊บ