ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "นารีพิฆาต" สี่ยอดหญิงงามแห่งประวัติศาสตร์จีน  (อ่าน 5762 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28559
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

สี่ยอดหญิงงามแห่งประวัติศาสตร์จีน


วันนี้ไปเรียนภาษาจีนมา เหล่าซือ(ในที่นี้คืออาจารย์สอนภาษาจีน)หยิบยกเรื่องราวของ 4 ยอดหญิงงามแห่งประวัติศาสตร์จีนขึ้นมาเรียนกัน

เราเชื่อว่าเพื่อนๆหลายๆคนคงเคยได้ยินเรื่องพวกนี้มาบ้างไม่มากก็น้อยล่ะนะ เอ... แต่จะมีใครรู้รึยังเอ่ยว่ายอดหญิงที่ทั้งเก่งและงามประมาณล่มบ้านจมเมืองได้ นับแต่ในประวัติศาสตร์หลายพันปีของจีนนั้น ที่ถูกยกย่องว่างามเยี่ยมที่สุดมี 4 คน จนมีคำกล่าวสดุดีความงามอันเลอเลิศไว้ว่า

ไซซี - มัจฉาจมวารี (ปลาตะลึงในความงามจนลืมว่ายน้ำ)
หวางเจาจิน - ปักษีตกนภา (นกตะลึงจนลืมบินจนตกลงมาจากท้องฟ้า)
เตียวเสียน - จันทร์หลบโฉมสุดา (สวยจนดวงจันทร์หลบไม่กล้าเทียบรัศมี)
หยางกุ้ยเฟย - มวลผกาละอายนาง(สวยจนหมู่มวลดอกไม้พากันหุบไม่กล้า บานแข่งรัศมี)


อะไรมันจะสวยกันปานนั้นล่ะเนี่ย สมแล้วที่เค้าคัดกันมาว่างามเป็นเลิศ ไหนๆก็ไหนแล้วลองมาอ่านประวัติแต่ละนางกันเล่นๆนะ สนุกแล้วยังได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนด้วย


ไซซี 沉鱼 (chen yu)“แม้มัจฉา ตะลึงชม จมวารี”

“沉鱼” หรือ “ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ”นั้น หมายถึงหญิงงามที่มีนามว่าไซซี

ไซซี หรือซีซือ (西施) นามอี๋กวง เกิดในสมัยชุนชิว (ช่วงปี 722-481 ก่อนคริสต์ศักราช) ที่มณฑลเจ้อเจียง เป็นผู้ที่มีความงดงามมาแต่กำเนิด

ในสมัยชุนชิวนี้ รัฐอู่และรัฐเยว่ทำสงครามกัน เนื่องจากรัฐอู่มีกำลังทหารที่กล้าแข็ง ในเวลาที่ไม่นานนักก็สามารถเอาชนะรัฐเยว่ได้ และนำเอาเยว่อ๋องโกวเจี้ยน (勾践) และอัครเสนาบดีนามฟ่านหลี่ (范蠡)ไปเป็นตัวประกัน เพื่อแก้แค้นที่ชาติถูกรุกราน เยว่อ๋องยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของอู่อ๋อง และแสร้งว่ามีความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง

ครั้งหนึ่งอู่อ๋องมีอาการปวดท้อง บรรดาหมอหลวงทั้งหลายที่เชิญมาต่างก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร เมื่อเยว่อ๋องโกวเจี้ยนได้ทราบเรื่องนี้ จึงได้ชิมอุจจาระของอู่อ๋องต่อหน้าบรรดาขุนนางทั้งหลาย และกล่าวว่า “ท่านอ๋องไม่ได้ป่วยเป็นโรคอันใด แค่โดนความเย็นมากไปเท่านั้น เพียงดื่มเหล้าให้ร่างกายอบอุ่นก็เพียงพอแล้ว” อู่อ๋องทำตามที่โกวเจี้ยนแนะนำดื่มเหล้าเข้าไปเล็กน้อย ก็มีอาการดีขึ้นทันที อู่อ๋องเห็นว่าโกวเจี้ยนมีความจงรักภักดี จึงปล่อยตัวให้กลับรัฐเยว่

เมื่อโกวเจี้ยนกลับไปยังรัฐเยว่แล้ว ฟ่านหลี่ก็ได้เสนอแผนกู้้ชาติ 3 แผนให้แก่เย่ว่อ๋อง

หนึ่งคือ สั่งสมกำลังทหาร ฝึกฝนการรบ

สองคือพัฒนาด้านการกสิกรรม และ

สามคือ คัดเลือกหญิงงามเพื่อส่งให้แก่อู่อ๋อง เพื่อเป็นสายคอยส่งข่าวภายในให้ ในเวลานั้น มีหญิงสาวนามว่า ไซซี เป็นหญิงซักผ้า มีรูปร่างหน้าตางดงามเหนือกว่าผู้อื่น


เมื่อนางไปซักผ้าอยู่ริมแม่น้ำนั้น น้ำอันใสสะอาดจะสะท้อนเงาอันงดงามของนาง ทำให้ยิ่งดูงดงามมากยิ่งขึ้น เมื่อมองเห็นเงาของนางแล้ว บรรดาปลาทั้งหลายที่ว่ายน้ำอยู่ ต่างก็ลืมที่จะว่ายน้ำ และค่อยๆจมลงสู่ก้นแม่น้ำไป นับแต่นั้นมาฉายา “แม้มัจฉา ตะลึงชม จมวารี”ของไซซี ก็เล่าลือกันไปทั่วบริเวณนั้น

หลังจากที่ไซซีถูกเลือกไปถวายแล้วนั้น เมื่ออู่อ๋องเห็นไซซีมีรูปโฉมที่งดงาม ก็เกิดความลุ่มหลงเป็นอย่างมากจนกระทั่งละเลยราชการ ไม่สนใจบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลงเรื่อยๆ เยว่อ๋องโกวเจี้ยน จึงถือโอกาสยกทัพเข้าโจมตีรัฐอู่ และสามารถกู้้ชาติได้สำเร็จ


ไซซีเสียสละเพื่อบ้านเมือง แสดงให้เห็นถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่มีความรักชาติเป็นอย่างยิ่ง

ตำนานเล่าว่า หลังจากที่รัฐอู่พ่ายแพ้แล้ว ไซซีได้ออกท่องเที่ยวไปกับฟ่านหลี่ ไม่ทราบว่าสุดท้ายมีชะตากรรมอย่างไร เป็นที่ระลึกถึงของชนรุ่นหลังตลอดมา



หวังเจาจวิน 落燕 (luò yàn) “ปักษี ตกนภา”

ในรัชสมัยฮั่นซวนตี้ (汉宣帝) บรรดาชนชั้นสูงของชนเผ่าซงหนูต่างแย่งชิงอำนาจกัน มีข่าน 5 คนตั้งตนเป็นใหญ่ และทำสงครามกันเรื่อย ๆ ในจำนวนนี้ ข่านฮูหานเสีย (呼韩邪单于) รบแพ้ข่านจื้อจือ (郅支单于) ผู้เป็นพี่ชาย จึงได้ตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ฮั่น และไปเข้าเฝ้าฮั่นซวนตี้ด้วยตนเอง ฮูหานเสียเป็นข่านคนแรกที่มายังดินแดนภาคกลาง ฮั่นซวนตี้จึงได้เสด็จออกไปต้อนรับที่ชานเมืองฉางอานด้วยพระองค์เอง และได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่

ฮูหานเสียพักอยู่ที่นครฉางอานหนึ่งเดือนกว่า จึงได้ขอร้องให้ฮั่นซวนตี้ช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับไป ฮั่นซวนตี้ตอบตกลง และได้ส่งแม่ทัพสองนายนำทหารม้าหนึ่งหมื่นนายคุ้มกันส่งข่านฮูหานเสียกลับไป

ในเวลานี้เผ่าซงหนูกำลังขาดแคลนอาหาร ราชสำนักฮั่นจึงได้ส่งเสบียงอาหารจำนวนมากไปด้วย ข่านฮูหานเสียรู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง และตั้งใจที่จะเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ฮั่น เมื่อแคว้นต่างๆ ทางตะวันตกทราบว่าเผ่าซงหนูเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ฮั่น จึงต่างก็พยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับราชวงศ์ฮั่นด้วย


หลังจากฮั่นซวนตี้สวรรคต พระโอรสก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบมา ทรงพระนามว่าฮั่นหยวนตี้

เมื่อข่านจื้อจือแห่งเผ่าซงหนูรุกรานแคว้นต่างๆ ทางตะวันตก และสังหารทูตที่ราชวงศ์ฮั่นส่งไป ราชวงศ์ฮั่นจึงได้ยกทัพออกไปรบและสังหารข่านจื้อจือได้สำเร็จ หลังจากที่ข่านจื้อจือตายแล้ว ฐานะของข่านฮูหานเสียก็มีความมั่นคงมากขึ้น

ปี 33 ก่อนคริสต์ศักราช ข่านฮูหานเสียเดินทางมายังนครฉางอานอีกครั้งและขอให้มีการสมรสเชื่อมพันธไมตรี ฮั่นหยวนตี้ก็ได้พระราชทานอนุญาต การที่เผ่าซงหนูจะสมรสกับราชวงศ์ฮั่นนั้นจะต้องเลือกจากบรรดาองค์หญิงหรือธิดาของเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ในครั้งนี้ฮั่นหยวนตี้ทรงตัดสินพระทัยที่จะเลือกนางสนมคนหนึ่ง พระองค์ส่งคนไปยังวังหลังให้ประกาศว่า

“ผู้ใดยินดีที่จะไปยังเผ่าซงหนู ฮ่องเต้ก็จะแต่งตั้งให้เป็นองค์หญิง” บรรดานางสนมในวังหลังนั้นต่างก็คัดเลือกมาจากราษฎรสามัญชน เมื่อพวกนางถูกคัดเลือกเข้ามาในวังหลวงแล้วก็เหมือนกับนกที่ถูกกักขังอยู่ในกรง ต่างก็หวังว่าจะมีสักวันหนึ่งที่พวกนางจะได้ออกจากวังไป แต่เมื่อได้ยินว่าจะต้องจากบ้านเกิดไปยังเผ่าซงหนู ต่างก็ไม่มีผู้ใดเต็มใจไป มีนางสนมคนหนึ่งนามว่าหวังเฉียง (王嫱) ฉายาเจาจวิน

(昭君) มีรูปโฉมงดงาม มีความรู้ ยินยอมที่จะไปแต่งงานยังเผ่าซงหนู หยวนตี้จึงได้เลือกวันที่จะจัดงานสมรสให้ข่านฮูหานเสีย และหวังเจาจวินที่นครฉางอาน ในขณะที่ข่านฮูหานเสีย และหวังเจาจวินกำลังแสดงความเคารพต่อฮั่นหยวนตี้อยู่นั้น ฮั่นหยวนตี้ก็ได้ทรงเห็นว่าหวังเจาจวินนั้นทั้งงดงาม และสุภาพเรียบร้อย นับว่าเป็นสาวงามในราชสำนักฮั่น

ตำนานเล่าว่าเมื่อฮั่นหยวนตี้เสด็จกลับวังแล้ว ยิ่งคิดก็ยิ่งทรงพิโรธ จึงได้บัญชาให้นำเอารูปภาพของหวังเจาจวินมาให้ทอดพระเนตร ในรูปภาพนั้นแม้จะมีส่วนที่คล้ายคลึงอยู่บ้าง แต่ไม่มีความงดงามเหมือนหวังเจาจวินตัวจริงโดยสิ้นเชิง

ทีจริงแล้วหลังจากที่บรรดานางสนมเข้ามาในวัง โดยทั่วไปมักจะไม่ได้พบกับฮ่องเต้ แต่จะให้บรรดาจิตรกรวาดภาพ และส่งภาพเหล่านั้นไปให้ฮ่องเต้เลือก มีจิตรกรคนหนึ่งนามว่าเหมาเหยียนโซ่ว (毛延寿) เวลาที่วาดภาพนางสนมทั้งหลายนั้น หากนางสนมคนใดให้สิ่งของเงินทอง ก็จะวาดให้สวยงาม

หวังเจาจวินไม่ยินยอมที่จะติดสินบน ดังนั้นเหมาเหยียนโซ่วจึงไม่ได้วาดภาพออก
มาตามความจริง ฮั่นหยวนตี้ทรงพิโรธมาก รับสั่งให้ประหารชีวิตเหมาเหยียนโซ่ว
ภายใต้การคุ้มกันของบรรดาขุนนางราชวงศ์ฮั่นและเผ่าซงหนูหวังเจาจวินก็ได้เดินทางออกจากนครฉางอาน นางขี่มาฝ่าลมหนาวอันทารุณ เดินทางนับพันลี้ไปยังเผ่าซงหนู เป็นมเหสีของข่านฮูหานเสีย ได้รับยศเป็น “หนิงหูเยียนจือ”(宁胡阏氏) ด้วยความหวังว่านางจะสามารถนำเอาความสงบสุขและสันติภาพมาสู่ชนเผ่าซงหนู

หวังเจาจวินต้องจากบ้านเกิดไปไกล อาศัยอยู่ในเผ่าซงหนูเป็นเวลานาน นางเกลี้ยกล่อมข่านฮูหานเสียอย่าได้ทำสงคราม ทั้งยังเผยแพร่วัฒนธรรมของชาวฮั่นให้แก่ชาวซงหนู นับจากนั้นเป็นต้นมา เผ่าซงหนูและราชวงศ์ฮั่นต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และไม่มีสงครามเป็นเวลานานถึงหกสิบกว่าปี

ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากที่ข่านฮูหานเสียสิ้นชีวิตแล้ว นางก็ได้ “ทำตามประเพณีของชาวซงหนู”โดยแต่งงานใหม่กับบุตรชายคนโตที่เกิดกับภรรยาหลวงของข่านฮูหานเสีย

ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะขัดกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวฮั่น แต่นางก็คำนึงถึงส่วนรวมเป็นหลัก และคิดที่รักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวฮั่นและชาวซงหนู หวังเจาจวินได้ให้กำเนิดบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 2 คนที่เผ่าซงหนู ปีและสถานที่ที่นางถึงแก่กรรมนั้น หนังสือประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกเอาไว้


“落 燕” หรือ “ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงนกยังต้องร่วงหล่นจากท้องฟ้า”

เป็นเรื่องราวตอนที่หวังเจาจวินเดินทางออกนอกด่าน ในรัชสมัยฮั่นหยวนตี้ ทางเหนือและใต้ทำสงครามไม่หยุดหย่อน ชายแดนไม่มีความสงบสุข เพื่อที่จะทำให้เผ่าซงหนูทางชายแดนด้านเหนือสงบลง

ฮั่นหยวนตี้จึงได้พระราชทางหวังเจาจวินให้สมรสกับข่านฮูหานเสีย เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองเมือง ในวันที่ท้องฟ้าสดใส หวังเจาจวินได้จากบ้านเกิดเดินทางไปทางเหนือ ระหว่างทาง เสียงม้าและเสียงนกร้องทำให้นางโศกเศร้า ยากที่จะทำใจได้ จึงได้ดีดพิณขึ้นเป็นทำนองที่แสดงความโศกเศร้าจากการพลัดพราก

บรรดานกที่กำลังจะบินไปทางใต้ได้ยินเสียงพิณอันไพเราะนี้ จึงมองลงไปเห็นหญิงงามที่กำลังขี่อยู่บนหลังม้า ต่างก็ลืมที่จะขยับปีก และร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน

นับแต่นั้นมา หวังเจาจวินจึงได้รับขนานนามว่า “落燕” หรือ “ปักษี ตกนภา”นั่นเอง



เตียวเสี้ยน 闭月 (bi yue) “จันทร์หลบ โฉมสุดา"

เตียวเสี้ยน หรือเตียวฉาน (貂婵) เป็นนางระบำของขุนนางที่ชื่อว่าอ๋องอุ้น (王允) ในสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก มีรูปโฉมที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง และมีความสามารถในการฟ้อนรำเป็นเลิศ


ครั้นเมื่อนางเห็นว่าราชวงศ์ฮั่นตะวันออกตกอยู่ใต้อำนาจของขุนนางทรราชตั๋งโต๊ะ (董卓) ซึ่งแอบอ้างราชโองการปกครองเหล่าขุนนาง ทำให้ขุนทางทั้งหลายไม่กล้าขัดขืน อีกทั้งอ๋องอุ้นกลัดกลุ้มใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ในคืนพระจันทร์สว่างสดใส นางได้จุดธูปอธิษฐานต่อสวรรค์ยินดีที่จะรับภาระช่วยเหลือผู้เป็นนาย อ๋องอุ้นผ่านมาได้ยินเข้าก็รู้สึกซาบซึ้งยิ่งนัก จึงตรงเข้าไปพยุงนางลุกขึ้น และคำนับนาง นับจากนั้นจึงได้รับเตียวเสี้ยนเป็นธิดาบุญธรรม

อ๋องอุ้นเห็นว่าตั๋งโต๊ะกำลังยึดครองราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จึงได้วางแผนการอันต่อเนื่อง ยกเตียวเสี้ยนให้แก้ลิโป้ (吕布) ก่อนอย่างลับๆ แล้วจึงค่อยยกนางให้แก่ตั๋งโต๊ะ ลิโป้นั้นมีความกล้าหาญอายุยังน้อย ส่วนตั๋งโต๊ะเจ้าเล่ห์เพทุบาย เพื่อที่จะดึงลิโป้มาเป็นพวก ตั๋งโต๊ะจึงได้รับลิโป้เป็นลูกบุญธรรม ทั้งสองต่างก็ฝักใฝ่ในอิสตรี

ดังนั้นนับจากนั้นมาเตียวเสี้ยนต้องรับมือกับบุคคลทั้งสอง ทำให้ทั้งคู่หลงใหล หลังจากที่ตั๋งโต๊ะรับเตียวเสี้ยนไว้เป็นภรรยาน้อย ลิโป้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก

วันหนึ่ง ในขณะที่ตั๋งโต๊ะไปร่วมประชุมเหล่าขุนนาง ลิโป้ก็แอบเข้าไปพบกับเตียวเสี้ยน และนัดพบกันที่ศาลาฟ่งอี๋ เมื่อเตียวเสี้ยนไปพบลิโป้ ก็ได้แสร้งร้องไห้บอกเล่าความทุกข์ที่ถูกตั๋งโต๊ะขืนใจ ลิโป้โกรธมาก ในเวลาเดียวกันนั้นเองตั๋งโต๊ะกลับมาพบเข้า และด้วยความโกรธจึงได้แย่งเอาง้าวในมือของลิโป้และตรงเข้าแทง แต่ลิโป้หนีไปได้ นับจากนั้นทั้งสองต่างก็เกิดความระแวงซึ่งกันและกัน จนท้ายที่สุดอ๋องอุ้นก็สามารถเกลี้ยกล่อมลิโป้ให้กำจัดตั๋งโต๊ะได้ในที่สุด

ฉายา “จันทร์หลบ โฉมสุดา”ของเตียวเสี้ยนนั้นมาจากเรื่องราวตอนที่นางกำลังอธิษฐานต่อดวงจันทร์อยู่ภายในสวน ทันใดนั้นมีลมพัดขึ้นเบา ๆ เมฆจึงลอยมาบดบังอันสว่างสดใส ขณะนั้นบังเอิญอ๋องอุ้นมาพบเข้า เพื่อที่จะเป็นการกล่าว

ชมว่าธิดาของตนนั้นมีความงามเพียงใด เมื่อพบปะผู้คนก็มักจะกล่าวว่า บุตรีของข้าหากเทียบความงามกับดวงจันทร์แล้ว ดวงจันทร์ยังมิอาจเทียบได้ รีบหลบเข้าไปหลังหมู่เมฆ

ดังนั้นผู้คนจึงขนานนามเตียวเสี้ยนว่า “闭月”หรือ “จันทร์หลบ โฉมสุดา”



หยางกุ้ยเฟย 羞花 (xiū huā) “มวลผกา ละอายนาง”

หยางอี้หวน (杨玉环) มีชีวิตอยู่ในปี 719-756 เป็นชาวเมืองหย่งเล่อ มีความสามารถในทางดนตรีขับร้องและฟ้อนรำ ที่จริงเป็นชายาของโซ่วอ๋อง (寿王) โอรสองค์ที่ 18 ของฮ่องเต้ถังเสวียนจง (唐玄宗)

ภายหลังถังเสวียนจงพบว่าหยางอี้หวนมีรูปโฉมงดงาม คิดจะเรียกเข้าวัง ดังนั้นจึงตั้งให้เป็นนักบวชหญิงฉายาไท่เจิน สมัยเทียนเป่าปีที่สี่ (ค.ศ. 745) ได้เข้าวัง เป็นที่โปรดปรานของถังเสวียนจง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสนมเอกหรือกุ้ยเฟย (ในขณะนั้นถังเสวียนจงมีพระชนมายุ 61 พรรษา ส่วนหยางกุ้ยเฟยมีอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น)

ทั้งบิดาและพี่ชายของหยางกุ้ยเฟยต่างก็มีอำนาจวาสนาในแผ่นดิน ทุกครั้งที่นางจะนั่งรถม้า ต่างก็มีบรรดาขุนนางใหญ่บังคับรถม้าให้ด้วยตัวเอง นางมีช่างถักทอและปักผ้าถึงเจ็ดร้อยคน มีผู้คนมากมายแย่งกันมอบของกำนัลต่างๆ ให้ เนื่องจากขุนนางจางจิ่วจางและหวังอี้มอบของกำนัลให้นางต่างก็ได้เลื่อนตำแหน่ง ดังนั้นบรรดาขุนนางทั้งหลายต่างก็หวังที่จะได้รับผลตอบแทนเช่นเดียวกัน

หยางกุ้ยเฟยโปรดปรานลิ้นจี่จากแดนหลิ่งหนาน ก็มีผู้คนคิดหาวิธีที่จะนำส่งมาถึงเมืองฉางอานให้เร็วที่สุด

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ก่อกบฏ (安史之乱) ถังเสวียนจงต้องหลบหนีออกจากนครฉางอาน เมื่อไปถึงเนินหม่าเหวย บรรดาทหารทั้งหลายไม่ยอมเดินทางต่อ ต่างก็กล่าวว่า เป็นเพราะหยางกั๋วจง (杨国忠) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของหยางกุ้ยเฟยสมคบคิดกับคนต่างเผ่า ทำให้อานลู่ซาน (安禄山) ก่อกบฏ เพื่อที่จะปลอบขวัญทหารถังเสวียนจงจึงได้รับสั่งให้ประหารชีวิตหยางกั๋วจง

แต่บรรดาทหารต่างก็ยังคงไม่ยอมเดินทางต่ออยู่นั่นเอง ต่างก็กล่าวว่าหยางกั๋วจงนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องของหยางกุ้ยเฟย เมื่อพี่ชายมีความผิด น้องสาวก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความผิดนั้นไปได้ หยางกุ้ยเฟยจึงถูกประหารชีวิตเช่นกัน

“羞花” หรือ “ความงามที่ทำให้แม้แต่มวลหมู่ดอกไม้ยังต้องละอาย”

เป็นฉายาของหยางกุ้ยเฟย ตอนต้นรัชสมัยฮ่องเต้มีความลุ่มหลงในอิสตรี จึงได้ส่งคนออกค้นหาสาวงาม ในขณะนั้นหยางหยวนเหยียนมีธิดาที่รูปโฉมงดงามนามว่าหยางอี้หวนถูกเลือกเข้าวัง หลังจากที่เข้าวังแล้วนางก็มักจะคิดถึงบ้านเกิด วันหนึ่งนางไปเดินเล่นในสวนดอกไม้ มองเห็นดอกโบตั๋นและกุหลาบจีนที่กำลังบานสะพรั่ง แล้วคิดถึงตนเองที่ถูกกักอยู่ในวังหลวง ผ่านวัยสาวไปอย่างไร้ความหมาย นางร้องไห้พลางลูบดอกไม้นั้น


เมื่อนางแตะถูกกลีบดอกไม้กลีบนั้นก็หุบลง ใครจะคิดว่าต้นไม้ที่นางลูบนั้นคือต้นนางอาย นางกำนัลคนหนึ่งพบเห็นเหตุการณ์นี้เข้า จึงนำไปเล่าลือว่าหากหยางอี้หวนเทียบความงามกับดอกไม้แล้ว ดอกไม้ยังต้องละอายก้มลงให้แก่นาง "มวลผกา ละอายนาง"

เรื่องนี้ได้ยินไปถึงพระกรรณฮ่องเต้ พระองค์มีความยินดีเป็นอย่างมาก จึงทรงเรียกหยางอี้หวนให้เข้าพบทันที นางแต่งกายงดงามแล้วจึงมาเข้าเฝ้า ฮ่องเต้ได้พบว่านางมีรูปโฉมที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง จึงให้อยู่ปรนนิบัติรับใช้ข้างกาย เนื่องจากนางรู้จักเอาใจจึงเป็นที่โปรดปรานของฮ่องเต้ ไม่นานนักก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกุ้ยเฟย

หลังจากที่หยางกุ้ยเฟยมีอำนาจ ก็ได้ร่วมมือกับหยางกั๋วจงให้ร้ายขุนนางที่ภักดี หลังจากเกิดเหตุก่อกบฏ ฮ่องเต้ได้นำเอาหยางกุ้ยเฟยรวมทั้งเหล่าขุนนางบุ๋นบู๊หลบหนีไปทางตะวันตก อานลู่ซานยกทัพติดตามไป เพราะไม่เพียงแต่ต้องการแผ่นดินราชวงศ์ถังเท่านั้น ยังต้องการสาวงามหยางกุ้ยเฟยอีกด้วย ระหว่างทางที่หลบหนีนั้นเหล่าขุนนางทั้งหลายถามฮ่องเต้ว่าท่านต้องการแผ่นดินหรือต้องการหยางกุ้ยเฟย หากไม่ประหารนางพวกเราก็จะไม่ร่วมทางไปด้วย ด้วยความจำเป็นฮ่องเต้จึงสั่งให้ประหารชีวิตหยางกุ้ยเฟย ให้นางผูกคอตายใต้ต้นหลีในสวน

ภายหลัง กวีเอกไป๋จวีอี้ได้แต่งลำนำ “ฉางเฮิ่นเกอ” (长恨歌) บรรยายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตอนนี้ขึ้น

 
Credit : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=minnyminny&month=09-2007&date=15&group=2&gblog=7
ขอขอบคุณ http://video.mthai.com/forum/topic/294949
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ