ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทอดกฐินให้ถูกวิธี โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย  (อ่าน 1253 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28938
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


ทอดกฐินให้ถูกวิธี
โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ชื่อเดิมว่า "ความรู้เรื่องกฐิน" นายสุวัฒน์-นางอรุณ กำลังหาญ เป็นเจ้าภาพพิมพ์ ในงานทอดกฐินวัดเกียรติประดิษฐ์ แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๓
     - แก้ไขปรับปรุง ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๒๕๕๔
     - แก้ไขปรับปรุง-ขยายความ ครั้งที่ ๒ เมื่อ ๒๕๕๕
     - แก้ไขปรับปรุง ครั้งที่ ๓ เมื่อ ๒๕๕๖

พิมพ์ครั้งแรก : พฤศจิกายน ๒๕๕๕ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม ชมรมธรรมธารา จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน ในงานกฐินประจำปี ๒๕๕๕
พิมพ์ครั้งที่ ๒. : ตุลาคม ๒๕๕๖ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม บริษัทในเครือพีทีเอ็นกรุ๊ป โดย คุณไพบูลย์ ดุษฎีวุฒิกุล จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน ในงานกฐินประจำปี ๒๕๕๖




คำนำ

คำว่า กฐิน ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือ ไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร
กฐิน หมายถึง ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์ ที่จำพรรษาครบสามเดือนแล้ว ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนด

กฐิน เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธบัญญัติ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎกติกา ห้าหนึ่ง อย่างเคร่งครัด คือ หนึ่งปี หนึ่งเดือน หนึ่งวัด หนึ่งครั้ง หนึ่งเจ้าภาพ

    ๑. หนึ่งปี คือ ปีหนึ่งทอดกฐินกันทีหนึ่ง
    ๒. หนึ่งเดือน คือ ช่วงเวลาที่จะทอดกฐินได้มีเพียงเดือนเดียว คือ ตั้งแต่ แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
    ๓. หนึ่งวัด คือ พระที่จะรับกฐินต้องเป็นพระที่จำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕(ห้า) รูป น้อยกว่านี้รับกฐินไม่ได้ ไปนิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ ก็ใช้ไม่ได้
    ๔. หนึ่งครั้ง คือ วัดหนึ่งทอดกฐินรับกฐินได้ครั้งเดียวในรอบปี
    ๕. หนึ่งเจ้าภาพ คือ เจ้าภาพกฐินมีได้เพียงรายเดียว เมื่อรายหนึ่งทอดแล้ว รายอื่นๆไม่มีสิทธิ์มาทอดอีก

กติกาสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ พระสงฆ์จะเที่ยวบอกบุญให้ญาติโยมไปเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดของตนมิได้ ไม่ว่าจะบอกด้วยวาจา จดหมายหรือด้วยวิธีการใดๆก็ตาม ทำเช่นนั้นผิดพุทธบัญญัติ กฎกติกาของกฐินเป็นพุทธบัญญัติ คือ เป็นกติกาของพระพุทธเจ้า ควรศึกษากฎกติกาดังกล่าวนี้ให้ชัดเจนแล้วจึงทำ กรุณาอย่าทำตามๆกันไป ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้า เราก็ควรเคารพกติกาของพระพุทธเจ้าด้วย

    เวลานี้มีการทอดกฐิน-รับกฐินแบบไม่เคารพกติกาของพระพุทธเจ้ากันอยู่ทั่วไป จะเป็นเพราะไม่รู้หรือรู้มาผิด หรือเป็นเพราะไม่รับรู้ก็ตาม หนังสือทอดกฐินให้ถูกวิธีเล่มนี้ คงจะช่วยให้ความรู้ได้บ้าง เมื่อมีความรู้แล้วก็จะทำให้ รู้ทัน คือ รู้ทันว่าอะไรถูกอะไรผิด และช่วยให้เรากำหนดท่าทีของตนเองได้ถูกต้องว่า ควรสนับสนุน หรือควรหลีกเลี่ยงอย่างไร

    ท่ำนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว และเห็นว่ามีประเด็นไหนที่พูดไว้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ขอความเมตตาได้โปรดชี้แนะ เพื่อให้ความรู้เรื่องกฐินถูกต้องสมบูรณ์ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป

ขออนุโมทนา คุณไพบูลย์ ดุษฎีวุฒิกุล และคณะผู้มีศรัทธาจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ แจกเป็นธรรมทาน ขอธรรมทานนี้จงเป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานแก่ท่านทั้งหลาย และทุกท่านที่ร่วมอนุโมทนา เทอญ.

                                                             นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
                                                                      ตุลาคม ๒๕๕๖




     สารบัญ

     ๐๑ : ความรู้เรื่องกฐิน
     ๐๒ : ถ้อยคำอันเนื่องมาจากกฐิน
     ๐๓ : เครื่องกฐิน
     ๐๔ : คำถวายผ้ากฐิน
     ๐๕ : ขั้นตอนพิธีทอดกฐิน
     ๐๖ : กฐินพระราชทาน
     ๐๗ : กฐินต้องห้าม
     ๐๘ : ควรจำไว้และเข้าใจให้ถูกต้อง
     ๐๙ : ปัญหาเรื่องพระห้ารูป
     ๑๐ : เรื่องในจีวรขันธกะ
     ๑๑ : ภิกษุรูปเดียวก็รับกฐินได้.?
     ๑๒ : กรณีคำว่า “ปจฺฉิมิกา”
     ๑๓ : กฐิน ถ้าจะทอดก็ควรปลอดปัญหา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 29, 2023, 08:44:25 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28938
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


๐๑ : ความรู้เรื่องกฐิน

กฐิน คือ สังฆกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีพระพุทธานุญาตไว้ เพื่อขยายระยะเวลาทำจีวรให้ยาวออกไป โดยปกติระยะเวลาทำจีวรมีเพียงท้ายฤดูฝน ถ้าได้กรานกฐินแล้ว ระยะเวลาย่อมขยายออกไปตลอดฤดูหนาว ในกาลต่อมาได้กำหนดเป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนา ที่สำคัญอันหนึ่งของชาวไทยที่เป็นพุทธศาสนิก สืบต่อตกทอดมาแต่โบราณกาล เท่าที่มีหลักฐานทราบได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เรียกเป็นสามัญว่า “ประเพณีทอดกฐิน"

มูลเหตุของกฐิน

มูลเหตุที่จะให้เกิดมีเรื่องกฐินขึ้นนั้น ใน คัมภีร์พระวินัยปิฎก กฐินขันธกะ กล่าวไว้เป็นใจความว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ ๓๐ รูป ถือธุดงควัตรเคร่งครัด มีประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถีจึงชวนกันเดินทางจากเมืองปาฐาไปเมืองสาวัตถี พอไปถึงเมืองสาเกตซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถีระยะทางประมาณ ๖ โยชน์(๙๖ กม.) ก็พอดีถึงวันเข้าพรรษา จึงต้องพักจำพรรษาที่เมืองสาเกต

ในระหว่างสามเดือนที่จำพรรษาอยู่นั้น มีความร้อนรนกระวนกระวายใคร่จะเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง พอออกพรรษาปวารณาแล้ว ต่างก็รีบออกเดินทางจากเมืองสาเกตทันที เวลานั้นฝนยังชุกอยู่ ทางเดินจึงเป็นตมเป็นโคลนเปรอะเปื้อน พอถึงเมืองสาวัตถีก็รีบเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามถึง การเดินทางและการอยู่จำพรรษาในเมืองสาเกตว่า มีความสะดวกสบายดีอยู่หรือ.? ภิกษุเหล่านั้น จึงกราบทูลถึง ความตั้งใจที่จะรีบมาเฝ้า ตลอดจนความลำบากในการเดินทาง ต้องกร่ำแดดกร่ำฝนจนจีวรเปียกชุ่มและเปรอะเปื้อน ให้ทรงทราบ

ครั้นพระองค์ได้ทรงทราบดังนั้นแล้ว จึงยกขึ้นเป็นเหตุ มีพระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน คือ เมื่อมีผ้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์พอจะทำให้เป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ สงฆ์พึงประชุมพร้อมใจกันยกผ้าผืนนั้น ถวายภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เช่น ภิกษุผู้มีจีวรเก่า มีพรรษามาก หรือ สามารถทำ "กฐินัตถารกิจ" ได้ถูกต้อง ภิกษุผู้ได้รับผ้านั้นเอาไปทำจีวรผืนใดผืนหนึ่งให้แล้วเสร็จในวันนั้น แล้วกลับมาบอกสงฆ์ผู้ยกผ้าให้นั้น เพื่ออนุโมทนา

การกรานกฐินนั้นโปรดให้ทำเป็นการสงฆ์ ในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันออกพรรษาไป โดยมีข้อกำหนดว่า ภิกษุผู้กรานกฐินนั้นต้องเป็นผู้จำพรรษาแล้วตลอดสามเดือนไม่มีขาดในวัดเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ห้ารูปขึ้นไป
_______________________________
กฐินัตถารกรรม, กฐินัตถารกิจ คือ การกรานกฐิน

ประเภทของกฐิน

กฐินมี ๒ ประเภท คือ กฐินหลวง และ กฐินราษฎร์ ซึ่งเรียกเป็นสามัญแต่เพียงสั้นๆ ว่า กฐิน

กฐินที่ใช้ผ้าองค์กฐินของหลวง เรียกว่า กฐินหลวง และกฐินหลวงนี้เอง ถ้าพระราชทานให้กระทรวง ทบวง กรม องค์การ สมาคม ตลอดจนเอกชนนำไปทอด เรียกว่า กฐินพระราชทาน

กฐินที่ราษฎร์ทำกันทั่วๆ ไป เรียกว่า กฐินราษฎร์
ในกฐินราษฎร์นี้เอง ยังแยกเรียกกันออกไปเป็น ๒ อย่าง คือ จุลกฐิน และ มหากฐิน
    - กฐินที่จัดทำตั้งแต่เริ่มเก็บฝ้ายมาปั่นกรอให้เป็นด้าย แล้วทอจนเป็นผืนผ้า เย็บย้อมเสร็จ แล้วทอดในวันนั้น มีกำหนดเวลาให้ทำเสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง เรียกว่า จุลกฐิน เพราะต้องรีบทำให้เสร็จในระยะเวลาอันสั้น
    - ส่วนกฐินที่กันอยู่ทุกวันนี้ เรียกว่า มหากฐิน เพราะมีเวลาตระเตรียมได้นานวัน ไม่จำกัดเวลาดั่งจุลกฐิน มหากฐินนี้เรียกกันเป็นสามัญแต่เพียงว่า กฐิน

กำหนดเทศกาลกฐิน

ประเพณีนี้มีกำหนดฤดูกาลที่จะทำไว้ตามวิจัยนิยมบรมพุทธานุญาตต้องทำภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันออกพรรษาไปแล้ว คือ ตั้งแต่ค่ำหนึ่ง เดือนสิบเอ็ด จนถึงวันกลางเดือนสิบสอง (ตกอยู่ในราว ตุลาคม-พฤศจิกายน) จะทำก่อนหรือหลังกำหนดเวลาที่กล่าวนี้ไม่ได้ ภายในกำหนดเวลานี้เรียกกันโดยทั่วๆไปว่า กฐินกาล เทศกาลกฐิน หน้ากฐิน หรือ ฤดูกฐิน ซึ่งหมายความว่า เป็นเวลาที่ทอดกฐินได้

จองกฐิน

ก่อนถึงกฐินกาล ผู้ประสงค์จะทอดกฐิน ณ วัดใด ต้องไปแจ้งความจำนงให้พระและประชาชนละแวกวัดนั้นทราบว่า ตนจะทอดกฐินที่วัดนั้นเป็นการล่วงหน้า การแสดงความจำนงนี้เรียกว่า จองกฐิน

การจองกฐินนี้จองได้แต่วัดราษฎร์ วัดหลวงจองไม่ได้ เพราะมีนิยมว่า หลวงต้องได้รับกฐินหลวง ถึงกระนั้นก็ดี บัดนี้ได้พระราชทานโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรม องค์การ สมาคม ตลอดจนเอกชน ขอพระราชทานเพื่อทอดกฐินตามวัดหลวงได้ โดยใช้ผ้าองค์กฐินของหลวง (วิธีขอพระราชทาน ดูในเรื่อง กฐินพระราชทาน)

ทั้งนี้ เว้นวัดหลวงที่สำคัญ ๑๖ วัด ห้ามขอพระราชทาน นอกจากจะพระราชทานให้ผู้ใดผู้หนึ่งไปทอดแทนพระองค์ วัดหลวง ๑๖ วัดนั้น คือ

กรุงเทพมหานคร
    ๑. วัดเทพศิรินทราวาส
    ๒. วัดบวรนิเวศวิหาร
    ๓. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
    ๔. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
    ๕. วัดมกุฏกษัตริยาราม
    ๖. วัดมหาธาตุยุวราชรังสังฤษดิ์
    ๗. วัดราชบพิธ
    ๘. วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
    ๙. วัดราชาธิวาส
  ๑๐. วัดสุทัศนเทพวราราม
  ๑๑. วัดราชโอรสาราม
  ๑๒. วัดอรุณราชวราราม

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    ๑. วัดนิเวศธรรมประวัติ
    ๒. วัดสุวรรณดาราราม

จังหวัดนครปฐม
    ๑. วัดพระปฐมเจดีย์

จังหวัดพิษณุโลก
    ๑. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

ทอดกฐิน

ครั้นถึงกฐินกาล ผู้ที่จองกฐินไว้ก็เตรียมข้าวของโดยเฉพาะผ้า ซึ่งจะทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ อย่างน้อยก็พอที่จะทำให้เป็นสบงได้ ผ้านี้จะเป็นผ้าขาวที่ยังไม่ได้เย็บ หรือเย็บแล้วแต่ยังไม่ได้ย้อมเหลือง หรือย้อมเหลืองแล้วก็ได้ ผ้าดังกล่าวเป็นของสำคัญไม่มีไม่ได้ จึงเรียกว่า "องค์กฐิน"

ส่วนของอื่นซึ่งเรียกว่า "บริวารกฐิน" นั้นไม่มีกำหนด แล้วแต่ศรัทธา เมื่อเตรียมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ เรียกว่า ทอดกฐิน

ก่อนที่จะนำกฐินไปทอด ถ้ามีพิธีฉลอง เรียกว่า ฉลองกฐิน และในขณะนำไปทอด ถ้ามีพิธีแห่ จะเป็นทางบกหรือทางน้ำก็ตาม เรียกว่า แห่กฐิน

ในการทอดกฐินนี้มีประเพณีอย่างหนึ่ง คือ ผู้ทอดกฐินต้องทำธงผ้าเขียนเป็นรูปสัตว์ เช่น จระเข้ หรือเต่า ไปด้วย เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว ก็นำไปปักไว้ที่ศาลาวัดที่หน้าโบสถ์ หรือหน้าวัด หรือที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้ง่าย เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า "วัดนี้ทอดกฐินแล้ว"

เมื่อจวนจะสิ้นกฐินกาล ราวขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง มักจะมีผู้มีศรัทธา หมายจะสงเคราะห์ภิกษุสงฆ์ให้ได้อานิสงส์กฐิน ไปสืบเสาะหาวัดที่ไม่มีใครทอดกฐิน เมื่อพบก็จัดการทอดทีเดียว กฐินชนิดนี้เรียกว่า "กฐินตก" หรือ "กฐินตกค้าง" บางทีก็เรียกว่า "กฐินจร" หรือ "กฐินโจร" ซึ่งหมายความว่า กฐินที่ไม่ได้จองล่วงหน้าตามธรรมเนียม จู่ๆ ก็ไปทอด โดยมิได้บอกให้รู้ตัว

อานิสงส์กฐิน (สำหรับภิกษุ)

ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์(เอกสิทธิ์) ห้าประการ คือ
    ๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรคในปาจิตตียกัณฑ์
    ๒. เที่ยวจาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำหรับ
    ๓. ฉันคณโภชน์ได้
    ๔. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
    ๕. จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ

ทั้งได้โอกาสขยายจีวรกาลให้ยาวออกไปตลอด ๔ เดือนฤดูเหมันต์ด้วย (ดูเรื่องพิสดารใน วินัยมุข เล่ม ๓ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส)

เรื่องกฐินนี้ ชั้นเดิมเป็นเรื่องของภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ เพราะเป็นสังฆกรรม ภิกษุสงฆ์ต้องจัดการขวนขวายหาผ้ามาเองโดยวิธีบังสุกุล หรือเก็บผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกองขยะหรือป่าช้า หรือที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งแสดงว่า ผ้านั้นไม่มีเจ้าของ จะออกปากขอโดยตรงหรือโดยปริยายก็ไม่ได้ จึงลำบากอยู่มาก

ภายหลังคฤหัสถ์ผู้ศรัทธา เห็นความลำบากของภิกษุสงฆ์ ปรารถนาจะอนุเคราะห์ ประกอบทั้งหวังบุญกุศลด้วย จึงถือเป็นหน้าที่จัดถวาย เพื่อเป็นการสะดวกแก่ภิกษุสงฆ์ หรือแม้ภิกษุสามเณรถ้าปรารถนาจะอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ให้ได้กรานกฐิน จะจัดการทอดกฐินบ้างก็ได้

__________________________________________________
หลักความ ได้จาก สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน





๐๒ : ถ้วยคำอันเนื่องมาจากกฐิน

คำว่า “กฐิน”

ตามศัพท์แปลว่า “ไม้สะดึง” คือ ไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่ง(ในประเภทญัตติทุติยกรรม) ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร

แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร(จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้) และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบ เพื่ออนุโมทนา

เมื่อสงฆ์ คือ ที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้น อนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔) ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้นเรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ) สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป

ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ (เหมือนอานิสงส์การจำพรรษา) ยืดออกไปอีก ๔ เดือน (ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) และได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลออกไปตลอด ๔ เดือนนั้น

___________________________________________________
จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ BUDSIR VI

กฐินต้น

กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งเป็นการส่วนพระองค์

กฐินเดาะ

กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน ศัพท์นี้ภาษาลีว่า กฐฃินุทฺธาโร, กฐฃินุพฺภาโร แปลว่า รื้อไม้สะดึง ความหมายก็คือ ยกเลิกการกรานกฐิน คือไม่สามารถจะหาผ้ามาทำให้สำเร็จเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ หรือผ้าที่ได้มานั้นไม่อาจจะใช้เป็นผ้ากฐินได้ เช่น เป็นผ้าที่ออกปากขอได้มา หรือสงฆ์ในวัดนั้นไม่พร้อมใจกันกรานกฐิน

ด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม เรียกกรณีดังว่ามานี้ว่า กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน ความหมายที่เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ ขาดสิทธิ์ที่จะได้รับประโยชน์ หรืออานิสงส์แห่งกฐิน หรือไม่สำเร็จเป็นกฐิน

การกรานกฐิน (กฐินัตถารกรรม หรือ กฐินัตถารกิจ)

ขึงไม้สะดึง คือ เอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์ เพื่ออนุโมทนา ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้น เรียกว่า "ผู้กราน"

พิธีทำในบัดนี้ คือ ภิกษุซึ่งจำพรรษาครบสามเดือนในวัดเดียวกัน (ต้องมีจำนวน ๕ รูปขึ้นไป) ประชุมกันในอุโบสถ พร้อมใจกันยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ภิกษุรูปนั้นทำกิจ ตั้งแต่ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วบอกแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้าให้เพื่ออนุโมทนา และภิกษุนั้น อนุโมทนาแล้ว เรียกว่า "กรานกฐิน"

ถ้าผ้ากฐินเป็นจีวรสำเร็จรูป กิจที่จะต้องซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม ก็ไม่มี (กราน เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ขึง” คือ ทำให้ตึง กฐิน เป็นภาษาบาลี แปลว่า “ไม้สะดึง” กรานกฐิน ก็คือ “ขึงไม้สะดึง” คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง) เขียน กราลกฐิน บ้างก็มี

คณโภชน์

อานิสงส์กฐินข้อ ๓ ฉันคณโภชน์ได้
คำว่า "คณโภชน์ แปลว่า ฉันเป็นหมู่" คือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับนิมนต์ออกชื่อโภชนะแล้วฉัน

“รับนิมนต์ออกชื่อโภชนะ” หมายถึง เจ้าภาพนิมนต์ไปฉันโดยระบุชื่ออาหารที่จะถวาย เช่น นิมนต์ฉันไก่ย่าง นิมนต์ฉันหมูสะเต๊ะ ตามปกติถ้าเจ้าภาพนิมนต์โดยระบุชื่ออาหารเช่นนี้ ภิกษุจะรับนิมนต์ไม่ได้ เพราะผิดวินัยบัญญัติ เจ้าภาพที่รู้วินัยสงฆ์จึงนิมนต์โดยใช้คำเป็นกลางๆ เช่น นิมนต์ฉันภัตตาหารเพล

แต่เมื่อได้กรานกฐินแล้ว ภิกษุรับนิมนต์ออกชื่อโภชนะเช่นนั้นได้ ตลอดระยะกาลเวลาที่อานิสงส์กฐินยังมีอยู่ คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

ในหนังสือวินัยมุข สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีข้อพิจารณว่า คำว่า "คณโภชน์" บางทีจะหมายถึง การนั่งล้อมโภชนะฉัน หรือฉันเข้าวง






๐๓ : เครื่องกฐิน

คนแต่ก่อนพูดกันว่า “จัดเครื่องกฐินก็เหมือนจัดบริขาร อย่างน้อยพอบวชพระได้องค์หนึ่ง” รายการเครื่องกฐินจึงนิยมกำหนดกัน ดังต่อไปนี้

    ๑. ไตรจีวรพระองค์ครอง ๑ ไตร (รายการนี้คือ “องค์กฐิน”)
    ๒. ไตรจีวรพระคู่สวด ๒ ไตร
    ๓. บาตร พร้อมธมกรก (เครื่องกรองน้ำ) มีดโกรน เข็ม ๑ ชุด
    ๔. ตาลปัตร และย่าม ๑ ชุด
    ๕. เสื่อ ที่นอน หมอน ผ้าห่มนอน มุ้ง ๑ ชุด
    ๕. เสื่อ ที่นอน หมอน ผ้าห่มนอน มุ้ง ๑ ชุด
    ๖. ร่ม ๑ คัน
    ๗. ปิ่นโต ๑ เถา
    ๘. รองเท้า ๑ คู่
    ๙. กาต้มน้ำร้อน ๑ ใบ
  ๑๐. ถังกานวม, ถ้วยชา ๑ ชุด
  ๑๑. กระโถน ๑ ใบ
  ๑๒. ช้อนส้อม จานข้าว ๑ ใบ
  ๑๓. ผ้าขนหนูเช็ดตัว ๑ ผืน
  ๑๔. ตะเกียง ๑ ดวง หรือโคมไฟ ๑ ชุด
  ๑๕. ไม้กวาด, สายระเดียง (ราวตากผ้า), ธงตะเข้ ๑ ชุด
  ๑๖. ผ้าห่มพระประธาน ๑ ผืน
  ๑๗. เทียนปาติโมกข์ ๑ ห่อ
  ๑๘. เครื่องมือช่าง ๑ ชุด (เช่น จอบ เสียม มีด ขวาน ค้อน ฯลฯ)
  ๑๙. พานแว่นฟ้า, ดอกไม้คลุมไตร ๓ ชุด
  ๒๐. สัปทน ๑ คัน
  ๒๑. เครื่องไทยธรรม เท่าจำนวนพระภิกษุ-สามเณรทั้งวัด

รายการเหล่านี้ เจ้าภาพอาจตัดหรือเติมได้อย่างเหมาะสม ยกเว้นรายการที่ ๑ องค์ กฐิน อย่างน้อยต้องมีไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ขาดไม่ได้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 29, 2023, 12:10:45 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28938
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


๐๔ : คำถวายผ้ากฐิน

คำถวายกฐินราษฎร์

(กล่าวนำ/กล่าวตาม หยุดตามเครื่องหมายลูกน้ำ)
นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ.

อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ,
สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ,
ปะฏิคคะเหตวา จะ, อิมินา, ทุสเสนะ, กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัญเจวะ, มาตาปิตุ,
อาทีนัญจะ, ญาตะกานัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, ผ้ากฐินกับทั้งบริวารเหล่านี้,
แก่พระสงฆ์, ขอพระสงฆ์, จงรับ, ผ้ากฐิน, กับทั้งบริวารเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย,
ครั้นรับแล้ว, จงกรานกฐิน, ด้วยผ้านี้เพื่อประโยชน์, เพื่อความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย,
และแก่ญาติทั้งหลาย, มีมารดาบิดาเป็นต้น, ตลอดกาลนาน เทอญ.

คำถวายผ้ากฐินแบบสั้น

(นะโม ๓ จบ)
อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ (ว่า ๓ จบ)
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์






๐๕ : ขั้นตอนพิธีทอดกฐิน

ปกติพิธีทอดกฐินนิยมทำกันเป็น ๒ ขั้นตอน คือ พิธีฉลองกฐิน และ พิธีทอดกฐิน ซึ่งอาจแบ่งเป็น ๒ วัน คือ ฉลองกฐินวันหนึ่ง และทอดกฐินอีกวันหนึ่ง หรือจะทำภายในวันเดียวก็ได้

    - ถ้าทำ ๒ วัน นิยมฉลองกฐินตอนเย็น คือ ตั้งองค์กฐินแล้วพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ กลางคืนมีมหรสพสมโภช รุ่งขึ้นเลี้ยงพระเช้าหรือเพลแล้วทอดกฐิน
    - ถ้าทำวันเดียว ก็ตั้งองค์กฐินตอนเช้า พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เลี้ยงพระเพล แล้วทอดกฐินต่อเนื่องกันไปให้เสร็จภายในวันนั้น

ตัวอย่างกำหนดการแบบ ๒ วัน

ลำดับพิธีฉลองกฐิน (ตอนเย็น)
เวลา ๐๐.๐๐ - ตั้งองค์กฐิน ณ …………..
เวลา ๐๐.๐๐ - พระสงฆ์ขึ้นสู่อาสนะ
                - ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
                - พิธีกรนำบูชา, นมัสการพระรัตนตรัย
                - อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล
                - อาราธนาพระปริตร
                - พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
                - ถวายเครื่องไทยธรรม
                - พระสงฆ์อนุโมทนา
กลางคืน มีมหรสพสมโภช หรือกิจกรรมอื่นตามกำลังความสามารถของเจ้าภาพ

ลำดับพิธีทอดกฐิน (วันรุ่งขึ้น)
เวลา ๐๐.๐๐ - ถวายภัตตาหารเช้า, เพล แด่พระภิกษุสามเณรทั้งวัด
เวลา ๐๐.๐๐ - พระสงฆ์ขึ้นสู่อาสนะ
                - ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
                - พิธีกรนำบูชา, นมัสการพระรัตนตรัย
                - อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล
                - กล่าวคำถวายผ้ากฐิน (พิธีกรกล่าวนำ ผู้ร่วมพิธีกล่าวตาม)
                - ประธานประเคนผ้ากฐินแก่พระสงฆ์รูปที่ ๒ พร้อมทั้งประเคนผ้าห่มพระประธานและเทียนพระปาติโมกข์
                - พระสงฆ์กระทำพิธีอปโลกนกรรม (ประกาศมอบให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งครองผ้ากฐิน)
                - ผู้ร่วมพิธีถวายเครื่องบริวารกฐินและเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์
                - ปวารณาปัจจัยบำรุงวัด และปัจจัยถวายพระภิกษุสามเณร
                - พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี

ตัวอย่างกำหนดการแบบวันเดียว

ลำดับพิธีฉลองกฐิน และทอดกฐิน
เวลา ๐๐.๐๐ - ตั้งองค์กฐิน ณ ………………..
เวลา ๐๐.๐๐ - พระสงฆ์ขึ้นสู่อาสนะ
                - ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
                - พิธีกรนำบูชา, นมัสการพระรัตนตรัย
                - อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล
                - อาราธนาพระปริตร
                - พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบ
                - ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรทั้งวัด*
                - กล่าวคำถวายผ้ากฐิน (พิธีกรกล่าวนำ ผู้ร่วมพิธีกล่าวตาม)
                - ประธานประเคนผ้ากฐินแก่พระสงฆ์รูปที่ ๒ พร้อมทั้งประเคนผ้าห่มพระประธานและเทียนพระปาติโมกข์
                - พระสงฆ์กระทำพิธีอปโลกนกรรม
                - ผู้ร่วมพิธีถวายเครื่องบริวารกฐินและเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์
                - ปวารณาปัจจัยบำรุงวัด และปัจจัยถวายพระภิกษุสามเณร
                - พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี

*หมายเหตุ : เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว ถ้าจะทอดกฐินติดต่อกันไป กล่าวคำถวายผ้ากฐิน และปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนั้น แต่ถ้าเจ้าภาพจะรับประทานอาหารกลางวันกันก่อน แล้วจึงจะทอดกฐินทีหลัง เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธีไปตอนหนึ่ง เมื่อเจ้าภาพรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ถึงกำหนดเวลาทอดกฐิน จึงเริ่มพิธีทอดกฐิน ตามลำดับดังนี้

เวลา ๐๐.๐๐ - พระสงฆ์ขึ้นสู่อาสนะ
                - ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
                - พิธีกรนำบูชา, นมัสการพระรัตนตรัย
                - อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล
                - กล่าวคำถวายผ้ากฐิน (พิธีกรกล่าวนำ ผู้ร่วมพิธีกล่าวตาม)
                - ประธานประเคนผ้ากฐินแก่พระสงฆ์รูปที่ ๒ พร้อมทั้งประเคนผ้าห่มพระประธานและเทียนพระปาติโมกข์
                - พระสงฆ์กระทำพิธีอปโลกนกรรม
                - ผู้ร่วมพิธีถวายเครื่องบริวารกฐินและเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์
                - ปวารณาปัจจัยบำรุงวัด และปัจจัยถวายพระภิกษุสามเณร
                - พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี






๐๖ : กฐินพระราชทาน

วิธีขอพระราชทานกฐิน

การขอพระราชทานเพื่อทอดกฐิน ณ พระอารามหลวง ทำได้ ๒ ทาง คือ

   ๑. ติดต่อหน่วยราชการที่รับผิดชอบ (ปัจจุบันนี้คือ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม) ว่าจะขอพระราชทานเพื่อทอดกฐินที่วัดไหน ถ้าวัดนั้นยังไม่มีผู้ใดขอพระราชทาน หน่วยราชการที่รับผิดชอบก็จะดำเนินการขอพระราชทานให้ตามความประสงค์

   ๒. ติดต่อวัดหลวงที่จะทอดกฐินนั้นโดยตรง ทางวัดจะแจ้งไปยังหน่วยราชการที่รับผิดชอบ ถ้ายังไม่มีผู้ใดขอพระราชทาน หน่วยราชการที่รับผิดชอบก็จะดำเนินการขอพระราชทานให้ต่อไป ในการติดต่อนั้นก็จะมีรายละเอียด เช่น กำหนดวัน เวลา ที่จะทอดและให้ผู้ขอพราะราชทานไปรับผ้าองค์กฐินของหลวงจากหน่วยราชการที ่รับผิดชอบตามวันที่กำหนดเพื่อนำไปทอดต่อไป

องค์กฐินของหลวงนั้นประกอบด้วยผ้าและของบริวารจำนวนหนึ่ง ผู้ขอพระราชทานสามารถจัดของบริวารเพิ่มเติมเป็นการโดยเสด็จพระราชกุศลได้ตามกำลังศรัทธา

เรื่องควรรู้ในพิธีถวายกฐินพระราชทาน

    ๑. ธรรมเนียมของพระอารามหลวงทุกพระอาราม เวลารับผ้าพระกฐินจะจัดประกอบพิธีในพระอุโบสถ และตั้งอาสน์สงฆ์ทางด้านขวาของพระประธานเสมอ (สังเกตง่ายๆ เวลาเข้าประตูโบสถ์ อาสน์สงฆ์จะอยู่ทางด้านซ้ายมือของเรา)

    ๒. ที่นั่งของประธานจะหันหน้าไปทางอาสน์สงฆ์ แต่ที่นั่งของผู้ร่วมพิธีในพระอุโบสถจะหันหน้าไปทางพระประธาน (จำง่ายๆ ผู้ร่วมพิธีนั่งหันหลังให้ประตูโบสถ์ ประธานคนเดียวนั่งหันข้างให้ประตูโบสถ์)

    ๓. กฐินราษฎร์ ตั้งผ้ากฐินไว้ต่อหน้าพระสงฆ์เรียบร้อยแล้วก่อนทำพิธีถวาย แต่กฐินพระราชทาน ประธานต้องเชิญผ้ากฐินเข้าประตูพระอุโบสถเข้าไปถวาย การรับผ้าพระกฐินพระราชทานก่อนที่จะเชิญเข้าไปทำพิธีถวายในพระอุโบสถ์ มีวิธีปฏิบัติ ๒ วิธี
        ก. จัดเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งเครื่องแบบปกติขาว คอยส่งผ้าพระกฐินให้ประธานในพิธีที่เชิงบันไดพระอุโบสถหรือหน้าประตูเข้าพระอุโบสถ หรือ
        ข. จัดโต๊ะหมู่ที่หน้าพระอุโบสถหรือเชิงบันไดพระอุโบสถตามความเหมาะสม โดยตั้งพระบรมฉายาลักษณ์หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีแจกันดอกไม้สดหรือพานพุ่มดอกไม้ ๑ คู่ (จัดประดับได้ตามความเหมาะสมของโต๊ะหมู่) ตัวกลางที่ ๒ วางพานแว่นฟ้า หรือตะลุ่มมุกส าหรับวางผ้าพระกฐิน ตัวกลางล่างวางธูปเทียนแพและกรวยดอกไม้ ๑ ชุด เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลา จึงนำผ้าพระกฐินไปวางบนพานแว่นฟ้าที่จัดไว้นั้น ไม่ต้องใช้พุ่มครอบไตร กรณีนี้ผู้เป็นประธานในพิธีจะเข้าไปเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานที่โต๊ะหมู่ (จำง่ายๆ วิธีแรกมีผู้ส่งผ้าให้ประธาน วิธีหลังประธานไปเชิญผ้าที่โต๊ะหมู่เอง)

     ๔. พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ไม่มีการสมาทานศีล
     ๕. พระสงฆ์ที่ลงรับกฐินพระราชทาน (และกฐินหลวงทุกประเภท) ถ้ามีสมณศักดิ์ (คือเป็นเปรียญ [= ที่เรียกกันว่า พระมหา] เป็นพระครูและเป็นพระราชาคณะ [= ที่เรียกกันว่า ท่านเจ้าคุณ]) ท่านจะนั่งตามลำดับสมณศักดิ์ ไม่ได้นั่งตามลำดับอายุพรรษาเหมือนในพิธีกฐินราษฎร์

     ๖. พระสงฆ์ใช้พัดยศทำพิธีกฐินกรรมมีอปโลกน์เป็นต้น ตลอดทั้งอนุโมนาและถวายอดิเรก ในกรณีที่เจ้าภาพจัดทำตาลปัตร (พัดรอง) เป็นการโดยเสด็จพระราชกุศล ประธานสงฆ์จะใช้พัดรองนั้นตั้งอนุโมทนายะถา…สัพพีติโย…ก็ได้ เพื่อเป็นการฉลองศรัทธาให้เกิดปีติปราโมทย์ในการบุญพระกฐินทานยิ่งขึ้น แต่เมื่อจะกล่าวคำถวายอดิเรกจะต้องใช้พัดยศและใช้ไปจนจบ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง…

     ๗. ในขณะที่พระสงฆ์ถวายอดิเรก (คือพระราชาคณะประธานสงฆ์กล่าวคำถวายพระพรเป็นพิเศษเฉพาะแต ่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู ่หัวเป็นภาษาบาลี) ผู้อยู่ในพิธีทั้งหมดไม่ต้องประนมมือ เหตุผลที่ไม่ต้องประนมมือ (ควรจะใช้คำว่า “ห้ามประนมมือด้วยซ้ำ”) คือ ถวายอดิเรกเป็นการถวายพระพรเฉพาะเจ้าอยู่หัว ผู้ที่ไม่ใช่พระเจ้าอยู่หัวจึงไม่มีหน้าที่จะต้องประนมมือรับ การประนมมือรับเท่ากับรับว่าตนเป็นเจ้าอยู่หัวนั่นเอง (นั่นคือกำลังทำสิ่งที่เป็นอัปมงคลให้แก่ตัวเองโดยไม่รู้ตัว!) เรื่องนี้เท่าที่เห็นมา มักทำไม่ถูกต้องกันมาก คือ ในขณะที่พระสงฆ์ถวายอดิเรกก็ประนมมือกันไปกันหมด ไม่เว้นแม้แต่ท่านผู้เป็นประธาน อันแสดงว่าขาดการศึกษา สำเหนียกถึงหลักปฏิบัติที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในปัจจุบัน

ลำดับพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน

     - ข้าราชการ สาธุชนผู้มีเกียรติ อุบาสก อุบาสิกา พร้อมกัน ณ พระอุโบสถ
     - ประธานในพิธีเดินทางมาถึงหน้าพระอุโบสถ ไปที่ตั้งโต๊ะหมู่ซึ่งตั้งผ้าพระกฐินไว้ (ผู้ร่วมพิธีลุกขึ้นยืน)
     - ยืนถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์
     - เปิดกรวยดอกไม้ ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ หรือ พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (โดยวิธีคำนับ ถอนสายบัว หรือประนมมือไหว้) อีกครั้งหนึ่ง
     - ยกผ้าพระกฐินขึ้นอุ้มประคองไว้ตรงอก ยืนตรงแสดงความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ขณะที่ประธานยกผ้าพระกฐินอุ้มประคอง ดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี)
     - เมื่อจบเพลง อุ้มประคองผ้าพระกฐินเดินเข้าสู่พระอุโบสถ ตรงไปวางผ้าพระกฐินที่พานแว่นฟ้า ซึ่งตั้งอยู่ชิดอาสน์สงฆ์ตรงหน้าพระสงฆ์รูปที่ ๒
     - ประธานจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบแล้วไปที่พานแว่นฟ้า หยิบผ้าห่มพระประธานที่วางอยู่บนผ้าไตรพระกฐินส่งให้เจ้าหน้าที่หรือไวยาวัจกร

     - ยกผ้าพระกฐินขึ้นประคองให้อยู่บนท่อนแขนทั้งคู่ หันหน้าไปทางพระประธาน ประนมมือว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ) แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้าพระกฐินว่า
       “ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงสบริวารทั้งปวงนี้ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กอปรด้วยพระราชศรัทธา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อนพระราชทานให้ (ระบุนามบุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับพระราชทาน) น้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ในอาวาสวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินทานนี้ กระทำกฐินัตถารกิจตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ”

     - พระสงฆ์รับสาธุพร้อมกัน
     - วางผ้าพระกฐินบนพานแว่นฟ้า แล้วยกประเคนพระภิกษุรูปที่ ๒ ซึ่งนั่งอยู่ตรงพานแว่นฟ้า (ยกทั้งพาน) แล้วประเคนเทียนพระปาติโมกข์ (ยกทั้งพาน)
     - ประธานนั่ง ณ ที่จัดไว้
     - พระสงฆ์ทำพิธีกฐินกรรม
     - พระเถระองค์ครองลุกออกไปครองผ้าพระกฐิน เสร็จแล้วกลับเข้ามานั่งที่เดิม (ในช่วงเวลาที่ออกไปครองผ้าถ้ามีดนตรีให้บรรเลงเพลงสาธุการ เมื่อครองผ้าเสร็จกลับเข้ามานั่งที่อาสน์สงฆ์ ให้หยุดบรรเลงทันทีแม้จะยังไม่จบเพลง)
     - ประธานประเคนเครื่องบริวารพระกฐินทั้งหมดแด่พระเถระองค์ครอง แล้วไปนั่ง ณ ที่จัดไว้ ต่อจากนั้น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ท่านผู้มีเกียรติร่วมประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์
     - ประกาศยอดจำนวนเงินที่บริจาคร่วมโดยสมเด็จพระราชกุศลเพื่อถวายพระภิกษุสามเณร และถวายบำรุงพระอาราม
     - พระสงฆ์อนุโมทนา ประธานสงฆ์ถวายอดิเรก
     - ประธานกรวดน้ำ รับพร กราบพระรัตนตรัย กราบลาพระสงฆ์เป็นเสร็จพิธี

คำอ่านคำถวายผ้าพระกฐิน

เท่าที่เคยไปร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน สังเกตเห็นว่าท่านผู้เป็นประธานมักจะอ่านคำถวายผ้าพระกฐินตะกุกตะกัก และออกเสียงผิดพลาดหลายคำ จึงขอเสนอคำอ่านคำถวายผ้าพระกฐินตามหลักภาษาไว้เพื่อพิจารณาดังต่อไปนี้ (เฉพาะคำที่ขีดเส้นใต้)

   “ผ้าพระกฐินทาน กะ ถิน นะ ทาน
    กับทั้งผ้าอานิสงสบริวารทั้งปวงนี้ อา นิ สง สะ บอ ริ วาน
    ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระ บาด สม เด็ด พระ ปะ ระ เมน ทะ ระ รา มา ทิบ บอ ดี สี สิน ทระ (ออกเสียงเบา) มะ หา วะ ชิรา ลง กอน

    มหิศรภูมิพลราชวรางกูร มะ หิ สอน พู มิ พน ราด ชะ วะ ราง กูน
    กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช กิ ติ สิ หริ สม บูน อะ ดุน ยะ เดด
    สยามินทราธิเบศรราชวโรดม สะ หยาม มิน ทรา ทิ เบด ราด ชะ วะ โร ดม

    บรมนาถบพิตร บอ รม มะ นาด ถะ บอ พิด
    พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระ วะ ชิระ เกล้า เจ้า อยู่ หัว

เฉพาะคำที่เป็นพระปรมาภิไธย [= ชื่อ] ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้

โปรดสังเกตว่า มีคำที่สัมผัสกันระหว่างวรรค คือ
    วชิราลงกรณ (กอน) กับ มหิศร (สอน)
    วรางกูร (กูน) กับ สมบูรณ (บูน)
    เดช (เดด) กับ เบศร (เบด)

    ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กอปรด้วย กอบ ด้วย
    พระราชศรัทธา พระ ราด ชะ สัด ทา
    โปรดเกล้าโปรดกระหม่อนพระราชทานให้ (ระบุนามบุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับพระราชทาน)
    น้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาล จ า พัน สา กาน
    ถ้วนไตรมาส ในอาวาสวิหารนี้ อา วาด สะ วิ หาน
    ขอพระสงฆ์จงรับพระกฐินทานนี้ กะ ถิน นะ ทาน
    กระทำกฐินัตถารกิจ กะ ถิ นัด ถา ระ กิด
    ตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ” พระ บอ รม มะ พุด ทา นุ ยาด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 29, 2023, 02:06:29 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28938
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


๐๗ : กฐินต้องห้าม

๑. หากฐินเอง

ปัจจุบันนี้ มีเจ้าอาวาสหรือลูกวัดบางแห่ง (หลายแห่ง) ออกเที่ยวบอกบุญขอให้ญาติโยมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดของตน โปรดทราบว่าการกระทำเช่นนั้นผิดพุทธบัญญัติ กฐินที่ได้มาโดยการที่พระสงฆ์บอกบุญหามาเองเช่นนี้ก็ ไม่เป็นกฐิน การถวายผ้ากฐินนั้นเป็นหน้าที่ของญาติโยม ไม่ใช่หน้าที่ของพระสงฆ์ ที่จะเที่ยวไปบอกให้ญาติโยมนำมาถวาย ตัวกฐินจริงๆ อยู่ที่ผ้าเดียว ซึ่งราคาไม่มาก ไม่เกินกำลังที่ญาติโยมจะขวนขวายหาไปถวาย ถ้าเขามีศรัทธา หน้าที่ของวัดหรือของพระสงฆ์ จึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไร ญาติโยมจึงจะเกิดศรัทธาที่บริสุทธิ์ ทางที่ญาติโยมจะเกิดศรัทธาที่บริสุทธิ์ ก็อยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์นั่นเอง กล่าวคือ ถ้าพระสงฆ์ –

     ๑. ศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติพระธรรมวินัยและแบบธรรมเนียมของสงฆ์ให้ครบถ้วนเคร่งครัด
     ๒. ฝึกหัดขัดเกลาจิตใจ ให้โลภะ - ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง
     ๓. แนะนำชี้แนวทางที่ถูกต้องให้แก่ญาติโยมพุทธบริษัททำได้เช่นนี้ ก็จะเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเลื่อมใส เมื่อญาติโยมเกิดศรัทธาเลื่อมใสแล้ว  เขาก็จะขวนขวายอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ขึ้นเอง โดยพระสงฆ์ไม่ต้องไปเที่ยวเอ่ยปากขอ ขอให้สังเกตเถิดว่า วัดที่ปฏิบัติดีแท้พระที่ปฏิบัติดีจริงนั้น ญาติโยมจะหลั่งไหลไปอุปถัมภ์บำรุงเองโดยบริสุทธิ์ และโดยปราศจากขบวนการจัดตั้งทุกรูปแบบ

การเที่ยวออกปากขอกฐินเอง นอกจากจะผิดพุทธบัญญัติ ขัดต่อพระธรรมวินัย และไม่เป็นกฐินแล้ว มองอีกแง่หนึ่งก็เท่ากับเป็นการฟ้องตัวเองว่า หาผู้ศรัทธาเลื่อมใสโดยบริสุทธิ์มิได้แล้วกระมัง จึงต้องเที่ยวบอกเที่ยวหากันเช่นนั้น กฐินไม่ใช่เทศกาลหาเงินเข้าวัด ไม่ควรบิดเบือนพุทธบัญญัติ ไม่ควรเบี่ยงเบนประเพณี ถ้าจะหาเงินเข้าวัด ก็น่าจะคิดอ่านกระทำด้วยวิธีการที่บริสุทธิ์ถูกต้อง ไม่ควรแอบอ้างอาศัยพุทธบัญญัติจนเกิดการแปรปรวน เท่ากับทำลายตัวเอง กฐินมีระยะเวลาเพียงเดือนเดียว ถ้าจะหาเงินเข้าวัด เราไปช่วยกันหาในช่วงเวลาอีก ๑๑ เดือนที่เหลือจะไม่ดีกว่าหรือ จะไม่บริสุทธิ์กว่าดอกหรือ

อนึ่ง อาการที่เที่ยวออกบอกบุญหาเจ้าภาพทอดกฐินเช่นนั้น มิใช่หมายเอาเพียงแค่พระสงฆ์เองเดินไปบอกด้วยวาจาเท่านั้น แต่รวมไปถึงวิธีการทุกรูปแบบ เช่น จดหมาย ใบฎีกา โฆษณา โทรสาร โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต หรือวิธีการไฮเทคอย่างใด ๆ ก็ตาม นับว่าไม่ถูกต้อง ผิดพุทธบัญญัติ ขัดต่อพระธรรมวินัย และไม่เป็นกฐินทั้งสิ้น ทั้งนี้เว้นไว้แต่ในพรรษานั้นมีเจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว พระจึงบอกญาติโยมเพื่อให้มาร่วมอนุโมทนาโดยทั่วกันเท่านั้น - อย่างนี้ไม่เป็นไร

๒. เจ้าภาพหมู่

องค์กฐินสำคัญด้วยผ้าผืนเดียว ซึ่งปกติก็ควรจะเป็นของเจ้าภาพรายเดียว แต่ปัจจุบันนี้เกิดปรากฏการณ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากพุทธบัญญัติ คือทอดกฐินที่วัดเดียวกัน แต่มีเจ้าภาพมากกว่าหนึ่งราย ปรากฏการณ์เช่นนี้มี ๒ ลักษณะ คือ

ลักษณะที่ ๑. มีเจ้าภาพมาพร้อมกันมากกว่าหนึ่งราย และทุกรายได้รับแจ้งจากทางวัดว่าเป็นเจ้าภาพใหญ่เหมือนกันหมด ต่างก็จัดองค์กฐินคือ ผ้าไตรมาเหมือนกันหมด ตั้งเรียงกันเป็นแถว บางทีนับเป็นสิบ ๆ เจ้าภาพ ทุกคณะต่างเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าภาพใหญ่ ผ้าไตรที่ตนนำมานั้นคือผ้ากฐิน เมื่อถึงเวลาก็ทำพิธีถวาย และพระสงฆ์ก็รับไว้หมดทุกไตรทุกเจ้าภาพ

ลักษณะที่ ๒. มีเจ้าภาพมาทีละคณะ คณะนี้มาถึง ก็ทำพิธีถวายโดยเข้าใจว่าเป็นการทอดกฐิน พระสงฆ์ก็รับ คณะโน้นมาถึง ก็ทำพิธีถวายพระสงฆ์ก็รับอีก ถวายกันโดยทำนองนี้ โดยทุกคณะต่างเข้าใจว่าคณะของตนมาเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน โปรดทราบว่าการถวายกฐินและรับกฐินในลักษณะทั้งสองอย่างนี้ ไม่ถูกต้อง ผิดพุทธบัญญัติ ขัดต่อพระธรรมวินัย และไม่เป็นกฐินทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะในรอบหนึ่งพรรษา พระสงฆ์รับกฐินได้เพียงครั้งเดียว และผ้ากฐินก็มีได้เพียงผืนเดียว การรับผ้าหลายผืนจากหลายเจ้าของคือหลายเจ้าภาพในคราวเดียวกัน หรือรับหลายครั้งจากหลายเจ้าภาพ โดยไม่รู้ว่าผ้าของเจ้าภาพรายไหนเป็นกฐิน จึงไม่ถูกต้อง

การที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากเจ้าอาวาส หรือลูกวัด หรือกรรมการวัดต่างรู้เห็นเป็นใจกันออกไปเที่ยวบอกบุญหาเจ้าภาพมาทอดกฐินและมุ่งจะให้มีเจ้าภาพมากๆ เพื่อหวังได้เงินเข้าวัดมากๆ โดยไม่คำนึงถึงพุทธบัญญัติการกระทำเช่นนั้นผิดถึงสองชั้น คือพระสงฆ์บอกบุญหาเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดที่ตนเองจำพรรษาอยู่ ก็ผิดชั้นหนึ่งแล้ว การหาเจ้าภาพหลายรายหลายคณะ โดยไม่รู้ว่าผ้าของคณะไหนเป็นผ้ากฐิน ก็ผิดซ้ำเข้าอีกชั้นหนึ่ง

การที่พระสงฆ์เที่ยวบอกบุญให้ญาติโยมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดที่ตนจำพรรษาอยู่ แม้จะบอกแก่เจ้าภาพรายเดียว ก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว (ดังกรณีในข้อ ๑ หากฐินเอง) ยิ่งบอกหาเจ้าภาพมาเป็นคณะหลายคณะก็ยิ่งผิดซ้ำสอง เพราะผ้ากฐินมีได้เพียงผืนเดียว คือ เป็นผ้ากฐินจริงๆ อยู่เพียงเจ้าภาพเดียว แต่เพราะการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของทางวัด จึงเกิดปัญหาแทนที่จะมีผ้ากฐินผืนเดียว (หรือไตรเดียว) ของเจ้าภาพรายเดียว ก็กลายเป็นมีผ้ากฐินหลายผืน หลายไตร หลายเจ้าภาพ ซึ่งไม่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ ที่ซ้ำร้ายก็คือ ทางวัดยังสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ญาติโยมว่าผ้าของทุกคณะ ทุกเจ้าภาพเป็นกฐินเสมอกันทั้งหมด

ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย เพราะผ้าที่จะเป็นผ้ากฐินนั้นมีได้เพียงผืนเดียว และเมื่อรับผ้านั้นพระสงฆ์จะต้องรู้แน่แล้วว่าผ้าของเจ้าภาพรายไหนเป็นผ้ากฐิน จะใช้วิธีรับรวมๆ กันไว้ก่อน แล้วไปเลือกเอาเพียงผืนเดียวตอนทำพิธีกรานกฐินนั้นไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะทันทีที่รับผ้าจากเจ้าภาพรายแรกแล้ว สิทธิที่จะรับผ้ากฐินผืนอื่นก็เป็นอันสิ้นสุดลง เพราะพรรษาหนึ่งรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว เจ้าภาพรายอื่น ๆ แม้จะตั้งผ้าไตรเรียงรายอยู่ต่อหน้าตรงนั้น ก็หมดสิทธิ์ที่จะเป็นผ้ากฐิน จะเป็นได้ก็เพียงบริวารกฐินเท่านั้น

ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ทางวัดมักไม่บอกแจ้งให้เจ้าภาพทั้งหลายเข้าใจ ทำให้เจ้าภาพทุกคณะหลงเข้าใจผิดว่าตนเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ทั้ง ๆ ที่ตามความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงแค่บริวารกฐิน เหตุทั้งนี้เกิดจากโลภจิต คิดแต่จะให้ได้เงินมากๆ โดยไม่คำนึงถึงพุทธบัญญัติ ถ้าไปบอกญาติโยมว่า ขอเชิญไปร่วมเป็นบริวารกฐิน ก็เกรงว่าโยมจะไม่ร่วม เพราะใครก็อยากจะเป็นเจ้าภาพใหญ่ แต่จะไปบอกให้เป็นเจ้าภาพใหญ่รายเดียว ก็เกรงว่าจะได้เงินน้อยไป จึงบอกหลายๆ เจ้าภาพทั้งๆ ที่มีเจ้าภาพได้รายเดียว ก็ต้องใช้วิธีบอกว่าทุกคณะเป็นเจ้าภาพเสมอกัน

ซึ่งเป็นการบิดเบือนพุทธบัญญัติขัดต่อพระธรรมวินัย และผลสุดท้ายก็ไม่เป็นกฐิน บางวัดแม้จะไม่บอกหาเจ้าภาพหลายคณะ แต่เจ้าอาวาสจะเป็นผู้เลือกรับจองเฉพาะรายที่ถวายเงินมากกว่า การกระทำอย่างนี้ถือว่าเป็นกฐินที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง

หลักฐานที่ยืนยันว่าเจ้าภาพทอดกฐินต้องมีรายเดียว

ขอให้สังเกตให้ดี จะเห็นหลักที่ถูกต้อง นั่นคือ จะทำบุญถวายอะไรๆ จะเลี้ยงพระกันสักกี่คณะ จะถวายสังฆทานกันสักกี่ราย จะทอดผ้าป่าสักกี่กอง ก็ทำได้ทันที ไม่ต้องจอง แต่ทำไมจะทอดกฐินจึงต้องจองก่อน.? เหตุผลก็คือ ทำบุญอย่างอื่นจะทำกันสักกี่รายก็ไม่มีข้อจำกัด ใครมาก่อนก็ทำก่อน ใครมาทีหลังก็ทำได้อีก จึงไม่จำเป็นจะต้องจอง แต่ทอดกฐิน วัดหนึ่งปีหนึ่งทอดได้รายเดียว ถ้าไม่จองไว้ก่อนก็แย่งกันยุ่งไปหมดเท่านั้นเอง เพราะเมื่อคนหนึ่งทอดแล้ว ใครจะมาทอดอีกไม่ได้ ถ้าทอดแล้วทอดอีกได้เหมือนกับทำบุญอย่างอื่นๆ จะต้องจองก่อนทำไม

นี่คือเหตุผลที่เป็นข้อยืนยันว่า ทอดกฐิน วัดหนึ่งปีหนึ่งทอดได้รายเดียวเท่านั้น ทอดมากกว่าหนึ่งราย ผิดพุทธบัญญัติ ไม่เป็นกฐิน

    หลักฐานอีกข้อหนึ่งก็คือ “กฐินสามัคคี”
   “กฐินสามัคคี” คืออะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร.?
    กฐินสามัคคี ไม่ได้หมายความว่า มีคนหนึ่งคิดจะทอดกฐิน แล้วก็ไปเที่ยวชักชวนญาติมิตรมาสามัคคีร่วมกันเป็นเจ้าภาพ (คงมีหลายท่านที่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นอย่างนี้)

    กฐินสามัคคีมีสาเหตุมาจาก มีคนต้องการจะทอดกฐินที่วัดเดียวกันหลายราย หมายความว่า แต่ละรายสามารถทอดไปรายเดียวได้สบายๆ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปหาใครมาช่วย แต่เห็นใจรายอื่นๆ ที่มีศรัทธาต้องการจะทอดเหมือนกัน เพราะเมื่อรายหนึ่งทอดแล้ว รายอื่นๆ ก็ทอดอีกไม่ได้ จึงพร้อมใจกันรวมตัวเป็นเจ้าภาพร่วมกัน นี่คือเหตุผลที่ถูกต้องแท้จริงของคำว่า “กฐินสามัคคี”

กฐินสามัคคีก็คือ มีเจ้าภาพหลายรายนั่นเอง แต่ต้องรวมกันเป็นรายเดียวก่อนจะเข้าไปทอด เพราะกฐินทอดได้รายเดียว ถ้ากฐินทอดได้เป็นร้อยเป็นสิบเจ้าภาพ อย่างที่บางวัดบางแห่งทำกันผิดๆ จะต้อง “สามัคคี” กันทำไม ใครมาก่อนก็ทอดก่อน ใครมาทีหลังก็มาทอดได้อีก แต่เพราะทอดได้เพียงรายเดียว จึงต้องรวมกันเป็น “กฐินสามัคคี”

สรุปว่า

     (๑) บุญกฐิน ไม่เหมือนบุญอื่น เมื่อคนหนึ่งทำแล้ว คนอื่นจะมาทำซ้ำที่กันอีกไม่ได้ จึงต้องจองก่อน เป็นการบอกกล่าวให้รู้ว่า ใครจะมาทอดซ้ำอีกไม่ได้แล้ว จึงเป็นการยืนยันว่า กฐินทอดได้รายเดียว

     (๒) แต่ถ้าเกิดมีคนอยากจะทอดวัดเดียวกันรายหลาย วิธีที่จะทำให้ทอดได้หมดทุกรายก็คือ ทุกรายต้องรวมกันเป็นรายเดียวก่อน เมื่อรวมกันเป็นรายเดียวแล้วทอดก็เท่ากับได้ทอดหมดทุกรายนั่นเอง จึงเป็นที่มาของ “กฐินสามัคคี” กฐินสามัคคีจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า กฐินทอดได้รายเดียว

    ทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็คือ

     ๑. พระสงฆ์อย่าออกบอกหากฐินไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น เท่านี้ก็แก้ปัญหาได้หมด และเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยพุทธบัญญัติ

     ๒. เมื่อพระสงฆ์ไม่ออกบอกหากฐินเอง กฐินก็จะมาโดยศรัทธาของเจ้าภาพ เมื่อรับของเจ้าภาพรายไหนแล้ว ก็ยุติแค่นั้น รับจองกฐินก็เหมือนรับนิมนต์นั่นเอง ใครมานิมนต์ก่อนเมื่อตกลงรับก็ยุติแค่นั้น จะมีเจ้าภาพรายไหนมานิมนต์อีก ก็รับไม่ได้ ปัญหาเจ้าภาพหมู่ก็จะไม่เกิดขึ้น ทั้งไม่เป็นบ่อเกิดแห่งการบิดเบือนย่ำยีพุทธบัญญัติ

     ๓. หากจะมีเจ้าภาพประดังกันมาเองโดยทางวัดไม่รู้เรื่องด้วย ก็ปล่อยให้เจ้าภาพทั้งหลายเขาตกลงกันเอง ว่าผ้าใครจะเป็นองค์กฐิน ของใครจะเป็นบริวารกฐิน ทั้งนี้ทางวัดจะต้องไม่เข้าไปสอดแทรก ชี้นำ หรือรับรู้ รับเห็นอะไรด้วยทั้งสิ้น ขอให้ยึดหลักการไว้ให้มั่นคงว่า กฐินเป็นหน้าที่ของญาติโยมจะนำมาถวาย ไม่ใช่หน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะไปขวนขวายบอกให้เขานำมา

๓. กรรมการวัดเข้ามาวุ่นวาย

กรรมการวัด คือฆราวาสที่ทางวัดแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือในกิจต่างๆ ของวัด โดยธรรมดาก็ต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่งหรือตามนโยบายของวัด แต่ก็ปรากฏว่ามีวัดหลายแห่งที่กรรมการวัดกลายเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือเจ้าอาวาส กลายเป็นผู้เข้ามาบงการหรือตัดสินใจแทนเจ้าอาวาสในกิจการต่างๆ ของวัด รวมทั้งการทอดกฐินด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือผู้ที่มีศรัทธาจะเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน แทนที่จะแจ้งความประสงค์จองกฐินได้ที่เจ้าอาวาสโดยตรง กลับต้องจองกฐินผ่านทางกรรมการวัด กรรมการวัดก็จะซักถามว่า จะถวายเงินเข้าวัดเท่าไร ถ้าจำนวนเงินที่จะถวายไม่เป็นที่จุใจ กรรมการวัดก็จะไม่รับจอง โดยอ้างว่ามีเจ้าภาพรายอื่นที่แจ้งความจำนงว่าจะถวายปัจจัยบำรุงวัดมากกว่านี้

การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการปิดโอกาสของผู้มีศรัทธาแต่มีทุนทรัพย์น้อย ไม่ให้ได้เป็นเจ้าภาพทอดกฐิน คงได้เพียงแค่สมทบบุญกฐินกับคนอื่นเขาอยู่ตลอดไป กรรมการวัดจึงกลายเป็นผู้กีดกันศรัทธาของญาติโยมไปโดยปริยาย (ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ให้แก่วัด) – นี่คือ ความวุ่นวายของกรรมการวัด

ลักษณะดังกล่าวนี้ จะว่าผิดพุทธบัญญัติ หรือขัดต่อพระธรรมวินัยก็ว่าไม่ถนัด เพราะเป็นเรื่องระหว่างชาวบ้าน (ผู้มีศรัทธา) กับชาวบ้าน (คือกรรมการวัด) ตัวพระสงฆ์เองยังไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ถึงกระนั้นในความรู้สึกของชาวบ้านทั่วไปก็ย่อมจะมองวัดในแง่เสีย คือมองว่าวัดเห็นแก่เงินมากกว่าที่จะบำรุงน้ำใจศรัทธาของญาติโยม หรือไม่ก็มองว่าพระสงฆ์โดยเฉพาะเจ้าอาวาสตกอยู่ใต้อำนาจของกรรมการวัด ซึ่งไม่ว่าจะมองอย่างไร ก็ล้วนแต่ไม่เป็นผลดีทั้งสิ้น

     ทางปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ

     ๑. กรรมการวัดอย่าเข้ามาวุ่นวาย นั่นหมายความว่า ทางวัดหรือเจ้าอาวาสต้องมีนโยบายที่เด็ดขาดแน่นอนว่า เรื่องจองกฐินทอดกฐินนี้กรรมการวัดไม่เกี่ยว เป็นเรื่องระหว่างเจ้าภาพผู้มีศรัทธากับพระสงฆ์โดยตรง ใครมาจองก่อน คนนั้นก็เป็นเจ้าภาพ และยุติเพียงนั้น ใครมาทีหลังก็รอไว้ปีต่อไป

     ๒. ถ้าหวังประโยชน์แก่วัดจริงๆ และกรรมการวัดยังอยากจะมีบทบาทบ้าง ก็ขอแนะนำให้ใช้วิธีของคนโบราณ กล่าวคือ สมัยก่อน ใครมีศรัทธาจะเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน เขาจะไม่เข้าไปจองกับเจ้าอาวาสโดยตรง แต่จะให้เขียนใบประกาศของกฐินปิดไว้ที่ศาลาหน้าวัด โดยระบุว่า

     “ในปีนี้ข้าพเจ้าผู้มีชื่อนี้ขอจองกฐินที่วัดนี้ จะมีบริวารกฐินอย่างนี้ๆ จะถวายปัจจัยบำรุงวัดเป็นจำนวนเท่านี้ๆ ถ้าผู้ใดมีศรัทธาสามารถจะถวายได้ยิ่งกว่านี้ก็ขอให้ทำใบประกาศมาปิดทับใบประกาศของข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้ายินดีจะถอนการจองกฐิน และขอให้ท่านผู้นั้นเป็นเจ้าภาพต่อไป”

     เมื่อใครได้เห็นประกาศนี้แล้ว ถ้ามีศรัทธา และมีกำลังทรัพย์ที่จะทำให้ยิ่งกว่านั้นได้ ก็จะแต่งใบประกาศมาปิดทับใบประกาศของผู้จองคนเดิม เรียกกันว่า “จองทับ” ข้อความลงท้ายก็จะบอกเหมือนกัน คือ ใครมีศรัทธามากกว่านี้ก็มาจองทับได้ บางทีจองทับกันตั้ง ๒-๓ ชั้นก็มี เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว และไม่มีใครมาจองทับอีก จึงจะเข้าไปแจ้งความจำนงต่อเจ้าอาวาส เป็นอันยุติกันเพียงนั้น

วิธีดังกล่าวนี้ จะว่าเป็นการประมูลกฐินก็คงไม่ผิด แต่เป็นการกระทำตามความสมัครใจของผู้จองเอง โดยหวังประโยชน์มากที่สุดให้แก่วัด เป็นวิธีแบบคนใจกว้าง บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ไม่กระทบศรัทธาของกันและกัน เป็นวิธีที่แนบเนียน ละมุนละไม สามัคคีธรรมก็ได้ น้ำใจก็ไม่เสีย ต่างจากวิธีกีดกันของกรรมการวัดที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นวิธีที่ ศรัทธาก็ชอกช้ำ สามัคคีธรรมก็ขุ่นมัว

ถ้ากรรมการวัดยังประสงค์จะมีบทบาทในทางสร้างสรรค์ ก็ควรจะเป็นผู้แนะนำเจ้าภาพให้จองกฐินด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ พร้อมทั้งเป็นธุระจัดการปิดประกาศให้พร้อมเสร็จ ทำดังนี้ ผลประโยชน์ของวัดก็ได้ แบบธรรมเนียมที่คมคายของคนไทยก็จะฟื้นฟูขึ้นมา ทั้งบทบาทของกรรมการวัดก็มิใช่ว่าจะลดหดหายไปแม้แต่น้อย ดูยังจะอยู่ในร่องรอยที่เหมาะสมอีกด้วยซ้ำไป






๐๘ : ควรจำไว้และเข้าใจให้ถูกต้อง

กฐินมีชื่อเรียกแตกต่างกัน

กฐิน มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามที่มาของผ้ากฐิน และตามลักษณะของเจ้าภาพที่นำกฐินไปทอด คือ
     ๑. ถ้าผ้ากฐินเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน และทอดที่พระอารามหลวงเรียกว่า กฐินหลวง
     ๒. ถ้าผ้ากฐินเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน ทอดที่พระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ วัด และกำหนดเสด็จไปทรงทอดด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ไปทอดโดยมีหมายกำหนดการเรียกว่า พระกฐินเสด็จพระราชดำเนิน
     ๓. ถ้าผ้ากฐินเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน และเสด็จไปทรงทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งเป็นการส่วนพระองค์ เรียกว่า พระกฐินต้น
     ๔. ถ้าผ้ากฐินเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชทานให้กระทรวง ทบวง กรม องค์การ สมาคม ตลอดจนเอกชน นำไปทอด ณ พระอารามหลวงนอกจาก ๑๖ วัดดังกล่าวข้างต้น เรียกว่า กฐินพระราชทาน
     ๕. ถ้าผ้ากฐินเป็นของราษฎรทั่วไป เรียกว่า กฐินราษฎร์ เวลานี้มีผ้ากฐินอีกชนิดหนึ่ง คือเจ้าภาพได้รับพระราชทานผ้าเป็นการส่วนตัว แล้วนำไปทอด ณ วัดราษฎร์ กรณีเช่นนี้ไม่ทราบว่าตามระเบียบภาษาจะให้เรียกว่ากฐินอะไร แต่เคยเห็นยกป้ายโฆษณาใช้คำว่า กฐินพระราชทาน ซึ่งพ้องกับที่กล่าวในข้อ ๔ ผิดถูกอย่างไรควรตรวจสอบและกำหนดเรียกให้ถูกต้องต่อไป
     ๖. ถ้ากฐินที่นำไปทอดนั้นมีเวลาเตรียมการนานวัน จะเป็นกฐินหลวงหรือกฐินราษฎร์ก็ตาม เรียกว่า มหากฐิน แต่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า กฐิน คือกฐินที่ทอดกันอยู่โดยทั่วไปทุกวันนี้
๗. ถ้ากฐินนั้นมีเวลาเตรียมการเพียงวันเดียว โดยเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายเอามาปั่น กรอให้เป็นด้าย เอาไปทอเป็นผืนผ้าจนสำเร็จเป็นจีวร สบงหรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง แล้วนำไปทอดในวันนั้น เรียกว่า จุลกฐิน
     ๘. ถ้าเจ้าภาพมีหลายคน หรือหลายคณะ แต่รวมตัวเป็นคณะเดียวกัน ใช้ผ้ากฐินชุดเดียวกันนำไปทอด เรียกว่า กฐินสามัคคี
     ๙. ถ้าเจ้าภาพมิได้จองไว้ก่อนล่วงหน้าตามธรรมเนียม หากแต่ใช้วิธีเที่ยวไปสืบเสาะหาวัดที่ไม่มีใครทอดกฐิน เมื่อพบก็จัดการทอดทีเดียวเรียกว่า กฐินตก, กฐินตกค้าง, กฐินจร หรือ กฐินโจร

ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกัน

กฐินแม้จะเรียกชื่อแตกต่างกัน แต่เมื่อจะทอด ย่อมต้องใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกันทั้งสิ้น กล่าวคือ เดือนเดียว ครั้งเดียว ผืนเดียว ห้ารูปวัดเดียว

     ๑. เดือนเดียว คือ ต้องทอดภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันลอยกระทง)
     ๒. ครั้งเดียว คือ วัดแห่งหนึ่ง ในฤดูกฐินปีหนึ่ง ทอดได้เพียงครั้งเดียว และพระสงฆ์ที่รับได้เพียงครั้งเดียว คำว่า “ครั้ง” ในที่นี้หมายความว่า มีเจ้าภาพได้รายเดียวนั่นเอง
     ๓. ผืนเดียว คือ ผ้าที่จะสำเร็จเป็นกฐินได้ มีเพียงผืนเดียว คือ เป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งเท่านั้น ผ้าอื่นที่ถวายในคราวเดียวกันนี้ไม่ใช่ผ้ากฐิน
     ๔. ห้ารูปวัดเดียว คือ พระสงฆ์ที่จะรับกฐินได้ ต้องจำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกันโดยไม่ขาดพรรษา มีจำนวนอย่างน้อย ๕ รูป วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป รับกฐินไม่ได้ จะนิมนต์มาจากที่อื่นให้ครบ ๕ รูปก็ใช้ไม่ได้

ควรจำไว้และเข้าใจให้ถูกต้อง

     ๑. กฐินเป็นกาลทาน คือทานที่จำกัดด้วยระยะเวลา จะทอดกฐินได้ ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น ไม่ใช่ทอดกฐินกันได้ทั้งปีเหมือนทอดผ้าป่า
     ๒. วัดแต่ละวัด จะรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเดียว โดยมีเจ้าภาพรายเดียวเท่านั้น เมื่อถวายแล้วก็เป็นอันแล้วเสร็จ จะมีเจ้าภาพมาถวายเป็นรายที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าจะมีเจ้าภาพหลายราย ก็ต้องรวมกันให้เป็นรายเดียว มีผ้ากฐินไตรเดียวหรือผืนเดียว ที่เรียกว่ากฐินสามัคคี
     ๓. พระสงฆ์ที่จะรับกฐินได้ ต้องจำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกันโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป วัดที่มีพระจำพรรษาน้อยกว่า ๕ รูป รับกฐินไม่ได้ จะนิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ ๕ รูปก็ใช้ไม่ได้ (โปรดดูหลักฐานข้อพิจารณาในบทที่ชื่อ ปัญหาเรื่องพระห้ารูป) ใครที่อยากเป็นเจ้าภาพทอดกฐินหมู่ คือนิมนต์พระเป็นสิบเป็นร้อยวัดมารับกฐินในที่เดียวกัน โปรดระวังให้ดี การนิมนต์วัดที่มีพระไม่ถึง ๕ รูป มารับกฐินเป็นการหลอกลวงทั้งผู้จัดทั้งผู้รับ
     ๔. การถวายและการรับกฐิน จะทำ ณ สถานที่ใดๆ ก็ได้ แต่เวลาสวดกรรมวาจา คือ การทำสังฆกรรมยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งและเวลากรานกฐิน คือประชุมสงฆ์เพื่ออนุโมทนา ต้องทำในเขตสีมา หรือจำง่ายๆ ว่า “ต้องทำในโบสถ์” เท่านั้น
     ๕. การกรานกฐิน คือเมื่อรับผ้ามาแล้วนำไปทำตามกรรมวิธีที่กำหนดไว้ในพระวินัยบัญญัติจนสำเร็จเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งแล้วนำมาเข้าที่ประชุมสงฆ์เพื่ออนุโมทนา ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่รับกฐิน คือ ก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ไม่ใช่ภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลารับกฐิน อย่างที่มักจะพูดกันเพลินไป

     ๖. สิ่งที่ทำให้สำเร็จเป็นกฐิน ก็คือ ผ้าผืนเดียว ซึ่งพอที่จะตัดเย็บเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งเพียงชนิดเดียว ผ้าดังกล่าวนี้จะเป็นผ้าขาวก็ได้ หรือผ้าที่ตัดเย็บสำเร็จรูปมาแล้วก็ได้ ของอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผ้าไตรอีกกี่สิบกี่ร้อยไตร แม้แต่เงิน ไม่ว่าจะกี่แสนล้าน ก็มีฐานะเป็นเพียงบริวารกฐินเท่านั้น การให้ความสำคัญแก่บริวารกฐินมากกว่าผ้ากฐิน ถือว่าเป็นการบิดเบือนเบี่ยงเบนพุทธบัญญัติ
     ๗. กฐิน เป็นหน้าที่ของญาติโยมที่จะขวนขวายรวบรวมกันนำมาถวายสงฆ์ ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ที่จะไปขวนขวายวิ่งเต้นบอกญาติโยมให้นำมาถวายแก่ตนเอง
     ๘. พระภิกษุจะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินก็ได้ แต่ต้องทอดแก่วัดอื่นไม่ใช่วัดที่ตนจำพรรษาในปีนั้น
     ๙. การรับกฐิน ก็ทำนองเดียวกับการรับนิมนต์ เมื่อบอกรับแก่เจ้าภาพรายใดแล้ว ก็ย่อมเป็นสิทธิ์แก่เจ้าภาพรายนั้น และเป็นหน้าที่ของสงฆ์จะต้องฉลองศรัทธาเจ้าภาพรายนั้น การบอกคืนเจ้าภาพรายเดิมเพื่อไปรับกฐินของเจ้าภาพรายใหม่ที่บอกว่าจะถวายเงินมากกว่า เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ
   ๑๐. ผู้จะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินวัดใด ควรสืบดูให้รู้ชัดว่า วัดนั้นรับจองกฐินของเจ้าภาพรายไหนไว้แล้วหรือยัง ถ้ามีผู้จองแล้ว และวัดนั้นรับการจองแล้ว ก็อย่าเป็นเจ้าภาพทอดที่วัดนั้นอีกในปีนั้น เว้นไว้แต่ท่านพอใจจะเป็นบริวารกฐิน หรือทำในลักษณะเป็นกฐินสามัคคี คือมีเจ้าภาพหลายราย แต่พร้อมใจกันรวมเป็นคณะเดียว มีผ้ากฐินผืนเดียว (หรือไตรเดียว) และพร้อมใจกันทอดเป็นคณะเดียวกัน

@@@@@@@

ในการทอดกฐินนั้นเคยมีปัญหาถามกันว่า ต้องมีพระอย่างน้อยกี่รูป จึงจะรับกฐินได้ ปัญหานี้มีคำตอบจากหลักฐานในพระคัมภีร์ที่ชัดเจนเข้าใจตรงกันหมดแล้วว่า ต้องมีพระอย่างน้อย ๕ (ห้า) รูป น้อยกว่านี้รับกฐินไม่ได้

ปัญหาเรื่องพระห้ารูปยังมีต่อไปอีกว่า ต้องเป็นพระที่จำพรรษาในวัดเดียวกันทั้งห้ารูป หรือว่า ถ้าวัดเดียวกันมีไม่ถึงห้ารูป ไปนิมนต์มาจากวัดอื่นเพื่อให้ครบห้ารูป จะใช้ได้หรือไม่ คือ ถูกต้องตามเจตนารมณ์แห่งพุทธบัญญัติหรือไม่
    บางมติว่า ต้องอยู่วัดเดียวกันทั้งห้ารูป วัดไหนมีพระไม่ถึงห้ารูป รับกฐินไม่ได้
    แต่บางมติบอกว่า นิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบห้ารูป ก็ใช้ได้

ปัญหานี้มีอาการคล้ายๆ กับอาการในระยะต้นๆ ของปัญหาเรื่องจำนวนพระที่จะรับกฐินได้ คือเมื่อสมัยที่การศึกษาค้นคว้าหลักพระธรรมวินัยแล้วเผยแผ่ให้รับรู้ทั่วกันยังทำได้ในวงแคบนั้น ก็เคยสงสัยกันมาว่า จะทอดกฐินได้ต้องมีพระอย่างน้อยกี่รูป เดี๋ยวนี้ปัญหานี้ไม่เป็นปัญหาอีกแล้ว เพราะมีหลักฐานที่ยืนยันให้เข้าใจและยอมรับตรงกันหมดแล้วว่า ต้องมีพระอย่างน้อยห้ารูป แต่ประเด็นปัญหาเลื่อนไปอยู่ตรงที่ว่า พระห้ารูปนั้นจะต้องมาจากไหน

เรื่องนี้คงจะมีมูลเหตุมาจากวัดบางวัดมีพระจำพรรษาไม่ถึงห้ารูป แต่ญาติโยมอยากทอดกฐินที่วัดนั้น เพื่อจะสงเคราะห์พระให้ได้รับอานิสงส์กฐิน หรือเพราะมีความศรัทธาผูกพันกันด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทั้งพระในวัดนั้นเองก็อยากจะรับกฐินด้วย จึงหาทางออกด้วยการไปนิมนต์พระจากวัดอื่นมาให้ครบห้ารูป เพื่อจะได้รับกฐินได้ตามพุทธบัญญัติ คราวนี้จึงเลยเกิดสงสัยกันขึ้นว่า ทำอย่างนั้นถูกต้องตามพุทธบัญญัติหรือไม่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 30, 2023, 12:27:22 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28938
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


๐๙ : ปัญหาเรื่องพระห้ารูป

เพื่อยุติปัญหาเหมือนกับเรื่องจำนวนพระที่ยุติได้แล้วด้วยหลักฐานจากพระคัมภีร์ เราก็ควรจะไปหาคำตอบจากหลักฐานในพระคัมภีร์เช่นเดียวกัน ในกฐินขันธกะ คัมภีร์มหาวรรค ภาค ๒ พระวินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๖ มีพระบาลีอันเป็นพระพุทธานุญาตต้นเดิมว่า
    อนุชานามิ ภิกฺขเว วสฺส วุตฺถาน ภิกฺขูน กฐฃิน อตฺถริตุ .
    แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้ว ได้กรานกฐิน

ในพระบาลีนี้ใช้คำว่า วสฺส วุตฺถาน ภิกฺขูน แปลว่า ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้ว, ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันชัดเจนว่า พระที่จะรับกฐินได้ต้องเป็น “ภิกษุทั้งหลาย" คือ เป็นภิกษุหลายรูป ไม่ใช่ “ภิกษุรูปเดียว" และต้องอยู่จำพรรษาครบไตรมาส คือสามเดือนในฤดูกาลเข้าพรรษา โดยไม่ขาดพรรษา

แต่พระบาลีไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นต้องจำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกันทั้งหมด หรือว่าแม้อยู่คนละวัดก็รับกฐินร่วมกันได้

ดูต่อไป ในคัมภีร์มหาวรรค ภาค ๒ ข้อ ๙๗ มีพระบาลีว่า
     น สมฺมา เจว อตฺถต โหติ กฐฃิน ตญฺเจ นิสฺสีมฏฺโฐฃ อนุโมทติ.
     แปลว่า กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น

ถอดความตามพระบาลีไว้ที่หนึ่งก่อนว่า กฐินไม่เป็นกฐิน ถ้าภิกษุผู้รับกฐินนั้นเป็นนิสสีมัฏโฐ
     คำว่า นิสสีมัฏโฐ เขียนตามที่ยุติในภาษาบาลีแบบไทยว่า นิสฺสีมฏฺโฐฃ
     พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลว่า “ภิกษุผู้อยู่นอกสีมา”

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อันเป็นอรรถกถาของวินัยปิฎก ขยายความ คำว่า นิสสีมัฏโฐ ไว้ว่า
     นิสฺสีมฏฺโฐฃ อนุโมทตีติ พหิอุปจารสีมาย ฐฃิโต อนุโมทติ.
     แปลว่า ข้อว่า นิสฺสีมฎฺโฐฃ อนุโมทติ มีความว่า ภิกษุผู้อยู่ภายนอกอุปจารสีมาอนุโมทนา. (สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๑๖)

เห็นได้ว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย ก็แปลตามคำอธิบายของอรรถกถานั่นเอง

@@@@@@@

ต่อไปก็คงต้องหาความรู้เกี่ยวกับคำว่า สีมา และ อุปจารสีมา กันก่อน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ บอกไว้ว่า
สีมา เขต, แดน ; เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ มักทำด้วยแผ่นหิน หรือหลักหินเป็นต้น เรียกว่า ใบพัทธสีมา, ใบสีมา หรือ ใบเสมา ก็ว่า
อุปจาร การเข้าใกล้, ที่ใกล้, บริเวณรอบ ๆ เช่น อุปจารวัด

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป. อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า
สีมา เขตกำหนดความพร้อมเพรียงสงฆ์, เขตชุมนุมของสงฆ์, เขตที ่สงฆ์ตกลงไว้ สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ
    ๑. พัทธสีมา แดนที่ผูก ได้แก่ เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง
    ๒. อพัทธสีมา แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่ เขตที่ทางบ้านเมืองกำหนดไว้แล้วตามปกติของเขา หรือที่มีอย่างอื่นในทางธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด สงฆ์ถือเอาตามกำหนดนั้น ไม่วางกำหนดขึ้นเองใหม่

อุปจาร เฉียด, จวนเจียน, ที่ใกล้ชิด, ระยะใกล้เคียง, ชาน, บริเวณ ; รอบๆ ; ดังตัวอย่างคำที่ว่า อุปจารเรือน อุปจารบ้าน แสดงตามที่ท่านอธิบายในอรรถกถาพระวินัยดังนี้

อาคารที่ปลูกขึ้น ร่วมในแค่ระยะน้ำตกที่ชายคาเป็นเรือน, บริเวณรอบๆเรือน ซึ่งกำหนดเอาที่แม่บ้านยืนอยู่ที่ประตูเรือนสาดน้ำล้างภาชนะออกไป หรือแม่บ้านยืนอยู่ภายในเรือน โยนกระด้งหรือไม้กวาดออกไปภายนอก ตกที่ใด ระยะรอบๆ กำหนดนั้นเป็นอุปจารเรือน บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดี ยืนอยู่ที่เขตอุปจารเรือน ขว้างก้อนดินไปก้อนดินที่ขว้างนั้นตกลงที่ใด ที่นั้นจากรอบ ๆ บริเวณอุปจารเรือน เป็นกำหนดเขตบ้าน, บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดีนั้นแหละ ยืนอยู่ที่เขตบ้านนั้นโยนก้อนดินไปเต็มกำลัง ก้อนดินตกเป็นเขตอุปจารบ้าน ; สีมาที่สมมติเป็นติจีวราวิปปวาสนั้น จะต้องเว้นบ้านและอุปจารบ้านดังกล่าวนี้เสียจึงจะสมมติขึ้น คือใช้เป็นติจีวราวิปปวาสสีมาได้ ; ดู ติจีวราวิปปวาสสีมา ด้วย (ติจีวราวิปปวาสสีมา แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร สมมติแล้ว ภิกษุอยู่ห่างจากไตรจีวรในสีมานั้น ก็ไม่เป็นอันปราศ)

ในสมันตปาสาทิกา เรื่องทายกถวายจีวรให้แก่สีมา มีระบุถึงสีมาชนิดต่างๆ ๑๕ ชนิด มี อุปจารสีมา รวมอยู่ด้วย ท่านขยายความไว้ว่า

อุปจารสีมา เป็นแดนที่กำหนดด้วยเครื่องล้อมแห่งวัดที่ล้อม แล้ว (และ) ด้วยที่ควรแก่การล้อมแห่งวัดที่ไม่ได้ล้อม. อีกอย่างหนึ่ง จากสถานที่ภิกษุประชุมกันเป็นนิตย์ หรือจากโรงฉันอันตั้งอยู่ริมเขตวัด หรือจากอาวาสที่อยู่ประจำ ภายใน ๒ ชั่วเลฑฑุบาต (ระยะที่ขว้างก้อนดินไปตก) ของบุรุษผู้มีแรงปานกลางเข้ามา พึงทราบว่าเป็นอุปจารสีมา.

ก็อุปจารสีมานั้น เมื่ออาวาสขยายกว้างออกไป ย่อมขยายออก เมื่ออาวาสร่นแคบเข้าย่อมแคบเข้า.

แต่ในมหาปัจจรีแก้ว่า อุปจารสีมานั้น เมื่อภิกษุเพิ่มขึ้น ย่อมกว้างออก เนื่องด้วยลาภ, ถ้าภิกษุทั้งหลายนั่งเต็ม ๑๐๐ โยชน์ติดเนื่องเป็นหมู่เดียวกับพวกภิกษุผู้ประชุมในวัด แม้ที่ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ย่อมเป็นอุปจารสีมาด้วย, ลาภย่อมถึงแก่ภิกษุทั่วกัน. (สมันตปาสาทิกาภาค ๓ หน้า ๒๔๘)

@@@@@@@

จากหลักฐานข้อมูลเหล่านี้พอสรุปได้ว่า อุปจารสีมา ก็คือ ภายในบริเวณวัด พูดให้ชัดเข้ามาอีกก็คือ ภายในบริเวณเขตโบสถ์ นั่นเอง

เงื่อนไขที่ว่า กฐินไม่เป็นอันกราน คือไม่เป็นกฐิน ถ้าภิกษุผู้รับกฐินนั้นเป็นนิสสีมัฏโฐ จึงได้ใจความว่า ถ้าภิกษุที่กรานกฐินอยู่ภายนอกวัด กฐินก็ไม่เป็นกฐิน พูดให้ชัดกว่านี้ก็คือ จะรับกฐินได้ก็ต้องมาอยู่ภายในเขตโบสถ์

แต่คำว่า กรานกฐิน ก็ยังต้องทำความเข้าใจให้ชัดด้วย นั่นก็คือ ในการทอดกฐินนั้นจะมีการกระทำสำคัญอยู่ ๓ ขั้นตอน คือ
     - ญาติโยมเอาผ้ามาถวายพระสงฆ์ เป็นตอนหนึ่ง
     - พระสงฆ์ตกลงกันที่จะยกผ้านั้นให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เป็นตอนหนึ่ง
     - และภิกษุรูปนั้นเอาผ้านั้นไปจัดการตามวินัยบัญญัติจนสำเร็จเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วประชุมสงฆ์เพื่ออนุโมทนา ที่เรียกว่า กรานกฐิน นี่อีกตอนหนึ่ง

ที่ท่านกำหนดว่า กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ (คือโดยถูกต้อง) นั้นเป็นเรื่องที่หมายถึงในขั้นตอนที่ ๓ นี้ ซึ่งมีความหมายโดยสรุปว่า ถ้าพระภิกษุที่มาร่วมประชุมเพื่ออนุโมทนามีไม่ครบห้ารูป เพราะออกไปอยู่นอกวัดเสียบ้างละก็ ผ้าที่รับมาจากญาติโยมนั้นก็ไม่เป็นผ้ากฐินไปได้ ก็คือไม่สำเร็จเป็นกฐินนั่นเอง

ปัญหาก็คือ แล้วตอนที่รับผ้าจากญาติโยม และตอนที่ตกลงยกผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งล่ะ ต้องมีพระครบห้ารูปด้วยหรือเปล่า.? ตอนรับผ้านั้นน่าจะไม่มีปัญหา คือจะรับกันกี่รูปก็ได้ เพราะยังไม่เป็นสังฆกรรม

แต่ทุกวันนี้นิยมเอาผ้าไปถวายในวัดโดยนิมนต์พระทั้งวัดมารวมกันรับ ตอนถวายนี่แหละ ที่ญาติโยมเข้าใจกันว่าได้ทอดกฐินและสำเร็จเป็นกฐินไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วกระบวนการที่จะสำเร็จเป็นกฐินเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง จะสำเร็จเป็นกฐินหรือไม่เป็นกฐิน ยังจะต้องผ่านกรรมวิธีอีก ๒ ขั้นตอน คือ ตอนปรึกษาให้ผ้า และตอนกรานกฐิน

และทุกวันนี้พระสงฆ์ท่านนิยมทำพิธีปรึกษายกผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งกันต่อหน้าญาติโยมที่นำผ้าไปถวายนั่นเอง คือ พระรูปหนึ่งจะกล่าวถามขึ้นท่ามกลางสงฆ์ว่า ผ้ากฐินที่ญาติโยมนำมาถวายนี้ ควรจะยกให้แก่ภิกษุรูปไหน แล้วก็มีพระอีกรูปหนึ่งเสนอความเห็นว่า ควรยกให้แก่ภิกษุชื่อนั้นชื่อนี้ ถ้าพระรูปไหนไม่เห็นด้วยก็ขอให้ทักท้วงขึ้นในที่นี้ ถ้าเห็นด้วยก็ขอให้ลงมติด้วยการเปล่งวาจาว่า “สาธุ” ขึ้นพร้อมกัน พระที่ชุมนุมกันเป็นสงฆ์ในที่นั้นก็เปล่งวาจาขึ้นพร้อมกันว่า “สาธุ” เป็นอันจบขั้นตอนการหารือลงมติ

ที่ว่ามานี้ก็คือ พิธีการปรึกษาหารือให้ผ้า ที่เรียกกันว่า อปโลกน์กฐิน

@@@@@@@

ต่อจากนั้น พระทั้งหมดก็จะต้องไปประชุมกันในโบสถ์ เพื่อทำพิธีสวดกรรมวาจายกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุชื่อนั้นอีกครั้งหนึ่งอย่างเป็นทางการ ถ้าเป็นกฐินหลวงซึ่งมีธรรมเนียมรับกฐินในพระอุโบสถ พระท่านก็จะทำพิธีสวดกรรมวาจากันตอนนั้นเลย แปลว่า ตอนรับผ้า กับตอนให้ผ้า ท่านทำติดต่อกันไป

ควรทราบว่า การจะยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งนั้น จะต้องเป็นการลงมติของสงฆ์

คำว่า “สงฆ์” ในทางวินัยบัญญัติ ท่านหมายถึง ภิกษุตั้งแต่ ๔ (สี่) รูปขึ้นไป แต่ “สงฆ์” ในกิจเกี่ยวกับกฐินนี้ท่านกำหนดไว้แน่นอนแล้วว่า อย่างต่ำต้องมีภิกษุ ๕ (ห้า) รูป

เหตุผลก็คือ ในจำนวน ๕ รูปนั้น รูปหนึ่งเป็นผู้ที่สงฆ์ลงมติมอบผ้าให้ (ที่เราเรียกกันว่า “องค์ครองกฐิน”) ภิกษุรูปนี้จะนับเข้าในจำนวน “สงฆ์” ไม่ได้ เมื่อแยกออกไปรูปหนึ่งแล้ว ที่เหลือ ๔ รูป ก็ยังคงเป็น “สงฆ์” อยู่

แต่ถ้ามีภิกษุแต่ ๔ รูป เมื่อแยกเป็นผู้รับผ้าเสียรูปหนึ่งแล้ว เหลือ ๓ รูป ไม่ครบองค์สงฆ์ ทำสังฆกรรมกฐินไม่ได้ถ้านับภิกษุที่เป็นองค์ครองเข้าด้วย ก็จะกลายเป็นว่า ภิกษุรูปนั้นลงมติยกผ้าให้ตัวเอง ก็ผิดมารยาทไป

นี่คือเหตุผลที่ต้องกำหนดว่า รับกฐินอย่างต่ำต้องมีพระ ๕ (ห้า) รูป

เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันแน่นอนว่า ต้องมีพระครบห้ารูปไปตั้งแต่ตอนรับผ้า ให้ผ้ากฐินเป็นต้นไป จนถึงขั้นตอนพิธีกรานกฐิน คือ ภิกษุทั้งปวงอันได้นามว่า “สงฆ์” ร่วมกันอนุโมทนา อันเป็นตอนสุดท้ายที่จะสำเร็จเป็นกฐินสมบูรณ์ เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า “สงฆ์” ที่รับผ้า “สงฆ์” ที่ลงมติให้ผ้า และ “สงฆ์” ที่อนุโมทนา จะต้องเป็นพระภิกษุชุดเดียวกัน

@@@@@@@

ตอนนี้ต้องขอย้ำว่า ในพระวินัยปิฎกท่านระบุไว้ว่า กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น ซึ่งผมถอดความตามพระบาลีไว้ก่อนแล้วว่า กฐินไม่เป็นกฐิน ถ้าภิกษุผู้รับกฐินนั้นเป็นนิสสีมัฏโฐ

คำว่า นิสสีมัฏโฐ ก็หมายความว่า อยู่นอกเขต กล่าวคือ ถ้าพระภิกษุที่มาร่วมประชุมเพื่ออนุโมทนามีไม่ครบห้ารูปมีภิกษุที่จะทำให้ครบห้ารูปได้ แต่เป็นพระที่ “อยู่นอกเขต” แล้วพระที่อยู่นอกเขตดังว่านี้ก็ ร่วมอนุโมทนาด้วย เพื่อให้ครบห้ารูปตามพุทธบัญญัติ ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ ผ้านั้นก็เป็นโมฆะ คือ ไม่สำเร็จเป็นกฐิน

คราวนี้ก็มาถึงปัญหาสำคัญ คือ คำว่า นิสสีมัฏโฐ ที่หมายความว่า อยู่นอกเขต นั้น คืออย่างไร กินความแค่ไหน.?

นัยที่ ๑. หมายความว่า ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกันนั่นแหละ แต่เวลาที่รับผ้า ให้ผ้า และอนุโมทนา ตัวไม่ได้อยู่ในวัด คือ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสงฆ์ จะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม จะนับเอาภิกษุรูปนั้นมารวมให้ครบห้ารูป ไม่ได้ เทียบได้กับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภา แม้จะเป็นสมาชิกของสภานั้น ก็จะใช้สิทธิ์ออกเสียงในเรื่องที่กำลังลงมติกันอยู่ในสภาขณะนั้นไม่ได้นั่นเอง หรือเทียบกับกรณีที่สมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม การประชุมก็เกิดขึ้นไม่ได้แม้ว่าจำนวนสมาชิกของสภานั้นจะมีอยู่ครบก็ตาม

นัยที่ ๒ หมายความว่า เป็นภิกษุที่จำพรรษาอยู่ต่างวัดกัน ภิกษุเช่นนี้จะนิมนต์มาให้ครบห้ารูปตามจำนวนที่วินัยกำหนดไว้ ก็ใช้ไม่ได้ กฐินก็ไม่เป็นอันกราน คือไม่เป็นกฐิน เทียบได้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสภานั้น ย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะมาร่วมลงมติใดๆ กับที่ประชุมของสภานั้นนั่นเอง

@@@@@@@

ถามว่า ที่ว่า อยู่นอกเขต นั้น หมายความตามนัยไหน.?
เกี่ยวกับประเด็นนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม ๓ ว่า
    พระอรรถกอาจารย์แก้บทว่า อยู่นอกสีมา ว่าอยู่ในภายนอกแห่งอุปจารสีมา. ๒ คำนี้ หมายความว่า ผู้อำนวยให้ผ้ากฐินต้องเป็นผู้จำพรรษาอยู่ในสีมาเดียวกัน หรือว่าต้องทำพิธีอนุโมทนาในสีมา ไม่ชัด ข้าพเจ้าเข้าใจว่าหมายความข้อต้น
    …. ข้าพเจ้าเข้าใจว่า คำบาลีว่า “กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้ตั้งอยู่นอกสีมาอนุโมทนา” ห้ามไม่ให้เอาภิกษุอื่นมาเป็นคณปูรกะ หรือสวดกรรมวาจา

ความจริงปัญหานี้ พระอรรถกถาจารย์มีคำอธิบายไว้ชัดเจนในตอนที่กล่าวถึงวิธีกรานกฐินในกฐินขันธกะ คัมภีร์มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๖ มีพระบาลีตอนหนึ่งว่า
     เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐฃิน อตฺถริตพฺพ
     แปลเป็นไทยว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้

พระบาลีตรงนี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายขยายความไว้ ซึ่งขอยกมาพร้อมทั้งคำแปลประโยคต่อประโยค ดังนี้
     เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐฃิน อตฺถริตพฺพนฺติ เอตฺถ
     วินิจฉัยในคำว่า เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐฃิน อตฺถริตพฺพ นี้พึงทราบดังนี้ :-
     กฐฃินตฺถาร เก ลภนฺติ เก น ลภนฺตีติ ฯ
     ถามว่า ใครได้กรานกฐิน ใครไม่ได้.?
     คณนวเสน ตาว
     ตอบว่า ว่าด้วยอำนาจแห่งจำนวนก่อน
     ปจฺฉิมโกฏิยา ปญฺจ ชนา ลภนฺติ
     ภิกษุห้ารูปเป็นอย่างต่ำย่อมได้กราน,
     อุทฺธ สตสหสฺสมฺปิฯ
     อย่างสูงแม้แสนก็ได้.
     ปญฺจนฺน เหฏฐฃา น ลภนฺติ ฯ
     หย่อนห้ารูป ไม่ได้.
     วุตฺถวสฺสวเสน
     ว่าด้วยอำนาจภิกษุผู้จำพรรษา

   *ปุริมิกาย วสฺส อุปคนฺตฺวา ปฐฃมปวารณาย ปวาริตา ลภนฺติ
     ภิกษุผู้เข้าพรรษาต้น ปวารณาในวันปฐมปวารณาแล้วย่อมได้,
   *ฉินฺนวสฺสา วา ปจฺฉิมิกาย อุปคตา วา น ลภนฺติ
     ภิกษุผู้มีพรรษาขาด หรือเข้าพรรษาหลัง ย่อมไม่ได้
     อญฺสฺมึวิหาเร วุตฺถวสฺสาปิ น ลภนฺตีติ มหาปจฺจริย วุตฺต ฯ
     แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้. ในมหาปัจจรีแก้ไว้ดังว่ามานี้
   *ปุริมิกาย อุปคตานมฺปน สพฺเพ ปจฺฉิมิกา คณปูรกา โหนฺติ
     และภิกษุทั้งปวงผู้เข้าพรรษาหลัง เป็นคณปูรกะของภิกษุผู้เข้าพรรษาต้น ก็ได้,
     อานิส ส น ลภนฺติ
     แต่พวกเธอไม่ได้อานิสงส์
     อานิส โส อิตเรส เยว โหติ ฯ
     อานิสงส์ย่อมสำเร็จแก่พวกภิกษุที่เข้าพรรษาต้นเท่านั้น.
     สเจ ปุริมิกาย อุปคตา จตฺตาโร วา โหนฺติ ตโย วา เทฺว วา เอโก วา
     ถ้าภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นมีสี่รูป หรือสามรูป หรือสองรูป หรือรูปเดียว,
     อิตเร คณปูรเก กตฺวา กฐฃิน อตฺถริตพฺพ ฯ
     พึงนิมนต์ภิกษุผู้เข้าพรรษาหลังมาเพิ่มให้ครบคณะแล้วกรานกฐินเถิด.
     อถ จตฺตาโร ภิกฺขู อุปคตา เอโก ปริปุณฺณวสฺโส สามเณโร
     ถ้าภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นมีสี่รูป, มีสามเณรอายุครบอยู่รูปหนึ่ง,

    โส เจ ปจฺฉิมิกาย อุปสมฺปชฺชติ
    หากสามเณรนั้นอุปสมบทในพรรษาหลัง,
    คณปูรโก เจว โหติ อานิส สญฺจ ลภติ ฯ
    เธอเป็นคณปูรกะได้ ทั้งได้อานิสงส์ด้วย.
    ตโย ภิกฺขู เทฺว สามเณรา เทฺว ภิกฺขู ตโย สามเณรา เอโก ภิกฺขุ
    จตฺตาโร สามเณราติ เอตฺถาปิเอเสว นโย ฯ
    แม้ในกรณีมีภิกษุสาม สามเณรสอง, มีภิกษุสอง สามเณรสาม,
    มีภิกษุรูปเดียว สามเณรสี่ ก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ.
    สเจ ปุริมิกาย อุปคตา กฐินตฺถารกุสลา น โหนฺติ
    ถ้าภิกษุผู้เข้าพรรษาต้น ไม่เข้าใจในการกรานกฐิน
    อตฺถารกุสลา ขนฺธกภาณกตฺเถรา ปริเยสิตฺวา อาเนตพฺพา
    พึงหาพระเถระผู้สวดคัมภีร์ขันธกะซึ่งเข้าใจในการกรานกฐินนิมนต์มา
    กมฺมวาจ สเวตฺวา กฐฃิน อตฺถราเปตฺวา ทานญฺจ ภุญฺชิตฺวา คมิสฺสนฺติ ฯ
    ท่านสอนให้สวดกรรมวาจา ให้กรานกฐิน และรับทานแล้วจักไป.
    อานิส โส ปน อิตเรส เยว โหติ ฯ
    ส่วนอานิสงส์ย่อมสำเร็จแก่ภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นเท่านั้น.

_____________________________________
สมันตปาสาทิกา (อรรถกถาวินัยปิฎก) ภาค ๓ หน้า ๒๑๐

@@@@@@@

มีบางประเด็นที่เห็นควรขยายความเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน โดยเฉพาะสำหรับท่านที่อาจจะไม่ค่อยคุ้นกับถ้อยคำและธรรมเนียมของสงฆ์ (โปรดดูประโยคข้างต้นที่มีเครื่องหมายดอกจัน) คือ การเข้าพรรษาของภิกษุสงฆ์นั้นท่านกำหนดไว้ ๒ ระยะ คือ
     เข้าพรรษาต้น ที่เรียกว่า ปุริมพรรษา และ
     เข้าพรรษาหลัง ที่เรียกว่า ปัจฉิมพรรษา
     เข้าพรรษาต้น กำหนดตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๘ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ นี่ก็คือการเข้าพรรษาที่พระสงฆ์ท่านปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปทุกปีและที่ชาวบ้านรู้จักกันทั่วไปนั่นเอง
     เข้าพรรษาหลัง กำหนดตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๙ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็คือล่าออกไปอีก ๑ เดือน เป็นกรณีที่ภิกษุบางรูปมีเหตุขัดข้องบางประการ เช่นมาไม่ทันเข้าพรรษาต้น หรือเพิ่งบวชหลังจากเข้าพรรษาต้นไปแล้ว จึงต้องเลื่อนไปเข้าพรรษาหลัง
     กรณีเข้าพรรษาหลังนี้ไม่ค่อยปรากฏบ่อยนัก คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้แต่เป็นกรณีที่มีได้ และสามารถทำได้ตามวินัยบัญญัติและมีข้อกำหนดไว้ในวินัยว่า พระที่เข้าพรรษาหลังนั้นจะไม่ได้รับอานิสงส์กฐิน พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็ว่า ไม่มีสิทธิ์รับกฐิน แต่อาจเข้าร่วมสังฆกรรมกฐินได้ในบางกรณี

คราวนี้ก็ขอสรุปมติหลัก ๆ ของพระอรรถกถาจารย์เกี่ยวกับเรื่องรับกฐินตามที่ยกมาอ้างข้างต้น ดังนี้

     ๑. จำนวนพระที่จะรับกฐินได้ อย่างต่ำต้อง ๕ รูป นี่เป็นเรื่องที่รับรู้และปฏิบัติกันทั่วไปอยู่แล้ว
     ๒. พระที่เข้าพรรษาต้น(ปุริมพรรษา) เท่านั้นที่มีสิทธิ์รับกฐินพระที่เข้าพรรษาหลัง(ปัจฉิมพรรษา) ไม่มีสิทธิ์รับกฐิน
     ๓. พระที่เข้าพรรษาต้น ถ้าพรรษาขาด เช่นในระหว่างเข้าพรรษาไปค้างแรมนอกเขตที่กำหนดจำพรรษาโดยไม่เข้าเกณฑ์ที่ได้รับยกเว้น หรือออกไปนอกเขตที่กำหนดจำพรรษาก่อนจะรุ่งอรุณ เป็นต้น ก็ไม่มีสิทธิ์รับกฐิน เรื่องนี้ก็เป็นที่รับรู้และปฏิบัติกันทั่วไปอยู่แล้วเช่นเดียวกัน
     ๔. วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึงห้ารูป จะไปนิมนต์พระวัดอื่นมาให้ครบห้ารูปเพื่อรับกฐิน ไม่ได้ ข้อนี้แหละคือปัญหาที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน เมื่อได้เห็นมติของพระอรรถกถาจารย์ดังที่ยกมาอ้างนั่นแล้ว ต่อไปนี้ก็ควรจะเข้าใจตรงกันได้แล้ว

     ๕. ถ้าพระที่เข้าพรรษาต้นมีไม่ครบห้ารูป และในวัดเดียวกันนั้นมีพระที่เข้าพรรษาหลังอยู่ด้วย สามารถเอาพระที่เข้าพรรษาหลังมาร่วมสังฆกรรมกฐินเพื่อให้ครบห้ารูปได้ พระที่เข้าพรรษาหลังนั้นแม้มาร่วมสังฆกรรมได้ แต่ก็ยังคงไม่ได้รับอานิสงส์กฐินอยู่นั่นเอง ข้อนี้อาจจะเป็นที่มาของความเข้าใจที่ว่า นิมนต์พระจากที่อื่นมาให้ครบห้ารูปก็รับกฐินได้ “พระจากที่อื่น” ที จะนิมนต์มาให้ครบห้ารูปเพื่อรับกฐินได้นั้น ก็คือ พระที่เข้าพรรษาหลังในวัดเดียวกันเท่านั้น ตามหลักแล้วพระที่เข้าพรรษาหลังไม่มีสิทธิ์รับกฐิน (ดูสรุปมติข้อ ๒)
     แต่ในกรณีพระที่เข้าพรรษาต้นซึ่งมีสิทธิ์รับกฐินโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ขาดแต่มีจำนวนไม่ครบองค์สงฆ์ตามที่กำหนดเท่านั้น จึงให้เอาพระที่เข้าพรรษาหลังในวัดเดียวกันนั้นมาร่วมสังฆกรรมได้ เพื่ออนุเคราะห์พระที่เข้าพรรษาต้นไม่ให้ต้องเสียสิทธิ์ไปเปล่าๆ น่าจะเป็นด้วยเหตุผลนี้จึงให้ทำเช่นนั้นได้ ขอให้สังเกตว่าแม้จะให้เอาพระที่เข้าพรรษาหลังมาร่วมสังฆกรรมได้ แต่ก็ต้องเป็นวัดเดียวกันอยู่นั่นเอง มิใช่จำพรรษาอยู่ต่างวัดกัน
     ถ้าในวัดนั้นมีสามเณรอายุครบบวช และสามเณรนั้นบวชเป็นพระหลังจากเข้าพรรษาต้นแล้ว จึงไปเข้าพรรษาหลัง พระที่มาจากสามเณรเช่นนี้ ก็สามารถเข้าร่วมสังฆกรรมกฐินเพื่อให้ครบห้ารูปได้เช่นเดียวกัน ทั้งได้รับอานิสงส์กฐินด้วยเรียกว่ามีสิทธิ์รับกฐินได้โดยสมบูรณ์นั่นเอง
     ขอตั้งข้อสังเกตว่า พระที่เข้าพรรษาหลัง ไม่มีสิทธิ์รับกฐิน แต่สามเณรที่อายุครบบวชแล้วบวชเข้าพรรษาหลัง มีสิทธิ์รับกฐิน ข้อนี้น่าจะมีความหมายว่า พระที่เข้าพรรษาหลังเป็นพระที่มาจากที่อื่น จึงเข้าพรรษาต้นไม่ทัน ส่วนสามเณรนั้นอยู่ที่วัดนั้นมาแต่ต้น ต่างว่าสามเณรรูปนั้นเป็นพระ ก็ย่อมจะได้เข้าพรรษาต้นมาแล้วพร้อมกับพระอื่นๆ นั่นเอง ดังนั้นเมื่อบวชเป็นพระเข้าพรรษาหลัง ก็อนุโลมว่าเหมือนกับได้เข้าพรรษาต้นมาแล้ว จึงให้มีสิทธิ์รับกฐิน

     ๖. ในกรณีที่พระในวัดนั้นมีจำนวนครบห้ารูปแล้วก็จริง แต่ไม่รู้วิธีรับกฐิน ท่านอนุญาตให้ไปนิมนต์พระที่รู้วิธีมาเป็นผู้ดำเนินการให้ คือมาสอนวิธีสวด สอนวิธีกรานกฐินให้ได้ แต่พระที่มาแนะนำนั้น ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับอานิสงส์กฐินในวัดนั้น (แบบเดียวกับพระที่เข้าพรรษาหลังดังสรุปมติข้อ ๕)
     ข้อนี้ก็อาจเป็นที่มาของความเข้าใจที่ว่า “นิมนต์พระจากที่อื่นมารับกฐินได้” ขอให้สังเกตว่า กรณีนี้หมายถึงพระที่วัดนั้นมีครบห้ารูปแล้วสามารถรับกฐินตามพุทธบัญญัติได้อยู่แล้ว ขัดข้องตรงที่ไม่รู้วิธีรับเท่านั้น พระจากวัดอื่นที่นิมนต์มา ท่านเพียงมาทำหน้าที่ แนะวิธีให้ มิใช่มาเพื่อทำให้ครบองค์สงฆ์ จึงเป็นคนละกรณีกัน

@@@@@@@

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นการสรุปมติของพระอรรถกถาจารย์ ต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นประกอบ และเป็นความคิดเห็นของผมเอง ถ้าการนิมนต์ภิกษุต่างวัดมาร่วมสังฆกรรมกฐินเพื่อให้ครบห้ารูปเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วไซร้ ก็น่าจะมีปัญหาควรถามตามมาอีกหลายประเด็น

เช่น ถ้าในวัดนั้นมีภิกษุรูปเดียว และถ้ารับกฐินได้ เมื่อมีผ้ากฐินเกิดขึ้น ตามหลักก็จะต้องมีมติของสงฆ์ว่าควรยกผ้าผืนนั้นให้แก่ภิกษุรูปไหน ภิกษุรูปเดียวนั้นจะไปหามติของสงฆ์มาจากไหน ในเมื่อตนเองอยู่รูปเดียว.? ถ้านิมนต์ภิกษุจากวัดอื่นมาเป็นสงฆ์ ก็จะเท่ากับว่า กิจของวัดนี้แต่กลับต้องให้พระวัดโน้นมาออกความเห็น จะไม่ดูเป็นเรื่องตลกไปหรือ.? มติสงฆ์ในการให้ผ้าจะต้องเป็นเอกฉันท์ (มติสงฆ์ในสังฆกรรมทุกประเภทต้องเป็นเอกฉันท์ทั้งนั้น)

ถ้าภิกษุที่นิมนต์มาจากต่างวัดไม่เห็นชอบที่จะให้ผ้าแก่ภิกษุในวัดนั้น แต่เห็นควรให้แก่ภิกษุต่างวัด ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น จะว่าอย่างไรกัน.? ผ้ากฐินเกิดขึ้นในวัดนี้ แต่กลับไปตกแก่ภิกษุวัดโน้น ก็ตลกอีกเหมือนกัน

ถ้าเป็นมารยาทที่ภิกษุจากต่างวัดที่นิมนต์ไปเป็นสงฆ์อีกวัดหนึ่งจะต้องมีหน้าที่เพียง “เห็นชอบ” ตามท่ภิกษุในวัดนั้นตกลงกันแล้วเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้จะกำหนดจำนวนพระ ๕ รูป ไว้ทำไม ในเมื่อภิกษุ ๔ รูปก็เป็นสงฆ์ได้ หรือแม้ภิกษุรูปเดียวก็สามารถตกลงใจยกผ้าให้ใครก็ได้อยู่แล้ว การประชุมสงฆ์ ๕ รูป เพื่อทำสังฆกรรมกฐินก็จะเป็นเพียงการเล่นละครอะไรอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง และนั่นคือความมุ่งหมายของพุทธบัญญัติเรื่องกฐินเช่นนั้นหรือ.?

อีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่เคยได้ยินใครสงสัย แต่ควรสงสัยไว้ด้วย คือ ถ้าในวัดนั้นมีภิกษุรูปเดียว หรือมีไม่ครบห้ารูป เมื่อมีผ้ากฐินเกิดขึ้นจะเอาผ้านั้นไปทำสังฆกรรมกฐินที่วัดอื่นที่มีภิกษุครบห้ารูปได้หรือไม่ คือแทนที่จะนิมนต์พระมาจากวัดอื่น ก็เอาผ้าไปทำสังฆกรรมที่วัดอื่นเสียเลยจะได้หรือไม่.?

คำถามนี้คงมีคนรู้สึกว่า ไม่น่าจะได้ เหตุผลที่รู้สึกว่าไม่น่าจะได้ก็คือ ผ้ากฐินเกิดขึ้นที่วัดไหนก็ควรจะทำสังฆกรรมที่วัดนั้น คือควรเป็นเรื่องของวัดใครวัดมัน ไม่อย่างนั้นก็จะสับสนปนเปกันไปหมด ถ้าวัดไหนรับกฐินกันไปเรียบร้อยแล้ว มีพระวัดอื่นมาขอใช้สถานที่ทำสังฆกรรมกฐินอีก (เพื่อจะได้มีพระครบห้ารูป) ก็จะกลายเป็นว่า ในปีเดียวกันนั้นวัดหนึ่งสามารถรับกฐินได้หลายครั้ง ก็ผิดพุทธบัญญัติอีก

@@@@@@@

ในที่สุดแล้วจะเห็นได้ว่า กฐินเป็นสังฆกรรมเฉพาะสงฆ์ในแต่ละวัด มุ่งหมายให้เป็นความสามัคคีของภิกษุที่อยู่ร่วมกันในแต่ละอาวาส การนำภิกษุต่างอาวาสมาร่วมสังฆกรรมกฐินด้วย จึงผิดต่อความมุ่งหมายของกฐิน

ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม ๓ กัณฑ์ที่ ๒๖ เรื่องกฐิน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งว่า
    "ภิกษุผู้กรานกฐินต้องเป็นผู้จำพรรษามาแล้ว ถ้วนไตรมาส ไม่ขาด ในอาวาสเดียวกัน มีจำนวนตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป"

คำถวายกฐินพระราชทาน มีข้อความอยู่ตอนหนึ่งว่า
   "… น้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษกาลถ้วนไตรมาส ในอาวาสวิหารนี้"

ที่มาที่อ้างทั้ง ๒ นี้ จะกล่าวมาจากหลักฐานอะไร หรือไม่ได้คำนึงถึงหลักฐานอะไรก็ตามที่ แต่ลึกๆ ลงไปในใจของผู้กล่าวคงจะต้องเข้าใจกันมาแล้ว และมั่นใจอยู่แล้วว่า  ภิกษุหรือสงฆ์ที่จะรับกฐินได้ ต้องอยู่ในอาวาสเดียวกัน เพราะถ้ามีภิกษุที่มาจาก อาวาสอื่น รวมอยู่ด้วยได้ ก็คงพูดไม่ได้ว่า พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ใน อาวาสวิหารนี้

ข้อความในคำถวายกฐินพระราชทาน อาจตีความได้ว่า น้อมนำมาถวายในอาวาสนี้ มิได้หมายถึง พระสงฆ์ที่จำพรรษาในอาวาสนี้ ถ้าตีความอย่างนี้ก็ยิ่งไปกันใหญ่ คือจะกลายเป็นว่า จำพรรษาในวัดหนึ่ง ก็สามารถไปรับกฐินอีกวัดหนึ่งได้ ถ้าเป็นอย่างนี้พุทธบัญญัติเรื่องกฐินก็เป็นอันไม่เหลืออะไร

ผมค้นหาหลักฐานเรื่องที่มาของพระห้ารูปได้เท่าที่เสนอมานี้ ซึ่งสรุปได้ว่า นิมนต์พระต่างวัดมารับกฐินเพื่อให้ครบห้ารูป ไม่ได้ ท่านผู้ใดมีหลักฐานเหนือกว่านี้ ที่แสดงว่า นิมนต์พระต่างวัดมารับกฐินเพื่อให้ครบห้ารูป ได้ ขอได้โปรดแสดงให้สาธารณชนได้รู้ได้เห็น ก็จะเป็นมหากุศลแก่ชาวพุทธโดยทั่วกัน.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 31, 2023, 08:29:14 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28938
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


๑๐ : เรื่องในจีวรขันธกะ

มีผู้เข้าใจว่า “ภิกษุรูปเดียวก็รับกฐินได้” โดยอ้างถึงพระบาลีและอรรถกถาใน จีวรขันธกะ ความเข้าใจนี้จะถูกหรือไม่ประการใด ควรแก่การพิจารณากันต่อไป แต่ในตอนนี้ จะขออัญเชิญพระบาลีและอรรถกถาที่อ้างถึงนั้นมาแสดงไว้ ข้อความในพระบาลีและอรรถกถามีทั้งส่วนที่เป็นประเด็นตรง และส่วนที่เป็นประเด็นแวดล้อม ขอเชิญท่านอ่าน ศึกษา พิจารณา เพื่อเจริญปัญญาร่วมกัน

บาลี

[๑๖๔] เตน โข ปน สมเยน อญฺญตโร ภิกฺขุ เอโก วสฺส
         วสิฯ ตตฺถ มนุสฺสา สงฺฆสฺส เทมาติ จีวรานี อท สุ ฯ อถโข ตสฺส
         ภิกฺขุโน เอตทโหสิ ภควตา ปญฺญตฺต จตุวคฺโค ปจฺฉิโม สงฺโฆติ
         อหญฺจมฺหิเอกโก อิเม จ มนุสฺสา สงฺฆสฺส เทมาติ จีวรานิ อท สุ
         ยนฺนูนาห อิมานิ สงฺฆิกานิ จีวรานิ สาวตฺถึ หเรยฺยนฺติ ฯ อถโข
         โส ภิกฺขุ ตานิ จีวรานี อาทาย สาวตฺถึคนฺตฺวา ภควโต เอตมตฺถ
         อาโรเจสิ ฯ ตุยฺเหว ภิกฺขุ ตานิ จีวรานิ ยาว กฐฃินสฺส อุพฺภารายาติ ฯ
         อิธ ปน ภิกฺขเว ภิกฺขุ เอโก วสฺส วสติ ฯ ตตฺถ มนุสฺสา สงฺฆสฺส
         เทมาติ จีวรานิ เทนฺติ ฯ อนุชานามิ ภิกฺขเว ตสฺเสว ตานิ จีวรานิ
         ยาว กฐฃินสฺส อุพฺภารายาติ ฯ


@@@@@@@

ถวายจีวรเป็นของสงฆ์

[๑๖๔] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่แต่ผู้เดียว คนทั้งหลายในถิ่นนั้น ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์” จึงภิกษุรูปนั้นได้มีความปริวิตกว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์’ แต่เรารูปเดียว และคนเหล่านี้ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ‘ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์’  ดังนี้ ถ้าไฉนเราจะพึงนำจีวรของสงฆ์เหล่านี้ไปพระนครสาวัตถี”

ครั้นแล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปพระนครสาวัตถี กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
     “ดูก่อนภิกษุ จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอผู้เดียว จนถึงเวลาเดาะกฐิน
     “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ ภิกษุจำพรรษารูปเดียว ประชาชนในถิ่นนั้นถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ‘พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์’ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวรเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียว จนถึงเวลาเดาะกฐิน”

สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล ประชาชนในถิ่นนั้นได้ถวายจีวร เปล่งวาจาว่า ‘พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์’ จึงภิกษุรูปนั้นได้ดำริดังนี้ว่า
      “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์’ แต่เราอยู่ผู้เดียว และคนเหล่านี้ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ‘พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์’ ถ้าไฉนเราจะพึงนำจีวรของสงฆ์เหล่านี้ไปพระนครสาวัตถี”

ครั้นแล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปพระนครสาวัตถี แจ้งความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า
     “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ผู้อยู่พร้อมหน้ากันแจก.
     “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ ภิกษุอยู่ผู้เดียวตลอดฤดูกาลประชาชนในถิ่นนั้นได้ ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ‘พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์’ 
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุรูปนั้นอธิษฐานจีวรเหล่านั้นว่า ‘จีวรเหล่านี้ของเรา’
     “ถ้าเมื่อภิกษุรูปนั้นยังไม่ได้อธิษฐานจีวรนั้น มีภิกษุรูปอื่นมา พึงให้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน
     “ถ้าเมื่อภิกษุ ๒ รูปกำลังแบ่งจีวรนั้น แต่ยังมิได้จับสลาก มีภิกษุรูปอื่นมา พึงให้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน
     “ถ้าเมื่อภิกษุ ๓ รูปกำลังแบ่งจีวรนั้น และจับสลากเสร็จแล้ว มีภิกษุรูปอื่นมา พวกเธอไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องให้ส่วนแบ่ง”

@@@@@@@

สมัยต่อมา มีพระเถระ ๒ พี่น้อง คือ ท่านพระอิสิทาส ๑ ท่านพระอิสิภัตตะ ๑ จำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี ได้ไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง คนทั้งหลายกล่าวกันว่า  “นานๆ พระเถระทั้งสองจะได้มา” จึงได้ถวายภัตตาหารพร้อมทั้งจีวร

     พวกภิกษุประจำถิ่นถามพระเถระทั้งสองว่า
    “ท่านเจ้าข้า จีวรของสงฆ์เหล่านี้เกิดขึ้น เพราะอาศัยพระคุณเจ้าทั้งสอง พระคุณเจ้าทั้งหลายจักยินดีรับส่วนแบ่งไหม.? ”
     พระเถระทั้งสองตอบอย่างนี้ว่า
    “อาวุโสทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านเท่านั้น จนถึงเวลาเดาะกฐิน”

สมัยต่อมา ภิกษุ ๓ รูป จำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ ประชาชนในเมืองนั้น ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ‘พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์’ จึงภิกษุเหล่านั้นได้ดำริ ดังนี้ว่า
     “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์’ แต่เรามี ๓ รูป ด้วยกัน และคนเหล่านี้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ‘พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์’ พวกเราจะพึ่งปฏิบัติอย่างไรหนอ”

สมัยนั้น พระเถระหลายรูป คือ ท่านพระนีลวาสี ท่านพระสาณวาสี ท่านพระโคปกะ ท่านพระภคุ และท่านพระผลิกสันทานะ อยู่ ณ วัดกุกกุฎาราม เขตนครปาตลีบุตร จึงภิกษุเหล่านั้นเดินทางไปนครปาตลีบุตร แล้วเรียนถามพระเถระทั้งหลาย

พระเถระทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า
     “พวกเรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านนั้น จนถึงเวลาเดาะกฐิน”

______________________________________________
จีวรขันธกะ มหาวรรค ภาค ๒ พระวินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๖๔ หน้า ๒๒๒

     อรรถกถา

     ตุยฺเหว ภิกฺขุ ตานิ จีวรานีติ อญฺญตฺร คเหตฺวา
     หฏานิปิตุยฺเหว น เตส อญฺโญ โกจิ อิสฺสโรติ ฯ เอวญฺจ
     ปน วตฺวา อนาคเตปิ นิกฺกุกฺกุจฺจา คณฺหิสฺสนฺตีติ ทสฺเสตุ
     อิธ ปนาติ- อาทิมาห ฯ ตสฺเสว ตานิ จีวรานี ยาว กฐฃินสฺส
     อุพฺภารายาติ สเจ คณปูรเก ภิกฺขู สภิตฺวา กฐฃิน อตฺถต
     โหติ ปญฺจ มาเส โน เจ อตฺถกต โหติ เอก จีวรมาสเมว ฯ


ข้อว่า ตุยฺเหว ภิกฺขุ ตานิ จีวรานิ มีความว่า จีวรเหล่านั้นแม้ที่เธอถือนำไปแล้วในที่อื่น ย่อมเป็นของเธอเท่านั้น, ใคร ๆ อื่นไม่เป็นใหญ่แห่งจีวรเหล่านั้น.

ก็แลครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว จึงตรัสคำว่า อิธ ปน เป็นอาทิ เพื่อแสดงว่า “แม้ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่มีความรังเกียจถือเอา”

ข้อว่า ตสฺเสว ตานิ จีวรานี ยาว กฐฃินสฺส อุพฺภาราย มีความว่า หากว่าได้ภิกษุครบคณะ กฐินเป็นอันกรานแล้ว, จีวรเหล่านั้น เป็นของเธอตลอด ๕ เดือน ; ถ้าไม่ได้กรานกฐิน, จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอตลอดจีวรมาสเดือนเดียวเท่านั้น.

จีวรใดๆ อันพวกทายกถวายว่า “ข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์” ก็ดี, ถวายว่า “ข้าพเจ้าถวายเฉพาะสงฆ์” ก็ดี,
ถวายว่า “ข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว” ก็ดี, ถวายว่า “ข้าพเจ้าถวายผ้าจำนำพรรษา” ก็ดี
ถึงแม้ว่าจีวรมรดกยังมิได้แจก ภิกษุทั้งหลายเข้าไปสู่วัดนั้น, จีวรทั้งปวงนั้นย่อมเป็นของภิกษุผู้กรานกฐินนั้นเท่านั้น.

ภิกษุนั้นถือเอาผ้าจำนำพรรษาแม้ใด จากทุนทรัพย์ที่ไวยาวัจกรตั้งไว้ประกอบดอกเบี้ย เพื่อประโยชน์แก่ผ้าจำนำพรรษา หรือจากกัลปนาสงฆ์อันเกิดในวัดนั้น, ผ้าจำนำพรรษานั้นทั้งหมดเป็นอันเธอถือเอาโดยชอบแท้.

@@@@@@@

จริงอยู่ ในคำว่า ตสฺเสว ตานิ จีวรานิ ยาว กฐฃินสฺส อุพฺภาราย นี้มีลักษณะดังนี้ :-

ผ้าที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ด้วยอาการใดๆ ก็ตาม ย่อมถึงแก่ภิกษุผู้กรานกฐินแล้วตลอดห้าเดือน ย่อมถึงแก่ภิกษุไม่ได้กรานกฐินตลอดจีวรมาสเดือนหนึ่ง.

ส่วนผ้านี้ใดที่ทายกบอกถวายว่า “ข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาในวัดนี้” หรือว่า “ข้าพเจ้าถวายผ้าจำนำพรรษา” ผ้านั้นย่อมถึงแม้แก่ภิกษุผู้มิได้กรานกฐินตลอดห้าเดือน.

ผ้าจำนำพรรษาที่เกิดขึ้น นอกจากผ้าที่กล่าวแล้วนั้น ภิกษุพึงถามดูว่า “ นี่เป็นผ้าจำนำพรรษาสำหรับพรรษาที่ล่วงไปแล้วหรือ.? หรือว่า สำหรับพรรษาที่ยังไม่มา.? ”

เหตุไรจึงต้องถาม.? เพราะผ้านั้นเกิดขึ้นหลังสมัย.

บทว่า อุตุกาล ได้แก่ กาลอื่นจากฤดูฝน.

วินิจฉัยในคำว่า ตานิ จีวรานิ อาทาย สาวตฺถึคนฺตฺวา นี้ พึงทราบดังนี้ :-

จีวรเหล่านั้นย่อมเป็นของสงฆ์ในที่ที่เธอไปถึงแล้ว ๆ เท่านั้น ผ้าสักว่าอันภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วเท่านั้นเป็นประมาณในการถือเอาจีวรนี้ ; เพราะเหตุนั้น หากภิกษุบางพวกเดินสวนทางมา ถามว่า “ไปไหนคุณ ?” ได้ฟังเนื้อความนั้นแล้วกล่าวว่า “เราทั้งหลายไม่เป็นสงฆ์หรือคุณ ?” แล้วแบ่งกันถือเอาในที่นั้นที่เดียว เป็นอันถือเอาโดยชอบ.

แม้ถ้าว่าภิกษุนั้นแวะออกจากทาง เข้าสู่วัดหรืออาสนศาลาบางแห่งก็ดี เมื่อเที่ยว บิณฑบาตเข้าสู่เฉพาะเรือนหลังหนึ่งก็ดี, ก็แลภิกษุทั้งหลายในที่นั้นเห็นเธอแล้ว ถามเนื้อความนั้นแล้วแบ่งกันถือเอา ; เป็นอันถือเอาโดยชอบเหมือนกัน.

@@@@@@@

วินิจฉัยในข้อว่า อธิฏฺฐฃาตุ นี้ พึงทราบดังนี้ :-

อันภิกษุผู้จะอธิษฐานพึงรู้จักวัตร, ความพิสดารว่า ภิกษุนั้นพึงตีระฆัง ประกาศเวลาแล้วคอยหน่อยหนึ่ง, ถ้าภิกษุทั้งหลายมาตามสัญญาระฆังหรือตามกำหนดเวลา, พึงแบ่งกับภิกษุเหล่านั้น ; ถ้าไม่มา, พึงอธิษฐานว่า “จีวรเหล่านี้ถึงแก่เรา.” เมื่ออธิษฐานแล้วอย่างนั้น จีวรทั้งปวงเป็นของเธอเท่านั้น.

    ส่วนลำดับไม่คงอยู่ ถ้ายกขึ้นที่ละผืน ๆ ถือเอาอย่างนี้ว่า “นี่ส่วนที่หนึ่ง ถึงแก่เรา, นี่ส่วนที่สอง” อันจีวรที่เธอถือเอาแล้วเป็นอันถือเอาแล้วโดยชอบ ; แต่ลำดับคงตั้งอยู่. จีวรเป็นอันภิกษุผู้แม้ให้ถึงแล้วถือเอาอยู่อย่างนั้นอธิษฐานแล้วโดยแท้,
    แต่ถ้าภิกษุตีระฆังหรือไม่ดีก็ตาม ประกาศเวลาหรือไม่ประกาศก็ตาม ถือเอาด้วยทำในใจว่า “ที่นี่มีแต่เราเท่านั้น, จีวรเหล่านี้ย่อมเป็นของเฉพาะเรา” จีวรเหล่านั้นเป็นอันถือเอาไม่ชอบ.

    หากเธอถือเอาด้วยทำในใจว่า “ที่นี่ไม่มีใคร ๆ อื่น, จีวรเหล่านี้ย่อมถึงแก่เรา” เป็นอันถือโดยชอบ
    แต่ถ้าภิกษุตีระฆังหรือไม่ตีก็ตาม ประกาศเวลาหรือไม่ประกาศก็ตาม ถือเอาด้วยทำในใจว่า “ที่นี่มีแต่เราเท่านั้น, จีวรเหล่านี้ย่อมเป็นของเฉพาะเรา” จีวรเหล่านั้นเป็นอันถือเอาไม่ชอบ.
    หากเธอถือเอาด้วยทำในใจว่า “ที่นี่ไม่มีใครๆ อื่น, จีวรเหล่านี้ย่อมถึงแก่เรา.” เป็นอันถือโดยชอบ.

@@@@@@@

สองบทว่า ปาติเต กุเส มีความว่า เมื่อสลากในส่วนอันหนึ่งสักว่าให้จับแล้ว, แม้ถ้ามีภิกษุตั้งพันรูป , จีวรชื่อว่าอันภิกษุทั้งปวงถือเอาแล้วแท้.

ข้อว่า นากามา ภาโค ทาตพฺโพ มีความว่า ก็ถ้าว่าภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ประสงค์จะให้ตามชอบใจของตนไซร้ ก็จงให้เถิด, แม้ในอนุภาคก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.

บทว่า สจีวรานิ มีความว่า ชนทั้งหลายพูดกันว่า “เราทั้งหลายจักถวายแม้ซึ่งกาลจีวรแก่สงฆ์ จากส่วนอันจะพึงถวายแก่พระเถระนี้เทียว, เมื่อกาลจีวรนั้นอันเราทั้งหลายจัดไว้แผนกหนึ่ง จะช้าเกินไป” ดังนี้แล้ว ได้ทำภัตทั้งหลายพร้อมทั้งจีวรโดยทันทีทีเดียว.

หลายบทว่า เถเร อาคมฺม อุปฺปนฺนานิ มีความว่า จีวรเหล่านี้พลันเกิดขึ้นเพราะความเสื่อมใสในท่านทั้งหลาย.
ข้อว่า สงฺฆสฺส เทมาติ จีวรานิ เทนฺติ มีความว่า ชนทั้งหลายถวายล่าช้าจนตลอดจีวรกาลทั้งสิ้นทีเดียว. ส่วนในสองเรื่องก่อน พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า  อท สุ เพราะชนทั้งหลายมีการถวายอันกำหนดแล้ว.

สองบทว่า สมฺพหุลา เถรา ได้แก่ พระเถระผู้เป็นหัวหน้าแห่งพระวินัยธรทั้งหลาย. ก็แลเรื่องนี้ กับเรื่องก่อนคือเรื่องพระเถระสองพี่น้องเกิดขึ้นเมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว, ส่วนพระเถระเหล่านี้เป็นผู้เคยเห็นพระตถาคต, เพราะเหตุนั้น ในเรื่องก่อนๆ พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายจึงได้กล่าวแล้วตามนัยที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้นั่นแล.







ที่มา :-
ฉบับบาลี - สมนฺตปาสาทิกา ตติโย ภาโค (อรรถกถาจีวรขันธกะ มหาวรรค พระวินัยปิฎก) BUDSIR VI ,หมวดอรรถกถา เล่ม ๓ หน้า ๒๔๐ ; CD ROM ฉบับเรียนพระไตรปิฎก หมวดอรรถกถา เล่ม ๓ หน้า ๒๖๗, หมวดหลักสูตรเปรียญ เล่ม ๔๗ หน้า ๒๔๐
ฉบับแปล  -  พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๗ หน้า ๓๔๗- หลักสูตรเปรียญ เล่ม ๕๒ หน้า ๓๕๖ (ประโยค ๖ - ตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มหาวรรค ตอน ๒)
หมายเหตุ  :  คำแปล จัดวรรคตอน เครื่องหมาย และปรับแก้สำนวนบ้างเล็กน้อย
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28938
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


๑๑ : ภิกษุรูปเดียวก็รับกฐินได้.?

ต่อไปนี้เป็นการพิจารณาปัญหาที่มีผู้เข้าใจว่า “ภิกษุรูปเดียวก็รับกฐินได้” เพื่อทำความเข้าใจว่า บาลี อรรถกถา ที่คัดมาศึกษานี้ คือที่มาของความเข้าใจนั้นหรือเปล่า

     บาลีพระไตรปิฎก

     อิธ ปน ภิกฺขเว ภิกฺขุ เอโก วสฺส วสติ ฯ ตตฺถ มนุสฺสา
     สงฺฆสฺส เทมาติ จีวรานิ เทนฺติ ฯ อนุชานามิ ภิกฺขเว
     ตสฺเสว ตานิ จีวรานิ ยาว กฐฃินสฺส อุพฺภารายาติ ฯ


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ ภิกษุจำพรรษารูปเดียว ประชาชนในถิ่นนั้นถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า “พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวรเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียวจนถึงเวลาเดาะกฐิน”

____________________________________________
จีวรขันธกะมหาวรรค ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๖๔

       อรรถกถา

     สมันตปาสาทิกา
     ตสฺเสว ตานิ จีวรานิ ยาว กฐฃินสฺส อุพฺภารายาติ
     สเจ คณปูรเก ภิกฺขู ลภิตฺวา กฐฃิน อตฺถต โหติ
     ปญฺจ มาเส โน เจ อตฺถต โหติ เอก จีวรมาสเมว ฯ

     
ข้อว่า ตสฺเสว ตานิ จีวรานิ ยาว กฐฃินสฺส อุพฺภาราย (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวรเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียว จนถึงเวลาเดาะกฐิน) มีความว่า หากว่าได้ภิกษุครบคณะ กฐินเป็นอันกรานแล้ว, จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอตลอด ๕ เดือน ; ถ้าไม่ได้กรานกฐิน, จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอตลอดจีวรมาสเดือนเดียวเท่านั้น.

________________________________________________
สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ ; อรรถกถาจีวรขันธกะ มหาวรรค พระวินัยปิฎก BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๓ หน้า ๒๔๐ ; CD ROM ฉบับเรียนพระไตรปิฎก อรรถกถา เล่ม ๓ หน้า ๒๖๗, หลักสูตรเปรียญ เล่ม ๕๗ หน้า ๒๔๐ ;  พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๗ หน้า ๓๔๗- หลักสูตรเปรียญ เล่ม ๕๒ (ประโยค ๖ - ตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มหาวรรค ตอน ๒) หน้า ๓๕๖

ข้อพิจารณา

๑. ประเด็นปัญหาที่กำลังหาคำตอบอยู่นี้ คือ ถ้าภิกษุในวัดนั้นมีไม่ครบองค์สงฆ์ที่จะรับกฐิน (คืออย่างน้อย ๕ รูป) จะไปนิมนต์ภิกษุจากวัดอื่นมาร่วมให้ครบองค์สงฆ์ได้หรือไม่.?

     มีคำตอบว่า ได้ โดยอ้างพระไตรปิฎกที่ยกมาข้างต้นซึ่งมีใจความว่า ภิกษุจำพรรษาอยู่รูปเดียว แล้วมีผู้ถวายผ้าแก่สงฆ์ มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุนั้นเป็นเจ้าของผ้านั้นได้ จนถึงเวลาเดาะกฐิน

     อรรถกถาขยายความว่า หากว่าได้ภิกษุครบคณะ กฐินเป็นอันกรานแล้ว ดูเป็นการย้ำยืนยันว่า นี่คือการรับกฐินไปเรียบร้อยแล้ว ข้อควรสังเกตคือ ลองคิดดูว่า ถ้าภิกษุรูปเดียวรับกฐินได้ ทำไมจึงไม่ตรัสไว้ในกฐินขันธกะโดยตรง.? ถ้าเรื่องนี้ตรัสไว้ในกฐินขันธกะ ประเด็นก็จะชัดเจนสมบูรณ์ อยู่หัวข้อเดียวกันว่า ภิกษุรูปเดียวรับกฐินได้
     แต่นี่กลับไม่มีกล่าวถึงในกฐินขันธกะเลยว่า ภิกษุพระไตรปิฎกที่แสดงเรื่องนี้อยู่ในหัวข้อ จีวรขันธกะ ไม่ได้อยู่ใน หัวข้อ กฐินขันธกะ รูปเดียวก็รับกฐินได้ในกฐินขันธกะ รวมทั้งอรรถกถา มีแต่ยืนยันว่า ภิกษุที่จะรับกฐินได้ต้องมีจำนวนอย่างน้อย ๕ รูป และอยู่ในสีมาเดียวกัน ซึ่งหมายถึงต้องจำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกัน

     เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงน่าพิจารณาว่า กรณีที่กล่าวถึงในจีวรขันธกะนี้ หมายถึง การรับกฐินแน่หรือ หรือว่าหมายถึงกรณีอะไร ขอได้โปรดพิจารณาศึกษาตัวบทในพระไตรปิฎกให้ดี

๒. ขอให้พิจารณาประโยคภาษาบาลีในจีวรขันธกะ
    ภิกฺขุ เอโก วสฺส วสติ แปลว่า “ภิกษุจ าพรรษารูปเดียว”
    ศัพท์ว่า วสฺส วสติ บ่งว่า เป็นการอยู่จ าพรรษา ไม่ใช่อยู่นอกพรรษา

    คำว่า สงฺฆสฺส เทมาติ จีวรานิ เทนฺติ แปลว่า “ประชาชนในถิ่นนั้นถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์”
    ภาษาบาลีบอกว่า “ถวายจีวร” แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่า ถวายเพื่อให้ทำเป็นผ้ากฐิน
    คำว่า จีวรานิ บ่งว่า “จีวรหลายผืน” ถ้าเป็น “ผ้ากฐิน” ภาษาบาลีจะเป็น กฐฃินทุสฺส ซึ่งตามรูปศัพท์ ก็ต้องเป็นผ้าผืนเดียว

สรุปว่า ประชาชนถวาย จีวรานิ(จีวรหลายผืน) ไม่ใช่ถวาย กฐฃินทุสฺส (ผ้ากฐิน) โปรดสังเกตด้วยว่า รูปประโยคภาษาบาลีไม่มีข้อบ่งชี้ตรง ๆ ว่าถวายในช่วงเวลาไหน ถวายในระหว่างพรรษา หรือว่าออกพรรษาแล้วจึงถวาย

แต่คำว่า ยาว กฐฃินสฺส อุพฺภาราย แปลว่า “จนถึงเวลาเดาะกฐิน” บ่งว่า ผ้าที่ถวายในกรณีนี้เกี่ยวพันกับระยะเวลากรานกฐิน คือ ตั้งแต่ออกพรรษาแล้วไปเดือนหนึ่ง “ระยะเวลากรานกฐิน” นั้น ก็คือ “จีวรกาล” หรือ “จีวรกาลสมัย” ซึ่งหมายถึง สมัยหรือคราวที่เป็นฤดูถวายจีวร หรือทำจีวรใหม่ งวดหนึ่งสำหรับภิกษุที่มิได้กรานกฐิน ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ถึงเพ็ญเดือน ๑๒ (คือเดือนเดียว), อีกงวดหนึ่งสำหรับภิกษุที่ได้กรานกฐินแล้ว ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ไปจนหมดฤดูหนาว คือถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ (รวม ๕ เดือน)

คำว่า “เดาะกฐิน” หมายถึง ยกเลิกการที่จะหาผ้ามาทำจีวร อันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ กฐินถ้าเดาะตามเวลา (หมายถึงไม่มีสาเหตุอื่นที่ทำให้กฐินเดาะไปเสียก่อน) ก็คือ  ๑ เดือนหลังจากออกพรรษา แต่มีเงื่อนไขว่า ภายในเวลา ๑ เดือนนี้ ถ้าไม่ได้กรานกฐิน (พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็ว่า ไม่ได้รับกฐิน หรือ ไม่มีใครมาทอดกฐิน) พอครบเดือน กฐินก็เดาะ แต่ถ้าภายใน ๑ เดือนนี้ได้กรานกฐิน ก็ได้ขยายเวลาที่กฐินจะเดาะออกไปอีก ๔ เดือน รวมเป็น ๕ เดือน นับจากออกพรรษา

๓. ข้อความในบาลีที่น่าพิจารณาต่อไป คือ มนุสฺสา ส ฆสฺส เทมาติจีวรานิ เทนฺติ แปลว่า “ประชาชนถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์”

     ขอให้ลองตั้งปัญหาใหม่ ซึ่งอาจจะช่วยไขปัญหาเก่าได้

     ข้อ ๑. ถ้าผู้ถวายไม่ได้แสดงเจตนาว่า “ถวายแก่สงฆ์” หากแต่ถวายแก่ภิกษุรูปนั้นไปเลย เรื่องจะเป็นอย่างไร.? เรื่องก็จะจบลงแค่นั้น คือ ภิกษุรูปนั้นก็เป็นเจ้าของครอบครองใช้จีวรเหล่านั้นไปได้ทันที และจะเห็นได้ชัดว่า เรื่องที่นำมาอ้างอิงนี้เป็นเรื่องถวายจีวรแก่สงฆ์ไม่ใช่เรื่องรับกฐินเลยใช่หรือไม่.?
     ข้อ ๒. ภิกษุจำนวนกี่รูปจึงจะเป็น “สงฆ์” ตามเจตนาของผู้ถวายจีวรในเรื่องที่อ้างถึงนี้.? ถ้าวัดนั้นมีภิกษุจำพรรษาอยู่ ๔ รูป ซึ่งครบองค์สงฆ์พอดี จะถือว่าสำเร็จเป็น “สงฆ์” ตามความประสงค์ของผู้ถวายแล้วหรือยัง.? และถือว่าเป็นการ “รับกฐิน” ไปในตัวได้เลย ใช่หรือไม่.? หรือว่ายังจะต้องไปนิมนต์ภิกษุวัดอื่นมาให้ครบ ๕ รูปอยู่นั่นเอง
     ถามอีกอย่างหนึ่งว่า “สงฆ์” ตามเจตนาของผู้ถวายจีวรในเรื่องที่อ้างถึงนี้ กับ “สงฆ์” ที่จะสามารถรับกฐินได้ตามพุทธบัญญัติ เป็นสงฆ์จำนวนเดียวกันหรือเปล่า หรือถามให้ชัดลงไปก็ว่า คำว่า สํฆสฺส เทม (ถวายแก่สงฆ์) “สงฆ์” ในที่นี้ หมายถึงภิกษุกี่รูป.?

@@@@@@@

ถ้าอ่านข้อความเต็มๆ ในพระไตรปิฎกตอนนี้ ก็จะได้คำตอบอยู่ในตัวข้อความเป็นดังนี้

[๑๖๔] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่แต่ผู้เดียว คนทั้งหลายในถิ่นนั้นได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์” จึงภิกษุรูปนั้นได้มีความปริวิตกว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ ๔ รูป เป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์” แต่เรารูปเดียว และคนเหล่านี้ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ‘ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์’ ดังนี้ ถ้าไฉนเราจะพึงนำจีวรของสงฆ์เหล่านี้ไปพระนครสาวัตถี”

ครั้นแล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปพระนครสาวัตถีกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอนั่นแหละ จนถึงเวลาเดาะกฐิน” จะได้คำตอบว่า ในเรื่องที่ยกมาอ้างนี้ ภิกษุ ๔ รูป ก็เป็นสงฆ์ รับรู้รับทราบหรือรับจีวรที่มีผู้ถวายแก่สงฆ์สำเร็จกิจได้แล้ว แต่ภิกษุ ๔ รูปในกรณีนี้ก็ยังรับกฐินไม่ได้อยู่นั่นเองใช่หรือไม่.? จะเห็นได้แล้วว่า ที่ว่า
    - ภิกษุรูปเดียวก็รับกฐินได้
    - นิมนต์ภิกษุต่างวัดมาให้ครบองค์สงฆ์เพื่อรับกฐินก็ได้

จะนำพระไตรปิฎกตอนนี้มาอ้างอิงเพื่อยืนยันมิได้เลย เพราะเป็นคนละเรื่องกัน กรณีนี้เป็นการนิมนต์ภิกษุต่างวัดมาให้ครบองค์สงฆ์เพื่อรับจีวรที่เขาถวายเป็นของสงฆ์ ไม่ใช่พระพุทธานุญาตให้เอาภิกษุจากที่อื่นมาร่วมรับกฐิน ถ้าอ่านเรื่องให้ตลอด จะเห็นว่า พระบาลียังเล่าเรื่องภิกษุจำพรรษานอกฤดู ภิกษุจำพรรษา ๒ รูป และภิกษุจำพรรษา ๓ รูป แต่ไม่ได้กล่าวถึงภิกษุจำพรรษา ๔ รูป

เพราะเหตุไร.? ก็เพราะภิกษุ ๔ รูป ครบองค์สงฆ์ คือเป็น “สงฆ์” ตามความมุ่งหมายที่ผู้ถวายจีวรตั้งเจตนาอยู่แล้ว ไม่เป็นปัญหา จึงไม่ต้องกล่าวถึง ถ้าเป็นกรณีรับกฐิน ซึ่งกำหนดแน่นอนว่าต้องมีภิกษุ ๕ รูปเป็นอย่างน้อย และพระบาลีต้องการจะแสดงว่าการไปหาภิกษุจากที่อื่นมาให้ครบ ๕ รูป เพื่อรับกฐิน สามารถทำได้

พระบาลีตอนนี้ก็ควรจะเล่าถึงภิกษุจำพรรษา ๔ รูป แล้วมีผู้ถวายผ้าแก่สงฆ์ ภิกษุเหล่านั้นก็ได้มีความปริวิตกว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุห้ารูป เป็นอย่างน้อย จึงจะชื่อว่าสงฆ์ที่สามารถกรานกฐินได้” แต่พวกเราอยู่กัน ๔ รูป จะทำไฉนดี คิดแล้วก็พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็มีพระพุทธานุญาตออกมา ...ควรจะมีเรื่องทำนองนี้แสดงไว้ด้วย จึงจะชัดเจนว่าเป็นกรณีรับกฐินใช่หรือไม่

เรื่องภิกษุจำพรรษานอกฤดู พระบาลียังแสดงวิธีแบ่งจีวรกันในลักษณะต่าง ๆ หลายวิธี นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องในจีวรขันธกะที่อ้างนี้เป็นเรื่องถวายจีวรแก่สงฆ์ แต่เกิดเป็นปัญหาเพราะภิกษุผู้รับถวายมีจำนวนไม่ครบองค์สงฆ์ ท่านจึงเล่าไว้เพื่อชี้แจงวิธีปฏิบัติว่าทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง

@@@@@@@

อ่านคำอธิบายของอรรถกถา ที่พูดถึงภิกษุที่รับผ้าที่มีผู้ถวายเป็นของสงฆ์ แล้วไปพบภิกษุอื่นๆ ตามทาง เห็นว่าครบองค์สงฆ์แล้ว ก็แบ่งผ้ากันไป ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่เรื่องรับกฐิน-กรานกฐินอย่างแน่นอน เพราะผ้ากฐินจะเอามาแบ่งกันอย่างนั้นไม่ได้ ผ้ากฐินนั้น สงฆ์จะต้องมีมติยกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเพื่อกรานกฐิน ตามคุณสมบัติที่กำหนดเท่านั้น

เห็นได้ชัดว่า กรณีภิกษุจำพรรษารูปเดียว (หรือหลายรูป แต่ไม่ครบองค์สงฆ์)  ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องกฐินเลย และนี่เองคือเหตุผลที่ท่านไม่ได้เอาเรื่องนี้ไปแสดงไว้ในหัวข้อกฐินขันธกะ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน แต่เรื่องนี้ดูคล้ายกับจะเป็นเรื่องกฐิน ก็เพราะผู้ถวายเกิดแสดงเจตนา “ถวายแก่สงฆ์”

ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกของภิกษุรูปเดียวผู้รับผ้านั้น จะเอาเป็นของตัวเสียเลยก็ไม่ได้ เพราะผู้ถวายระบุว่า “ถวายแก่สงฆ์” จะยกให้เป็นของสงฆ์ในเวลานั้นก็ไม่ได้ เพราะที่นั่นเวลานั้นไม่มี“สงฆ์” จึงเกิดปัญหาว่า จะทำอย่างไร.? และตรงจุดนี้แหละที่แตกต่างจากเรื่องกฐิน คือ กฐินนั้นเจตนาถวายแก่สงฆ์ คือ ภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป ซึ่งต้องมีตัว “สงฆ์” อยู่แล้วในเวลานั้น

แต่กรณีนี้มีภิกษุอยู่รูปเดียว ไม่มี “สงฆ์” อยู่ในที่นั้นเจตนาของผู้ถวายจึงไม่ได้เจาะจงว่า “สงฆ์” นั้นจะต้องเป็นภิกษุในวัดนั้น เพราะก็เห็นอยู่แล้วว่าในที่นั้นไม่มีสงฆ์ ถ้าจะให้เป็นไปตามเจตนาของผู้ถวาย ก็จะต้องหาภิกษุในที่อื่นมาให้ครบองค์สงฆ์ เพราะฉะนั้น กรณีจึงเป็นการบังคับอยู่ในตัวว่า ภิกษุในที่อื่นๆ ย่อมสามารถมาร่วมเป็น “สงฆ์” ผู้เป็นเจ้าของจีวรได้ เป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า นิมนต์ภิกษุต่างวัดมาให้ครบองค์สงฆ์เพื่อรับกฐินก็ได้

ปัญหากรณีภิกษุจำพรรษารูปเดียว แต่ญาติโยมถวายจีวรแก่สงฆ์ก็คือ ในระหว่างที่ยังไม่มีสงฆ์ ภิกษุรูปเดียวนั้นมีฐานะเป็นอะไรกับผ้านั้นเป็นเจ้าของผ้า หรือเป็นแค่ผู้รักษาผ้าไว้ให้สงฆ์.?

     เมื่อนำปัญหานี้ไปทูลถามพระพุทธองค์ ก็ตรัสแก่ภิกษุนั้นว่า
    “ดูก่อนภิกษุ จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอนั่นแหละ จนถึงเวลาเดาะกฐิน” (ตุยฺเหว ภิกฺขุ ตานิ จีวรานิ ยาว กฐฃินสฺส อุพฺภาราย)
     และมีพุทธวินิจฉัยต่อมาว่า
    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวรเหล่านั้นแก่ภิกษุนั้นนั่นแล จนถึงเวลาเดาะกฐิน” (อนุชานามิ ภิกฺขเว ตสฺเสว ตานิ  จีวรานิ ยาว กฐฃินสฺส อุพฺภาราย)

@@@@@@@

จะเห็นได้ว่า เป็นพุทธวินิจฉัยในประเด็น “สิทธิการเป็นเจ้าของและระยะเวลาที่จะเป็นเจ้าของจีวรที่เขาถวายแก่สงฆ์  ในกรณีที่ภิกษุผู้รับมีจำนวนไม่ครบองค์สงฆ์” ไม่ใช่ประเด็น “ภิกษุรูปเดียวรับกฐินได้หรือไม่” แต่อย่างใดเลย เพียงแต่ว่า ระยะเวลาแห่งการมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของจีวรของสงฆ์นั้นทรงกำหนดให้ผูกโยงอยู่กับ “เวลาเดาะกฐิน”

พุทธวินิจฉัยนี้ อรรถกถาขยายความว่า ถ้าหาภิกษุมาเป็นองค์สงฆ์ได้ (ภายใน ๑  เดือน หลังจากออกพรรษา) จีวรนั้นตกเป็นสิทธิของภิกษุรูปนั้นเป็นเวลา ๕ เดือน แต่ถ้าหาองค์สงฆ์ไม่ได้ ภิกษุรูปนั้นมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของจีวรนั้นได้เพียง ๑ เดือน ทั้งนี้นับ จากวันออกพรรษาแล้วเป็นต้นไป
 
(สเจ คณปูรเก ภิกฺขู ลภิตฺวา กฐฃิน อตฺถต โหติ ปญฺจ มาเส โน เจ อตฺถต  โหติ เอก จีวรมาสเมว. หากว่าได้ภิกษุครบคณะ กฐินเป็นอันกรานแล้ว จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอตลอด ๕ เดือน ถ้าไม่ได้กรานกฐิน จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอตลอดจีวรมาสเดือนเดียวเท่านั้น)

คำที่น่าสังเกตอีกคำหนึ่ง ก็คือ กฐฃิน อตฺถต โหติ ที่ท่านแปลว่า “กฐินเป็นอันกรานแล้ว” ซึ่งทำให้เป็นที่เข้าใจว่า นี่คือการกรานกฐิน = พระไม่ครบ ไปนิมนต์จากที่อื่นมาให้ครบ ก็รับกฐินได้ น่าสังเกตตรงที่ว่า เป็นการพูดถึงการกรานกฐินขึ้นมาเฉยๆ โดยที่เรื่องที่กำลังอธิบายขยายความอยู่นี้เป็นเรื่องของ “จีวรที่ถวายแก่สงฆ์” ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ “ผ้ากฐิน” เลย

@@@@@@@

จึงควรพิจารณาให้แน่ว่า กฐฃิน อตฺถต โหติ ในที่นี้ มีความหมายแค่ไหน ผมขอเสนอแนวคิดดังนี้

    กฐฃิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ส าหรับขึงเป็นแบบเพื่อทำจีวร
    อตฺถต แปลว่า กราน หมายถึงปูลาด ก็คือเอากรอบไม้นั้นมากางมาขึง มาวางลงไป เพื่อใช้งาน
    กฐฃิน อตฺถต ตามความหมายดั้งเดิมก็คือ “ทำจีวร” นั่นเอง

มีพระพุทธานุญาตว่า เมื่อจำพรรษาแล้วให้ภิกษุทำจีวรเปลี่ยนจีวรชุดเดิมที่ใช้มาตลอดพรรษา ซึ่งก็คือตลอดปี การทำจีวรใหม่นี้ให้ทำเป็นการสงฆ์ กับทำเป็นการส่วนตัวที่ทำเป็นการสงฆ์ คือ มีผู้ถวายผ้าให้แก่สงฆ์ สงฆ์ยกผ้านั้นให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเพื่อทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ภิกษุที่อยู่ด้วยกันต้องมาช่วยกันทำเพื่อแสดงความสามัคคี นี่ก็คือที่เรารู้กันว่า ทอดกฐิน-กรานกฐิน

ทอดกฐินเป็นการเปลี่ยนผ้าสำหรับภิกษุรูปเดียว และผืนเดียว แต่ภิกษุรูปอื่นๆ ก็ต้องทำจีวรสำหรับตนด้วย แต่ทำเป็นการส่วนตัว จึงเกิดมีธรรมเนียมถวาย “ผ้าจำนำพรรษา” ซึ่งแปลว่า “ผ้าสำหรับภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว” เพื่อทำจีวรชุดใหม่ ระยะเวลาที่กำหนดให้ทำจีวรก็เป็นดังที่กล่าวมาแล้ว ในเรื่องเดาะกฐิน

ตามเรื่องในคัมภีร์จีวรขันธกะที่อ้างนั้น พอจะอนุมานได้ว่า จีวรที่ประชาชนถวายในเรื่องนั้น ก็คือผ้าจำนำพรรษานั่นเอง ถ้าผู้ถวาย ถวายให้แก่ภิกษุรูปเดียวนั้นไปเลย ภิกษุรูปนั้นก็เท่ากับได้ “ทำจีวร” (กฐฃิน อตฺถต) เรียบร้อยไปแล้ว แต่เกิดเป็นปัญหา เพราะผู้ถวายแสดงเจตนา “ถวายแก่สงฆ์” ซึ่งไม่อาจจะเป็นไปได้ เพราะในที่นั้นมีแต่ภิกษุรูปเดียว ไม่มี “สงฆ์” จึงเกิดปัญหาว่า แล้วเมื่อไรกันเล่า ที่ภิกษุรูปนั้นจึงจะได้ “ทำจีวร” สำเร็จ ทั้ง ๆ  ที่จีวรก็มีอยู่แล้ว แต่ยังใช้ไม่ได้เพราะยังไม่ใช่เป็นของตัว ยังเป็นของ “สงฆ์” อยู่

เมื่อมีพระพุทธวินิจฉัยว่า จีวรนั้นเป็นของภิกษุนั้นได้เลย (อนุชานามิภิกฺขเว ตสฺเสว ตานิ จีวรานิ) ก็เท่ากับว่า ภิกษุนั้นได้ “ทำจีวร” แล้ว แต่ก็ทรงกำหนดเงื่อนไขแห่งการเป็นเจ้าของไว้ด้วยว่า “จนถึงเวลาเดาะกฐิน” (ยาว กฐฃินสฺส อุพฺภาราย)

ตอนนี้แหละที่พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายเงื่อนไขว่า ถ้าหาภิกษุมาเป็น “สงฆ์”  เพื่อรับรู้รับทราบได้ภายใน ๑ เดือน หลังออกพรรษา ภิกษุนั้นก็เป็นเจ้าของจีวรนั้นไปตลอด ๕ เดือน นั่นก็คือ กฐฃิน อตฺถต โหติคือ “ทำจีวร” เรียบร้อยแล้ว มีสิทธิ์เป็นเจ้าของจีวรนั้นเป็นเวลาเท่ากับภิกษุที่ได้กรานกฐิน หรือได้รับกฐินแล้วเช่นกันนั่นเอง

@@@@@@@

ขอให้สังเกตด้วยว่า คำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์บอกแต่เพียงว่า “ได้ภิกษุครบคณะ” (คณปูรเก ภิกฺขู ลภิตฺวา) ไม่ได้ระบุจำนวนว่ากี่รูป ซึ่งเท่ากับเปิดทางให้เข้าใจได้ว่า “ครบคณะ” ก็คือครบองค์สงฆ์ตามพุทธบัญญัติ ดังความเข้าใจของภิกษุรูปเดียวนั้นที่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ ๔ รูป เป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์” เป็นอันว่า ภิกษุ ๔ รูป ก็ถือว่า “ครบคณะ” แล้ว

สำหรับกรณีนี้ คือ กรณีที่มีผู้ถวายจีวรเป็นของสงฆ์แต่ภิกษุ ๔ รูป รับกฐินไม่ได้ เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว จึงเป็นอันยืนยันว่า กรณีนี้ไม่ใช่การรับกฐิน-กรานกฐิน แต่เป็นการทำให้การรับผ้าจำนำพรรษาที่มีผู้ถวายแก่สงฆ์ มีผลเท่ากับได้รับกฐินหรือกรานกฐินแล้ว คือ “ทำจีวร” สำเร็จแล้วเท่านั้นเอง เห็นได้ชัดแล้วว่า “สงฆ์” ในการรับกฐิน ต้องเป็นภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป แต่ “สงฆ์” ในกรณีที่ยกมาอ้างว่า “ภิกษุรูปเดียวก็รับกฐินได้” นี้แค่ภิกษุ ๔ รูป ก็ใช้ได้ แต่ภิกษุ ๔ รูป รับกฐินไม่ได้ จึงเป็นคนละเรื่องกันครับ

ภิกษุอยู่รูปเดียว หรืออยู่ไม่ครบ ๔ รูป รับผ้าที่มีผู้ถวายแก่สงฆ์ได้แล้วไปหาภิกษุจากที่อื่นมาให้ครบองค์สงฆ์ เพื่อมารับรู้รับทราบอนุมัติผ้านั้นให้แก่ภิกษุผู้รับ และมีผลให้ภิกษุรูปที่รับผ้าไว้นั้นเป็นเจ้าของจีวรนั้นโดยสมบูรณ์ คือ “ทำจีวรสำเร็จ” (กฐฃิน อตฺถต โหติ) “สงฆ์” ในกรณีนี้ แค่ภิกษุ ๔ รูป รวมทั้งภิกษุที่รับผ้านั้นไว้ ก็สำเร็จกิจได้แล้ว

     นี่คือ ข้อยืนยันว่า “ไม่ใช่รับกฐิน” แต่เป็นการตอบโจทย์ว่า “คนถวายผ้าแก่สงฆ์ แต่มีภิกษุไม่ครบองค์สงฆ์ จะทำอย่างไร” ถ้านี่เป็นการรับกฐิน หรือกรานกฐิน ก็จะกลายเป็นหลักการใหม่ขึ้นมาว่า “สงฆ์ที่จะรับกฐิน เป็นภิกษุ ๔ รูป ก็ใช้ได้”
     แต่กรณีที่จะเป็นการรับกฐินได้นั้น ต้องมี “สงฆ์” คือภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป และมีตัวตนอยู่พร้อมแล้วในเวลาที่มีผู้ถวายผ้า
     ข้อยืนยันก็คือ อรรถกถาบอกว่า ถ้าภิกษุที่จำพรรษาต้นมีไม่ถึง ๕ รูป ก็ให้ไปเอาภิกษุที่จำพรรษาหลังในวัดเดียวกันมาเพิ่มให้ครบได้(โปรดดูข้อพิจารณา ในหัวข้อต่อไป)
     เพราะฉะนั้น ภิกษุอยู่รูปเดียว หรืออยู่ไม่ครบ ๕ รูป จะไปนิมนต์ภิกษุจากที่อื่นมาให้ครบ ๕ รูป เพื่อรับกฐิน จึงไม่ถูกต้อง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 31, 2023, 10:54:05 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28938
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


๑๒ : กรณีคำว่า “ปจฺฉิมิกา”

ปัญหาเรื่องพระ ๕ รูป ที่จะรับกฐิน มีการกล่าวถึงหลักฐานที่ว่าพระ ๕ รูปนั้น
ต้องอยู่วัดเดียวกัน หรือว่านิมนต์มาจากวัดอื่นก็ใช้ได้ต้นเรื่องเดิมอยู่ใน กฐินขันธกะ คัมภีร์มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๖ มีพระบาลีตอนหนึ่งว่า
     เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐฃิน อตฺถริตพฺพ
     แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้

พระบาลีตรงนี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายขยายความไว้ ซึ่งได้นำมาแสดงแล้วในตอน ๐๙ ปัญหาเรื่องพระห้ารูป ขอยกมาแสดงซ้ำในที่นี้อีก โดยแยกคำบาลีและคำแปลไว้เป็นคนละส่วนกัน ดังนี้

      คำบาลี

     เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐฃิน อตฺถริตพฺพนฺติ เอตฺก กฐฃินตฺถาร เก
     ลภนฺติ เก น ลภนฺตีติ ฯ คณนวเสน ตาว ปจฺฉิมโกฏิยา ปญฺจ ชนา ลภนฺติ
     อุทฺธ สตสหสฺสมฺปิฯ ปญฺจนฺน เหฏฺฐฃฃา น ลภนฺติ ฯ วุตฺถวสฺสวเสน
     ปุริมกาย วสฺส อุปคนฺตฺวา ปฐฃมปวารณาย ปวาริตา ลภนฺติ ฉินฺนวสฺสา วา
     ปจฺฉิมิกาย อุปคตา วา น ลภนฺติ อญฺญสฺมึวิหาเร วุตฺถวสฺสาปิ น ลภนฺตีติ
     มหาปจฺจริย วุตฺต ฯ ปุริมิกาย อุปคตานมฺปน สพฺเพ ปจฺฉิมิกา คณปูรกา

___________________________________
สมนฺตปาสาทิกา (อรรถกถาวินัยปิฎก) ภาค ๓ BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๓ หน้า ๒๑๐ : CD ROM ฉบับเรียนพระไตรปิฎก หมวดอรรถถา เล่ม ๓ หน้า ๒๓๔, หมวดหลักสูตรเปรียญ เล่ม ๔๗ หน้า ๒๑๐-

คำแปล

วินิจฉัยในคำว่า เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐฃิน อตฺถริตพฺพ นี้ พึงทราบดังนี้ :-

ถามว่า ใครได้กรานกฐิน ใครไม่ได้.?
ตอบว่า ว่าด้วยอำนาจแห่งจำนวนก่อน ภิกษุห้ารูปเป็นอย่างต่ำย่อมได้กราน, อย่างสูงแม้แสนก็ได้. หย่อนห้ารูป ไม่ได้.
         ว่าด้วยอำนาจภิกษุผู้จำพรรษา ภิกษุผู้เข้าพรรษาต้น ปวารณาในวันปฐมปวารณาแล้ว ย่อมได้, ภิกษุผู้มีพรรษาขาด หรือเข้าพรรษาหลัง ย่อมไม่ได้ แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้. ในมหาปัจจรีแก้ไว้ดังว่ามานี้.
         และภิกษุทั้งปวงผู้เข้าพรรษาหลังเป็นคณปูรกะของภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นก็ได้, แต่พวกเธอไม่ได้อานิสงส์ อานิสงส์ย่อมสำเร็จแก่พวกภิกษุที่เข้าพรรษาต้นเท่านั้น.

     โหนฺติ อานิส ส น ลภนฺติ อานิส โส อิตเรส เยว โหติ ฯ สเจ ปุริมิกาย
     อุปคตา จตฺตาโร วา โหนฺติ ตโย วา เทฺว วา เอโก วา อิตเร คณปูรเก
     กตฺวา กฐฃิน อตฺถริตพฺพ ฯ อถ จตฺตาโร ภิกฺขู อุปคตา เอโก ปริปุณฺณวสฺโส
     สามเณโร โส เจ ปจฺฉิมิกาย อุปสมฺปชฺชติ คณปูรโก เจว โหติ อานิส สญฺจ
     ลภติ ฯ ตโย ภิกฺขู เทฺว สามเณรา เทฺว ภิกฺขู ตโย สามเณรา เอโก ภิกฺขุ
     จตฺตาโร สามเณราติ เอตฺถาปิเอเสว นโย ฯ สเจ ปุริมิกาย อุปคตา
     กฐฃินตฺถารกุสลา น โหนฺติ อตฺถารกุสลา ขนฺธกภาณกตฺเถรา ปริเยสิตฺวา
     อาเนตพฺพา กมฺมวาจ สเวตฺวา กฐฃิน อตฺถราเปตฺวา ทานญฺจ ภุญฺชิตฺวา
     คมสฺสนฺติ ฯ อานิส โส ปน อิตเรส เยว โหติ ฯ


     ถ้าภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นมีสี่รูป, หรือสามรูป หรือสองรูป หรือรูปเดียว, พึงนิมนต์ภิกษุผู้เข้าพรรษาหลังมาเพิ่มให้ครบคณะแล้วกรานกฐินเถิด.
     ถ้าภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นมีสี่รูป, มีสามเณรอายุครบอยู่รูปหนึ่ง, หากสามเณรนั้นอุปสมบทในพรรษาหลัง, เธอเป็นคณปูรกะได้ ทั้งได้อานิสงส์ด้วย. แม้ในกรณีมีภิกษุสาม สามเณรสอง, มีภิกษุสอง สามเณรสาม, มีภิกษุรูปเดียว สามเณรสี่ ก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ
     ถ้าภิกษุผู้เข้าพรรษาต้น ไม่เข้าใจในการกรานกฐิน, พึงหาพระเถระผู้สวดคัมภีร์ขันธกะซึ่งเข้าใจในการกรานกฐิน นิมนต์มา ท่านสอนให้สวดกรรมวาจา ให้กรานกฐิน และรับทานแล้วจักไป. ส่วนอานิสงส์ย่อมสำเร็จแก่ภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นเท่านั้น.

_____________________________________
สมันตปาสาทิกาแปล พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๗ หน้า ๒๒๙- ; CD ROM ฉบับเรียนพระไตรปิฎก หมวดหลักสูตรเปรียญ เล่ม ๕๒ หน้า ๓๑๐

@@@@@@@

มีผู้ชี้ให้เห็นปัญหาว่า อรรถกถาฉบับที่ใช้เป็นแบบเรียนของคณะสงฆ์ ตรงคำว่า สพฺเพ ปจฺฉิมิกา คณปูรกา ฉบับของมหาจุฬาฯ (คือฉบับที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย ดำเนินการชำระและพิมพ์ขึ้นใหม่) และฉบับอักษรพม่า เป็น สพฺเพคณปูรกา คือ ไม่มีคำว่า ปจฺฉิมิกา

โปรดดูข้อความเต็มๆ ของบาลีประโยคนี้
ปุริมิกาย อุปคตานมฺปน สพฺเพ ปจฺฉิมิกา คณปูรกา โหนฺติ อานิส ส น ลภนฺติ อานิส โส อิตเรส เยว โหติ ฯ
แปลว่า และภิกษุทั้งปวงผู้เข้าพรรษาหลังเป็นคณปูรกะของภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นก็ได้, แต่พวกเธอไม่ได้อานิสงส์ อานิสงส์ย่อมส าเร็จแก่พวกภิกษุที่เข้าพรรษาต้นเท่านั้น

ถ้าไม่มีศัพท์ว่า ปจฺฉิมิกา คำแปลจะเป็นดังนี้
และภิกษุทั้งปวงเป็นคณปูรกะของภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นก็ได้, แต่พวกเธอไม่ได้อานิสงส์ อานิสงส์ย่อมสำเร็จแก่พวกภิกษุที่เข้าพรรษาต้นเท่านั้น

ความแตกต่างที่มีผู้เห็นว่าหลักฐานขัดแย้งกัน ก็อยู่ตรงข้อความที่ว่า
    “ภิกษุทั้งปวง ผู้เข้าพรรษาหลัง เป็นคณปูรกะได้” กับ
    “ภิกษุทั้งปวงเป็นคณปูรกะได้”
คือ ถ้ามีศัพท์ว่า ปจฺฉิมิกา หมายความว่า ภิกษุที่จะนิมนต์มาเป็นคณปูรกะให้ครบองค์สงฆ์เพื่อรับกฐินได้นั้น จะต้องเป็น ภิกษุที่อยู่เข้าพรรษาหลัง เท่านั้น ภิกษุอื่นๆ ไม่ได้ แต่ถ้าไม่มี ปจฺฉิมิกา ความหมายจะกลายเป็นว่า ภิกษุอื่นๆ ทั้งหมด ไม่จำกัดว่าจะเข้าพรรษาต้นหรือพรรษาหลัง นิมนต์มาเป็นคณปูรกะให้ครบองค์สงฆ์เพื่อรับกฐินได้ทั้งนั้น

จากข้อเยื้องแย้งนี้จึงทำให้มีผู้สรุปว่า
    หลักฐานหนึ่งว่า พระไม่ครบห้ารูป แม้นิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบก็รับกฐินไม่ได้
    หลักฐานหนึ่งว่า พระไม่ครบห้ารูป นิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ รับกฐินได้
    แล้วที่ถูกคืออย่างไร.?
    ที่ถูกก็คือ ต้องตั้งหลักกันให้ถูก คือต้องเข้าใจให้ถูกว่า ท่านกำลังพูดถึงปัญหาอะไร ปัญหาที่อรรถกถากำลังอธิบายอยู่นี้ คือเรื่องจำนวนพระที่จะสามารถรับกฐินได้ คือ ๕ รูป และขมวดเข้าไปอีกว่า พระ ๕ รูปนั้นต้องมาจากไหน ซึ่งท่านก็บอกว่า
      - เป็นพระที่เข้าพรรษาต้น
      - พรรษาไม่ขาด
      - จำพรรษาในวัดเดียวกัน (แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้)
ประเด็นเหล่านี้ท่านบอกไว้ชัดเจน เราน่าจะเข้าใจตรงกันได้แล้ว

@@@@@@@

ครั้นมาถึงกรณีที่ ถ้าพระที่เข้าพรรษาต้นมีจำนวนไม่ครบ ๕ รูป จะทำอย่างไร ท่านก็บอกว่า ให้นิมนต์พระที่เข้าพรรษาหลังมาเป็นคณปูรกะ คือให้ครบ ๕ ได้ อรรถกถาฉบับหนึ่งบอกว่า “พระที่เข้าพรรษาหลังทั้งหมด” แต่อีกฉบับหนึ่งบอกว่า “พระทั้งหมด” ตรงนี้กระมังที่เป็นจุดหักเห ทำให้มีผู้เข้าใจสับสน

โปรดดูประโยคภาษาบาลีอีกที
หลักฐานหนึ่ง - ปุริมิกาย อุปคตานมฺปน สพฺเพ ปจฺฉิมิกา คณปูรกา โหนฺติ
                 และภิกษุทั้งปวงผู้เข้าพรรษาหลังเป็นคณปูรกะของภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นก็ได้
อีกหลักฐานหนึ่ง - ปุริมิกาย อุปคตานมฺปน สพฺเพ คณปูรกา โหนฺติ
                    และภิกษุทั้งปวงเป็นคณปูรกะของภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นก็ได้
และโปรดพิจารณา - ก่อนจะถึงข้อความนี้ ท่านก็บอกไว้แล้วว่า
                      ปุริมิกาย วสฺส อุปคนฺตฺวา...ลภนฺติ
                      ภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นย่อมได้กรานกฐิน
                      ปจฺฉิมิกาย อุปคตา..น ลภนฺติ
                      ภิกษุผู้เข้าพรรษาหลัง ย่อมไม่ได้

ข้อความนี้กล่าวถึงพระวัดเดียวกันหรือต่างวัดกัน.?
ตอบได้เลยว่า หมายถึง พระที่เข้าพรรษาต้นและเข้าพรรษาหลังในวัดเดียวกัน เพราะเมื่อเอ่ยถึงพระที่เข้าพรรษาต้นในวัดหนึ่งแล้ว เมื่อจะเอ่ยถึงพระที่เข้าพรรษาหลัง ก็ย่อมจะต้องหมายถึงพระในวัดเดียวกันนั่นเอง จะหมายถึงวัดอื่นไปไม่ได้ ถ้าประสมต่างวัดกันได้ เอาพรรษาต้นกับพรรษาต้นประสมกัน จะไม่ดีกว่าหรือ

ลองคิดดูเล่นๆ ก็จะเห็นเงื่อนแง่ ถ้านิมนต์พระจากวัดอื่นมาให้ครบ ๕ ก็ใช้ได้ (ตามที่บางท่านเห็นหลักฐานตรงนี้แล้วเข้าใจเช่นนั้น) จะต้องพูดถึงเข้าพรรษาต้น เข้าพรรษาหลังทำไม ในเมื่อเข้าพรรษาแบบไหนก็นิมนต์มาได้ทั้งสิ้น .?  ถ้าเอ่ย ก็น่าจะเอ่ยถึง ปุริมิกา คือพระที่เข้าพรรษาต้น เพราะกรานกฐินได้ พระปจฺฉิมิกา คือ พระที่เข้าพรรษาหลัง ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงเลย

เพราะท่านบอกไว้หยกๆ ว่า กรานกฐินไม่ได้ ไปนิมนต์พระที่เข้าพรรษาหลังมา พระเหล่านั้นก็ไม่ได้อานิสงส์กฐิน เท่ากับให้ท่านมาเหนื่อยเปล่า นิมนต์พระที่เป็น ปุริมกา คือพระที่เข้าพรรษาต้น ซึ่งจะต้องมีอยู่ในวัดอื่นๆ แน่ๆ จะมิดีกว่าหรือ นิมนต์มาแล้วท่านก็ได้รับอานิสงส์กฐินด้วย แต่เพราะพระที่ เข้าพรรษาต้น ในวัดนั้นมีไม่พอ เมื่อพูดถึงพระที่เข้าพรรษาหลัง กรณีจึงบังคับให้หมายถึงพระที่จำพรรษาในวัดเดียวกันโดยอัตโนมัติ

@@@@@@@@

จึงเห็นได้ชัดว่า จะมีศัพท์ ปจฉิมิกา หรือไม่มี ก็ยังคงหมายถึง เฉพาะภิกษุที่เข้าพรรษาหลังในวัดเดียวกันอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น ข้อความในประโยคต่อมา เมื่อท่านกล่าวว่า ปุริมิกาย อุปคตาน (ของภิกษุผู้เข้าพรรษาต้น) และกล่าวถึงภิกษุที่จะนิมนต์มาประสมกับภิกษุที่เข้าพรรษาต้นนี้ ก็ย่อมจะต้องหมายถึงภิกษุที่จำพรรษาในวัดเดียวกันนั้นเอง

ถ้าจับประเด็นได้อย่างนี้ จะเห็นว่า ไม่ว่าจะพูดว่า “พระที่เข้าพรรษาหลังทั้งหมด” หรือพูดว่า “พระทั้งหมด” ก็ไม่ทำให้สาระสำคัญต่างกันเลย คือ ก็ยังคงหมายถึง “พระที่จำพรรษาในวัดเดียวกัน” อยู่นั่นเอง

คำว่า “พระทั้งหมด” ในที่นี้ ไม่ได้กินความไปถึงพระจากวัดอื่น เพราะท่านบอกไว้แล้วว่า
       อญฺญสฺมึวิหาเร วุตฺถวสฺสาปิ น ลภนฺติ
      “แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้”
ท่านบอกไว้ชัดขนาดนี้แล้ว ทำไมจึงยังจะคิดถึงพระ “วัดอื่น” กันอยู่อีก.?
ดูต่อไปที่ท่านอธิบายกรณีมีพระเท่านั้น มีสามเณรเท่านี้ แล้วให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ล้วนแต่มุ่งถึงภิกษุสามเณรที่จำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกันเท่านั้น มิได้มีนัยที่ส่อแสดงถึงภิกษุสามเณรต่างวัดเลย

เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะไม่มีคำว่า ปจฺฉิมิกา (ผู้เข้าพรรษาหลัง) ก็ไม่มีช่องทางที่จะให้ตีความไปถึงภิกษุจากต่างวัดได้อยู่นั้นเอง






๑๓ : กฐิน ถ้าจะทอดก็ควรปลอดปัญหา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม ๓ กัณฑ์ที่ ๒๖ กฐิน ตอนท้ายของเรื่องว่า

ถามว่า วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป รับกฐินไม่ได้ เสียหายอย่างไร.?
จะตอบว่า อย่างไรดี.?

    "ข้าพเจ้าได้พิจารณาถึงพระพุทธานุญาตเรื่องกฐินนักแล้วว่า จำกัดให้ทำจีวรให้เสร็จในวันนั้น มุ่งประโยชน์อย่างไร เห็นอยู่ทางหนึ่งว่า มีพระพุทธประสงค์จะประกอบภิกษุบริษัทในสามัคคี และการทำจีวรใน ครั้งนั้นเป็นการใหญ่ และเป็นการลำบากของภิกษุอย่างไรได้กล่าวแล้ว ถ้าต้องทำให้เสร็จในวันนั้นด้วย ต้องช่วยกันแข็งแรงจึงจะสำเร็จ และเรื่องนี้เนื่องด้วยจีวร จึงทรงวางกำหนดไว้อย่างนั้น.
     ถ้ามตินี้ถูก การใช้ผ้าทำเสร็จมาแล้วเป็นวัตถุแห่งกฐิน ไม่ต้องใช้ความสามัคคีเพียงไรนัก เป็นการขัดต่อพระพุทธาธิบาย แต่ในบัดนี้ก็หาเป็นประโยชน์เพียงไรไม่. นอกจากนี้ ยังไม่แลเห็นประโยชน์ ข้าพเจ้าขอฝากพระวินัยธรไว้พิจารณาต่อไป."


กฐินนั้นมีมูลเหตุมาจากเรื่องผลัดเปลี่ยนจีวรที่ใช้มาแล้วทั้งพรรษา แล้วเลยถือเป็นโอกาสที่จะให้เกิดความสามัคคีในหมู่สงฆ์ รวมไปถึงญาติโยมทายกทายิกาด้วย

    ข้อคิดก็คือ

    ๑. บัดนี้ จีวรสำหรับผลัดเปลี่ยนอุดมสมบูรณ์ถึงขั้นเหลือเฟือแล้ว ถึงไม่ได้รับกฐินก็ไม่เป็นการขัดสนอันใด
    ๒. ถ้าต้องการความสามัคคี ถึงแม้ไม่ได้ทอดกฐิน-รับกฐิน โอกาสที่จะสร้างสามัคคีก็ยังมีอยู่อีกมากมายหลายทาง
    ๓. การระดมทุนเพื่อกิจการอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน ไม่มีกฐิน ก็ยังหาช่องทางอื่นระดมได้

    ๔. ในแง่อานิสงส์กฐิน สำหรับผู้รับ คือภิกษุสงฆ์ ก็คือได้รับผ่อนผันไม่ต้องปฏิบัติตามสิกขาบทต่าง ๆ เป็นบางข้อ เรามักยกย่องว่าพระมีศีลมากกว่าชาวบ้าน แม้พระเองก็รู้สึกเช่นนั้น มองในมุมกลับ การไม่ต้องปฏิบัติตามสิกขาบทบางข้อ ก็เท่ากับศีลน้อยลงไปนั่นเอง จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรยินดี แม้มองในแง่ผลพลอยได้ เช่น บอกว่าไม่ต้องปฏิบัติตามสิกขาบทบางข้อทำให้คล่องตัวขึ้น ก็ไม่น่าจะคิดเช่นนั้น เพราะจะกลายเป็นว่า สิกขาบทที่ทรงบัญญัติเป็นเครื่องขัดขวางต่อความคล่องตัว สรุปแล้วภิกษุถึงจะไม่ได้รับกฐิน ก็ไม่ได้ทำให้เสียประโยชน์อะไรเลย

    ๕. สำหรับอานิสงส์ฝ่ายผู้ถวาย ก็คือ ได้ทำบุญทานมัยเป็นสังฆทาน แต่แม้จะไม่ได้ทอดกฐิน ก็ยังมีโอกาสถวายทานที่เป็นสังฆทานได้เนือง ๆ อยู่แล้ว ก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไรเช่นกัน
    ๖. ในแง่ประเพณี อาจจะมองได้ว่าเสียไปบ้าง เพราะกฐินเป็นประเพณีสำคัญของสังคม แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสิ้นหนทางหรือตัดโอกาส หากตั้งใจจะรักษาประเพณี ก็ต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดองค์ประกอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมที่จะทอดกฐินได้ คือ ขวนขวายให้มีพระภิกษุครบ ๕ รูป มองในแง่นี้ก็กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ทำความดีเข้มแข็งขึ้นได้


@@@@@@@

ที่กล่าวมานี้ มิได้ต้องการจะบอกว่า สมัยนี้พระภิกษุไม่จำเป็นต้องรับกฐิน แต่ต้องการจะเสนอแง่คิดว่า ถ้าไม่ได้รับกฐินจะเป็นอย่างไร ก็ถ้าเมื่อพระไม่ได้รับกฐิน หรือฝ่ายญาติโยมไม่ได้ทอดกฐิน ก็ไม่ได้เสียอะไร

เช่นนี้แล้ว หากจะทอดกฐิน-รับกฐิน ก็ควรทำให้เป็นกฐินที่ปัญหา คือไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่า อย่างนั้นผิด อย่างนี้ถูก อย่างนั้นใช้ได้ อย่างนี้ใช้ไม่ได้

เราจะทำสิ่งที่เป็นปัญหาทำไม ในเมื่อถึงจะไม่ต้องทำเช่นนั้น เราก็ไม่เสียประโยชน์อะไร และในเมื่อประโยชน์ที่จะได้รับจากการทอดกฐิน-รับกฐินนั้น เราสามารถหาได้จากกิจกรรมอื่นอีกตั้งหลายวิธี เรามาช่วยกันทอดกฐินชนิดที่ปลอดปัญหาด้วยประการทั้งปวงเสียเลย จะไม่ดีกว่าดอกหรือ

            -จบ-
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 31, 2023, 12:38:11 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28938
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

.
 :25:

ขอขอบคุณ

หนังสือ "ทอดกฐินให้ถูกวิธี" (pdf file) โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย จากเว็บธรรมธารา https://dhamtara.com

สามารถดาวน์โหลด pdf file ได้ที่ :-
https://dhamtara.com/wp-content/uploads/2021/04/ทอดกฐินให้ถูกวิธี.pdf

หรือสามารถอ่านได้ที่ : http://kathinceremony.blogspot.com/

ท่านใดประสงค์จะคัดลอกไปอ้างอิงหรือกระทำการใดๆ กรุณาตรวจสอบ "อักษรบาลี" อีกครั้ง อาจมีหลายคำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากผู้โพสต์ ".ไม่สันทัดภาษาบาลี." จึงขออภัยมา ณ โอกาสนี้

ขอบคุณที่ติดตาม


 :c017:
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ