ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: แนะหลักธรรมก้าวพ้น ‘ขัดแย้ง’ ยก ‘โลกธรรม 8’ เป็นแนวทางนักการเมือง  (อ่าน 30 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28472
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.

พระไพศาล วิสาโล

พระไพศาล วิสาโล แนะหลักธรรมก้าวพ้น ‘ขัดแย้ง’ ยก ‘โลกธรรม 8’ เป็นแนวทางนักการเมือง



 :25:

แนะหลักธรรมก้าวพ้น ‘ขัดแย้ง’ ยก ‘โลกธรรม 8’ เป็นแนวทางนักการเมือง

ในทำเนียบพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยุคนี้ ชื่อของพระไพศาล วิสาโล วัย 67 ปี เจ้าอาวสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ก็อยู่ในนั้นด้วย ท่านบวชมา 41 พรรษา นอกจากเป็นพระนักเผยแผ่ด้วยการเทศน์และการเขียนหนังสือหลายเล่มแล้ว ท่านยังเป็นพระอนุรักษ์ป่าที่ทำให้ผืนป่าใน จ.ชัยภูมิกลับมาเขียวขจี มีโอกาสไปกราบนมัสการท่านที่วัดป่ามหาวัน จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นอีกวัดที่ท่านดูแลอยู่ เลยได้สนทนากับท่านในหลากหลายหัวข้อ

พระไพศาลเล่าว่า ที่ผ่านมาเขียนหนังสือหลายแนว ตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม สันติวิธี เหตุแห่งความขัดแย้ง เรื่องปฏิรูปพระพุทธศาสนา เรื่องการรักษาป่า และเรื่องธรรมะ เรื่องของการฝึกจิตฝึกใจในการแก้ปัญหาชีวิต แก้ปัญหาความทุกข์ ในแต่ละเล่มเนื้อหาแตกต่างกันไป

ใจความสำคัญคือให้คนได้เกิดความตระหนักในเรื่องส่วนรวม และช่วยกันทำให้สังคมดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รู้จักการแก้ปัญหาส่วนตัว ทั้งในระดับครอบครัว จนถึงระดับจิตใจ

ซึ่งอาตมาเน้นในการเปลี่ยนแปลงสังคม แก้ปัญหาสังคมกับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แก้ปัญหาตัวเอง ซึ่งก็เรื่องเดียวกันแหละ โดยอาศัยธรรมะ อาศัยมุมมองต่อชีวิตและสังคมที่มีจุดร่วมเดียวกันคือว่า ความเมตตา ความมีสติ ความรู้สึกตัว และการเข้าใจความจริงของชีวิตและโลก ซึ่งเป็นแกนกลางที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม และเปลี่ยนแปลงตัวเองได้


@@@@@@@

พระพุทธศาสนาแกนกลางอยู่ที่ธรรมะ ธรรมะก็มีอยู่ 2 ความหมาย
    ที่หนึ่ง คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงและโลก ในความจริงของชีวิตและโลก ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าไร ถ้าพูดง่ายๆ หลักการใหญ่ๆ อันนี้เรียกว่าสัจธรรม
    อีกอันหนึ่งคือ ข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ในการเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ที่เรียกว่าจริยธรรม
    โดยหลักการแล้ว สัจธรรมและจริยธรรมก็ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

กับคำถามที่ว่า เวลานี้ในสังคมไทยมีความแตกแยกกันเยอะ ควรใช้หลักธรรมคำสอนอย่างไรที่จะทำให้สังคมลดความแตกแยกลงได้

เจ้าอาวสวัดป่าสุคะโตอธิบายว่า ต้องเปิดใจฟังให้มากขึ้น และอย่าด่วนตัดสิน เพราะว่าสิ่งที่ได้ฟังมาผ่านสื่อ อาจไม่ใช่ความจริง หรืออาจเป็นแค่ความจริงเพียงส่วนเดียว และคนทุกวันนี้รับรู้ความเป็นจริงผ่านสื่อ ซึ่งมีการตีความ มีการกลั่นกรอง รวมทั้งอาจมีอคติเข้ามาแทรก จึงไม่ควรด่วนสรุปในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทางสื่อ

ควรเปิดใจรับฟังข้อมูลจากสื่อต่างๆ ที่หลากหลาย เพราะสื่อยุคนี้มักเลือกข้าง เพราะถ้าเลือกข้างจะอยู่ได้ ถ้าไม่เลือกข้างเลยอยู่ยาก ฉะนั้น ในยุคปัจจุบันผู้คนไม่สามารถที่จะพึ่งพาสื่ออันใดอันหนึ่งได้ แต่ต้องรับรู้ผ่านสื่อที่หลากหลาย และมาใคร่ครวญ กลั่นกรองและหาข้อสรุป

ต้องมีสิ่งหนึ่งที่ทางพุทธเรียกว่า สัจจานุรักษ์ คือ หลักธรรมที่ว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปความคิดของตัวเองเท่านั้นที่ถูก ต้องเปิดใจกว้าง ไม่ด่วนสรุป หรือปักใจเชื่อว่าความคิดความเห็น ข้อมูลข่าวสารของเราเท่านั้นที่ถูก ตรงนี้สำคัญมาก บางคนเรียกว่ามีขันติธรรม คือ ใจกว้าง ไม่คับแคบ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือการมีสติ และต้องมีปัญญาในการใคร่ครวญ เพื่อแยกแยะว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร

@@@@@@@

อย่างไรก็ตาม ปัญญาจะใช้การได้ต้องมีหลักธรรมข้อหนึ่ง ที่เรียกว่า กาลามสูตร จะมี 10 ข้อ เป็นข้อทักท้วงหรือตักเตือน อาทิ อย่าเชื่อเพียงเพราะได้ยินเสียงเล่าลือ และอย่าเชื่อเพราะเป็นครูของเรา ฯลฯ

เมื่อให้ท่านแนะนำหลักธรรมคำสอนที่อยากให้นักการเมือง หรือผู้บริหารในประเทศปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และเพื่อให้บ้านเมืองเจริญ-สงบสุข

    “อยากให้ตระหนักถึงหลักธรรม เรื่องโลกธรรม 8 ก็มีอยู่ 2 ส่วน คือ โลกธรรมฝ่ายบวก และฝ่ายลบ ซึ่งแยกจากกันไม่ออก ได้ลาภกับเสื่อมลาภเป็นของคู่กัน ได้ยศกับเสื่อมยศเป็นของคู่กัน สรรเสริญกับนินทาว่าร้ายเป็นของคู่กัน สุขและทุกข์ ตอนนี้นักการเมืองจำนวนมาก เขาหลงใหลเรื่องของยศ ทรัพย์ อำนาจกันมาก และคิดว่าถ้ามียศ มีทรัพย์ มีอำนาจ สามารถจะทำอะไรได้ทุกอย่าง และจะได้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตของเขา มีความสุข”

    “แต่อันนี้เป็นความหลง เพราะถ้านำมาเป็นสรณะแล้ว จะนำไปสู่การคอร์รัปชั่น ไปสู่การแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว แต่คนที่เข้าใจเรื่องโลกธรรม 8 เขาก็จะใช้หน้าที่และอำนาจเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม ซึ่งจะทำให้เขามีความสุขอย่างแท้จริง”

    “และทำให้ชีวิตของเขามีคุณค่าและมีความหมาย”



พระไพศาล วิสาโล

ในชีวิตการบวช 41 พรรษา พระไพศาลเล่าถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ที่นำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องว่า มีหลายท่าน ตอนเป็นวัยรุ่นก็มีพระอาจารย์พุทธทาส และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ต่อมาก็มีหลวงพ่อเทียน จิตตะสุโภ หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ และครูบาอาจารย์ที่อาตมาได้เรียนรู้ผ่านหนังสือ อย่างหลวงพ่อชา สุภัทโท หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นต้น ท่านเหล่านี้คือครูบาอาจารย์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตการบวชของอาตมา ทำให้อาตมาบวชได้นานถึงทุกวันนี้

สิ่งที่ได้สำคัญๆ ทำให้เข้าใจว่าพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรม ไม่ใช่เรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องของสัจธรรมความจริงที่เป็นสากล และที่สำคัญอีกอย่างคือ ได้ค้นพบวิธีในการฝึกจิตฝึกใจ ให้มีความทุกข์น้อยลงคือ มีธรรมะมากขึ้น

    “คำสอนของหลวงปู่ชาก็ได้หลายอย่าง อย่างเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า เรื่องการฝึกจิต เรื่องเจริญภาวนา รวมทั้งการให้ความสำคัญกับสังฆะ เรื่องธรรมวินัย ส่วนคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสที่ว่าไว้ ชีวิตที่ดีที่สุดคือชีวิตที่สงบและเป็นประโยชน์ นี่คือหลักการสำคัญเลยที่ช่วยประคับประคอง หล่อหลอมชีวิตการบวชของอาตมาให้มาถึงจุดนี้ ถ้าเกิดเราสามารถเข้าถึงภาวะที่สงบเย็น และใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ได้ ก็ไม่มีคำถามแล้วว่าเกิดมาทำไม อยู่ไปทำไม”

ถามว่า มองอย่างไรตอนนี้ชาวต่างชาติเข้ามาบวชเรียนพระพุทธศาสนาในบ้านเรามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสายวัดป่า สายวิปัสสนา

พระไพศาลกล่าวว่า อาตมามองว่าเป็นภาพสะท้อนว่าความสะดวกสบาย ความมั่งคั่ง หรือว่าความสำเร็จในทางโลก ไม่ใช่คำตอบที่แท้ของชีวิต อาจจะช่วยทำให้เข้าถึงคำตอบของชีวิตได้ แต่ไม่ใช่ตัวคำตอบที่แท้ ชาวต่างชาติที่ได้ประสบภาวะที่พรั่งพร้อมทางวัตถุ แม้ว่าจะเป็นสังคมที่ให้หลักประกันทางด้านสันติภาพ และสิทธิหลายอย่างที่น่าจะทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านั้นยังไม่พอ

@@@@@@@

สิ่งที่ขาดหายไปคือความหมายในทางจิตใจ หรือถ้าพูดง่ายๆ เป็นรูปธรรมคือ ความสงบทางจิตใจ ความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ความสะดวกสบายที่เทคโนโลยีไม่สามารถทำให้เกิดความสงบอย่างแท้จริงในจิตใจ คนเราถ้าขาดความสงบในจิตใจ ก็ไม่มีทางที่จะพบความสุขที่แท้ได้ และท่านเหล่านั้นพบว่าพระพุทธศาสนาให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ ทำให้พบความสงบในจิตใจ

การที่มีชาวต่างชาติมาศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะลงมาปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ยังมีคนที่เห็นคุณค่า และสามารถจะนำมาใช้ในการแก้ทุกข์ของตัวเองได้อย่างแท้จริง ธรรมะในพระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องล้าสมัย ยังทันยุคทันสมัย ไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปในทางใด สุดท้ายคนก็ยังหนีความทุกข์ไม่พ้น ท่านเหล่านั้นก็เป็นหลักฐานว่า หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามีอีกอย่างหนึ่งคือสมสมัย รวมทั้งยังเหมาะกับคนในยุคปัจจุบัน และยุคต่อๆ ไปด้วย

ประเด็นที่ว่าเวลาผู้คนในบ้านเราดูเหมือนจะมุ่งไปสายมูมากกว่าปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนา หลายวัดเน้นสร้างวัตถุกันมาก

พระไพศาลพูดถึงเรื่องนี้ว่า “อาตมาไม่ค่อยแน่ใจว่าคนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา นับถือศาสนาบริโภคนิยมมากกว่า จุดมุ่งหมายส่วนใหญ่ คือ รวย รวย รวย จริงๆ แล้วโดยแก่นแท้เขานับถือศาสนาบริโภคนิยม ศาสนาวัตถุนิยม ซึ่งอาจถูกห่อคลุมด้วยลัทธิธรรมเนียมทางพระพุทธศาสนา รูปแบบเป็นพระพุทธศาสนา แต่เนื้อในเป็นบริโภคนิยม และเพราะเหตุนี้วัดหรือพระ จึงตอบสนองความต้องการในเชิงบริโภคนิยมของญาติโยม ด้วยการสร้างวัดวาอารามแบบนั้น หรือการขายวัตถุมงคล หรือที่เรียกว่า พุทธพาณิชย์


@@@@@@@

และนี่คือเหตุว่าทำไมความเชื่อที่เรียกว่าสายมูจึงแพร่ระบาด เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาศรัทธานับถือจะนำมาซึ่งโชคลาภ ความสำเร็จทางโลก ทำให้มั่งมี ทำให้ร่ำรวย ในเมื่อมีความเชื่อแบบนี้ การที่จะหวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อดลบันดาลให้สมปรารถนาจึงเป็นเรื่องที่แพร่ระบาด

อย่างญาติโยมที่มาวัดอาตมาบางคนก็คอยเฝ้าดูว่าอาตมาจะให้เลขอะไรหรือเปล่า หรือไม่ก็มาวัดมาทำบุญ เพราะคิดว่าจะช่วยให้มีโชคมีลาภ มาถวายสังฆทาน เพราะคิดว่าบุญจะแปรเป็นโชคเป็นลาภได้ ถึงวันพระก็ใส่บาตรกันเยอะมาก เพราะคิดว่าถ้าใส่บาตรแล้วจะได้บุญ บุญจะทำให้ถูกล็อตเตอรี่ ยิ่งวันที่ 16 หรือ 1 ของเดือน คนจะใส่บาตรกันเยอะกว่าปกติ

ท่านเองเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย อยากให้ผู้คนตระหนักเรื่องนี้อย่างไร

“อาตมาเน้นเรื่องชีวิตก่อนความตาย โดยเฉพาะในระยะสุดท้าย จะเผชิญกับความตายอย่างไรด้วยใจสงบ คิดว่าคนไทยยอมรับความตายได้มากขึ้น ตามโรงพยาบาลก็ตอบรับในเรื่องนี้ การยื้อชีวิตเพื่อหนีความตายเริ่มลดลงแล้ว เริ่มยอมรับกระบวนการทางการแพทย์ที่ไม่ได้ยื้อชีวิต แต่เป็นไปเพื่อให้เผชิญความตายได้ดีที่สุดคือ การดูแลแบบประคับประคอง”






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 เมษายน 2567
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง
เผยแพร่ : วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_762625
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ