ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ ‘สหาย’  (อ่าน 356 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ ‘สหาย’
« เมื่อ: ธันวาคม 11, 2023, 05:55:03 am »
0


ภาพประกอบ : Facebook โรงเจซินเฮงตั๊ว 新興壇 วงเวียน22


ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ ‘สหาย’ (1)

ในบทความฉบับที่แล้ว ผมได้พิมพ์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในตอนที่ว่า “นัยยะทางการเมืองของงานกินเจที่เด่นชัด และนักประวัติศาสตร์ต่างก็กล่าวถึง คือเป็น ‘งานไว้ทุกข์’ ครับ ไม่ว่าจะไว้ทุกข์แด่กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ่ง” ที่จริงต้องเป็นราชวงศ์ “หมิง” ครับ ไม่ใช่ “ซ่ง” จึงเรียนมาเพื่อทราบและขออภัยไว้ ณ ที่นี้

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วครับว่า การกินเจในปัจจุบันมีเหตุผลที่หลากหลาย บางท่านอาจต้องการละเว้นชีวิตสัตว์ สร้างกุศล ได้ถือศีลชั่วคราวตามมโนคติแห่งพุทธศาสนา บางท่านอาจถือโอกาสล้างพิษ ได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่ช่วยฟื้นระบบต่างๆ ของร่างกาย บางท่านว่ากินเจเพื่อสะเดาะเคราะห์ หรือเหตุผลอื่นๆ

ส่วนตัวผมนั้น สมัยเด็กๆ เคยกินเจหรือเจียะฉ่ายด้วยความเชื่อทางศาสนาและประเพณี แต่ภายหลังก็กินด้วยเหตุผลอื่น คือจากสำนึกทางประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ ส่วนสำนึกทางศาสนานั้นรองลงมา

แม้การกินเจจะเป็นประเพณีเก่าแก่ร่วมร้อยปี แต่อันที่จริงเมืองระนองบ้านเกิดของผมเพิ่งมีประเพณีกินเจไม่กี่สิบปีมานี้เอง เพราะศาลเจ้าเก่าแก่ของเรา “ต่ายเต่เอี๋ย” เดิมมิใช่โรงเจที่สามารถประกอบพิธีกินเจได้ จึงต้องไปเรียนพิธีกรรมนี้มาจากทางสายตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แล้วนำมาปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

ต้องอธิบายว่า มิใช่ศาลเจ้าทุกศาลเจ้าจะเป็นโรงเจโดยอัตโนมัตินะครับ แต่เผอิญเราใช้คำว่าโรงเจในความหมายกว้างๆ คือ สถานที่ที่มีการกินเจหรือส่งเสริมการกินเจ ทว่าโรงเจที่จะจัดงานกินเจเดือนเก้านั้น หากพูดโดยธรรมเนียมเดิมแล้ว ต้องมีระเบียบแบบแผนและพิธีกรรมบางอย่างจึงจะนับว่าเป็นโรงเจตามขนบ

ต้องเข้าใจก่อนว่า บางโรงเจเป็นโรงเจที่เปิดตลอดทั้งปี ในฐานะที่เป็น “โรงเจ” หรือธรรมสถาน พอถึงเทศกาลก็จัดตกแต่งเพิ่มเติมและเพิ่มพิธีกรรมบางอย่างเข้ามา บางโรงเจปิดเอาไว้ตลอดทั้งปี จะเปิดเฉพาะงานกินเจเดือนเก้าเพียงไม่กี่วันเท่านั้น บางโรงเจเป็นโรงเจชั่วคราว คือโดยปกติเป็นศาลเจ้าหรือวัด พอถึงเทศกาลก็จัดปะรำพิธีใหม่ และสถาปนาเป็นโรงเจชั่วคราวขึ้นมา


@@@@@@@

ที่บอกว่าศาลเจ้าหรือโรงเจไหนจะเป็นโรงเจตามขนบได้นั้น จะต้องสถาปนาขึ้นเป็น “เต้าบู้เกี้ยง/ เต้าโบ้เก้ง” ซึ่งมีความหมายว่า “พระตำหนักดาริกาเทวี”

พระดาริกาเทวีหรือเต้าโบ้ในภาษาฮกเกี้ยนนั้น นับถือเป็นเทพประธานสำคัญในพิธีกินเจเดือนเก้า เป็นเทวีแห่งดวงดาวซึ่งมีลักษณะซับซ้อนหลากหลาย ทางศาสนาเต๋าใช้รูปแบบเดียวกับมรีจิเทวีโพธิสัตว์ของพุทธศาสนามหายาน คือมีหลากพักตร์หลายกร แต่ในรูปเคารพแบบชาวบ้านมักทำเป็นรูปสตรีสูงศักดิ์ สวมชุดไท่โฮวหรือไท่เฮา คือพระราชมารดาขององค์จักรพรรดิ

ทั้งนี้ มีความเชื่อว่า พระดาริกาเทวีเป็นมารดาของดวงดาวทั้งหลาย รวมทั้งพระนพราชา (กิ๊วหองไต่เต่) กลุ่มเทพประธานเก้าองค์แห่งงานกินเจด้วย

ในเชิงการจัดแบ่งพื้นที่ โรงเจแบบเต้าโบ้เก้งนั้น ควรจะมีห้องเฉพาะสำหรับพระนพราชา เรียกว่าหล่ายเตี่ยน หรือพระราชฐานชั้นใน ซึ่งในประเพณีกินเจทางใต้ หล่ายเตี่ยนหรือห้องกิ๊วหองนี่แหละ ที่เป็น “ห้องแห่งความลับ” อย่างแท้จริง ส่วนเป็นความลับอย่างไร เขาไม่ให้บอกครับ ถึงกับสบถสาบานกันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ โรงเจที่เป็นเต้าโบ้เก้ง ยังมีขั้นตอนในทางพิธีกรรมอีกมากมาย เป็นต้นว่า พิธีอัญเชิญและส่งนพราชาต้องทำอย่างไร ในเก้าวันนั้นแต่ละวันมีพิธีอะไรบ้าง ใช้บทสวดไหน บรรดาเจ้าหน้าที่จะแบ่งกันอย่างไร ฯลฯ

อันที่จริงมีหลายท่านได้เคยพูดมาแล้วว่า งานกินเจเดือนเก้านั้นมีทั้งคติแบบเต๋า คือการบูชาดวงดาว คติแบบพุทธศาสนาที่รับเอาคติของความเชื่ออื่นๆ มาแปลง คือการบูชาพระพุทธและพระโพธิสัตว์ทั้งเก้าองค์ ส่วนคติแบบชาวบ้านนั้น มีนัยทางการเมืองผสมอยู่ด้วย

นัยทางการเมืองแฝงในพิธีกรรมและขั้นตอนหลายอย่างของงานกินเจ รวมทั้งแฝงไว้ในรูปเคารพ องค์เทพบางองค์ บูรพาจารย์ กลอนคู่ สัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในโรงเจ

@@@@@@@

ปีนี้ผมเลยตั้งใจไว้ว่าจะลองไปเที่ยวแสวงบุญในบางโรงเจที่ว่ากันว่ายังคงเหลือร่องรอยของสิ่งเหล่านี้ดูครับ

ธรรมเนียมอย่างหนึ่งของการไปโรงเจ คือการไปทำบุญและแจ้งชื่อต่อพระนพราชาธิราช ถ้าเป็นความเชื่อทางศาสนาก็เหมือนเราแจ้งชื่อต่อเทพเจ้า แต่นัยทางการเมืองคือการ “เช็กชื่อ” ตรวจตราขุมกำลัง ผู้สนับสนุน และบรรดาเหล่าสมาชิก “สมาคมลับ”

สมาคมลับเหล่านี้เอง ที่พยายามดำเนินการ “ล้มชิงกูหมิง” แต่ต้องออกลี้ภัยมายัง “ทางใต้” คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดำเนินการต่อไปโดยแฝงไปกับพิธีกรรมกินเจ ผมชอบใช้คำพูดว่า โรงเจเท่ากับเป็น “ชุมนุมจอมยุทธ์” นั่นแหละ

ลองดูว่า ชวนให้คิดถึงความเป็นชุมนุมจอมยุทธ์อย่างไรนะครับ ตัวอย่างเช่น ในช่วงกินเจ คนกินเจจะมีคำเรียกติดปากกันอยู่ คือเรียกคนกินเจด้วยกันว่า เจอิ้วหรือฉ่ายอิ้ว หมายถึง “สหาย” กินเจ หรือ สหายกินผัก

แหม พอใช้คำว่า “สหาย” ฟังดูก็น่าสนใจนะครับ ดูมีกลิ่นการเมืองนิดๆ แล้ว

ปีนี้ ผมได้รับการบอกเล่าจาก “สหายกินผัก” ผู้เป็นศิษย์ร่วมสำนักว่า ให้ลองไปโรงเจบางแห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งครูบาอาจารย์ของพวกเราบอกว่ายังคงรักษาประเพณีที่น่าสนใจไว้ได้ ไม่ถูกกลืนกลายไปในทางศาสนาจนหมด ที่นั่นคือโรงเจซุนเฮงตั๋ว ศาลเจ้าแม่ซิดเซี้ยม่า วงเวียนยี่สิบสอง

อันที่จริง เมื่อผมกินเจที่กรุงเทพฯ ก็มักแวะไปศาลเจ้าโจวซือกงตลอดน้อย ด้วยเหตุว่าเป็นศาลเจ้าของคนฮกเกี้ยน แต่ด้วยความที่ไปบ่อยครั้ง พอเห็นอะไรๆ ที่ “เปลี่ยนไป” บ้างแล้ว ปีนี้จึงลองไปที่อื่นดู


@@@@@@@

บางท่านว่า ธรรมเนียมกินเจแต่ก่อน ผู้คนมักจะต้องไปนอนเฝ้าโรงเจกันเลย ทั้งเพราะระยะทางที่ไกลและถือเหมือนไปถือศีลไม่นอนบ้าน และผู้กินเจมักสังกัดโรงเจใดโรงเจหนึ่งกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ก็มีธรรมเนียมการไปแสวงบุญยังโรงเจต่างๆ โดยเฉพาะในเครือเดียวกันด้วย

ผมจึงถือโอกาสนับว่าตัวเองไป “แสวงบุญ” ที่ซุนเฮงตั๋วในปีนี้ สิ่งแรกที่สะดุดตา คือแผ่นป้ายไฟชั่วคราวที่ติดหน้าโรงเจว่า “เต้าโบ้เก้ง” พอเห็นปุ๊บก็อุ่นใจว่า น่าจะมาถูกที่แล้ว

ที่นั่น ส่วนของโรงเจจะแยกออกจากตัวศาลเจ้าแม้จะติดกัน ภายในมีเทวรูปพระดาริกาเทวีและพระนพราชาเป็นประธาน เป็นงานศิลปะแบบ “ผกซา” หรืองานพอกกระดาษจีนที่สวยงามมาก ฝีมือของปรมาจารย์เป่งซ้ง

ที่สำคัญ โรงเจซุนเฮงตั๋วยังใช้วิธีการแบบโบราณ คือจะเปิดเฉพาะช่วงกินเจไม่กี่วันเท่านั้น พอนอกเทศกาลก็จะลั่นดาลใส่กลอนไม่เปิดโดยเด็ดขาดตลอดทั้งปี

สหายของผมไปช่วยงานเป็น “อาลักษณ์” ก็ชี้ชวนให้ลองดูสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น โคมไฟ กลอนคู่ และแม้แต่การเขียนรายชื่อทำบุญ ที่นี่ก็ยังทำแบบเก่า คือหากมีผู้บริจาคเยอะๆ ก็จะเขียนรายชื่อลงบนป้ายกระดาษติดไว้ แต่แทนที่จะบอกยอดเงินบริจาค กลับบอกเป็น “จำนวนกระสอบข้าวสาร” ที่มาบริจาคทั้งๆ ที่ก็ทำบุญเป็นเงินนี่แหละ แต่ถ้าทำน้อยๆ ท่านก็จะเขียนเป็นจำนวนเงินให้

คล้ายๆ ว่าการลงชื่อทำบุญเป็นจำนวนกระสอบข้าวสารนี้ ในอดีตก็อาจเป็นการป้องกันไม่ให้ทางการรู้ว่ามีสมาชิกสมาคมลับมาบริจาคเงินจำนวนมาก เพื่อส่งไปช่วยขบวนการในเมืองจีนและบรรดาสหายทั้งหลาย จึงต้องปกปิดไว้

นอกจากนี้ ประเพณีอื่นของศาลเจ้ายังรักษาไว้ดีมาก เป็นต้นว่า การเชิญเจ้าและส่งเจ้าก็ยังต้องไปที่แม่น้ำ การแยกพื้นที่ของพิธีภายในโรงเจ ขั้นตอนของแต่ละวัน ฯลฯ

@@@@@@@

วันที่ผมไปนั้นเป็นวันที่หกของการกินเจ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในช่วงค่ำ มีพิธีการโยนไม้โป๊ยเสี่ยงทายเพื่อเลือกกรรมการงานกินเจ (ถ้าวเก้/หลอจู้) ของปีถัดไป อันนี้ก็เป็นพิธีอย่างเก่าครับ เลือกกันตอนกลางคืนที่หน้าพระ แล้วใช้การโยนเสี่ยงทายถาม

พอเลือกเสร็จ ทางศาลเจ้าก็นำ “ฮู้” หรือยันต์ของพระนพราชาออกมาให้เช่าบูชา มีทั้งฮู้กระดาษ และเหล่งฮู้หรือธงยันต์ ใครจะมาบูชา หากรู้ธรรมเนียมก็ยังต้องไปจุดธูปบอกและอัญเชิญควันธูป (เชี้ยเฮี่ยวโห้ย) โดยใช้ “ธูปหัวดำ” (คือธูปที่จุดแล้วใช้น้ำดับ) กลับไปที่บ้าน

ที่ยิ่งไปกว่านั้น ในยันต์กลับไม่เขียนพระนามเทพเจ้าว่า “กิ๊วหองฮุกโจ้ว” หรือ “นพราชาพุทธะ” ตามคติพุทธที่แพร่หลายในปัจจุบัน แต่เขียนว่า “กิ๊วหองสย่งเต่” หรือนพราชาธิราช อันมีความหมายเดียวกับกิ๊วหองไต่เต่ ซึ่งเป็นพระนามในทางเต๋า – คติแบบชาวบ้านแบบดั้งเดิม หรือแบบที่นิยมในหมู่คนฮกเกี้ยน

วันนี้เนื้อที่หมดเสียแล้ว ผมยังมีอะไรที่อยากเล่าต่อ โปรดติดตาม •


 



ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2566
คอลัมน์ : ผี-พราหมณ์-พุทธ
ผู้เขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2566
ภาพประกอบ : Facebook โรงเจซินเฮงตั๊ว 新興壇 วงเวียน22
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_722382
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ ‘สหาย’
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 11, 2023, 06:03:57 am »
0
.

ภาพประกอบ : Facebook โรงเจซินเฮงตั๊ว 新興壇 วงเวียน22


ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ ‘สหาย’ (2)

เวลาที่ผมไปงานกินเจที่ใดก็จะสังเกตดูว่า ในงานนั้นเขาเรียกเทพประธานงานกินเจในภาษาจีนว่า กิ๊วหองไต่เต่ “นพราชาธิราช” หรือกิ๊วหองฮุดโจ้ (สำเนียงแต้จิ๋วว่า กิ่วอ้วงฮุกโจ้ว) “นพราชาพุทธะ” เพราะคนฮกเกี้ยนมักนิยมเรียกกิ๊วหองไต่เต่ เนื่องจากอิทธิพลของศาสนาเต๋าและศาสนาชาวบ้าน ในขณะที่ถิ่นแต้จิ๋วมักเรียกว่ากิ่วอ้วงฮุกโจ้ว เนื่องจากอิทธิพลของพุทธศาสนาที่แพร่หลายในถิ่นนั้นมากกว่า

ดังที่เคยเล่าว่า แม้แต่เทพเจ้าต่างๆ บางครั้งชาวแต้จิ๋วก็เรียกว่าฮุกโจ้ว เช่น เทพเจ้าจินบู๊ซัวไต่เต่หรือเฮี่ยนเที้ยนสย่งเต่ (ที่คนไทยมักเรียกว่าเจ้าพ่อเสือ) ก็เรียกจินบู๊ซัวฮุกโจ้ว เป็นต้น

ดังนั้น หากพอเห็นป้ายเก่าๆ หรือยันต์ที่เขียนว่ากิ๊วหองไต่เต่ ผมก็มักคาดเดาว่าที่แห่งนั้นอาจเคยมีความเกี่ยวข้องกับคนฮกเกี้ยน เช่น อาจเคยมีประเพณีหรือครูบาอาจารย์ทางฮกเกี้ยนมาก่อน หรือสถานที่นั้นอาจเคยมีความเกี่ยวข้องกับ “สมาคมลับ” ซึ่งนิยมเรียกกิ๊วหองไต่เต่เพราะเป็นนามที่มีนัยทางการเมืองมากกว่า และแพร่หลายมากในหมู่คนฮกเกี้ยน

ศาลเจ้าโจวซือกงตลาดน้อย ซึ่งเป็นศาลเจ้าดั้งเดิมของคนฮกเกี้ยนในกรุงเทพฯ ป้ายสำหรับออกแห่ซึ่งเขาจะนำออกมาตั้งในงานกินเจนั้น ยังคงเขียนว่ากิ๊วหองไต่เต่อย่างชัดเจน แม้ว่าพิธีกรรมภายในศาลอาจเปลี่ยนไปเพราะคนฮกเกี้ยนมีเหลืออยู่น้อยและมีวัฒนธรรมเจือจางลง

บางท่านแอบบอกผมว่า ในโรงเจของเขาซึ่งดำเนินงานโดยชาวแต้จิ๋ว แม้ป้ายต่างๆ แห่จะเขียนว่ากิ๊วหองฮุดโจ้ แต่ในฎีกาภาษาจีนที่อ่านในพิธีกลับใช้คำว่ากิ๊วหองไต่เต่ก็มี

อันที่จริงในบรรดาจีนถิ่นใต้ คนแต้จิ๋วกับคนฮกเกี้ยนใกล้ชิดกันทางวัฒนธรรมมากที่สุด ภาษาแต้จิ๋วที่จริงคือภาษาหมิ่นหนาน (บิ่นหลำ) หรือภาษาฮกเกี้ยนใต้สาขาหนึ่ง คนฮกเกี้ยนกับคนแต้จิ๋วจึงคุยกันรู้เรื่องเกินกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ และก็พอเดาศัพท์กันได้


@@@@@@@

ประเพณีพิธีกรรมก็ใกล้เคียงกันมากกว่าจีนกลุ่มอื่นๆ แม้ว่าเมืองแต้จิ๋วจะอยู่ในมณฑลกวางตุ้งแต่ก็ชิดกับฝั่งมณฑลฮกเกี้ยน จึงรับวัฒนธรรมฮกเกี้ยนไปมากกว่าทางกวางตุ้ง แถมยังเป็นพวก “ตึ๋งหลาง” หรือชาวถังด้วยกัน อีกทั้งในปูมอพยพ ว่ากันว่าชาวแต้จิ๋วในสมัยโบราณอพยพไปจากมณฑลฮกเกี้ยน ถึงกับมีคำกล่าวที่แพร่หลายในชาวแต้จิ๋วเองว่า คนฮกเกี้ยนเป็นบรรพชนของคนแต้จิ๋ว (แต้จิ้วหนั่ง ฮกเกี่ยนโจ้ว)

ทว่า ด้วยความเชื่อนี้เอง กลับทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการแต่งงาน คือหญิงชาวฮกเกี้ยนจะไม่แต่งงานกับชายชาวแต้จิ๋ว เพราะในธรรมเนียมจีน ฝ่ายชายต้องมีศักดิ์สูงกว่า ส่วนฝ่ายหญิงนั้นต้องถือเป็นน้องหญิงหรือมีศักดิ์รองลงมา

แต่การเชื่อว่าคนฮกเกี้ยนเป็นบรรพชน ทำให้ฝ่ายหญิงฮกเกี้ยนถูกถือว่ามีฐานะหรือศักดิ์สูงกว่าชายแต้จิ๋วไปโดยปริยาย จึงห้ามแต่งงานกัน ถ้าฝืนแต่งเขาก็ว่าจะไม่เจริญ

เรื่องนี้ดูเป็นนิยายโบราณบรมสมกัลป์ แต่เชื่อไหมครับว่าในปัจจุบันผมก็ยังได้ยินเรื่องพวกนี้อยู่ และยังมีคนที่เชื่อถือคตินี้ตัวเป็นๆ มาเล่าอุปสรรคชีวิตรักของเขาให้ผมฟังมาแล้ว จะเล่าเรื่องโรงเจ ไปๆ มาๆ หลุดไปเรื่องความสัมพันธ์แต้จิ๋ว-ฮกเกี้ยน ที่ต้องพูดเรื่องนี้ เพราะงานกินเจในบ้านเราถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย

หนึ่งคือฝ่ายปักษ์ใต้เช่นทางภูเก็ต ตรัง พังงา ระนองเรื่อยไปจนถึงมาเลย์ ซึ่งดูเป็นงานของพวกฮกเกี้ยน เต็มไปด้วยเรื่องทรงเจ้าเข้าผี และไม่เกี่ยวหรือไม่มีอะไรเหมือนกับงานกินเจของโรงเจในภาคกลางหรือภูมิภาคอื่นในบ้านเรา ซึ่งโดยมากเป็นโรงเจของคนแต้จิ๋วหรือดำเนินการโดยคนแต้จิ๋ว

แต่เอาเข้าจริง พอได้ลองไปสัมผัสเองหรือได้ถามไถ่ผู้รู้ ก็ยังพอเห็นความเชื่อมโยงกันอยู่พอสมควรครับ

@@@@@@@

ที่จริงหากท่านใดสนใจเรื่องกินเจในมิติที่หลากหลายไม่ว่าจะศาสนาหรือประวัติศาสตร์ ควรอ่านหนังสือเรื่อง “เทศกาลกินเจในเดือนเก้าและปิตุมาตาอนันตคุณทุรกตเวทิตาสูตร” ของคุณธนัสถ์ สุวัฒนมหาตม์ ซึ่งพิมพ์ไว้ตั้งแต่ปี 2551 ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างรอบด้าน

อ่ะแฮ่ม ผมไม่ได้ค่าโฆษณาจากผู้เขียนใดๆ ทั้งสิ้นนะครับ แต่เห็นว่ามีประโยชน์ควรแก่การแนะนำ

ที่จริงศิษย์ร่วมสำนักของผมผู้ไปช่วยงานที่โรงเจซินเฮงตั๋ว เล่าให้ฟังว่า คืนหนึ่งในช่วงกินเจปีนี้ เมื่อเห็นว่าปลอดคน เขาโพกผ้าขาวตามอย่างธรรมเนียมเจียะฉ่ายของคนฮกเกี้ยนในภาคใต้หรือทางภูเก็ต แล้วเข้าไปไหว้กิ๊วหองในโรงเจเงียบๆ

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเห็นเข้าก็ทักในทำนองว่า พวกนี้รู้ “ความลับ” กันเร็ว กล่าวคือ รู้ว่าความลับของงานกินเจมีเรื่องของการ “ไว้ทุกข์” (ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนโดยการโพกผ้า) หรือนัยยะทางการเมือง เร็วกว่ารุ่นของพวกท่าน

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจจากงานกินเจที่โรงเจซินเฮงตั๋วคืออาหารเจที่นั่นครับ โดยปกติในช่วงกินเจ โรงเจต่างๆ ก็จะเปิดโรงทานเลี้ยงอาหารเจแก่ผู้เข้าร่วมงาน

อาหารแต่ละโรงเจจัดเป็นของขึ้นหน้าขึ้นตาอย่างหนึ่ง โรงเจไหนอาหารอร่อยคนก็ร่ำลือกัน บางโรงเจพยายามปรับอาหารให้ลูกหลานจีนรุ่นใหม่ไม่เบื่อ ก็มีอาหารไทยแทรกเข้าไปด้วยอย่างพวกแกงต่างๆ หรือผัดเผ็ด หรือพวกของเลียนแบบเนื้อสัตว์เพื่อให้ไม่จำเจ


@@@@@@@

ผมยังจำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยไปกินอาหารเจจากโรงเจอยู่สองที่ในระนอง ที่แรกคือศาลเจ้าต่ายเต่เอี๋ยกับโรงเจของมูลนิธิพ่งไล้จับอิกเชียวเกาะ ปรากฏว่าติดใจอาหารที่ต่ายเต่เอี๋ยมากกว่าเพราะมีพวกอาหารไทย มีแกงส้มต้มผัดอะไรต่างๆ แต่พอไปที่พ่งไล้ก็มีแต่ผัดผักจืดๆ กับของดองของเชื่อม ชวนให้เด็กๆ อย่างเราเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง

อาหารเจมื้อค่ำที่ซุนเฮงตั๋วนั้น เขามีเพียงข้าวต้มและของเคียงข้าวต้มไม่กี่อย่าง คือมีไชโป้วหวาน ผักกาดดอง ไชโป้วเค็ม ถั่วลิสงทอด และต้มหัวกะหล่ำเปล่าๆ ที่เรียกว่าต้มลุ้ยเท่านั้นเอง

พอเริ่มตักข้าวกิน ผู้ร่วมโต๊ะก็เอ่ยขึ้นว่า “นี่กินอย่างจ้อก้งหรือบรรพชนของเรากินมาเลย” ผมฟังแล้วก็รู้สึกอะไรบางอย่างขึ้นมา

แม้ว่าจ้อก้งของผมจะไม่ถึงกับลำบากยากแค้นเป็นกุลีแบกหาม ว่ากันว่าท่านมีความรู้ดี มาเป็นเสมียนและอาลักษณ์ในเมืองระนอง คอยเขียนจดหมายและโพยก๊วนหรือตั๋วแลกเงินแลกของให้คนระนองส่งกลับไปเมืองจีน

แต่ไม่ว่ากุลีหรือเสมียนต่างก็ล้วนเป็นผู้อพยพทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนมาทั้งนั้น ไม่ได้แตกต่างอะไรกันนัก ถ้าอยู่จีนสุขสบายดีจะอพยพมาทำไม

ดังนั้น พอนึกตามได้ว่า เออ บรรพชนรุ่นแรกๆ หรือจ้อก้งของเราก็คงกินอะไรอย่างนี้บ้างแหละ อย่างน้อยก็ช่วงแรกๆ ที่อพยพ มีผักดอง มีถั่วดิน (ถ่อต่าว) กินกับข้าวต้มก็คงเป็นมื้อที่พอใช้ได้แล้ว เทียบไม่ได้เลยกับที่คนเก่าๆ มักเล่าว่า สมัยก่อนกุลีจีนเหมืองแร่ต้องเอาก้อนกรวดมาล้างแล้วจิ้มซีอิ๊วดูดกินกับข้าวต้ม

เรื่องนี้จะจริงเท็จอย่างไรผมก็ไม่ทราบ แต่คงสะท้อนว่า คนจีนรุ่นแรกอพยพมาล้วนลำบากยากจนกันทั้งนั้น

@@@@@@@

ผมถึงค่อยๆ เข้าใจมิติทางอารมณ์ความรู้สึกของการเซ่นไหว้ “โฮ่เฮียตี๋” ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ไหว้ผีไม่มีญาติหรือสัมภเวสีในเทศกาลต่างๆ ของคนจีนในบ้านเรา

คือคงไม่ได้ไหว้เพื่อให้เฮงหรือให้ผีเหล่านั้นนำโชคลาภมาให้อย่างเดียว แต่มันคือความรู้สึกสงสารเห็นใจเพื่อนร่วมชะตากรรมกับบรรพชนของตน ที่ท่านเหล่านั้นไม่อาจเอาชนะความลำบากยากจน ไม่สามารถตั้งตัวจนมีลูกหลานไว้เซ่นไหว้สืบต่อมาได้ ต้องตายไปอย่างเดียวดายหิวโหยไร้ญาติพี่น้อง เพราะเห็นใจดวงวิญญาณเหล่านี้เอง หากพอมีพอกินก็เซ่นไหว้เผื่อแผ่ไปด้วย

นอกจากจะเรียก โฮ่เฮียตี๋ที่แปล่วาพี่น้องที่ดี บางธรรมเนียมเรียกผีเหล่านี้ว่า “โฮ่เจ็กแปะ” คือให้เกียรติเรียกเป็นคุณลุงคุณอากันเลยทีเดียว

งานกินเจหลายที่ยังคงทำพิธีโยคะเปรตพลีหรือพ้อต่อ (โผ่โต่ว) ทำทานอุทิศกุศลแก่ดวงวิญญานผู้กินเจทั้งหลายที่ล่วงลับรวมไปถึงบรรดาโฮ่เฮียตี๋เหล่านี้ ซึ่งหลายท่านกล่าวในทางมิติของพุทธศาสนาว่าต้องการให้กุศลแผ่กว้างออกไป หรืออย่างน้อยๆ ก็จัดโต๊ะอาหารเซ่นไหว้ดวงวิญญานของบรรดา “เหล่าฉ่ายอิ้ว” (สหายกินผักอาวุโส) ที่เคยร่วมงานของโรงเจนั้นๆ ในอดีต โดยถือเป็นพิธีส่วนหนึ่งที่สำคัญในเทศกาลกินเจ

ผมคิดว่า อันที่จริงหากมองในมิติทางการเมือง การทำบุญและการเซ่นไหว้ให้บรรดาสหายกินเจนั้น ก็คือการทำบุญและระลึกถึงบรรดา “สหายผู้ร่วมอุดมการณ์ทางการเมือง” ด้วยนั่นเอง


@@@@@@@

หากพูดให้ยิ่งไปกว่านี้ การทำบุญและเซ่นไหว้ในช่วงเทศกาลกินเจ คงมิได้จำกัดแค่สหายร่วมอุดมการณ์และดวงวิญญาณทั้งหลายเท่านั้น

แต่คงยังมุ่งหมายไปถึง บรรดา “วีรชน” ผู้เคยสละชีพ ไม่ว่าจะตายลงด้วยการโดนสังหารจากรัฐ หรือตายลงเพราะเหตุอื่นๆ จากการต่อสู้เพื่อ “ล้มชิง กู้หมิง” อันเป็นอุดมการณ์แฝงในงานกินเจและโรงเจต่างๆ อีกด้วย

บางท่านอาจคิดว่าผมคงเพี้ยนที่พยายามลากทุกเรื่องไปเกี่ยวกับการเมือง แต่ผมไม่ได้เป็นคนลากครับ สิ่งที่ผมพบต่างหากที่ลากผมไป ผมก็แค่พยายามจะเข้าใจอดีตเท่านั้นเอง •


 



ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 พฤศจิกายน 2566
คอลัมน์ : ผี-พราหมณ์-พุทธ
ผู้เขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2566
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_723264
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ ‘สหาย’
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: ธันวาคม 11, 2023, 06:10:21 am »
0
.



ท่องโรงเจ ไหว้พระ พบปะ ‘สหาย’ (จบ)

โรงเจสุดท้ายที่ผมเดินทางไป “แสวงบุญ” ในปีนี้คือโรงเจ “เปาเก็งเต๊ง” ต.งิ้วราย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งแต่เดิมผมมั่นหมายจะไปโรงเจบ้านหมู่ ฉะเชิงเทรา แต่สิ่งไรดลใจก็มิทราบได้ จึงเปลี่ยนเส้นทางไปยังนครปฐมซึ่งห่างจากที่พักผมราวๆ ชั่วโมงเดียว

เส้นทางเข้าสู่โรงเจจากถนน ช่วงแยกจากตัวอำเภอนครชัยศรี ออกจะเลี้ยวลดคดเคี้ยวและเปลี่ยว ไม่ได้มีชุมชนหนาแน่นนัก แต่พอไปถึงก็พบโรงเจโอ่อ่าใหญ่โตอยู่ติดริมน้ำท่าจีน ผมเลยถึงบางอ้อว่า แต่ก่อนเขาคงไม่ได้เดินทางกันทางบก แต่ใช้เส้นทางน้ำสัญจรเป็นหลักนั่นเอง เส้นทางบกจึงไม่ค่อยมีอะไร

จะด้วยกุศลใดก็ไม่ทราบ ผมพบกับ “ฐา” ศิษย์เก่าซึ่งเคยเรียนหนังสือที่คณะโดยมิได้นัดหมายกันก่อน ทั้งที่เขาเคยชวนผมหลายครั้งหลายคราให้มาเยือนโรงเจแห่งนี้ เนื่องจากครอบครัวของเขา “ขึ้น” โรงเจนี้มาตั้งแต่รุ่นอาม่า

ฐาจึงได้พาผมไปรู้จักผู้จัดการดูแลโรงเจคือเฮียไช้และเฮียพูนลาภ เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง และทำให้ผมได้พบว่า เปาเก็งเต๊งคือ “ศูนย์รวมชาวยุทธ์” สมดังที่เหล่าซือของผมเคยบอกไว้จริงๆ ต้องขอบพระคุณทั้งสองท่านที่ให้การต้อนรับอย่างดีมากๆ ครับ


@@@@@@@

โรงเจเปาเก็งเต๊งงิ้วรายเป็นโรงเจแรกในสายเปาเก็งเต๊ง มีอายุราวร้อยหกสิบปี ซึ่งมีสาขามากมายหลายแห่ง กระจายไปทั่วภาคกลางและในกรุงเทพฯ

เมื่อเราเดินเข้าไปภายใน จะพบกับเทวรูปขนาดใหญ่สามองค์ด้านหน้า องค์แรกคือเหล่าฮวบซือกง องค์กลางคือ “กวงเทียงฮุกโจ้ว” หรือพระพุทธสว่างนภา และพระฮู้เทียงเสี่ยงตี่

เหล่าฮวบซือกงนั้นเป็นพระเถระที่น่าสนใจและถือเป็นบูรพาจารย์ของเปาเก็งเต๊ง อาจารย์ธีระ วงศ์โพธิ์พระ หรือท่านอาจารย์ธีรทาสเคยเล่าไว้ว่า ที่จริงเหล่าฮวบซือกงเป็นพระภิกษุจากวัดเส้าหลินใต้ ซึ่งอยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน ภายหลังฮ่องเต้ชิงปราบปรามพระภิกษุในวัดนั้น (มีประเด็นเรื่องซ่องสุมกำลังและเกี่ยวข้องด้วยเรื่องอั้งยี่หรือพรรคลับ) บรรดาพระและฆราวาสที่เกี่ยวข้องจึงต้อง “ลี้ภัย” ทางการเมืองมายังหนานหยางหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ว่ากันว่าเหล่าฮวบซือกงมาถึงในราวปี พ.ศ.2430 โดยท่านไปขึ้นท่าที่ภูเก็ตก่อนแล้วจึงค่อยเดินทางมาภาคกลาง ท่านได้ก่อตั้งโรงเจ รวมทั้งสอนขนบการกินเจใน “สาย” นี้ไว้มากมายหลายแห่ง

เฮียพูนลาภยังเล่าให้ผมฟังว่า ในฎีกา (บุ๋นส่อ) งานกินเจของเปาเก็งเต๊งนั้น กล่าวถึงที่มาของพิธีว่ามาจากสองมณฑลคือกวางตุ้ง (แต้จิ๋วอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง) และมณฑลฮกเกี้ยน

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นของเก่าน่าดูชม คือบรรดาภาพวาดเก่าขององค์เทพและบูรพาจารย์ต่างๆ ในตัววิหาร สิ่งหนึ่งที่ติดใจ คือผมสงสัยเกี่ยวกับพระพุทธรูปประธาน “กวงเทียงฮุกโจ้ว” พระพุทธสว่างฟ้า/พระพุทธจรัสนภา เอามากๆ

@@@@@@@

เพราะผมนึกไม่ออกว่าพระนามของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้อยู่ในคัมภีร์ไหนของมหายาน นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก กระทั่งเดินไปพบรูปวาดของพระกวงเทียงฮุกโจ้ว(หรือในสำเนียงฮกเกี้ยนว่า กองเทียนฮุด) รูปหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกับรูปเคารพพระประธานอย่างเห็นได้ชัด

พระพุทธรูปประธานนั้น ท่านเป็นพระพุทธหน้าตาเกลี้ยงเกลา สวมหมวกปัญจพุทธมาลาอย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ แต่ในรูปวาดกลับเป็นชายมีหนวด สวมชุดคลุมยาวไม่ใช่จีวรพระ

ต่อมาผมไปค้นเรื่อง “เม้งก่า” (เบ่งก่าวในภาษาฮกเกี้ยน) ซึ่งเราคุ้นชินจากนิยายกำลังภายในว่าเป็นนิกายเรืองโรจน์หรือพรรคจรัส อันเป็นพรรคมาร (เพราะไม่ใช่ชาวฮั่น)

เม้งก่าหรือเบ่งก่าวไม่ได้มีแค่ในนิยายนะครับ แต่มีอยู่จริงๆ คือ “ศาสนามาณี” หรือมาณีกี (Manichaeism) เพราะมีพระศาสดาชื่อมาณี อันเป็นศาสนาจากอิหร่านที่เข้าไปในจีนตั้งแต่สมัยถัง และมีอิทธิพลมากช่วงท้ายของราชวงศ์หยวนต้นหมิง จนกลายเป็นศาสนาหนึ่งของคนจีน

พระมาณีในรูปวาดเก่าๆ ของเมืองจีนนั้น ช่างเหมือนกับรูปวาด “กวงเทียงฮุกโจ้ว” ในเปาเก็งเต๊งเอามากๆ จนผมเชื่อว่า พระกวงเทียงฮุกโจ้วก็คือพระมาณีแห่งศาสนามาณี หรือเม้งก่านั่นเอง


@@@@@@@

บางครั้งชาวจีนก็เรียกพระมาณีว่า “พระมาณีพุทธจรัสแสง” เพราะศาสนามาณียอมรับว่า ก่อนหน้าที่พระมาณีจะเกิดมา ได้มีพระศาสดาบังเกิดจากพระเป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอยู่ก่อน คือท่านอาดัม ท่านโซโรอัสเตอร์ พระพุทธเจ้าและพระเยซู โดยทุกท่านจะพยายามนำมนุษย์ไปสู่แสงสว่างให้จงได้

พระมาณีจึงดูเมือนเป็นพระพุทธะองค์หนึ่ง และศาสนามาณีก็รับเอาคำสอนของพุทธศาสนาไปใช้ค่อนข้างมาก

ศาสนามาณีจึงมีลักษณะแบบศาสนาผสมมาตั้งแต่แรก คืออ้างถึงศาสดาของศาสนาอื่นๆ ว่ามาปูทางก่อนที่พระมาณีจะลงมาสั่งสอนเป็นคนสุดท้าย

วัดของศาสนามาณียังอยู่ที่ฮกเกี้ยนครับ เพราะเป็นศาสนาที่มีชุมชนเก่าแก่ในถิ่นนั้น ปัจจุบันเหลือเพียงแห่งเดียวคือเฉาอ๊าม ซึ่งกลายเป็นวัดในพุทธศาสนาไปแล้ว

ศาสนามาณีในจีนได้ผสมกลมกลืนกับพุทธศาสนาไปเรื่อยๆ จนแยกกันแทบไม่ออก อันที่จริงจูหยวนจางปฐมกษัตริย์แห่งหมิงเป็นคนในพรรคหรือในศาสนามาณีนี่เอง และคนจากเบ่งก่าวนี่แหละที่ช่วยให้จูหยวนจางสามารถเอาชนะราชวงศ์หยวน ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ได้

จูหยวนจางจึงเลือกชื่อราชวงศ์ใหม่เป็น “หมิง” (เม้งหรือเบ๋ง) ที่แปลว่าแสงสว่าง (ประกอบด้วยอักษรพระอาทิตย์และพระจันทร์) จากชื่อศาสนามณีนี่เอง

@@@@@@@

ครั้นราชวงศ์หมิงล่มสลาย พวกชิงขึ้นปกครอง ขณะนั้นชาวเบ๋งค่อยๆ กลายไปเป็นลัทธิพระเมตไตรย์ (เชื่อว่าพระธรรมราชาจะเสด็จมาขจัดทุกข์ภัย) และพรรคบัวขาว (ผสานกับนิกายสุขาวดี) แต่ยังไม่ได้ทิ้งคำสอนของมาณีไปเสียทั้งหมด เพราะยังไงๆ หมิงหรือแสงสว่างก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติบ้านเมืองหรืออุดมการณ์อยู่

คนเหล่านี้ซ่องสุมกำลังชูคำขวัญ “ล้มชิง กู้หมิง” ก่อการบ่อยครั้งจนราชวงศ์ชิงพยายามปราบปรามอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ต้องอพยพลี้ภัยมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในที่สุด

ส่วนการกินเจนั้นเกี่ยวข้องกับศาสนามาณีด้วย เพราะเป็นหลักปฏิบัติอันหนึ่งที่สำคัญในศาสนานี้ จึงผสมผสานกลมกลืนกับพิธีกรรมที่กระทำกันอยู่แล้วได้โดยง่าย

ท่านปรมาจารย์เหล่าฮวบจะสัมพันธ์กับเบ่งก่าวในทางไหนก็ยากจะทราบ แต่ท่านมาจากสายของพวกต่อต้านชิงเช่นกัน (คือวัดเส้าหลินใต้) และโดยร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในเปาเก็งเต๊งนั้น สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับเบ่งก่าวอย่างแน่นอนเกินกว่าที่จะปฏิเสธได้

อีกทั้งเบ่งก่าวกับฮกเกี้ยน อันเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายในจีนนั้นก็สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น แม้ในปัจจุบัน โรงเจเป่าเก็งเต๊งจะบริหารดูแลแลประกอบพิธีกรรมโดยชาวแต้จิ๋ว แต่ร่องรอยความสัมพันธ์กับฮกเกี้ยนนั้นก็ชัดยิ่งกว่าชัด นอกเหนือจากท่านเล่าฮวบซือกงแล้ว แม้แต่เทพเจ้าซึ่งนิยมกันเฉพาะในกลุ่มชาวฮกเกี้ยนอย่าง “ทิฮู้หง่วนโซ่ย” ก็ยังมีรูปวาดปรากฏในเปาเก็งเต็งด้วย

@@@@@@@

เฮียพูนลาภได้ให้เบาะแสที่น่าสนใจกับผมอีกว่า ในโรงเจสาขาแห่งหนึ่ง ยังค้นพบเอกสารตัวเขียนเก่าแก่ของ “พ้ออ๊ามจิ่ว” หรือมนต์แห่งพระมหาเถระพ้ออ๊าม ซึ่งท่านเป็นครูไสยเวทลื่อซาน อันนิยมแพร่หลายในกลุ่มคนฮกเกี้ยนเป็นพิเศษ เอกสารชิ้นนี้คือร่องรอยแสดงถึงความสัมพันธ์แนบแน่นกับคนฮกเกี้ยนในอดีต

ส่วนเรื่องศาสนามาณีนั้น เฮียเล่าว่า ยังมีแผ่นคำกลอนคู่หน้าประตู ของเปาเก็งเต๊งในอีกสาขามีชื่อพระมาณีอย่างชัดเจน

สุดท้ายหลักฐานสำคัญของเม้งก่าก็อยู่ใกล้ๆ จมูกของพวกเราเอง คือแผ่นป้ายไม้กลอนคู่อันเก่า หน้าประตูวิหารของเปาเก็งเต๊งที่ไม่ถูกไฟไหม้ไป ขึ้นต้นว่า “ความโชติช่วง (กวง/กอง) แห่งแสงสว่าง (เม้ง/เบ๋ง) ได้ลงมาสู่ทิศใต้…”

คำว่า “แสงสว่าง” ในที่นี้ ผมเห็นว่าย่อมหมายถึงราชวงศ์หมิงหรือจะหมายถึงเม้งก่าก็ไม่ผิด ส่วน “ทิศใต้” นั้น ก็ย่อมหมายถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง

เปาเก็งเต๊งงิ้วรายจึงสมควรแก่การไปเยือนอย่างยิ่ง เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีอะไรอีกมากให้ค้นหา เป็นที่ปฏิบัติธรรมตามแนวทางมหายาน เป็นที่เปิดกว้างที่ใครๆ ก็เข้าไปด้วยความเคารพได้ •






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน 2566
คอลัมน์ : ผี-พราหมณ์-พุทธ
ผู้เขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2566
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_728506
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ