ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธศาสนากับโหราศาสตร์ : การพึ่งพาและแนวการปฏิบัติของคนไทย ในยุค ๔.๐  (อ่าน 337 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25: :25:

พระพุทธศาสนากับโหราศาสตร์ : การพึ่งพาและแนวการปฏิบัติของคนไทย ในยุค ๔.๐
Buddhism and Astrology In Adherence and Territory of Thai People in the Age of 4.0

ประพันธ์ ศุภษร*
Prapan Supasorn
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
Graduate School of Mahachulalongkornrajavidyalaya University

กฤติกาวลัย หิรัญสิ**
Kritikavalai Hirunsi
สถาบันโหราศาสตร์ไทย-สากล, ประเทศไทย
Ditector Of Thai-International Institute of Astrology, Thailand
Email :
supasorn2508@gmail.com, timytomy5@hotmail.com


Received : July 22, 2020
Revised : October 30, 2020
Accepted : November 11, 2020

* รศ.ดร.ประพันธ์ ศุภษร Associate Professor Dr. Prapan Supasorn
** ดร.กฤติกาวลัย หิรัญสิ Dr.Kritikavalai Hirunsi ผู้อำนวยการสถาบันโหราศาสตร์ไทย-สากล Ditector Of Thai-International Institute of Astrology




 st12 st12 st12

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์

(๑) เพื่อศึกษาสภาพการพึ่งพา และการปฏิบัติตามหลักธรรมของคนไทยในยุค ๔.๐
(๒) เพื่อศึกษาสภาพการพึ่งพาและปฏิบัติตามหลักโหราศาสตร์ของคนไทยในยุค ๔.๐
(๓) เพื่อศึกษาแนวทางการพึ่งพาและการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาและโหราศาสตร์ของคนไทยในยุค ๔.๐

วิธีดำเนินการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยอ้างอิงจาก คัมภีร์พระไตรปิฎก และข้อมูลหลักการทางโหราศาสตร์ เป็นการศึกษาแบบบูรณาการ หรือแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary)รวมทั้งการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ

จากการศึกษาพบว่า

ในวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑. คนไทยในยุค ๔.๐ ยังมีการปฏิบัติธรรม มีความเชื่อในเรื่องบุญ (กุศล) และบาป (อกุศล) เพราะเป็นพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรม และขนบประเพณี

ในวัตถุประสงค์ข้อที่ ๒. พบว่าคนไทยในยุค ๔.๐ ยังมีความเชื่อที่จะปฏิบัติในเรื่องของโหราศาสตร์เช่นกันเมื่อเกิดปัญหา ด้วยการตรวจสอบดวงชะตากับหมอดู หรือประกอบพิธีอื่น ๆ โดยมีความเชื่อว่า จะผ่านพ้นความทุกข์ยากและโชคร้ายไปได้

ตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๓. พบว่าเมื่อคนไทยในยุค ๔.๐ มีความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา และเข้าใจในกลไกของโหราศาสตร์อย่างถูกต้อง ใช้ชีวิตในวิถีทางของ ทาน ศีล ภาวนาแล้ว ย่อมช่วยประคองสภาพจิตใจได้ ในการพึ่งพานั้น นักโหราศาสตร์และพระภิกษุ สามารถนำความรู้มาผสานกันและให้คำแนะนำกับบุคคล เพื่อลดความตึงเครียด ความวิตกกังวล มีความมั่นใจ และความกล้าที่จะก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆได้ นั่นคือ การพึ่งพากันระหว่างพระพุทธศาสนา และโหราศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

คำสำคัญ : พระพุทธศาสนา ; การพึ่งพา ; โหราศาสตร์ ; คนไทยในยุค ๔.๐




 st12 st12 st12

Abstract

This article aims to analytically study in adherence between Buddhism and Astrology. The objectives of these study are

(1) Studying the form of adherence and the way that Thai people in the age of 4.0 follow the principle of Dhamma
(2) Studying the form of adherence and the way that Thai people in the age of4.0 follow the principle of Astrology and
(3) Studying the way of adherence which Thai people in the age of 4.0 follow both principle of Dhamma and Astrology.

This research is conducted with the “Documentary Research” reference by Buddhist
scripture “Tipitaka” and the Astrology’s principles.The form of study are “Intergration”
or “Interdisciplinary” and Indepth-interview structure with the key informant.

From the study, in the objective

1. can be found that, mostly of Thai people in the age of4.0 had believed in making a merit, believed in Kusala and Akusala by the basic of Thai culture and tradition.

In the objective 2. found that lay people had chosen the way of Astrology when they got the problems, by checking their horoscope with the fortune-teller or making another ritual which belief that they can pass through all difficult things and bad luck.

For the objective 3. can be found that, when lay people has strong in Buddhism principle and correct understanding of the machanism of Astrology, living on the way of Buddhist style, that consist of giving or generosity, observing the percepts or moral behaviour and mental development it will supporting mental health.

In adherence, both Astrologer and monks can combine the knowledge and give some advice to the people which make them feels less anxious and worried, get more confident and encouragement to pass throught the obstrucles which be an adherance between Buddhism and Astrology from the past untill now.

Keywords : Buddhism ; Adherence ; Astrology ; Thai People Age of 4.0




 :25: :25: :25:

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ชาวไทยพุทธยึดถือปฏิบัติมาช้านาน เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมอันนำไปสู่ ความเชื่อ ความศรัทธา สืบทอดมาเป็นขนบประเพณี และเป็นลักษณะนิสัยของคนไทยอย่างแนบสนิทในความเชื่อเรื่องบุญ-บาป การมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ การทะนุบำรุงพระศาสนาตามควรแก่เวลาและโอกาส ในขณะเดียวกันความเชื่อทางโหราศาสตร์ก็เข้ามามีบทบาท และผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตของคนไทยอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทั้งในระบบคำสอนตามคัมภีร์พุทธศาสนาและการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม โดยเฉพาะในด้านพิธีกรรมตั้งแต่เกิด จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

ปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่งเป็นสมัยที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทุกคนอยู่ภายใต้เทคโนโลยีอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่สภาพของจิตใจกลับอ่อนแอลง มีความวิตกกังวลมากขึ้นในการที่ต้องต่อสู้และก้าวให้ทันกับสภาพสังคมสมัยใหม่ที่ต่างคนต่างอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวเป็นส่วนมาก ไม่ใช่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่อย่างในสมัยก่อน ธรรมชาติของมนุษย์ ในบางครั้งจะขาดความมั่นคงทางจิตใจ เพราะมีความหวั่นเกรง ความกลัวในสถานการณ์ข้างหน้า ในอนาคตที่ไม่สามารถมองเห็นได้ นอกจากการคาดเดา

ดังนั้น มนุษย์จึงหาทางลดทอนความหวาดหวั่นนั้นให้น้อยลง เติมความเข้มแข็งและมั่นคงทางจิตใจให้มากขึ้นเพื่อจะได้มีความกล้าที่จะก้าวเดินไปสู่หนทางนั้น วิธีการแก้ไข คือ ทำให้จิตใจสบายขึ้นในเบื้องต้นด้วยการไปทำบุญ เพราะคนไทยมีความเชื่ออย่างยิ่งในบุญกุศลว่า จะส่งผลดีให้กับผู้กระทำการไปหาโหรไปหาหมอดู ให้ทำนายถึงเหตุการณ์ที่คาดหวังไว้ จะเป็นจริงหรือไม่

ดังนั้น การพยากรณ์จากนักพยากรณ์จึงเป็นบริบทหนึ่งของสังคมไทยไปโดยปริยาย จะเห็นได้ว่าสังคมไทยไม่ห่างจากวิถีทางของพระศาสนายังคงมีการศึกษาในคำสอนตามแหล่งศึกษา และแหล่งข้อมูลต่างๆ การปฏิบัติธรรมการทำบุญ ใส่บาตรรวมไปถึงการทำบุญสะเดาะเคราะห์สืบชะตา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความนิยมในการมารับการตรวจดวงชะตาจากนักโหราศาสตร์ การปรับแต่งที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับดวงชะตากำเนิด

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเพื่อให้เกิดความสบายใจ มั่นใจว่า จะสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆนั้นไว้ได้ ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ กรรม อันหมายถึง การกระทำของตนเองที่สั่งสมมาและรอเวลาที่จะส่งผลให้กับบุคคลผู้เป็นเจ้าของการกระทำนั้นทั้งทางที่ดีมีความสุข และทางที่เสียหายในแต่ละช่วงของชีวิต

@@@@@@@

ในหลักของพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ทรงสอนให้เชื่อในเรื่องกรรม อันเป็นการกระทำของตนซึ่งจะส่งผลให้เสมอไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำกรรมเช่นใดไว้ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้นตามเวลาอันเหมาะสม ทั้งผลแห่งกรรมดี และกรรมไม่ดี

กฎแห่งกรรมในฐานะกฎธรรมชาติ หรือในภาษาบาลีเรียกว่า “นิยาม” พุทธศาสนาได้จำแนกนิยามนี้ไว้ ๕ ประการ นักโหราศาสตร์ ใช้เวลาเกิดของบุคคลเชื่อมโยงเข้ากับกฎธรรมชาติ

    • ข้อแรกคือ อุตุนิยาม (Physical law) ซึ่งเป็นกฎที่เกี่ยวกับความเป็นไปของธรรมชาติที่มีท้องฟ้า และดวงดาวปรากฏอยู่แล้ว
    • มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้า อากาศ ฤดูกาล ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเกิดของมนุษย์ทุกคน ที่ถือกำเนิดมาตามพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า พีชนิยาม (Biological law)
    • มีนิสัย มีการกระทำ ตามสิ่งเร้าที่มากระทบ มีจิตเป็นประธาน(1-)สั่งการเรียกว่า จิตนิยาม (Psychic law)
    • พลังงานของจิต ทำให้เกิดการกระทำ อันประกอบด้วยเจตนา เรียกว่า กรรม ที่ส่งผลออกมาให้เห็นเป็นพฤติกรรมของบุคคลแต่ละบุคคล เป็นกฎที่ว่าด้วยการกระทำที่เรียกว่า กรรมนิยาม (The law of kamma)
    • เป็นกระบวนการแห่งเจตจำนง ส่งผลให้กับบุคคลนั้นทั้งที่ดี และไม่ดีตามเวลา ตามหน้าที่ และตามความแรงแห่งการกระทำนั้น หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ เป็นธรรมดา คนย่อมมีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดาอันเป็นกฎของธรรมนิยาม (Order of norm)

ดังนั้น กฎธรรมดาแห่งสรรพสิ่งเป็นกฎเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ที่เป็นเหตุเป็นผลกันของสิ่งทั้งหลาย มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดาของมนุษย์และ ธรรมชาติรอบตัวมนุษย์(2-) โหราจารย์ได้อาศัยความสัมพันธ์นี้ในเชิงพยากรณ์ ถึงรูปร่าง หน้าตา อุปนิสัยใจคอ ตลอดไปถึง บุญวาสนา โชค เคราะห์ของบุคคลที่สัมพันธ์กับการโคจรของดวงดาวในแต่ละห้วงเวลาของชีวิต จึงนับได้ว่าเวลาเป็นตัวตั้งต้นทั้งสิ้น

ในการคิดเชิงพุทธศาสนาโดยอาศัยหลัก อิทัปปัจจยตา คือความเป็นเหตุ เป็นผลเชื่อมโยงกันนั้น ดวงดาวในทัศนะนี้เป็นปัจจัยสัมพันธ์กับชีวิตเท่านั้น แต่ดวงดาวไม่ได้มีอิทธิพลโดยตรงที่จะกำหนดชีวิตคนให้เป็นคนดีหรือชั่วได้ แต่การจะเป็นคนดีหรือชั่วนั้น อยู่ที่การกระทำ นี้เป็นโลกทัศน์โหราศาสตร์เชิงพุทธ (Buddhist Astrology)(3-) ในทางพระพุทธศาสนาคือกรรม ที่ดำเนินไป การให้ผลของกรรม จะบังเกิดขึ้นตามจังหวะของเวลา ตามความแรง และตามหน้าที่เรื่องราวทั้งทุกข์และสุข หมุนเวียนสลับกันไปตามเหตุที่มีมาแต่ต้น

ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาถึงการพึ่งพากันระหว่างพระพุทธศาสนา และโหราศาสตร์ในรูปแบบของการบูรณาการแบบพุทธวิทยา(Buddhology) เป็นการศึกษาเชิงบูรณาการแบบสหวิทยาการ(Interdisciplinary) หมายถึง แนวคิดเกี่ยวกับเนื้อหาความรู้ ด้วยการนำเอาวิธีการและเนื้อหาจากศาสตร์ต่างๆ มากกว่า ๑ สาขา มาประยุกต์เข้าด้วยกันกับพระพุทธศาสนาเพื่อมุ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราว ประเด็นปัญหา หัวข้อ หรือประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง(4-) ในที่นี้ผู้วิจัยใช้พระพุทธศาสนาเป็นฐาน และวิชาโหราศาสตร์มาเสริม


____________________
(1-) ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๑/๒๓.
(2-) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย, พิมพ์ครั้งที่ ๓๓, (กรุงเทพมหานคร:
สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์-โฮม จำกัด, ๒๕๕๕), หน้า ๒๓๖.
(3-) พระมหายงยุทธ ธีรธมฺโม (พลมั่น), “ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องดาราศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา”, ดุษฎีนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต พระพุทธศาสนา, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๖), หน้า ๑๖๗.
(4-) Heidi Hayes Jacobs, Interdisciplinary Curriculum: Design Implementation, (New York : Asscociation for Supervision and Curriculum Development, 1989), pp. 12-13.




 st12 st12 st12

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

๑. เพื่อศึกษาสภาพการพึ่งพาและการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาของคนไทยในยุค ๔.๐
๒. เพื่อศึกษาสภาพการพึ่งพาและการปฏิบัติตามหลักโหราศาสตร์ของคนไทยในยุค ๔.๐
๓. เพื่อศึกษาแนวทางการพึ่งพาและการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาและโหราศาสตร์ของคนไทยในยุค ๔.๐

วิธีดำเนินการวิจัย

การวิจัยเรื่อง พระพุทธศาสนากับโหราศาสตร์: การพึ่งพาและแนวการปฏิบัติของคนไทยยุค ๔.๐ เป็นกระบวนวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการศึกษาจากพระไตรปิฎก คัมภีร์ทางด้านพระพุทธศาสนาเถรวาท เอกสาร คัมภีร์ งานวิจัย และบทความทางด้านโหราศาสตร์

๑. รูปแบบการวิจัย
    ก. ศึกษาข้อมูลจากเอกสารชั้นปฐมภูมิ (Primary source) ได้แก่ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
    ข. ศึกษาข้อมูลจากเอกสารชั้นทุติยภูมิ (Secondary source) ได้แก่ อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา
ปกรณ์วิเสส รวมถึงตำรา และคัมภีร์อื่นที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้
    ค. การสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้าง (In-depth interview Structure) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ
(Key Informant) ด้วยวิธีการเลือกผู้ให้ข้อมูลหลักแบบเจาะจง (Purposive Selection) โดยกำหนด
จากบุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญ ทั้งทางด้านพระภิกษุที่ทรงคุณวุฒิในด้านพระพุทธศาสนาเถรวาท และผู้ที่มี
ความเชี่ยวชาญในด้านโหราศาสตร์ จำนวน ๑๒ รูป/คน เพื่อให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญที่สอดคล้อง
กับงานวิจัย
      โดยแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม
      (๑) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านพระพุทธศาสนาจำนวน ๕ รูป/คน
      (๒) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านโหราศาสตร์จำนวน ๔ คน
      (๓) ประชาชนผู้มีความสนใจพิเศษจำนวน ๓ คน
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท เพื่อควบคุมคุณภาพและตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูล

๒. กระบวนการศึกษาใช้วิธีนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ (Content Analysis) ใช้เทคนิค ๔’C โดยศึกษากระบวนการไปพร้อม ๆ กันตลอดระยะเวลาดำเนินการวิจัย คือ
    ๑) Concept แนวคิด ประเด็นของความเชื่อและการปฏิบัติ
    ๒) Category การจำแนกกลุ่ม ประเภททางความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติ
    ๓) Content สาระสำคัญที่ก่อให้เกิดการพึ่งพา
    ๔) Communication การตีความ แปลความเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของการพึ่งพาระหว่างพระพุทธศาสนา และโหราศาสตร์

โดยกำหนดให้มีกระบวนวิธีการวิจัย (Methodology) ด้วยการออกแบบโครงสร้างของคำถามที่สามารถนำไปใช้ในการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง หรือการสัมภาษณ์แบบชี้นำ (Guide interview) กล่าวคือ เป็นการสัมภาษณ์แบบปลายเปิดซึ่งเป็นกระบวนวิธีการวิจัยที่มีความยืดหยุ่น และเปิดกว้างหรือมีการนำคำสำคัญ (Keywords) มาใช้ในการชี้นำ มีการร่างข้อคำถามที่สามารถปรับเปลี่ยนให้มี ความสอดคล้องกับผู้สัมภาษณ์แต่ละบุคคล



(อ่านต่อด้านล่าง)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 15, 2024, 11:32:33 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25: :25:

ผลจากการวิจัย

จากการศึกษาพบว่า ตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑. นั้น

ชาวพุทธไทยยังมีแนวโน้มของการเข้าวัด ทำบุญและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นเบื้องต้น ชาวพุทธส่วนใหญ่จะมีความเชื่อในเรื่องของการทำบุญถวายสังฆทานกับพระภิกษุสงฆ์ ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เพราะมีพื้นฐานความเชื่อมาจากการอบรมสั่งสอนจากบรรพบุรุษในเรื่องการประกอบกรรมดีประกอบบุญกุศลจะส่งผลดีให้ชีวิต ถ้ากระทำแต่บาปอกุศลก็จะหาความสุขความเจริญได้ยาก

ส่วนใหญ่ของบุคคลที่ทำบุญมักจะหวังผลตอบแทนให้บังเกิดเรื่องที่ดีกับชีวิต มีเป็นเพียงส่วนน้อยที่กระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจมิหวังผลตอบแทนใดๆ จากการทำบุญนั้น มีความเป็นสุข มีความปีติกับกุศลที่ได้บำเพ็ญ บุคคลส่วนนี้จัดได้ว่า มีความเข้าใจในความหมายของการประกอบบุญกุศลอย่างดี เพราะตามหลักของพระพุทธศาสนาเถรวาทให้คำจำกัดความของคำว่า “บุญ” คือ เครื่องชำระสันดาน คือ ชำระพื้นจิตใจให้สะอาดสิ่งที่ทำให้เกิดผล คือ ภพที่น่าชื่นชม

บางแห่งยังแสดงความหมายอื่นไว้อีกว่า สิ่งที่นำมาซึ่งความน่าบูชา และว่าสิ่งที่ยังอัธยาศัย(ความประสงค์)ของผู้กระทำให้บริบูรณ์(5-) เพราะว่าเมื่อเกิดบุญแล้วก็มีวิบากที่ดีงาม น่าชื่นชมใกล้กับพุทธพจน์ที่ว่า สุขสฺเสตํ อธิวจนํ ยทิทํ ปุญฺญานิ(6-) ซึ่งแปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย”

คำว่า “บุญ” นี้เป็นชื่อของความสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ(7-) ดังนั้น เมื่อบุญเกิดขึ้นในใจแล้ว จิตใจก็สบาย มีความเอิบอิ่ม แช่มชื่นผ่องใส บุญจึงเป็นชื่อของความสุข ดังนั้น ผู้ที่เข้าใจในการทำบุญจะมีความแช่มชื่นสบายใจเป็นสุขกับบุญกุศลนั้นอย่างแท้จริง

จากการศึกษาพบว่าในสภาพสังคมปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่ยังคงนิยมการทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า ทำบุญถวายสังฆทาน ฟังธรรม และปฏิบัติธรรม ตามโอกาสและเวลาที่อำนวยให้ ประกอบกับหน่วยงาน และสถาบันการศึกษามีการสนับสนุนในด้านการปฏิบัติธรรมมากขึ้น จึงได้มีโครงการฝึกอบรมการปฏิบัติธรรมแทบทุกวัดและทุกท้องที่ซึ่งจัดเป็นการเสริมความรู้และเป็นกิจกรรมในทางพระพุทธศาสนา เป็นการเชื่อมโยงให้ศาสนิกชนมีโอกาสได้เข้า

ถึงพระธรรมโดยมีพระภิกษุเป็นผู้ให้ความรู้ ให้คำแนะนำอย่างถูกต้องไม่หลงทางผิดไปในทางมิจฉาทิฏฐิมีสติ มีปัญญาเกิดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ นับเป็นการพึ่งพากันในด้านความรู้ ความเข้าใจในการประกอบบุญกุศลและการปฏิบัติธรรม นอกเหนือจากนั้นชาวพุทธส่วนใหญ่ควรมีหลักธรรมประจำใจ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นการเตือนสติในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น

เช่น การยึดหลักของ สังคหวัตถุ ๔ ประการ หมายถึงหลักธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจบุคคล ประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี ซึ่งประกอบด้วย
     ๑. ทาน การให้ คือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละแบ่งปัน ช่วยเหลือ ตลอดจนให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน
     ๒. ปิยวาจา มีวาจาอันเป็นที่รัก กล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผล
     ๓. อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม
     ๔. สมานัตตตา ความมีตนเสมอ คือทำตนเสมอต้น เสมอปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย ตลอดถึงการวางตนเหมาะสมกับฐานะ ภาวะบุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม(8-)

หรือหลักธรรมคุ้มครองโลก ๒ ประการ หมายถึงธรรมที่ช่วยให้โลกมีระเบียบเรียบร้อย ไม่เดือดร้อน
     ๑. หิริ ความละอายบาป ละอายต่อการทำความชั่ว
     ๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว(9-)


______________________________
(5-) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย, พิมพ์ครั้งที่ ๓๓, (กรุงเทพมหานคร:
สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม, ๒๕๕๕), หน้า ๒๕๑.
(6-) ขุ.อิติ.เอกก. (บาลี) ๒๕/๒๐๐/๒๔๐.
(7-) ขุ.อิติ.เอกก. (ไทย) ๒๕/๒๒/๓๖๖.
(8-) ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๔๐/๑๖๗.
(9-) องฺ.ทุก. (ไทย) ๒๐/๒๕๕/๖๕.


หลักธรรมอื่นๆ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ยังมีอีกหลายประการที่เป็นเครื่องช่วยเตือนสติเครื่องยึดเหนี่ยว ซึ่งชาวพุทธมีโอกาสที่จะได้ศึกษาหลักธรรมเหล่านี้ได้จากพระภิกษุในขณะสนทนาธรรม หรือในช่วงของการปฏิบัติธรรม หากบุคคลมีความยึดมั่นในหลักของการปฏิบัติตามหลักธรรมที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้วนี้ย่อมส่งผลให้มีความผาสุก ความเจริญในการดำเนินชีวิต

แต่ถ้ายังประสบกับปัญหาและความขัดข้องอยู่ มีความไม่สบายใจ มีความเสียหายอยู่นั่นเพราะการให้ผลของกรรมดียังมาไม่ถึง ด้วยเหตุของสมบัติ ๔ และวิบัติ ๔ ดังที่พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบาย สมบัติ ๔ และวิบัติ ๔ เพื่อให้เกิดความกระจ่างว่า

สมบัติ หมายถึง ความเพียบพร้อมสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่า ๆ ซึ่งช่วยเสริมส่งอำนวยโอกาสให้กรรมดีปรากฏผล และไม่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล สมบัติมี ๔ อย่าง คือ
     ๑. คติสมบัติ สมบัติแห่งคติ หรือ คติให้เกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศที่เจริญ เหมาะหรือเกื้อกูล ตลอดจนระยะสั้น คือ ดำเนินชีวิตหรือไปในถิ่นที่อำนวย
     ๒. อุปธิสมบัติ สมบัติแห่งร่างกาย ถึงพร้อมด้วยร่างกาย หรือ รูปร่างให้ เช่น มีรูปร่างสวย ร่างกายสง่างาม หน้าตาท่าทางดี น่ารัก น่านิยมเลื่อมใส สุขภาพดีแข็งแรง
     ๓. กาลสมบัติ สมบัติแห่งกาล ถึงพร้อมด้วยกาล หรือ กาลให้เกิดอยู่ในสมัยที่บ้านเมืองมีความสงบสุข ผู้ปกครองดี ผู้คนมีศีลธรรม ยกย่องคนดีไม่ส่งเสริมคนชั่ว ตลอดจนในระยะสั้น คือ ทำอะไรถูกกาลเวลา ถูกจังหวะ
     ๔. ปโยคสมบัติ สมบัติแห่งการประกอบ ถึงพร้อมด้วยประกอบกิจ หรือกิจการให้ เช่น ทำเรื่องตรงกับที่เขาต้องการ ทำกิจตรงกับความถนัดและความสามารถของตน ทำการถึงขนาดถูกหลักครบถ้วนตามเกณฑ์ หรือ ตามอัตราไม่ใช่ทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือ เหยาะแหยะ หรือ ไม่ถูกเรื่องกัน รู้จักจัดทำ รู้จักดำเนินการ

วิบัติ หมายถึง ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่ การที่กรรมดีจะปรากฏผล
แต่กลับเปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล มี ๔ อย่าง คือ
     ๑. คติวิบัติ วิบัติแห่งคติ หรือ คติเสีย คือ เกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่นประเทศสภาพ แวดล้อมที่ไม่เจริญ ไม่เหมาะ ไม่เกื้อกูล ทางดำเนินชีวิต ถิ่นที่ไปไม่อำนวย
     ๒. อุปธิวิบัติ วิบัติแห่งร่างกาย หรือ รูปกายเสีย เช่น ร่างกายพิกลพิการอ่อนแอ ไม่สวยงามกริยาท่าทางน่าเกลียด ไม่ชวนชม ตลอดจนสุขภาพไม่ดีเจ็บป่วย มีโรคมาก
     ๓. กาลวิบัติ วิบัติแห่งกาล หรือกาลเสีย คือ เกิดอยู่ในยุคสมัยที่บ้านเมืองมีภัยพิบัติ ไม่สงบเรียบร้อย ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรมด้วยการเบียดเบียน ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ตลอดจนทำอะไร ไม่ถูกกาลเวลา ไม่ถูกจังหวะ
     ๔. ปโยควิบัติ วิบัติแห่งการประกอบ หรือ กิจการเสีย เช่น ฝักใฝ่ในกิจการ หรือ เรื่องราวที่ผิดทำการไม่ตรงกับความถนัด ความสามารถ ใช้ความเพียรในเรื่องไม่ถูกต้อง ทำการครึ่ง ๆ กลาง ๆ เป็นต้น(10-)

เห็นได้ว่า การที่ผลของกรรมดีและกรรมชั่วในชาตินี้ จะปรากฏได้ต้องอาศัยปัจจัยอันมีองค์ประกอบ ๔ อย่าง คือ กาล คติ อุปธิ และ ปโยคะ ในฝ่ายพร้อมให้การสนับสนุนกรรมดีเรียกว่า สมบัติ ๔ และในส่วนที่เป็นฝ่ายขัดขวางกรรมดี เรียกว่า วิบัติ ๔

ซึ่งการทำกรรมดีเพื่อหวังผลในระดับนี้ จึงต้องใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเพื่อที่จะทำให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และสภาพแวดล้อม(คติสมบัติ) ถูกต้องตามกาลเทศะ หรือเวลา(กาลสมบัติ) และมีการจัดการที่ดี มีความเพียรพยายามอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง(ปโยคสมบัติ) หรือที่เรียกว่า ทำดีถูกที่ ทำดีถูกเวลา และทำดีให้พอดี(อุปธิสมบัติ) วิบัติจึงไม่สามารถขัดขวางองค์ประกอบดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าผลของกรรมบางอย่างได้ถูกขัดขวาง ไม่ให้ปรากฏผล แต่ผลกรรมนั้นยังคงอยู่ และรอยคอยเวลาให้ผล

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“สัตว์ผู้จะต้องตายไปในโลกนี้ ทำกรรมอันใด คือ บุญและบาปทั้งสองประการ บุญและบาปนั้นแล เป็นสมบัติของเขา ทั้งเขาจะนำเอาบุญและบาปนั้นไปได้ อนึ่งบุญและบาปย่อมติดตามเขาไป ดุจเงาติดตามตัวไปฉะนั้น” (11-)

นอกจากจะศึกษาให้เข้าใจถึงการให้ผลของกรรมแล้ว เรายังสามารถนำมาใช้แก้ไขข้อบกพร่อง(วิบัติ) ในตนเองได้ เมื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงแล้ว จะทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงานประสบผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น ชาวพุทธจึงควรมีความเข้าใจในเรื่องของกรรม และการให้ผลอย่างดี จะช่วยขจัดข้อสงสัยในการประกอบผลดี ทำความดีแล้วไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดี ชีวิตยังต้องพบกับอุปสรรค ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลบางกลุ่มที่ประกอบกรรมไม่ดี แต่กลับได้รับผลหรือสิ่งตอบแทนในชีวิตที่ดีกว่าตน ทำให้เกิดความท้อถอยในการดำเนินชีวิต หันไปหาที่พึ่งอื่นๆ หรือมุ่งไปหาวิธีแก้กรรม เพื่อให้เกิดผลดีกับตน อันนี้ถือว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องของกรรมอยู่ เพราะตามหลักของพระพุทธศาสนาการแก้กรรม คือ การปฏิบัติกรรมใหม่ที่ดีกว่ากรรมเดิม เปลี่ยนความประพฤติ เปลี่ยนสิ่งที่เคยทำมาบกพร่องในอดีต ให้เป็นสิ่งที่ดีในปัจจุบัน

ในทางพระพุทธศาสนานั้น หนทางของการปฏิบัติเพื่อการสิ้นกรรม คือ พระนิพพาน เมื่อผู้ใดสามารถเข้าถึงได้ ย่อมอยู่เหนือบุญและบาปทั้งปวง การกระทำทั้งปวงเป็นกิริยาจัดอยู่ในข้อของกรรมไม่ดำ ไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว (เจตนากรรมในมรรคทั้ง ๔ ซึ่งทำให้สิ้นกรรม) เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ไม่หวังผลตอบแทนเป็นความดี หรือความชั่ว(12-)

ปัจจุบันสังคมไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสวัตถุนิยม และบริโภคนิยมตามอย่างชาติตะวันตกเมื่อหลักธรรมเรื่องกรรมถูกบิดเบือนไปจากหลักคำสอนเดิมในพระพุทธศาสนา “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เป็นการวัดผลของความดีกันที่วัตถุ คนในสังคมจึงต้องการเป็นเจ้าของวัตถุ และความร่ำรวยโดยไม่สนใจที่จะทำงานให้เหนื่อยยาก ด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม เช่น ค้ายาเสพติด อาชญากรรมโจรกรรม เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ปกติสุขของสังคมส่วนรวม ดังที่นักปราชญ์และนักวิชาการในพระพุทธศาสนาได้อธิบายไว้ ดังต่อไปนี้

ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ว่า
“...ความเชื่อเรื่องกรรมที่ไม่ถูก คือ เรามองกรรมไปที่สิ่งของที่เงินทองของนอกกาย จะไปเทือกนั้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องแต่ไม่ได้มองที่ผลของมัน คือความดีความชั่ว อันมีอยู่แล้วในกรรมนั้น ซึ่งจิตใจเราสัมผัสได้ทุกครั้งที่เราทำกรรม”(13-)


_____________________________
(10-) พระพรหมคุณาภรณ์, (ป. อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย, พิมพ์ครั้งที่ ๓๓, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด, ๒๕๕๕), หน้า ๒๗๓.
(11-) สํ.ส. (ไทย) ๑๕/๑๑๕/๑๓๒.
(12-) ม.ม. (ไทย) ๑๓/๘๑/๗๙.
(13-) พุทธทาสภิกขุ, กรรมและการอยู่เหนือกรรม, (กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา, ๒๕๓๙), หน้า ๒๐.



พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ว่า
… หลักกรรมเป็นปัญหาแก่เรามากนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นหลักธรรมใหญ่หรือสำคัญอย่างเดียว แต่เป็นเพราะว่าได้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและสับสนเกิดขึ้นพอกพูนต่อๆ กันมา เพราะฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจเรื่องกรรมนอกจากจะทำความเข้าใจในตัวเองแล้วยังมีปัญหาเพิ่มขึ้น คือ จะต้องแก้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนในเรื่องกรรมนั้นด้วย…

    ความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับกรรมว่า ประการแรก คนโดยมากมองกรรมไปในแง่ตัวผล ประการต่อไป เราพูดถึงกรรมโดยมุ่งเอา แง่ชั่วแง่ไม่ดี… นอกจากนั้นมุ่งไปในแง่อดีต โดยเฉพาะมุ่งเอาชาติหน้าเป็นสำคัญ พูดง่ายๆว่า คนทั่วไปมองความหมายของกรรม ในแง่ผลร้ายของการกระทำชั่วในอดีตชาติ…(14-) และค่านิยมของสังคมที่ยกย่องวัตถุมากกระทบกระเทือนต่อหลักกรรม เวลาเราพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คนส่วนมากนึกถึงค่านิยมที่เป็นวัตถุ(15-)

อาจารย์วศิน อินทสระ ได้กล่าวไว้ว่า
“คนส่วนมากมักถือเอาความสุข ความสมปรารถนาในชีวิตปัจจุบันเป็นมาตรฐาน วัดความดี คือ ความดีต้องมีผลออกมาเป็นความสุขความสมปรารถนา เป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความชั่วต้องมีผลตรงกันข้าม แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่แน่เสมอไป”(16-)

ตามที่ พุทธทาสภิกขุ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ประยุตโต) และวศิน อินทสระ ได้อธิบายไว้นั้น เห็นได้ว่า ปัจจุบันคนไทยมีความเชื่อเรื่องกรรม ที่คลาดเคลื่อนไปจากหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ นำคำว่า “กรรม” มาใช้ในความหมายของกรรม หมายถึง ผลของการกระทำไม่ดีของบุคคล ที่ทำไว้ในชาติก่อน ส่งผลในชาติปัจจุบัน และผลของกรรมดี ไม่ใช่ความดีที่จิตใจสัมผัสได้ แต่มุ่งถึงผลของการกระทำภายนอก อันเป็นผลที่ตนเองและผู้อื่นมองเห็นได้ง่าย เป็นวัตถุสิ่งของ เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุข , ส่วนผลของกรรมชั่ว คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ทุกข์

ดังนั้นการที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังมุ่งมาปฏิบัติธรรม จึงเป็นหน้าที่ที่พระภิกษุควรจะได้มีการแนะนำ ชี้แนะที่ถูกต้องในเรื่องของหลักธรรมโดยเฉพาะเรื่องของกรรม และการให้ผลของกรรมอย่างถูกต้องอันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชน


______________________________
(14-) พระธรรมปิฎก, (ป. อ. ปยุตโต), เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม, (กรุงเทพมหานคร: พิมพ์สวย, ๒๕๔๕),
หน้า ๕ – ๖.
(15-) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๔.
(16-) วศิน อินทสระ, หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒, (กรุงเทพมหานคร: เคล็ดไทยจำกัด, ๒๕๔๕), หน้า ๔๕-๔๖.




 st12 st12 st12

ในวัตถุประสงค์ข้อที่ ๒.

จากการศึกษาสภาพการพึ่งพาและปฏิบัติตามหลักโหราศาสตร์ของคนไทยในปัจจุบันพบว่า วิชาโหราศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตและสังคมของคนไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานในหลายๆด้าน นับตั้งแต่เกิดที่บุคคลส่วนใหญ่ใช้หลักของวิชาโหราศาสตร์ ในการเลือกหาชื่อที่เหมาะสมเป็นมงคลนามให้กับบุตรธิดา เมื่อเติบโตขึ้น ผู้ใหญ่มักจะให้โหรหาฤกษ์ในการสมรส ในการสร้างบ้านสร้างอาคารสถานที่ทำงานให้เกิดความวัฒนาถาวรเจริญรุ่งเรือง

จนกระทั่งล่วงเข้าสู่วัยปลายของชีวิตโหรก็ยังคงมีบทบาทในการประกอบพิธีทำบุญสืบชะตา เจริญอายุวัฒนะร่วมกับพระภิกษุเพื่อความเป็นสิริมงคล เช่น การทำบุญอายุวัฒนะครบ ๗ รอบ การทำบุญสืบชะตา รับ-ส่งดาวพระเคราะห์ที่เข้ามาเสวยอายุ เป็นต้น

เมื่อบุคคลประสบกับปัญหา ชีวิตที่ดำเนินอยู่มีแต่ความทุกข์ยาก ลำบากมากกว่าคนอื่น ๆ ทั้งที่พยายามตั้งอยู่ในความถูกต้องดีงามแล้ว จึงทำให้เกิดความท้อถอยต้องการหาคำตอบ หาทางออกของปัญหาที่บีบคั้นอยู่ ขจัดข้อขัดแย้ง อุปสรรค ในชีวิตที่ทำให้เกิดภาวะไม่มั่นคงทางจิตใจ ก็จำเป็นที่ต้องหาที่พึ่งทางใจ ให้คลายทุกข์ หมอดู จึงเปรียบเหมือนทางเลือกที่ผู้คนมักมาหาคำตอบ

ดังนั้นตัวบุคคลผู้ให้คำพยากรณ์หรือที่เรียกว่า “หมอดู” กับผู้มารับการพยากรณ์ หมอดูจะต้องมีทัศนะคติที่ดีในการประมวลผลออกมาเป็นคำพยากรณ์ มีจริยธรรม ที่จะนำหลักวิชาไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวบุคคล สภาพสังคม และสถานที่ เป็นการสื่อสารสองทาง คือทั้งผู้ที่อ่านดวงชะตา และผู้ที่เป็นเจ้าของดวงชะตา จะต้องปรับทัศนะคติให้ตรงกัน ประโยชน์จึงจะเกิด

ในการอ่านดวงชะตาบุคคลออกมาเป็นคำพยากรณ์ ผู้รับฟังหรือเจ้าของดวงชะตาเองก็ต้องมีวิจารณญาณที่ดีในการที่จะเชื่อมากน้อยเพียงใด โหราศาสตร์บอกความเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง แต่หนทางของการพ้นทุกข์อย่างแท้จริงนั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำของบุคคลผู้นั้น

ดังที่พระยาบริรักษ์เวชการ ได้กล่าวไว้ว่า
... ความจริงการใช้ตำแหน่งของดวงดาวในท้องฟ้ามาเป็นหลักในการทำนายดวงชาตาของบุคคลและการพยากรณ์โชคเคราะห์ต่าง ๆ นั้น หาใช่ความหมายว่า ดวงดาวนั้นใช้อิทธิพลบันดาลให้เจ้าชาตาเป็นดั่งนั้นไม่ หากความหมายเพียงว่าดวงดาวเหล่านั้นเป็นเครื่องชี้ถึงวาสนาและโชคชาตาของเจ้าของดวงชาตานั้น ๆ เท่านั้น เจ้าของดวงชาตาย่อมมีอำนาจอิสระที่จะปรับปรุงตนเอง หรือกระทำตนให้เป็นผลดีผลร้ายแก่ตนต่อไปได้อีกเสมอ(17-)

หลักของการพึ่งพากันระหว่างพระพุทธศาสนาและโหราศาสตร์ว่า จะต้องมีความเข้าใจในหลักของพระศาสนาในเรื่องของการกระทำทางไตรทวาร มองปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเองและผลที่ได้รับที่ต้นเหตุ ใช้ทั้งสองศาสตร์ประกอบกันในการแก้ไข เพราะความรู้ในทางโหราศาสตร์เป็นส่วนที่มาเสริมให้บุคคลเข้าใจในแผนที่ชีวิตของตน มีการวางแผน มีการแก้ไขไปสู่จุดที่ดีได้ พระสงฆ์ที่มีความรู้ในด้านนี้สามารถแนะนำให้กับพุทธศาสนิกชนที่มาขอคำแนะนำได้โดยการแทรกธรรมะข้อควรปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ให้บุคคลเกิดสัมมาทิฏฐิ มีสติ มีปัญญา ก็ถือว่าเป็นการเสริมกันในทางที่ดี


____________________________
(17-) พระยาบริรักษ์เวชการ, หลักโหราศาสตร์ทั่วไป มูลฐานของโหราศาสตร์และประโยชน์ของการศึกษา
โหราศาสตร์ มรดกแห่งโหรสยาม สมาคมโหรแห่งประเทศไทย, (กรุงเทพมหานคร: มิตรสยามการพิมพ์, ๒๕๓๕), หน้า๔-๕.




 st12 st12 st12

ในวัตถุประสงค์ข้อที่ ๓.

พบว่าการพึ่งพาระหว่างพระพุทธศาสนา ในด้านการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ และการพยากรณ์ตามหลักการโหราศาสตร์ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของบุคคล คือ การที่บุคคลรู้จักที่จะนำคำพยากรณ์ที่ได้รับมาปรับให้เข้ากับหลักธรรมของทางพระพุทธศาสนาเถรวาทได้ เพราะโหราศาสตร์บอกคนให้รู้ได้ถึงภูมิฐานกำเนิด หนทางที่ควรจะเลือกปฏิบัติตามความถนัด เหตุการณ์ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นทั้งในทางที่ดีและทางที่เสื่อม โดยอาศัยคุณสมบัติของดาวพระเคราะห์ที่สถิตในดวงชะตา และองค์ประกอบทางโหราศาสตร์ที่มีในการพยากรณ์

โหราศาสตร์ช่วยคนได้ในระดับหนึ่ง ในการรู้จักตัวตนของตนเอง เพื่อทำความเข้าใจในแผนที่ของชีวิต เข้าใจในแผนที่กรรมของตนเอง เมื่อเข้าใจแล้ว จึงนำมาประยุกต์ใช้กับหลักธรรมของพระพุทธองค์ ก็จะช่วยให้การดำเนินชีวิตมีทางเลือก อย่างถูกต้องมีเหตุผลมากขึ้น เช่น ในดวงชะตาปรากฏให้เห็นถึงการประสพอุบัติเหตุ สูญเสียทรัพย์สิน เจ้าชะตาก็ต้องเพิ่มความมีสติ มีความรอบคอบ ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ก็ช่วยให้ปลอดภัยไม่เสียชีวิต และทรัพย์สิน เป็นต้น

การที่บุคคลยังมีความเข้าใจที่ผิดในการแก้กรรมตามกระแสของสังคม มีการประกอบพิธีกรรมต่างๆ บางครั้งก็มีพระภิกษุเป็นผู้ประกอบพิธีให้นั้น ยังไม่ถูกต้องเสียทีเดียวในทัศนะของผู้วิจัย ถึงแม้จะเป็นการประกอบกุศล ทำให้จิตใจสบาย แต่ควรที่จะมีการศึกษาและทำความเข้าใจให้ดีในเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรม

เพราะโชคดีหรือโชคร้ายที่เราได้ประสบอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับอำนาจภายนอก หรืออำนาจดวงดาวใดๆเลย แท้จริงแล้ว ขึ้นอยู่กับผลกรรมที่เราได้สั่งสมไว้(18-) จึงจะเกิดประโยชน์ เพราะพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ หนทางสายเอกของการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง


________________________________
(18-) พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ), กฎแห่งกรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๗), หน้า ๓.



(อ่านต่อด้านล่าง)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 15, 2024, 11:00:21 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25: :25:

สรุปและอภิปรายผล

จากการศึกษาถึงผลของการวิจัยในเรื่องการพึ่งพากันระหว่างพระพุทธศาสนา และหลักการทางโหราศาสตร์ ของคนไทยในยุค ๔.๐ ด้วยหลักการของการบูรณาการการศึกษาแบบสหวิทยาการ สรุปผลได้ว่า

การนำหลักในพระพุทธศาสนาเป็นฐาน และนำหลักการที่ถูกต้องของวิชาโหราศาสตร์มาส่งเสริมและขยายความหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าของคำสอนมากยิ่งขึ้นและมีเหตุผล อีกทั้งสอดรับกับวิถีความเป็นไปของชีวิตคนไทยที่ยังต้องพึ่งพาสิ่งที่เป็นกำลังใจ สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังหาคำตอบหรือทางออกด้วยปัญญาของตนไม่ได้ หากผู้คนมีกำลังใจเข้มแข็ง และสติปัญญากล้าแกร่งเมื่อใด เมื่อนั้นผู้คนย่อมสามารถเลือกเฟ้นสิ่งที่เป็นแก่นแท้ชีวิตของตนได้

เมื่อบุคคลมีความยึดมั่นในหลักธรรมอย่างถูกต้อง และมีความเข้าใจอย่างดีในหลักการของโหราศาสตร์ มีการปฏิบัติตนตามวิถีทางของชาวพุทธ อันประกอบด้วย ทาน ศีล ภาวนา อย่างสม่ำเสมอ แล้วย่อมเป็นการพัฒนาตนได้ถูกต้อง และมีธรรมเป็นสรณะอันเป็นที่พึ่งที่แท้จริง

ส่วนการเข้าไปหาหมอดูเพื่อตรวจดวงชะตา หรือขอฤกษ์ยามจากพระภิกษุเพื่อความเป็นสิริมงคลนั้น เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เกิดความสบาใจ มีความมั่นใจมากขึ้น มีกำลังใจในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ซึ่งบทบาทของหมอดูตอนนี้เป็นเหมือนผู้ให้คำปรึกษาชีวิตที่สำคัญ และเหมือนนักจิตวิทยาที่ให้ผู้คนได้ระบายทุกข์ใจของตนออกมา จนทำให้ความทุกข์เบาลง ช่องว่างนี้เอง ที่สังคมมองไม่เห็นและมักปฏิเสธโหราศาสตร์

ปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ คือ ชาวพุทธมีความเชื่อมั่นในพระภิกษุมีค่อนข้างมาก ดังนั้นพระภิกษุฝ่ายคามวาสี จึงมีบทบาทในการเข้าถึงชุมชน พัฒนาและช่วยเหลือชุมชนให้มีความเจริญเป็นเหมือนนักสังคมสงเคราะห์ เป็นที่พึ่งทางใจของประชาชนในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญมาแต่โบราณ เป็นสถาบันแห่งนักพัฒนาที่ใกล้ชิดและอยู่เคียงข้างประชาชนชาวพุทธมาโดยตลอด

ดังนั้นพระภิกษุผู้มีความรู้ในศาสตร์ทุกแขนงรวมไปถึงโหราศาสตร์ จึงเป็นที่พึ่งของคนในสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ และในขณะเดียวกันท่านยังคงศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับบทบาทตามที่กล่าวมาแล้ว

ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย

เรื่องการพึ่งพาระหว่างพระพุทธศาสนากับโหราศาสตร์ และแนวการปฏิบัติของคนไทยในยุค ๔.๐ ผู้วิจัยได้เห็นข้อค้นพบที่เป็นแนวทางในการประสานประโยชน์ของทั้งสองศาสตร์นี้ ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมในด้านการปฏิบัติตนของชาวพุทธตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ประกอบด้วยวิจารณญาณที่ดีมีเหตุผล มีความเข้าใจในกลไกและหลักการของวิชาโหราศาสตร์ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของบุคคล

หลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง อันเป็นหลักการพื้นฐานในด้านจิตวิทยา ในประเด็นของความศรัทธา ความคาดหวัง การเกิดปัญญาในการแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิต ด้วยทฤษฎีของการให้การปรึกษา (Counseling) ทักษะสำคัญของการให้การปรึกษา และคุณสมบัติของผู้ให้การปรึกษา

จากการศึกษาพบว่า ผู้ให้คำปรึกษาเปรียบเหมือนนักโหราศาสตร์ ที่เป็นผู้ที่ต้องรับฟังปัญหา พร้อมกับหาทางออกให้กับผู้มารับคำปรึกษา จึงควรใช้ทฤษฎีนี้เพื่อนำมาประกอบในหลักของการแยกแยะการตอบปัญหา คือ หลักวิภัชชวาท และความเป็นปรโตโฆสะ เป็นกัลยาณมิตรที่ดีตามหลักพุทธธรรม เท่ากับเป็นการพึ่งพาอาศัยกัน ระหว่างพระพุทธศาสนากับโหราศาสตร์ ให้บุคคลเกิดความศรัทธาในพระศาสนา เข้าใจในหลักของโหราศาสตร์ มีความคาดหวัง มีปัญญาในการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองในที่สุด


ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

ด้านการปฏิบัติธรรมของคนไทยในยุค ๔.๐ ควรส่งเสริมให้มีหลักสูตรของพระพุทธศาสนาในทุกระดับชั้นเรียน เป็นการบ่มเพาะความคิดในด้านศีลธรรม และจริยธรรม มีความเข้าใจในหัวใจของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส

ตัวอย่างของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นต้นแบบที่ดี นอกจากนั้นควรมีการส่งเสริมให้พระภิกษุที่มีความรู้ในการสอนการเจริญสมาธิในสถานปฏิบัติธรรมมีโอกาสได้ถ่ายทอด และมีกิจกรรมร่วมกับเยาวชนและพุทธศาสนิกชนอย่างต่อเนื่อง เช่นการจัดค่ายอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน ระยะเวลา ๑๐-๑๒ วัน มิใช่มีแต่เฉพาะเทศกาลวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น

ด้านโหราศาสตร์ ควรมีองค์กรที่มีหมอดู หรือนักโหราศาสตร์ที่มีความรู้ในวิชานี้อย่างถูกต้อง มีจรรยาบรรณ มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะโหราศาสตร์ไทยได้รับการบรรจุเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในด้านสาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ลำดับที่ ๘ อ้างอิงจากหนังสือ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ หน้า ๕

ดังนั้น โหราศาสตร์ จึงไม่เฉพาะแค่ดูโชค เคราะห์เท่านั้น แต่เป็นความรู้ที่แตกแขนงเป็นโหราศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ การแพทย์ ฯลฯ จึงสมควรมีการส่งเสริมในศาสตร์แขนงดังกล่าวเพื่อสามารถประเมินสถานการณ์ทางการดำเนินชีวิตได้ ตลอดไปถึงการรักษาพยาบาล การให้ยา การแนะนำให้รับประทานอาหาร ตามธาตุเจ้าเรือนของผู้เป็นเจ้าของดวงชะตาซึ่งสืบทอดกันมาในหลายอารยธรรมเช่น อายุรเวท ของอินเดีย แพทย์แผนไทย ที่มีการศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันนับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ทางเลือก เป็นนวัตกรรมทางความรู้ ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ยาทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว







บรรณานุกรม

- พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต). เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม. กรุงเทพมหานคร : พิมพ์สวย, ๒๕๔๕.
- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย. พิมพ์ครั้งที่ ๓๓. กรุงเทพมหานคร :
สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด, ๒๕๕๕.
- พระมหายงยุทธ ธีรธมฺโม (พลมั่น). “ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องดาราศาสตร์
เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา”. ดุษฎีนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๖.
- พระมหาหรรษา นิธิบุณยากร, รศ.ดร.. พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์รพีปกรณ์, ๒๕๕๗.
- พระยาบริรักษ์เวชการ. หลักโหราศาสตร์ทั่วไป มูลฐานของโหราศาสตร์และประโยชน์ของการศึกษาโหราศาสตร์ มรดกแห่งโหรสยาม สมาคมโหรแห่งประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : มิตรสยามการพิมพ์, ๒๕๓๕.
- พุทธทาสภิกขุ. กรรมและการอยู่เหนือกรรม. กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา, ๒๕๓๙.
- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
- วศิน อินทสระ. หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. กรุงเทพมหานคร: เคล็ดไทยจำกัด,
๒๕๔๕.
- Heidi Hayes Jacobs. Interdisciplinary Curriculum : Design Implementation. New York:
Asscociation for Supervision and Curriculum Development, 1989.

ขอบคุณที่มา : วารสารมหาจุฬาวิชาการ ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๓
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ