ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: องค์แห่งทักษิณาทาน |กองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ เป็นบุญอันเลิศ  (อ่าน 177 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



องค์แห่งทักษิณาทาน |กองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ เป็นบุญอันเลิศ



๗. ทานสูตร ว่าด้วยองค์แห่งทักษิณาทาน

[๓๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น อุบาสิกาชื่อนันทมาตา ชาวเมืองเวฬุกัณฑกะ ถวายทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ ในหมู่ภิกษุมีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประธาน

พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นอุบาสิกาชื่อนันทมาตาชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้นแล้ว จึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายอุบาสิกาชื่อนันทมาตาชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้น ถวายทานอันประกอบด้วยองค์ ๖ ในหมู่ภิกษุมีสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นประธาน

    @@@@@@@

    ทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ เป็นอย่างไร.?
    คือ ฝ่ายทายก(ผู้ให้) มีองค์ ๓ ประการ , ฝ่ายปฏิคาหก(ผู้รับ) มีองค์ ๓ ประการ
             
    องค์ ๓ ประการของทายก อะไรบ้าง.?
    คือ ทายกในธรรมวินัยนี้
       ๑. ก่อนให้ก็มีใจดี
       ๒. กำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส
       ๓. ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน
    นี้คือองค์ ๓ ประการของทายก

    องค์ ๓ ประการของปฏิคาหก อะไรบ้าง.?
    คือ ปฏิคาหกในธรรมวินัยนี้
       ๑. เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
       ๒. เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ
       ๓. เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ
    นี้คือองค์ ๓ ประการของปฏิคาหก

    องค์ ๓ ประการของทายก , องค์ ๓ ประการของปฏิคาหก มีด้วยประการฉะนี้
    ภิกษุทั้งหลาย ทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ เป็นอย่างนี้แล

    @@@@@@@
                                                 
    ภิกษุทั้งหลาย การกำหนดประมาณบุญแห่งทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ อย่างนี้ว่า ‘ห้วงบุญ ห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำความสุขมาให้ มีอารมณ์ดีเลิศ(๑-) มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญ ห้วงกุศลแห่งทักษิณานั้นถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’

    เปรียบเหมือนการกำหนดปริมาณของน้ำในมหาสมุทรว่า ‘น้ำมีปริมาณเท่านี้ อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑๐๐ อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑,๐๐๐ อาฬหกะ หรือน้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ อาฬหกะ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง น้ำในมหาสมุทรนั้นถึงการนับว่า ‘เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’ ฉันใด

    ภิกษุทั้งหลาย การกำหนดประมาณบุญแห่งทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ อย่างนี้ว่า ‘ห้วงบุญ ห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำความสุขมาให้ มีอารมณ์ดีเลิศ มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญ ห้วงกุศลของทักษิณานั้น ถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’ ฉันนั้น

    @@@@@@@

ทายกก่อนให้ก็มีใจดี เมื่อกำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ(๒-)

ปฏิคาหกผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย คือ ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ ย่อมเป็นเขตที่สมบูรณ์แห่งการให้

ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อมมีผลมาก เพราะตน(ทายกผู้ให้ทาน) และเพราะผู้อื่น(ปฏิคาหก)เป็นบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ มีศรัทธา มีใจพ้นแล้ว(๓-) บูชายัญอย่างนี้ ย่อมเข้าถึงโลกที่ปราศจากความเบียดเบียน เป็นสุข

                                           ทานสูตรที่ ๗ จบ



เชิงอรรถ :-
(๑-) มีอารมณ์ดีเลิศ ในที่นี้หมายถึงให้กามคุณ ๕ ประการ มีรูปเป็นต้นที่เลิศ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๑/๓๔๘)
(๒-) ยัญ ในที่นี้หมายถึงทาน หรือเครื่องไทยธรรม (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๐/๓๔๑, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๗/๑๑๘)
และดู ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๓๐๕/๒๑๖
(๓-) มีใจพ้นแล้ว หมายถึงมีใจพ้นจากความตระหนี่ลาภเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๗/๑๑๘)





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๘๖-๔๘๗ | พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ , พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต , ๔. เทวตาวรรค , ๗. ทานสูตร
website : https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=22&siri=288
ภาพจาก : https://uttayarndham.org/dhama-daily





อรรถกถาทานสูตรที่ ๗ 
             
พึงทราบวินิจฉัยในทานสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เวฬุกณฺฏกี ได้แก่ เป็นชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ.
บทว่า ฉฬงฺคสมนฺนาคตํ ความว่า ประกอบไปด้วยองค์คุณ ๖ ประการ.
บทว่า ทกฺขิณํ ปติฏฐาเปติ ความว่า ถวายทาน.

บทว่า ปุพฺเพว ทานา สุมโน ความว่า เป็นผู้ถึงความโสมนัสตั้งเดือนหนึ่งว่า เราจักถวายทาน.
อธิบายว่า บุรพเจตนา ในคำว่า ปุพฺเพว ทานา สุมโน นี้ ย่อมมีแก่ผู้เริ่มต้นทำนา โดยคิดอยู่ว่า เราจักถวายทานด้วยข้าวกล้าที่เกิดจากนานี้ จำเดิมแต่กาลที่เกิดความคิดขึ้นว่า เราจักถวายทาน.
               
ส่วนมุญจนเจตนา(ความตั้งใจสละ) ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า เมื่อให้ย่อมยังจิตให้ผ่องใสดังนี้ ย่อมมีได้ในเวลาให้ทานเท่านั้น แต่อปรเจตนานี้ว่า ครั้นให้แล้วก็มีจิตปลาบปลื้มดังนี้ ย่อมมีแก่ผู้ระลึกถึงในภายหลัง ในกาลต่อๆ มา.

               
@@@@@@@

บทว่า วีตราคา ได้แก่ พระขีณาสพผู้ปราศจากราคะ.
บทว่า ราควินยาย วา ปฏิปนฺนา ความว่า ดำเนินปฏิปทาที่เป็นเหตุนำราคะออกไป.

และเทศนานี้เป็นเทศนาอย่างอุกฤษฏ์ แต่มิใช่สำหรับพระขีณาสพอย่างเดียวเท่านั้น แม้พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน โดยที่สุดแม้สามเณรผู้ถือภัณฑะบวชแล้วในวันนั้น ทักษิณาที่ถวายแล้วย่อมชื่อว่าประกอบไปด้วยองค์ ๖ ทั้งนั้น. เพราะว่า แม้สามเณรก็บวชเพื่อโสดาปัตติมรรคเหมือนกัน.

ความบริบูรณ์แห่งทาน ชื่อว่า ยัญสัมปทา.

บทว่า สญฺญตา ความว่า สำรวมแล้วด้วยคำสำรวมคือศีล.
บทว่า สยํ อาจมยิตฺวาน ความว่า ตนเองล้างมือ ล้างเท้า แล้วล้างหน้า.
บทว่า สเกหิ ปาณิภิ ความว่า ด้วยมือของตน. ปาฐะเป็น สเยหิ ก็มี.

บทว่า สทฺโธ ได้แก่ เชื่อคุณพระรัตนตรัย.
บทว่า มุตฺเตน เจตสา ความว่า มีจิตหลุดพ้นจากความตระหนี่ในลาภ เป็นต้น.
บทว่า อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลกํ ได้แก่ เทวโลกที่ปราศจากทุกข์ มีแต่สุข และโสมนัสอันโอฬาร.

                             จบอรรถกถาทานสูตรที่ ๗       
       




ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : pinterest
website : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=308
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 13, 2024, 10:34:26 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ