สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2013, 05:46:43 am



หัวข้อ: ทฤษฎี 'ทุกข์สัมพัทธ์' กับ "ลิงกำถั่ว" (แล้วมันจะกำทำไม)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2013, 05:46:43 am

(http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2013/02/17/f8b76bb7fcgeab5b5a755.jpg)

ทฤษฎี'ทุกข์สัมพัทธ์' : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา

หากจะกล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์เอกของโลก ๑๐ คนแรก คงไม่มีใครพลาดที่จะกล่าวถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธ์ แกยังเคยเอาแนวคิดของแกไปเปรียบเปรยเรื่องความรักให้ฟังว่า
    เวลา ๑ นาที ที่มือจับกาน้ำร้อน ผ่านไปช่างนานราว ๑ ชั่วโมง
    ในขณะที่เวลาที่อยู่กับหญิงสาวที่รัก ๑ ชั่วโมง ผ่านไปไวดั่ง ๑ นาทีเอง,
    นั่นแน่ ! นักวิทยาศาสตร์เอกผู้นี้โรแมนติกไม่เบา ด้วยเหตุนี้กระมัง ชั่วชีวิตแกจึงแต่งงานถึง ๓-๔ ครั้ง!

ไอน์สไตน์ เคยปรารภว่า ความเร็วแสงนั้นสูงสุด (ซึ่งอันนี้ผมไม่ปักใจเชื่อนัก ด้วยพระอาจารย์หลายองค์ยืนยันว่า ความเร็วของจิตที่ฝึกมาอย่างดี มีความเร็วสูงกว่านั้น) แล้วแกพูดเปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจว่า
    ความเร็วสัมพัทธ์ เป็นตัวบอกว่า ใครเร็วกว่าใครเท่านั้น หากแต่ละพารามิเตอร์อยู่โดยลำพัง
    จะบอกไม่ได้ว่า เร็วหรือช้า, เช่น รถยนต์แล่นมาด้วยความเร็ว ๘๐ กม./ชม.
    แกไม่อาจสรุปได้ว่า ช้าหรือเร็ว? เพราะ ๘๐ กม./ชม. หากเปรียบกับคนวิ่ง ก็ถือว่า เร็วกว่ามาก,
    แต่หากเปรียบกับเครื่องบิน ก็ถือว่า ช้ากว่ามากๆ เช่นกัน

ผมชอบมุกนี้ของแกจัง ยิ่งคิดตามยิ่งขลัง อดโยนิโสมนสิการเอามาประยุกต์ใช้กับเรื่องของ “ความทุกข์” ไม่ได้ สังเกตว่า
    ทุกคนที่กำลังมีความทุกข์ท้อใจอยู่นั้น ส่วนใหญ่ มักเผลอไปคิดเหมาเอาเองว่า
    ทุกข์ของฉันนั้นใหญ่ที่สุดในโลก บางคนพาลฟุ้งไปไกลกว่านั้นอีกว่า ไม่มีใครช่วยฉันได้
    โลกทั้งใบ ไม่มีคนสนใจฉันเลย เอ้า ว่าไปนั่น,
    ผมเลยขอยืมหลักการของไอน์สไตน์ มาคิดเป็นทฤษฎีใหม่ขึ้นมา โดยผสมหลักปฏิจสมุปบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าไปด้วย แล้วตั้งชื่อว่า “ทฤษฎีทุกข์สัมพัทธ์” โดยมีหลักการ ๕ ข้อ ดังนี้:

     ๑. ทุกข์ของคุณ ไม่ได้ใหญ่ที่สุดในโลกหรอก (แท้ที่จริง เล็กนิดเดียว)
     ๒.ทุกข์จะใหญ่ (มาก) หรือเล็ก (น้อย) ขึ้นอยู่ที่เปรียบเทียบกับอะไร
     ๓.ในโลกนี้มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-แล้วดับไป (สุข ไม่เคยมี, เพราะสุข ก็คือทุกข์จางๆ)
     ๔.ทุกข์ เกิดขึ้นเองโดยลำพังไม่ได้ (ต้องมีเหตุปัจจัย ตามกฎอิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป)
     ๕.ทุกข์ใดๆ สุดท้ายก็สลายไปกับสุญญตา เพราะเป็นอนัตตา อีกทั้งไม่เคยเป็นของผู้ใดทั้งสิ้น (ประดุจ การตีระฆัง ไม่ว่าจะออกแรงแค่ไหน ตีถี่เท่าใด เสียงระฆังล้วนสลายหายไปกับสุญญตาในที่สุด)
 
     เมื่อเผชิญกับความทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงมิได้ตั้งหน้าตั้งตาจะรังเกียจมันเลย กลับจะให้ความสำคัญกับความทุกข์เป็นกรณีพิเศษด้วยซ้ำไป พระองค์จึงทรงบัญญัติไว้เป็นประการแรกในอริยสัจ ๔ คือ "ทุกขสัจ"
     เมื่อเผชิญทุกข์แล้วต้องกำหนดรู้, หากไม่พบทุกข์ ก็ไม่พบสัจธรรม ไม่พบทุกข์ ก็ไม่เกิดเกิดศรัทธา
     ฝรั่งว่า No pain, no gain คล้ายว่า ไม่เจ็บ ก็ไม่ฉลาดขึ้น หรือ
     สำนวนที่ ท่านอาจารย์พุทธทาส มักใช้ คือ หาสุขได้จากทุกข์
     เพราะฉะนั้น ความทุกข์นั้น มีประโยชน์มากหลายอยู่ เป็นปัจจัยตั้งต้น ให้เราหาหนทางนิพพานได้ ในท้ายที่สุดนั่นเอง


http://www.youtube.com/watch?v=7utUX9QrBmw#ws (http://www.youtube.com/watch?v=7utUX9QrBmw#ws)
เผยแพร่เมื่อ 13 ม.ค. 2012 โดย kansineeo8


     ฉะนั้นเรามาพิจารณา กฎข้อที่ ๑ กัน "ทุกข์" ของเราไม่ได้ใหญ่ที่สุดหรอก อุปมาให้เป็นเชิงปริมาณ ลองยกจำนวนตัวเลขที่ท่านคิดว่ามากที่สุดมาจำนวนหนึ่ง เช่น ๑ แสนล้าน หากแต่เพียง ผมบวก ๑ เพิ่มเข้าไปในจำนวนนั้น ก็จะได้จำนวนที่มากกว่าจำนวนนั้นเสมอ ฉันใดก็ฉันนั้น จากนั้น ก็ลองเปรียบเทียบกับกรณีที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ

     กฎข้อที่ ๒ ตัวอย่างเช่น ความทุกข์ของเด็ก ๖ ขวบ อาจจะหมายถึงของเล่น หรือสมุดการบ้านหาย เด็กคนนั้น อาจจะร้องไห้จะเป็นจะตาย แต่ความทุกข์ชนิดนี้ ก็ไม่อาจเทียบได้กับอาการอกหักของเด็กวัยรุ่นที่อาจจะตีอกชกตัว อกไหม้ไส้ขม จนอาจเตลิดไปถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ แต่ทุกข์นี้ก็ยังเล็กกว่าผู้ใหญ่วัยทำงานที่ตกงาน ไม่มีเงินผ่อนรถ หนักเข้าถึงขั้นไม่มีเงินซื้อข้าวกิน เมื่อไล่ลำดับการเปรียบเทียบ "ทุกข์สัมพัทธ์" ไปเรื่อยๆ แล้วลองย้อนหันกลับมาดู "ปมปัญหา" ที่เรากำลังกลัดกลุ้มอยู่สิครับ กลายเป็นเรื่องนิดเดียวเลย จริงไหม?
 
    กฎข้อที่ ๓ ทุกข์เท่านั้น ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป นอกจาก ทุกข์นี้แล้ว ไม่มีอะไรเลย ผู้มีปัญญาทั้งหลาย จึงพากันมาสนใจ และ ศึกษาเรื่องทุกข์กันตั้งแต่ครั้นก่อนพุทธกาลด้วยซ้ำ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีใครพบหนทางดับทุกข์โดยสิ้นเชิงได้ จนกระทั่งเมื่อ ๒๖๐๐ ปีที่แล้ว พระพุทธเจ้าของเราก็ตรัสรู้เรื่องนี้ นั่นก็คือ

     กฎข้อที่ ๔
     ครั้งหนึ่ง พราหมณ์ท่านหนึ่ง ผู้สนใจใฝ่หาทางดับทุกข์สิ้นเชิง เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า หลังพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ พราหมณ์ ถามปัญหา ๔ ข้อ ซึ่งสำคัญยิ่ง โดยทั้งหมดมีนัยเพื่อจะรู้กระบวนการ การเกิดทุกข์ให้จงได้ (หาสาเหตุการเกิดทุกข์ก่อน แล้วค่อยหาวิธีดับทุกข์) และก็บังเอิญทุกคำถามนั้น พระพุทธเจ้าของเรา ทรงตอบว่า "ไม่ใช่" ทั้งหมดคำถามมีอยู่ว่า ...
     1. ทุกข์นั้นเกิดขึ้นเองโดยลำพัง ใช่หรือไม่?
     2. ทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะผู้อื่นเป็นผู้ก่อ ใช่หรือไม่?
     3. ทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะตัวเราเองเป็นผู้ก่อ ใช่หรือไม่?
     4. ทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะผู้อื่นและตัวเราเอง ร่วมกันเป็นผู้ก่อ ใช่หรือไม่?

     พราหมณ์ไม่เพียงแต่งงเป็นไก่ตาแตก ที่พระองค์ตอบแต่ 'ไม่ใช่' ลูกเดียว ซ้ำแกยังดูแคลนพระพุทธเจ้าของเราด้วยว่า ท่านสมณะโคดม เกรงว่าท่านจะไม่รู้จัก "ความทุกข์" แน่แล้วเชียว พระพุทธเจ้าตรัสห้ามไวก่อนพราหมณ์จะเดินหนีไป
 
    “ช้าก่อน ท่านพราหมณ์... เรารู้จักความทุกข์ดี ทุกข์นั้นไม่อาจเกิดเองโดยลำพังได้, ทั้งยังมิได้เกิดขึ้นเพราะผู้อื่น หรือตัวเอง หรือทั้งผู้อื่นและตัวเราเองทั้งสิ้น แต่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย” ...

     ว่าแล้วพระองค์ก็ตรัสสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ไล่ตั้งแต่ปฐมปัจจัยของสายแห่งการเกิดทุกข์ คือ อวิชชา ? สังขาร ? วิญญาณ  ? นามรูป  ? อายาตนะ  ? ผัสสะ  ? เวทนา  ? ตัณหา  ? อุปาทาน  ? ภพ  ? ชาติ ? ทุกข์

     เมื่อเราเข้าใจปฐมเหตุแห่งการเกิดทุกข์ลึกซึ้งถึงขนาดนี้แล้ว เราก็จะไม่ตีอกชกตัวเอง
     เพราะ ทุกข์เกิดเพราะเหตุปัจจัย อยากจะดับก็ให้ดับที่เหตุปัจจัย ใช้ปฐมคาถาครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าเทศน์โปรดคณะปัญจวัคคีย์ ทำให้ ท่านอัญญาโกณทัญญะ เกิดดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาปัตติผลในบัดดลทีเดียว


(http://www.dhammada.net/wp-content/uploads/2011/09/00194_16-400x511.jpg)

    ถึงตรงนี้ ผมอยากจะเสริมเรื่องของ “กับดักลิง”
    คนป่ามักใช้ล่อลิงโดยใส่ถั่วไว้ในกับดัก มีลักษณะเป็นโถ ทรงคล้ายแจกันปากแคบ มันกว้างพอดีที่ลิงจะจุ่มมือลงไป แต่แคบเกิน ที่ลิงจะกำมือออกมา และมันก็ได้ผลทุกทีไป เมื่อลิงจุ่มมือลงไปจ้วงถั่วในโถได้ มันจะกำมือที่เต็มไปด้วยถั่วอย่างแน่น จึงทำให้มือมันถูกล็อกไว้ด้วยกำปั้นของมันนั่นเอง
    ไม่น่าเชื่อว่า ไอคิวขนาดลิง ที่นับว่าฉลาดกว่าสัตว์ชนิดอื่น ยังถูกกิเลสลวงได้
    มันไม่ยอมสละถั่ว ทั้งๆ ที่รู้ว่า ถ้าปล่อยถั่ว แบมือออกแล้ว ก็จะชักมือกลับออกมาได้

    คนเรา หลายครั้งก็พลาดท่าเสียทีแบบลิงนี้แหละ หลายคนทุกข์เพราะไปคว้าเอาสิ่งที่ไม่ใช่ของๆ ตน
    หรือส่วนเกินในชีวิตเข้ามาครอง อาทิ เช่น กิ๊ก เป็นต้น
    ต่อมาก็เกิดความไม่สมดุลในชีวิต ผลิตความทุกข์แก่ตัวเอง ครอบครัว หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย
    ครั้นพอได้สติ ก็รู้ว่า สาเหตุแห่งทุกข์ (ต้นตอของปัญหา) คือ ตัณหาที่หลงใหลกิ๊กนี่เอง ต้องสละทิ้ง ตัดรากถอนโคนไปเสีย ก็จะจบสิ้น (เหมือนมือลิงที่ปล่อยถั่วออกไป) แต่กลับไม่ยอมตัดใจปล่อยกิ๊กไป จิตมันโง่เหมือนลิง ที่ดิ้นทุรนทุราย ตะโกนร้องให้เพื่อนช่วยจนลั่นป่า"ลิง" เป็นฉันใด "คน" ก็เป็นฉันนั้น

     เมื่อได้พินิจพิจารณาในกฎทั้ง ๔ ข้อ อย่างชำนาญแล้ว จะสามารถขมวดมาเป็น กฎข้อที่ ๕ ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายได้ว่า ที่สุดแล้ว ทุกข์ใดๆ ก็ย่อมต้องสลายไปกับสุญญตา หรือจะกล่าวให้ชัดก็คือ จิตว่างนั้น มีอยู่ก่อนแล้วโว้ย ความทุกข์เป็นเพียงแขกที่ไม่ได้รับเชิญ ผ่านเข้ามาชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ประหนึ่งการออกแรงตีระฆังให้แรง ให้ดังสุดชีวิตยังไง เสียงระฆังย่อมต้องสลายหายไปในอากาศทุกครั้งไป

      เพราะฉะนั้นหลักการทั้ง ๕ ข้อนี้ หากใครพิจารณาให้มากเข้า อาจหาสุขได้จากทุกข์ กระทั่งได้สัมผัสความสงบเย็นได้โดยโยนิโสมนสิการ เป็นสันติภาพส่วนบุคคลอย่างไม่เหลือวิสัยนะครับ และถ้าทุกคน จัดการความทุกข์ของตัวเอง จนเกิดสันติภาพแม้เพียงน้อยๆ ขึ้นในจิตใจได้ด้วยตัวเองกันทุกคนแล้วไซร้ สังคมก็จะเกิดสันติภาพเองโดยปริยาย ด้วยทฤษฎีทุกข์สัมพัทธ์ ๕ ข้อนี้จะไปสู่สุขสัมพัทธ์อย่างง่ายดาย ผมเชื่อของผมอย่างนั้นจริงๆ ครับผม


ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.komchadluek.net/detail/20130218/152104/ทฤษฎีทุกข์สัมพัทธ์.html#.USKpJfJ6W85 (http://www.komchadluek.net/detail/20130218/152104/ทฤษฎีทุกข์สัมพัทธ์.html#.USKpJfJ6W85)
http://www.dhammada.net/ (http://www.dhammada.net/)