สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 19, 2013, 07:23:57 pm



หัวข้อ: มหาจุฬาฯเตรียมรับเออีซี..."หลักสูตรพุทธนานาชาติ"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 19, 2013, 07:23:57 pm

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2013/03/bud02170356p1.jpg&width=360&height=360)

มหาจุฬาฯเตรียมรับเออีซี หลักสูตรพุทธนานาชาติ

พระพุทธศาสนา เข้ามามีบทบาทในการขัดเกลา หล่อหลอมสภาพจิตใจ อุปนิสัย วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ในภูมิภาคอาเซียนมาอย่างยาวนานกว่าสองพันปี นับตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราช ส่งพระธรรมทูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นต้นมา

ถือเป็นจุดแข็งของชาวอาเซียนที่จะนำเอาต้นทุนทางสังคม และวัฒนธรรมดั้งเดิมมาใช้เป็นรากฐานในการสร้างความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ตามกรอบความร่วมมือด้านสังคม และวัฒนธรรมให้พัฒนายิ่งขึ้นไป

ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเกียรติจากชาวพุทธประเทศต่างๆ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลกตามมติขององค์การสหประชาชาติ ต่อเนื่องกันหลายปี พร้อมกันนั้นได้มีการก่อตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

หากเรามองเน้นไปที่การจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา อาจมีคำถามว่าสถาบันที่รับผิดชอบด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยตรงอย่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีแนวคิดและการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างไร


(http://www.mcu.ac.th/userfiles/image/IRD/Pic_for_NEws/BannerwebODB19.jpg)

พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ) คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาฯ กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในแง่การจัดการศึกษาพระพุทธศาสนานั้น ได้เตรียมความพร้อมไว้ 5 ด้าน ดังนี้

1.ด้านหลักสูตร มีการออกแบบหลักสูตรให้ผู้เรียนเข้าถึงความเป็นพุทธะ แบบบริสุทธิ์ในคัมภีร์และความเป็นพุทธะในเชิงวัฒนธรรมของชาวอาเซียน สร้างคุณสมบัติของบัณฑิตให้เกื้อกูลต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตามหลักพระพุทธศาสนา ด้วยการจัดการศึกษาในเชิงบูรณากับศาสตร์สมัยใหม่ ด้วยการนำวิชาเหล่านี้เข้ามาไว้ในหลักสูตร อาทิ วิชาพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ วิชาพระพุทธศาสนากับวิชาชีพ วิชาจิตปรึกษาและการเยียวยาเชิงพุทธ และวิชาพระพุทธศาสนากับสันติภาพ เป็นต้น

2.ด้านการวิจัย ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านการวิจัยทางพระพุทธศาสนาระหว่างอาเซียนด้วยกันแบบข้ามวัฒนธรรม (Cross-cultural) เช่น เรื่องคัมภีร์ ความเชื่อท้องถิ่น และศิลปะทางพระพุทธศาสนาที่อยู่ในวัฒนธรรมประเพณีของชาวอาเซียนในแต่ละประเทศ นำไปสู่การเข้าใจในวิถีชีวิตในทุกชาติพันธุ์อย่างแท้จริง

3.ด้านบุคลากร ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางพระพุทธศาสนาทั้งสายวิชาการและวิชาชีพ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาระหว่างกัน เป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของตนให้เป็นผู้มีปัญญา รอบรู้ในทุกด้าน

4.ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งเสริมให้มีเทคโนโลยีสารสนเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารด้านพระพุทธศาสนาระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน มีแหล่งข้อมูลทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนา มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยอยู่ตลอด ทั้งผ่านทางเว็บไซต์ www.mcu.ac.th (http://www.mcu.ac.th) หรือทางเฟซบุ๊ก บัณฑิตวิทยาลัย มจร.

5.ด้านนิสิต ได้ส่งเสริมให้แลกเปลี่ยนนิสิตระหว่างสถาบันที่จัดการเรียนการสอนทางพระพุทธศาสนา และส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกันระหว่างนิสิตภายในกลุ่มประเทศอาเซียน


(http://gds.mcu.ac.th/userfiles/image/grad/Banner2A.jpg)

พระสุธีธรรมานุวัตรสรุปว่า เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในอีกสองปีข้างหน้า บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโท และปริญญาเอก วิชาพระพุทธศาสนากับประชาคมอาเซียน เป็นวิชาบังคับ ระดับปริญญาเอก ในปีการศึกษา 2556

เนื้อหาวิชา ศึกษาประเด็นที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับเสาหลักของอาเซียน 3 อย่าง คือ
     1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน
     2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ
     3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คาดว่าจะมีการยกระดับเป็นหลักสูตรสาขาวิชาอาเซียนศึกษา ในอีกไม่เกิน 3 ปี

     เน้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้ถึงแก่นแท้ทางพระพุทธศาสนาที่อยู่ในพระไตรปิฎกและพระพุทธศาสนาในเชิงประเพณีวัฒนธรรมของประเทศอาเซียน ให้สามารถนำไปบูรณาการเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจสู่การเป็นผู้มีปัญญา สามารถแก้ไขปัญหาได้ในทุกสถานการณ์ ดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขร่วมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประชาคมอาเซียน

     ทั้งนี้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาฯ จะเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ปีการศึกษา 2556 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 มี.ค. ทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ
     สอบถามโทร.0-2222-0680


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdNakUzTURNMU5nPT0=&sectionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE15MHdNeTB4Tnc9PQ== (http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdNakUzTURNMU5nPT0=&sectionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE15MHdNeTB4Tnc9PQ==)
http://gds.mcu.ac.th/,http://www.mcu.ac.th/ (http://gds.mcu.ac.th/,http://www.mcu.ac.th/)