หัวข้อ: "บ้านอยู่กับน้ำ" 3 ไอเดียนักศึกษา เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 04, 2013, 10:46:41 am (http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2013/04/you01020456p1.jpg&width=360&height=360) ทีม F-L-O-W และผลงานคว้าแชมป์ บ้านอยู่กับน้ำ 3ไอเดียนักศึกษา สดจากเยาวชน ปัณณพร นิลเขียว เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รัฐบาลและหลายหน่วยงานจึงผุดโครงการต่างๆ เพื่อรับมือน้ำท่วมใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มาตรการหนึ่งคือการกำหนดพื้นที่รับน้ำและพื้นที่น้ำไหลผ่าน (ฟลัดเวย์) ซึ่งทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผล กระทบจำนวนหนึ่ง มูลนิธิที่อยู่อาศัย (Habitat for Humanity Thailand) ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย จึงร่วมกับ บริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด จัดโครงการประกวดออกแบบบ้าน "ฟลัดเวย์โฮม-บ้านอยู่กับน้ำ" สำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ส่งผลงานได้ทั้งแบบเดี่ยว และกลุ่มไม่เกิน 3 คน ข้อกำหนดในการออกแบบคือต้องเป็นบ้านเดี่ยว มีพื้นที่ใช้สอยขนาด 32-40 ตารางเมตร สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ราคาก่อสร้างบ้านไม่เกิน 1.5 แสนบาท (ไม่รวมค่าฐานราก) โดยบ้านจะต้องมั่นคงแข็งแรง รองรับภาวะน้ำท่วมหรือฟื้นฟูให้กลับมาอยู่อาศัยได้อย่างรวดเร็ว และเป็นบ้านสำหรับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคกลาง สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมไทย รวมถึงส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในชุมชน ภายหลังเปิดรับสมัครมีนักศึกษาสถาบันต่างๆ ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมาก ทีมที่ได้รับคัดเลือกเป็น 3 ทีมสุดท้ายเพื่อสร้างบ้านจริงให้ผู้ประสบภัยใน ต.บางนา อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา คือ ทีม "บ้านแบ่งให้คิด" ทีม "HFF-House For Flood" และ ทีม "F-L-O-W" ทั้งหมดเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2013/04/you01020456p2.jpg&width=360&height=360) บ้าน F-L-O-W คว้ารางวัลชนะเลิศ ชาญศิลป์ ตาลเอี่ยม, วรัท รอดเพชรไพร และ วิชญ์ภาส ถาวโรฤทธิ์ จาก ทีม "บ้านแบ่งให้คิด" เล่าว่าพวกเราออกแบบบ้านให้ผู้ประสบภัยด้วยแนวคิดยกบ้านหนีน้ำ และยังออกแบบให้มีเส้นทางและพื้นที่ชุมชนที่เจ้าของบ้านสามารถต่อเติมจากส่วนชานบ้านได้ในเวลาน้ำท่วม เพื่อคงไว้ซึ่งระบบสัญจรภายในชุมชน โดยให้เป็นพื้นที่อิสระที่เจ้าของบ้านจะต่อเติมตามรูปแบบวิถีชีวิตของตนเอง ขณะที่ ทีม "HFF-House For Flood" สมาชิกประกอบด้วย ชัยภัทร ชุติคามี, เพิ่มพล เพิ่มพูลสินชัย และ สุพพัต ทองอุไรพร เล่าว่าบ้านของพวกเขาสร้างด้วยแนวคิดบ้านที่จำศีลได้เหมือนกบ ออกแบบให้มีพื้นที่ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง มีถังเก็บน้ำใช้จากรางน้ำฝน สามารถใช้หลังคาตากน้ำให้เป็นน้ำสะอาดเพื่อใช้ดื่มยามน้ำท่วม ไปจนถึงการออกแบบให้บ้านมีลมพัดผ่านระบายความร้อน สุดท้าย ทีม F-L-O-W โดย รวิภา อุสาหะนันท์ และธาวิน หาญบุญเศรษฐ เล่าว่าร่วมกันออกแบบบ้านภายใต้แนวคิดบ้านที่ไหลเวียนได้ทั้งน้ำ อากาศ และการอยู่อาศัย เน้นที่การระบายอากาศ การปั่นไฟ และการสำรองน้ำ โดยออกแบบบ้านเชื่อมต่อกัน 2 หลัง ด้วยความสูงที่แตกต่างเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำที่แตกต่างกัน พื้นที่ส่วนกลางสามารถปลูกผักสวนครัวได้ ไปจนถึงการจัดเตรียมถังสำรองน้ำที่กรองน้ำได้ในตัวไว้ในบ้าน ภายหลังบ้านของนักศึกษาทั้ง 3 ทีมเสร็จสิ้น จึงมีกิจกรรมประกาศผลการประกวดโครงการฟลัดเวย์โฮม-บ้านอยู่กับน้ำ และส่งมอบบ้านอยู่กับน้ำให้ ผู้ประสบอุทกภัย ที่บริเวณบ้านหลังใหม่ ต.บ้านนา อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ผลการตัดสินของคณะกรรมการซึ่งเป็นคณาจารย์ด้านสถาปัตย กรรมศาสตร์ เจ้าหน้าที่จากบริษัท เอสซีจี และมูลนิธิที่อยู่อาศัย ตัดสินให้ ผลงานของทีม F-L-O-W คว้ารางวัลชนะเลิศ โดยส่งมอบบ้านให้กับ คุณยายสมาน สุขประสิทธิ์ ส่วนทีม "HFF-House For Flood" ซึ่งได้รับรางวัลอันดับสอง ส่งมอบบ้านให้ ลุงจรัญ ทองมี ขณะที่ทีม "บ้านแบ่งให้คิด" ที่คว้าอันดับสาม ส่งมอบบ้านให้ ป้ารำไพ มีพวง (http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2013/04/you01020456p3.jpg&width=360&height=360) 1.ทีม HFF-House For Flood คว้าอันดับสอง ส่งมอบบ้านให้ลุงจรัญและภรรยา2.ตัวแทนจากเอสซีจีและมูลนิธิที่อยู่อาศัยส่งมอบบ้านให้ชาวบ้าน 3.โมเดลบ้านของทีม HFF-House For Flood 4.ทีมบ้านแบ่งให้คิดมอบบ้านให้ป้ารำไพ รวิภา อุสาหะนันท์ สมาชิกทีม F-L-O-W เจ้าของรางวัลชนะเลิศ เล่าว่าช่วงอุทกภัยปี 2554 มีโอกาสเป็นอาสาสมัครไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เห็นความยากลำบากของคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วม ในครั้งนั้นไม่รู้จะช่วยคนเหล่านั้นอย่างไร ทำได้เพียงช่วยแจกเสบียงอาหาร แต่เมื่อได้ส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการนี้จนเข้ารอบ 3 ทีมสุดท้ายและมีโอกาสสร้างบ้านจริงๆ ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ รู้สึกดีใจเพราะหากเทียบกับสภาพบ้านหลังเก่าที่เผชิญน้ำท่วม บ้านหลังใหม่น่าจะทำให้คุณยายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น "เวลาเราออกแบบตอนเรียน มันก็อยู่แค่ในความคิดเป็นทฤษฎีที่ได้เรียนมา เราไม่ได้รู้ว่าสิ่งที่เราออกแบบมันจะมีปัญหาอะไรในหน้างานจริง แต่เมื่อได้มาสร้างบ้านจริงๆ ในโครงการนี้ เราเจอปัญหาตลอด และได้รู้ว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราออกแบบมามันสร้างได้ไหม ต้องปรับตรงไหนบ้าง" รวิภาเล่าถึงประสบการณ์เมื่อออกสนามจริง ขณะที่ คุณป้ารำไพ ที่ได้รับมอบบ้านจาก "ทีมบ้านแบ่งให้คิด" กล่าวอย่างมีความสุขว่าดีใจที่ได้รับมอบบ้านจากโครงการนี้ เพราะในช่วงที่น้ำท่วมใหญ่ต้องย้ายไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัด และย้ายของบางอย่างที่พอขนได้หนีน้ำไปไว้ริมถนนใหญ่ "อยากให้น้องๆ นักศึกษาที่มาออกแบบบ้านให้ตนเองและญาติๆ ได้อยู่อาศัยศึกษาเล่าเรียนต่อไปให้สูงๆ เพื่อที่วันหนึ่งจะได้นำความรู้ไปช่วยเหลือคนอื่นๆ เหมือนที่ได้ช่วยตนเองในครั้งนี้" ป้ารำไพกล่าวทิ้งท้าย ขอบคุณภาพข่าวจาก http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNVEF5TURRMU5nPT0=§ionid=TURNeE1RPT0=&day=TWpBeE15MHdOQzB3TWc9PQ== (http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNVEF5TURRMU5nPT0=§ionid=TURNeE1RPT0=&day=TWpBeE15MHdOQzB3TWc9PQ==) วันที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2556 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8160 ข่าวสดรายวัน |