สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ เมษายน 16, 2013, 08:27:35 am



หัวข้อ: สิกขาบทแรก กำเนิดจาก "สุทินน์ กลันทบุตร"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 16, 2013, 08:27:35 am

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2013/04/hap06140456p1.jpg&width=360&height=360)

พระพุทธรูป ปางปฐมบัญญัติ
คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรมไทย โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

     พระพุทธรูปนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองข้างตะแคงยืนไปข้างหน้า
     ความสำคัญยิ่งของปางปฐมบัญญัตินี้ เกิดขึ้นมาจากคำถามของพระสารีบุตรอัครสาวก
     ถามในทำนองที่ว่า
    "อะไรทำให้พระพุทธศาสนาในอดีตกาลคือ ศาสนาของพระกกุสันธะ พระโกนาคม และพระกัสสปพุทธเจ้าดำรงอยู่ได้นาน"

พระพุทธเจ้าตอบว่า "เพราะพระพุทธ เจ้าทั้ง 3 พระองค์นั้น ทรงแสดงธรรม แก่สาวกทั้งหลายโดยพิสดาร (แปลว่า โดยละเอียดทั้งสิกขาบททรงบัญญัติ และทั้งปาฏิโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวกทั้งหลาย) เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว พระศาสนาจึงได้ดำรงอยู่นาน"

พระสารีบุตรจึงขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทที่จะแสดงพระปาฏิโมกข์แก่พระสาวกเพื่อพระพุทธศาสนายั่งยืนอยู่ได้นาน

พระพุทธเจ้าได้ตอบแก่พระสารีบุตรความว่า การที่ยังไม่ได้บัญญัติสิกขาบทจะยังไม่แสดงปาฏิโมกข์แก่สาวกทั้งหลายก็เพราะยังไม่เกิดเรื่องที่เป็นเหตุแห่งความเสื่อมในพระพุทธศาสนา เมื่อมีเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมเมื่อใด หรือมีพระภิกษุประพฤติไม่ดี ไม่งาม ไม่ชอบ ด้วยพระธรรมวินัย ในศาสนานี้เมื่อใดก็จะบัญญัติสิกขาบทและแสดงปาฏิโมกข์เมื่อนั้น

    กรณีแรกที่บัญญัติก็คือ พระสาวกรูปหนึ่งชื่อ สุทินน์ กลันทบุตร
    มาขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ถูกบิดาขอร้องให้สึกเพื่อมีบุตรไว้สืบสกุล
    และเพื่อมิให้เจ้าลิจฉวีเจ้าเมืองเวสาลียึดทรัพย์สินเมื่อตนได้ตายจากไป
    เพราะไม่มีบุตรหลานเอาไว้รักษาสมบัติ

    พระสุทินน์ กลันทบุตรจึงยอมตามบิดาได้มีบุตรไว้ให้บิดาสืบสกุล
    แล้วก็รู้สึกไม่สบายใจรู้ว่าเป็นการประพฤติไม่งาม
    เพื่อนพระภิกษุจึงได้นำเรื่องไปทูลถามพระพุทธเจ้า
    จึงบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้นและได้กล่าวถึงประโยชน์ 10 ประการ ของการมีสิกขาบท

    นี่คือ คติแห่งความสำคัญของศีลของสิกขาบทที่พระพุทธเจ้า ได้แสดงปาฏิโมกข์ไว้ให้แก่พระสาวก เพื่อยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติของความเป็นสงฆ์ มีดังนี้
     1. เพื่อความดีแห่งสงฆ์
     2. เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์
     3. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (ไม่รู้จักอาย)
     4. เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
     5. เพื่อกำจัดอาสวะอันจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน
     6. เพื่อป้องกันอาสวะอันจะเกิดขึ้นในอนาคต
     7. เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของผู้ยังไม่เลื่อมใส
     8. เพื่อความเจริญแห่งความเลื่อมใสของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว
     9. เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
   10. เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdOakUwTURRMU5nPT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBeE15MHdOQzB4TkE9PQ== (http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdOakUwTURRMU5nPT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBeE15MHdOQzB4TkE9PQ==)