หัวข้อ: “นอนกรน” ภัยเงียบที่มักถูกมองข้าม "ใช่แต่ผู้ใหญ่..เด็กก็นอนกรน" เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 28, 2013, 08:52:15 am (http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/cover/199860.jpg) “นอนกรน”ภัยเงียบที่มักถูกมองข้าม คณะแพทย์ มช.เตือน "นอนกรน" เป็นภัยเงียบที่ร้ายแรงแต่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม ย้ำรักษาได้ก่อนส่งผลเสียต่อชีวิตในระยะยาว วันนี้ (25 เม.ย.) ผศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บเกิดจากหลายสาเหตุ แต่โรคที่เป็นภัยเงียบและร้ายแรงที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม คือ การนอนกรน ซึ่งจะพบประมาณร้อยละ 20 ของคนทั่วไป ทั้งเด็กผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การนอนกรนธรรมดาที่เกิดจากการตีบแคบลงของทางเดินหายใจขณะนอนหลับบางส่วน ทำให้เกิดเสียงแต่จัดเป็นชนิดไม่อันตราย ส่วนอีกประเภทคือ การนอนกรนที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย เนื่องจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจขณะนอนหลับทำให้เกิดการหยุดหายใจ จึงทำให้เสียงกรนไม่สม่ำเสมอ อาจมีการสะดุ้งตื่น กลั้นหายใจ หายใจแรงหรือสำลักร่วมด้วย ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งจะผลเสียต่างๆ ได้แก่ 1. ง่วงนอนตอนกลางวัน มีผลต่อการเรียน การทำงานหรืออาจเกิดอุบัติเหตุในการขับรถหรือควบคุมเครื่องจักรกล 2. ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความจำลดลง หงุดหงิดอารมณ์เสียง่ายกว่าปกติ 3. ในเด็กจะมีพัฒนาการของสมองและร่างกายไม่ดี และ 4. มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผศ.พญ.นันทิการ์ กล่าวต่อไปว่า การรักษานอนกรนมีหลายวิธี เช่น ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ โดยจำกัดปริมาณและชนิดอาหาร การออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และควรหลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้ง่วง อาทิ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท และยาแก้แพ้ชนิดง่วง รวมทั้งหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนอนหงาย โดยพยายามนอนในท่าตะแคงข้าง และนอนศีรษะสูงเล็กน้อย และรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และไซนัสอักเสบ การรักษาด้วยการจี้คลื่นความถี่วิทยุ (RF) เพื่อให้เนื้อเยื่อของทางเดินหายใจหดตัวลงและทางเดินหายใจกว้างขึ้น รวมถึงการผ่าตัดทอนซิลและอะดีนนอยด์ในเด็กที่มีต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โต เป็นต้น “การนอนกรนสามารถรักษาได้ ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ คลินิกนอนกรน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 – 15.30 น. โทร. 0-5394-5745 หรือ 0-5394-6696” ผศ.พญ.นันทิการ์ กล่าว. ขอบคุณภาพข่าวจาก http://www.dailynews.co.th/education/199860 (http://www.dailynews.co.th/education/199860) วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2556 เวลา 15:19 น. |