หัวข้อ: ลมหายใจแห่งพระพุทธศาสนา...ในเมียนมาร์ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 02, 2013, 09:01:05 am (http://www.posttoday.com/media/content/2013/04/27/70C195953A4C4390B032C6EC13950CEE.jpg) ลมหายใจแห่งพระพุทธศาสนา...ในเมียนมาร์ โดย...ทีมงานโลก 360 องศา keb_toke@plat360.com ถึงแม้ว่าประชากรของประเทศเมียนมาร์จะมีความแตกต่างและหลากหลายในเรื่องเชื้อชาติ แต่เกือบทั้งหมดก็นับถือศาสนาพุทธ โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของประชากรทั้งประเทศ อีกทั้งประเทศเมียนมาร์ก็ได้มีการบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าประเทศเมียนมาร์เป็นเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการมาไม่ถึง 50 ปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธศาสนาได้ก่อเกิดและฝังรากลึกมาในดินแดนเมียนมาร์นานนับสองพันปี ศาสนาพุทธในเมียนมาร์นั้นมีรากฐานมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่าได้เข้ามายังดินแดนแถบนี้ใน พ.ศ. 236 เมื่อครั้งที่พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 และได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศต่างๆ รวมถึงเมียนมาร์ โดยสมณทูตคณะหนึ่งมีพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ก็ได้เดินทางมายังเมืองสะเทิม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของสุวรรณภูมิตามความเชื่อของชาวเมียนมาร์ นับจากนั้นเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาในประเทศนี้ก็เริ่มเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับจนกระทั่งถึงปัจจุบัน การเดินทางมาที่เมียนมาร์นั้น เรามักจะพบเห็นภิกษุสามเณรจำนวนมาก เดินปะปนอยู่กับผู้คนตามท้องถนน และไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนก็จะพบเห็นวัดวาอารามน้อยใหญ่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมเมือง ดังนั้นบรรดาชาวพุทธจากทั่วทุกมุมโลกต่างเดินทางมาสักการะศาสนสถานสำคัญๆ ในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเชื่อกันว่ามีอยู่ 5 สถานที่หลัก ชาวพุทธไม่ควรพลาด เรียกว่า “เบญจมหาบูชาสถาน” หรือสถานที่อันยิ่งใหญ่ที่ควรค่ากับการเคารพบูชาอันประกอบไปด้วย (1) มหาเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง (2) เจดีย์ชเวสิกองที่เมืองพุกาม (3) พระธาตุอินแขวนที่เมืองไจ๋โถ่ว (4) พระธาตุมุเตาที่เมืองหงสาวดี และ (5) พระมหามัยมุนีที่เมืองมัณฑะเลย์ (http://www.posttoday.com/media/content/2013/04/27/95C359BD5B2F4F55AE2F09443A687BEE.jpg) ในอดีตนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานที่เมืองเมืองยะไข่ แต่เมื่อพระเจ้าปดุงเข้าไปปกครองเมือง จึงรับสั่งให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองมัณฑะเลย์ พระมหามัยมุนีนั้นจึงเปรียบเสมือนพระคู่บ้านคู่เมือง อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวเมียนมาร์ และจากตำนานที่เล่าว่า พระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจให้แก่พระพุทธรูปองค์นี้ เพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์ในการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ธำรงอยู่ต่อไปในภายหน้า ทำให้ชาวเมียนมาร์มีความเชื่อว่า พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิตและมีลมหายใจ กลายเป็นที่มาของพิธีล้างพระพักตร์ที่สืบทอดกันมานานกว่า 1,800 ปี ที่จะทำกันทุกเช้าตั้งแต่ตี 4 และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าด้วย แต่ต้องแต่งกายเรียบร้อยและแสดงกิริยาเคารพต่อสถานที่และพิธีการ ในทุกๆ เช้า บรรดาพุทธศาสนิกชนชาวเมียนมาร์จะเดินทางมาที่วัดนี้ เพื่อมาร่วมพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี ซึ่งพิธีการก็ทำเสมือนกับคนที่ตื่นขึ้นมาต้องล้างหน้าแปรงฟันทุกเช้า โดยพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีจะทำการประพรมน้ำผสมเครื่องหอมที่ทำจากเปลือกไม้ทานาคา จากนั้นก็จะใช้แปรงขัดสีพระโอษฐ์ และใช้ผ้าเปียกลูบไล้เครื่องหอมให้ทั่วพระพักตร์ ก่อนที่จะซับด้วยผ้าแห้งและขัดจนเนื้อทองเป็นเงางาม นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระพักตร์ของพระมหามัยมุนีเป็นประกายอยู่เสมอ (http://www.posttoday.com/media/content/2013/04/27/C24D18A5CD984BE3BDC3BF82A5E7AA74.jpg) เมืองมัณฑะเลย์นั้นนอกจากจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในเบญจมหาบูชาสถานแล้ว ที่เมืองนี้ยังมีความสำคัญในการเป็นเมืองแห่งการศึกษาพระพุทธศาสนา เพราะว่าที่นี่มีมหาวิทยาลัยสงฆ์อยู่เป็นหลายแห่ง และหนึ่งในนั้นคือ วัดมหากันดายง ซึ่งวัดนี้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมาร์ และมีภิกษุสามเณรมาศึกษาอยู่ที่นี่กว่า 1,000 รูป การศึกษาพระธรรมในเมียนมาร์นั้นอาจจะแตกต่างจากบ้านเราอยู่บ้าง ตรงที่พระสงฆ์จะไม่ศึกษาเพียงแค่คำสอนในพระพุทธศาสนาเท่านั้น หากแต่ว่าจะเล่าเรียนหลักสูตรวิชาสามัญควบคู่กันไป ด้วยเหตุนี้ชาวเมียนมาร์จึงนิยมให้บุตรหลานมาบวชเรียนที่วัด เพื่อศึกษาพระธรรมและความรู้ควบคู่กันไป นอกจากนี้ การบวชเรียนยังมีผลในด้านความเชื่อของชาวเมียนมาร์ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายชาวเมียนมาร์มีความเชื่อว่า หากมีโอกาสได้อุปสมบทเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา จะได้รับการยอมรับจากผู้คนในสังคม ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของผู้ชายชาวเมียนมาร์ ส่วนหญิงชาวเมียนมาร์นั้น ก็สามารถบวชเป็นแม่ชีเพื่อศึกษาพระธรรมและร่ำเรียนวิชาการได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแม่ชีชาวเมียนมาร์นั้นจะนุ่งห่มจีวรสีชมพูอ่อน และอาจจะไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบริเวณวัดก็ได้ แต่สามารถพำนักอยู่ในสำนักชี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ใกล้ๆ วัด (http://www.posttoday.com/media/content/2013/04/27/8D1B7EE1F32E4188A0E9F11858FA8F16.jpg) การมาเยือนมัณฑะเลย์นั้น เราจะสังเกตเห็นว่าที่นี่มีวัดวาอารามมากมาย และก็มักจะเห็นผู้คนเดินทางมาที่วัดเพื่อประกอบศาสนากิจตลอดทั้งวัน สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะชาวเมียนมาร์มีความเชื่อว่าการยึดถือหลักธรรมคำสอนนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่การหลุดพ้นเท่านั้น หากแต่ว่าต้องสามารถอยู่รอดในชีวิตประจำวันได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นแล้ว ความเชื่อด้านศาสนาของชาวเมียนมาร์ยังมีอิทธิพลกับวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวเมียนมาร์ จนบางครั้งก็ยากที่จะแยกออกว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนกัน ความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวเมียนมาร์ ยังแสดงออกมาให้เห็นด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันสร้างและทำนุบำรุงวัดวาอารามและการปฏิบัติศาสนกิจอย่างสม่ำเสมอ เสมือนหนึ่งว่าพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวเมียนมาร์ เรื่องราวแห่งลมหายใจของพระพุทธศาสนาในประเทศเมียนมาร์ยังมีอีกหลายแง่มุมให้ได้ชมกัน ติดตามชมได้ในรายการ โลก 360 องศา คืนนี้ เวลา 21.30-22.00 น. ทาง ททบ. 5 หรือติดตามชมรายการย้อนหลังได้ที่ www.plat360.com (http://www.plat360.com) (http://www.posttoday.com/media/content/2013/04/27/B4B68CF701AD4E7C90F8175ACF63FF33.jpg) ขอบคุณภาพข่าวจากwww.posttoday.com/กิน-เที่ยว/เที่ยวทั่วโลก/218683/ลมหายใจแห่งพระพุทธศาสนา-ในเมียนมาร์ (http://www.posttoday.com/กิน-เที่ยว/เที่ยวทั่วโลก/218683/ลมหายใจแห่งพระพุทธศาสนา-ในเมียนมาร์) 27 เมษายน 2556 เวลา 11:25 น. |