สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 24, 2013, 10:14:50 am



หัวข้อ: "ลาวดวงเดือน" ในคืนเพ็ญเดือน ๖
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 24, 2013, 10:14:50 am

(http://www.thairath.co.th/media/content/2013/05/22/346338/hr1667/630.jpg)

จะหาไหนมาเทียม...โอ้เจ้าดวงเดือน...เอ้ยยย...

ชื่อเรื่องวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง "ลาวดวงเดือน" ที่ผมตัดตอนมาเพียงช่วงสั้นๆ เพราะประทับใจในเนื้อความของเพลงตอนนี้เป็นอย่างยิ่ง ผู้ประพันธ์เพลงนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสลำดับที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดามรกฎ

ประสูติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2425 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานสถาปนาให้เป็น "พระองค์เจ้าต่างกรม" ที่ "กรมหมื่น" เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ก่อนที่พระองค์จะประชวรสิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 ซึ่งเป็นเวลาก่อนสมเด็จพระบรมชนกนาถเพียงไม่ถึงปี ด้วยพระชนมายุเพียง 28 พรรษาเศษเท่านั้น

ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ทางด้านเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ.2446 ขณะที่ทรงมีพระชนมพรรษา 20 พรรษา และก่อนหน้านั้นคือในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของสยามประเทศ โดยได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว คือ ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า เพื่อให้มาทำการทดลองเลี้ยงไหมตามแบบกรรมวิธีของญี่ปุ่น และพร้อมกันนั้นก็ให้ฝึกอบรมสั่งสอนนักเรียนไทย ที่ต้องทรง "จ้าง" ให้เข้ามาเรียนวิชาการเลี้ยงและการทำไหมแผนใหม่ตามแบบญี่ปุ่นด้วย

ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพฯ  ซึ่งในตอนนั้นคือส่วนหนึ่งของวังสระปทุมของรัชกาลที่ 4 และปัจจุบันคือ บางส่วนของเซ็นทรัลเวิลด์ บางส่วนของวังสระปทุมที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ บางส่วนของโรงพยาบาลตำรวจ และบางส่วนของสยามสแควร์


(http://i155.photobucket.com/albums/s287/tham_photo/OP0241.jpg)

ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2446 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง "กรมช่างไหม" ขึ้น โดยมีพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ฯ ทรงเป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า "โรงเรียนกรมช่างไหม" เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เมื่อครั้งที่เสด็จฯ กลับจากประเทศอังกฤษใหม่ๆ  พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ฯ ได้เสด็จไปนครเชียงใหม่ ราวปี พ.ศ. 2446
    ขณะนั้นทรงมีพระชนมพรรษาได้ 20 พรรษาเศษ ทรงได้พบและชอบพอกับเจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่
    พระธิดาใน เจ้าราชสัมพันธวงศ์ธรรมลังกา ณ เชียงใหม่กับ เจ้าหญิงคำย่น (ณ ลำพูน) ณ เชียงใหม่
    ซึ่งมีอายุเพียง 16 พรรษาเท่านั้น ได้โปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเถ้าแก่เจรจาสู่ขอ
    แต่ได้รับการทัดทานจากหลายฝ่าย  จึงไม่ได้เสกสมรสกัน
   ทำให้พระองค์และเจ้าหญิงชมชื่นทรงเสียพระทัยมาก


(http://board.postjung.com/data/625/625373-img-1.jpg)

ครั้นเมื่อกาลเวลาผ่านไป ในเวลาที่เสด็จออกตรวจราชการงานของกรมช่างไหมในภาคอีสาน ได้เสด็จฯ โดยเกวียนไปโดยตลอด  ในระหว่างที่ประทับอยู่ในเกวียนนั้นก็ได้ทรงหวลรำลึกถึงความรักที่ผิดหวังในครั้งนั้นอยู่เสมอ จนในระหว่างการเดินทางโดยเกวียนครั้งหนึ่ง จึงได้ทรงพระนิพนธ์เพลงขึ้นและพระราชทานชื่อเพลงนี้ว่า "ลาวดำเนินเกวียน"
      แต่โดยที่เพลงๆ นี้มีเนื้อร้องขึ้นต้นด้วยคำว่า "โอ้ละหนอ...ดวงเดือนเอยยย"
      และในเนื้อร้องท่อนต่อๆ ไปก็มีคำว่า..."ดวงเดือน"...ปรากฏอีกหลายครั้ง
      ทำให้ ในปัจจุบันนิยมเรียกชื่อเพลงนี้ใหม่เป็น "เพลงลาวดวงเดือน" 
      จากนั้นมา...ในเวลาใดที่ทรงระลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น ก็จะทรงดนตรีเพลงนี้เสมอๆ จนตลอดพระชนม์ชีพ

     "โอ้ละหนอ... ดวงเดือนเอย ข้อยมาเว้า รักเจ้าสาวคำดวง
       โอ้ดึกแล้วหนอ ข้อยขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย
       ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุมภ์ ข้อยนี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม
       จะหาไหนมาเทียม เจ้าดวงเดือนเอย
       หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูของเรียมเอย
       หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชย...เอ๋ย...เรา...ละหนอ...
       โอ้ละหนอ นวลตาเอย ข้อยนี้รัก แสนรักดังดวงใจ
       โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป อกอาลัยเจ้าดวงเดือนเอย
       เห็นเดือนแรม เริดร้างเวหา ข้อยเบิ่งดูฟ้า (ละหนอ) เห็นมืดมน
       พี่จะทนทุกข์...ทุกข์ทน เจ้าดวงเดือนเอย
       เสียงไก่ขันขาน มันหวานเจื้อยแจ้ว ช่างหวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อยเอย
       ถึงจะหวาน เสนาะ หวานเพราะกระไรเลย บ่เหมือนทรามเชย...เราละหนอ..."


(http://www.thaikids.com/midi/moon/moon.gif)

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ฯ ทรงมุมานะทรงงานหนัก เพื่อให้ทรงลืมความรักอันเจ็บปวดพระทัยที่ผ่านมาในครั้งนั้น จึงได้เสด็จออกไปตรวจราชการในดินแดนที่ทุรกันดาร จนทรงพระประชวร และสิ้นพระชนม์ลงในที่สุด เมื่อมีพระชมนพรรษาเพียง 28 พรรษา
     ส่วนเจ้าหญิงชมชื่นนั้น ก็ได้ถูกจัดการให้แต่งงานไปตามประเพณี
     และได้ตรอมพระทัยจนสิ้นชีวิตลงเมื่ออายุได้เพียง 23 ปี
     เรียกว่าสิ้นไปในระยะเวลาใกล้เคียงกันมาก


เพลงลาวดวงเดือน จึงถือเป็นเพลงอนุสรณ์แห่งความรักแรกพบของสองหนุ่มสาวจากสองราชอาณาจักรที่ไม่สมหวัง จัดได้ว่าเป็นเพลงไทยอันเป็นอมตะยิ่งกว่าเพลงอื่นใด มีเนื้อร้องและท่วงทำนองของเพลงอ่อนหวานไพเราะจับใจคนไทยทั้งชาติมานานแสนนานจนทุกวันนี้
    แม้จะร้องจะฟังเวลาไหน ก็ไม่เคยรู้สึกว่า "เชย" เลย และเมื่อได้ทราบถึงเบื้องหลังความเป็นมาของเพลงนี้ ที่แสนจะลึกซึ้งตรึงใจ และน้อยคนจะนักที่จะได้ทราบความจริงเช่นนี้เข้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งทวีความเศร้าสะเทือนใจให้โหมกระพือมากยิ่งขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงไทยหลายเพลงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดปรานมาก และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นเพลงประจำของกรมหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ของกระทรวงเกษตรฯ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองอีกด้วย

เผ่าทอง ทองเจือ
www.facebook.com/paothong.pan (http://www.facebook.com/paothong.pan)
www.facebook.com/paothong.thongchua (http://www.facebook.com/paothong.thongchua)


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.thairath.co.th/content/edu/346338 (http://www.thairath.co.th/content/edu/346338)
http://i155.photobucket.com/, (http://i155.photobucket.com/,) http://board.postjung.com/ (http://board.postjung.com/) , http://www.thaikids.com/m (http://www.thaikids.com/m)



http://www.youtube.com/watch?v=o1fEEVhNg64# (http://www.youtube.com/watch?v=o1fEEVhNg64#)
อัปโหลดเมื่อ 20 พ.ย. 2011 โดย ken100343