หัวข้อ: ฉันไม่เห็นว่า "พระเจ้าองค์ใดจะมีเอกสิทธิ์ในความจริงกว่าองค์ใด" เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 09, 2013, 08:16:04 am (http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2013/06/07/a9j6eif6e8f7bgcj9jkh5.jpg) 'การแปรเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่'ศาสนาในมุมมองของ'คาเรน' การแปรเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพระชาย วรธัมโม สามปีที่แล้วตอนเรียนวิชาศาสนาต่างๆ (Religions) อาจารย์ดิออน พีเพิล (Dion Peoples) ให้นักเรียนใช้หนังสือการแปรเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ (The Great Transformation) ของ คาเรน อาร์มสตรอง (Karen Armstrong) เราเห็นว่าเป็นหนังสือที่อ่านยากจึงนำไปให้เพื่อนชาวออสเตรเลีย ฟิลลิป บราวฮิล (Phillip Brownhill) ช่วยแปลให้บางส่วน จึงค้นพบว่าชื่อหนังสือ The Great Transformation มีความหมายที่ยิ่งใหญ่และน่าสนใจมากพอๆ กับเนื้อหาข้างใน ต่อมาก็ไปเจอบทความแปลของ อาจารย์มัทนา เกษตระทัต ในบล็อก Go to know อาจารย์แปลบางตอนของหนังสือแล้วนำเผยแพร่ จึงมีโอกาสสนทนากับอาจารย์เกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้น บทความนี้เกิดขึ้นได้เพราะ อ.ดิออน อ.มัทนา และเพื่อนฟิลลิป ขอบคุณสามท่านมากๆ หนังสือ The Great Transformation เป็นหนังสือที่พูดถึงประวัติศาสตร์การเกิดศาสนาต่างๆ บนโลก โดยเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่ายุคเอเซียล (Axial Age) ซึ่งเป็นช่วงเวลาประมาณ ๔๐๐ ปีก่อนพุทธกาลจนถึงประมาณ พ.ศ.๓๐๐ เนื้อหาของหนังสือจึงเปรียบเสมือนขนมเค้กก้อนโต ในขณะที่ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เรามีเปรียบเหมือนขนมเค้กชิ้นเล็กๆ ที่ถูกตัดแบ่งออกมาจากขนมเค้กก้อนโต้อีกที การได้อ่านหนังสือเล่มนี้เท่ากับเรากำลังเติมเต็มความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของศาสนาในส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งทำให้เข้าใจศาสนาที่เรากำลังนับถืออยู่มากยิ่งขึ้น :49: :49: :49: บทแรกของหนังสือกล่าวถึงชาวอารยันที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบตอนใต้แถบรัสเซีย ต่อมาชาวอารยันได้แยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งย้ายถิ่นฐานลงไปทางใต้ไปปักหลักอยู่แถวอิหร่านตะวันออก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งย้ายถิ่นฐานลงไปอาศัยในแถบลุ่มน้ำสินธุ ซึ่งก็คือประเทศอินเดียกับปากีสถานในปัจจุบัน ใครที่เคยอ่านพุทธประวัติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรส จะพบว่าในหน้าแรกก็พูดถึงชาวอารยันที่อพยพมาจากตอนเหนือของภูเขาหิมาลัยลงมาอาศัยแถบชมพูทวีป ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันเลย ชาวอารยันกลุ่มนี้คือบรรพบุรุษของกษัตริย์ศากยวงศ์ เจ้าชายสิทธัตถะก็มีเชื้อสายมาจากชาวอารยันกลุ่มนี้เช่นกัน ช่วงที่ชาวอารยันยังคงอยู่ที่ทุ่งราบแถบรัสเซีย เวลานั้นยังมีความสงบสุขปราศจากสงคราม พวกเขานับถือเทพเจ้าบนฟากฟ้า ต่อมาประมาณ ๗๐๐ ปีก่อนพุทธกาลพวกเขาสู้รบเบียดเบียนทำร้ายกันเองจนกลายเป็นสงคราม ทำให้กลุ่มที่ถูกเบียดเบียนที่เคยนับถือเทพเจ้าบนฟากฟ้าหันมาบูชาเทพเจ้าชื่อมาสด้าแล้ววิวัฒนาการเป็นศาสนาชื่อโซโรอัสเตอร์ กลุ่มที่ถูกเบียดเบียนเชื่อว่าเทพเจ้ามาสด้าสามารถปกป้องพวกเขาจากการถูกเบียดเบียนจากฝ่ายตรงข้าม ศาสนาโซโรอัสเตอร์ จึงถือกำเนิดขึ้น ณ บัดนั้น ศาสนาโซโรอัสเตอร์จัดเป็นศาสนาแรกๆ ที่เกิดชึ้นในยุคเอเซียล ต่อมาชาวอารยันกลุ่มที่ย้ายไปตั้งถิ่นฐานแถบอิหร่านตะวันออกได้นำเอาศาสนาโซโรอัสเตอร์ไปด้วย ศาสนาโซโรอัสเตอร์จึงเจริญอยู่ที่อิหร่านจนวิวัฒนาการกลายมาเป็นศาสนายูดาย คริสต์และอิสลามในดินแดนอิสราเอล ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ใกล้เคียงในเวลาต่อมา ในยุคเอเซียลนอกจากดินแดนอิสราเอลซึ่งให้กำเนิดศาสนาขึ้นมาแล้ว ยังมีดินแดนอีก ๓ แห่งที่มีวิวัฒนาการเกี่ยวกับศาสนาและการค้นหาความจริง ในจีนเกิดลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋า ในชมพูทวีปเกิดศาสนาฮินดูและพุทธ ในขณะที่กรีกเกิดนักคิดนักปรัชญา โซเครติส เพลโต อริสโตเติล มันเป็นเรื่องน่าประหลาดที่จู่ๆ ผู้คนในส่วนต่างๆ ของโลกทั้ง ๔ ดินแดนต่างให้ความสนใจในเรื่องศาสนาและการแสวงหาความจริงของชีวิตขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน :welcome: :welcome: :welcome: The Great Transformation หรือ ‘การแปรเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่’ ที่คาเรน อาร์มสตรอง นำมาใช้เป็นชื่อหนังสือ อ.มัทนา ให้ความเห็นว่ามีความหมาย ๓ นัยด้วยกัน ๑.หมายถึงยุคที่มนุษย์หันมาให้ความสนใจในเรื่องการค้นหาความจริงของชีวิต การเข้าถึงพระเจ้า จนทำให้เกิดศาสนาและปรัชญาขึ้นมาในช่วงเวลานั้น ๒.หมายถึงศาสนาเกิดขึ้นมาแล้วไม่ได้คงความเป็นศาสนานั้นตลอดไปแต่มีวิวัฒนาการแปรเปลี่ยนไปเป็นศาสนาต่างๆ เช่น จากโซโรอัสเตอร์พัฒนาเป็นยูดาย จากยูดายพัฒนาเป็นคริสต์และอิสลาม ในขณะที่ฮินดูก็พัฒนาเป็นพุทธ ๓.หมายถึงการแปรเปลี่ยนตัวเองของผู้นับถือศาสนา คือการเข้าถึงพระเจ้า เข้าถึงพรหม เข้าถึงนิพพาน คาเรน ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกศาสนาต่างมีข้อความบางอย่างที่ต้องการสื่อสารคล้ายๆ กัน นั่นก็คือ “หากท่านไม่ชอบให้ผู้อื่นทำกับท่านอย่างไร ท่านก็จงอย่าทำเช่นนั้นกับผู้อื่น” พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือมนุษย์จงอย่าเบียดเบียนกัน อย่าทำร้ายกัน จงมีเมตตากรุณาต่อกัน ศาสนาและศีลธรรมได้เกิดขึ้น ณ ยุคเอเซียลนี้เอง นั่นหมายความว่าช่วงเวลาก่อนหน้านั้น มนุษย์อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขมาตลอด ความไม่สงบหรือสงครามเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีที่ผ่านมาจนเป็นเหตุให้เกิดศาสนาขึ้น ดังนั้นความหมายของศาสนาจึงมีอยู่ ๒ ประการ คือ หล่อหลอมให้มนุษย์มีความเมตตากรุณาต่อกัน และมุ่งหวังให้มนุษย์ละทิ้งอัตตาตัวตนและความเห็นแก่ตัวออกไป แต่เมื่อพูดมาถึงบรรทัดนี้เรากลับพบว่าหลังจากที่เราเริ่มมีศาสนากันมากลับทำให้มนุษย์เราทำสงครามกันในนามศาสนากันมาตลอด คงเพราะเรายึดติดในศาสนามากเกินไปจนทำให้เราลืมความหมายเดิมแท้ของศาสนาว่าศาสนาสอนให้ละวางไม่ใช่สอนให้เรายึดติด บางทีการเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นก็คือการก้าวข้ามผ่านฉลากศาสนาที่แปะอยู่กลางหน้าผากแห่งความยึดติดของเราเอง :25: :25: :25: คาเรนในอดีตเมื่ออายุ ๑๗ เธอตัดสินใจใช้ชีวิตเป็นแม่ชีแคทอลิคเพราะเธอต้องการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า เวลาผ่านไป ๗ ปี ระบบในคอนแวนต์ไม่สามารถสนับสนุนให้เธอเข้าใจในพระเจ้าได้ เพราะที่นั่นต้องการศรัทธาเป็นที่ตั้ง ในขณะที่คาเรนยังมีความสงสัย หลายคำถามที่เธอมีไม่อาจพบกับความกระจ่างได้ ในที่สุดเธอจึงออกมาใช้ชีวิตฆราวาสเมื่ออายุ ๒๔ หลังจากนั้นเธอเริ่มศึกษาศาสนาต่างๆ จนเกิดแรงบันดาลใจให้เธอเขียนหนังสือเกี่ยวกับศาสนาออกมา ๑๖ เล่ม หนึ่งในนั้นมีพุทธศาสนารวมอยู่ด้วย จนบางครั้งเธอแทบจะรู้ดีกว่าเจ้าของศาสนานั้นๆ ด้วยซ้ำ ในที่สุดเธอก็ค้นพบการเปลี่ยนผ่านอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับความเข้าใจในศาสนา เธอพบว่าแท้จริงแล้วจุดหมายปลายทางของทุกศาสนาแม้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น พระเจ้า พรหม เต๋า ความว่าง ความเป็นหนึ่งเดียว อัลเลาะห์ หรือแม้แต่นิพพาน แท้จริงแล้วมันคือความจริงที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด แต่สามารถเข้าถึงได้ด้วยจิตใจและความรู้สึก ans1 ans1 ans1 มีคนเคยถามคาเรนว่าเธอนับถือศาสนาอะไร เธอตอบว่า โดยปกติแล้วฉันมักจะตอบแบบเล่นๆ ว่า ฉันเป็นคนนับถือพระเจ้าไม่จำกัดศาสนา ฉันอยู่กับพระเจ้าแห่งอับราฮัมทั้งสาม (ยูดาย คริสต์ อิสลาม) ฉันไม่เห็นว่าพระเจ้าองค์ใดจะมีเอกสิทธิ์ในความจริงกว่าองค์ใด หรือไม่เห็นว่าพระเจ้าองค์หนึ่งจะใหญ่กว่าอีกองค์หนึ่ง พระเจ้าแต่ละองค์ต่างมีปรีชาญาณ และต่างก็มีหลุมพรางให้เราตกลงไปได้เท่าๆ กัน "เมื่อเร็วๆ นี้ฉันเขียนบทความสั้นๆ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และฉันรู้สึกหลงใหลสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาจิตวิญญาณ ความเมตตากรุณา การละวางตัวตนก่อนเข้าสู่นิพพาน ในมุมมองของฉันแล้วความเชื่อที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายเหล่านั้นกำลังพูดเรื่องเดียวกัน บนหนทางเดียวกัน แม้จะมีรูปลักษณ์ภายนอกแตกต่างกันก็ตาม มันคือเรื่องเดียวกัน” ถึงที่สุดแล้ว 'การแปรเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่' ในความหมายของ คาเรน อาร์มสตรอง คือการเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับทุกศาสนา ไม่ว่าจุดหมายปลายทางของศาสนานั้นจะมีชื่อเรียกว่าอะไรก็ตาม ขอบคุณภาพข่าวจาก http://www.komchadluek.net/detail/20130608/160480/การแปรเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ศาสนาในมุมมองของคาเรน.html#.UbPVj9j0YXF (http://www.komchadluek.net/detail/20130608/160480/การแปรเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ศาสนาในมุมมองของคาเรน.html#.UbPVj9j0YXF) |