หัวข้อ: เราเป็นนักปฎิบัติธรรมแบบไหน.? ตรวจสอบได้เดี๋ยวนี้..!! เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 18, 2013, 08:09:04 am (https://fbcdn-sphotos-c-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn2/983961_594638650580349_1798973540_n.jpg) ประเภทของนักปฎิบัติธรรม โดยผู้เขียน : สัจจวชิรพรหม หมายเหตุ : อนุญาตให้เผยแพร่บทความนี้ได้โดยมิได้สงวนลิขสิทธิ์ถ้าเป็นการเผยแพร่เพื่อธรรมทาน ไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ในเชิงพาณิชย์ ยกเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้เขียนก่อน และถ้าใครต้องการ copy บทความนี้ไปเผยแพร่ในสื่อสาธารณะใดๆ โปรดใส่เครดิตให้ด้วยนะคะว่าบทความนี้ผู้เขียน คือ สัจจวชิรพรหม เพราะการปฎิบัติธรรมของแต่ละคนมีจุดหมายแตกต่างกันออกไป แต่ที่เราพบเห็นกันทั่วไปนั้น บางคนเขาหวังแค่ว่าขอให้ชีวิตของตนเองมีความสุข บางคนขอให้ชีวิตปัจจุบันของเขาเองมีความสุขและให้ครอบครัวมีความสุขก็พอใจแล้วบางคนมีความตั้งใจอย่างกลาง ทำไปแล้วหวังว่าชาติหน้าจะเกิดเป็นเทวดา นางฟ้าบนสรวงสวรรค์ เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อเรื่องตายแล้วไม่สูญ เชื่อเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ นรก สวรรค์ และพรหม คนกลุ่มนี้จะพยายามสร้างบุญสร้างบารมีสะสมให้มากที่สุด สะสมอย่างเดียว ใครบอกให้ไปทำบุญที่ไหนก็ไปทำ ใครบอกให้ไปหล่อพระที่ไหนก็ไป แต่นักปฎิบัติธรรมจำพวกสุดท้ายนี้ คนกลุ่มนี้เขาปฎิบัติธรรมเพราะเขามองเห็นภัย คือ ภัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เขามองเห็นว่าคนเราเกิดมาเป็นทุกข์แล้วจะเป็นอะไรมันก็ทุกข์ เขาเห็นภัยและไม่จะอยากสร้างเวรสร้างภัยกับใครอีกแล้วนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เขาคิดในใจว่าเขาจะดับตั้งแต่ชาตินี้ เพื่อขอเข้าสู่พระนิพพานในชาตินี้ นี่คือจริตของคนกลุ่มนี้ แล้วมีอีกกลุ่มคนพิเศษที่เรียกว่ากลุ่มคนปรารถนาใหญ่ คือ ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ มีหน้าที่คอยฉุดช่วยเหลือคน ช่วยเหลือมวลมนุษย์ คนกลุ่มนี้เรียกว่าพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ซึ่งตอนนี้ที่ประเทศไทยมีเยอะแยะมากมาย น่าชื่นชมน่ายินดี แต่จำไว้ว่าพระโพธิสัตว์บางทีมีหลงทางก็มี บางคนไปเป็นสุนัข ไปเป็นสารพัดก็มี บางคนเดินตรงทางก็มี บางคนไปตั้งลัทธิศาสนาอื่นก็มี ถ้าเราได้อ่านพระไตรปิฎกจะรู้ว่าพญามารวัสวดีที่มาผจญกับพระพุทธเจ้า ท่านได้ปรารถนาพุทธภูมิเช่นกัน แต่ที่ท่านมาต่อกรกับพระพุทธเจ้าเนื่องจากท่านเข้าใจผิด ท่านเห็นผิดเป็นชอบกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ท่านจึงมาต่อกรกับพระพุทธเจ้า แต่สุดท้ายท่านก็ยังต้องมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเบื้องหน้านี้ แม้กระทั่งพระเทวทัตท่านมีความเห็นผิดคอยผจญกับพระพุทธเจ้าทุกหนทางจนพระพุทธเจ้ายังห้อพระโลหิต แต่สุดท้ายถ้าท่านหมดกรรมนี้ไปจึงจะได้มาเกิด เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตกาลเบื้องหน้า (https://fbcdn-sphotos-c-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash4/3705_594616583915889_1369834102_n.jpg) เห็นไหมว่าไม่มีใครดีไม่มีใครเลวไปเสียหมด แต่ละคนพยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด บางคนให้แต่ทาน บางคนรักษาศีล บางคนเจริญแต่สมาธิ บางคนเจริญแต่ปัญญา จึงทำให้การปฎิบัติธรรมให้ถึงมรรคถึงผลนั้นแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าใครมีบารมี 10 เต็มจะทำให้มีอานิสงส์ในการนั่งกรรมฐานง่ายมากขึ้นและประพฤติปฎิบัติธรรมเห็นผลง่ายด้วยเช่นกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่านักปฎิบัติธรรมมีอยู่ 4 จำพวก คือ 1. ผู้ปฎิบัติลำบากได้ผลเร็ว คือ ปฎิบัติโดยลำบากแต่ได้ผลง่าย เห็นผลไว คือคนที่ไม่ค่อยเจริญสมถ กรรมฐานในชาติที่แล้ว ด้านของเจโตวิมุตติ ด้านวิริยะ ด้านขันติ ด้านสมาธิไม่ค่อยพิจารณา แต่พิจารณาเพียงแค่ตัวปัญญาและพิจารณาธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว เมื่อมาถึงชาตินี้จะมานั่งกรรมฐานเลยจึงเห็นผลลำบากและต้องทำตัวเองให้ลำบาก เพราะกามตัณหามันมีมาก ในอดีตชาติใช้แรงกายในการทำบุญในการทำความดี รู้จักทำบุญอย่างเดียว คือ ให้แต่ทาน รักษาศีล แต่ชาติที่แล้วไม่เคยเจริญสมถกรรมฐาน ไม่ค่อยได้เจริญปัญญาบารมีมากเท่าไหร่นัก เมื่อเกิดมาชาตินี้กว่าจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหัตตผลจึงต้องอาศัยความพากเพียรในการเจริญสมถกรรมฐานในการที่จะต้องเจอปัญญา บางท่านถึงกับต้องทรมานตน เพื่อให้ได้อำนาจแห่งฌาน เพราะบางทีเราต้องทรมานขันธ์ห้าบ้าง เพราะถ้ากามราคะและตัณหามันจัดจ้าน หลวงปู่มั่นท่านแนะนำไว้ว่าวิธีแก้คือ ให้เรากินน้อยๆ นอนให้น้อย ทำความเพียรให้มากๆ และเจริญสติของตนให้มากๆ ยิ่งถ้ากามมันมีมากเท่าไหร่เรายิ่งต้องกินให้น้อย นอนให้น้อย ทำความเพียรให้มากๆ ให้หนักกว่าเดิมเพื่อที่จะสยบมัน เมื่อเราทำแล้วจึงจะชนะขันธมารของเราได้ บางคนนั่งกรรมฐานแล้วปวดเมื่อยไม่สบาย มีความกำหนัดจัดจ้าน นอนหลับแล้วฝันถึงเรื่องลามก ฝันถึงเรื่องไม่ดี เพราะขันธมารมันกำเริบ มารคือร่างกายของเรา มันเล่นงานเรา เพื่อทำให้เราปฎิบัติเห็นผลโดยยาก 2. ผู้ปฎิบัติลำบากได้ผลช้า คือ ปฎิบัติโดยลำบาก เห็นผลช้า ได้ผลลำบาก เพราะบารมีแต่เดิมไม่ได้เจริญปัญญาบารมี ไม่ได้เจริญด้านทานบารมี ด้านวิริยบารมีทำมาน้อย ไม่ค่อยทำมามาก เมื่อมาถึงชาตินี้เลยต้องปฎิบัติโดยลำบาก ได้ผลก็ลำบาก กว่าจะได้แทบตาย เพราะไม่มีบารมีช่วยจากชาติที่แล้ว ดังนั้นชาตินี้จึงต้องทำให้มากขึ้นกว่าเดิม ใช้ปัญญามากๆ ความเพียรมากๆ แล้วต้องใช้เวลาในการบรรลุธรรมมาก 3. ผู้ปฎิบัติสบายได้ผลช้า คือ ปฎิบัติง่ายๆ ไม่ลำบาก แต่เห็นผลช้า เห็นผลนาน ซึ่งเป็นจำพวกที่ไม่ดีที่สุด เพราะชาติที่แล้วไม่ได้บำเพ็ญบารมีมาดี ชาตินี้เลยคิดว่าอยากหาทางลัดที่มันง่ายๆ ทำให้คนกลุ่มนี้หลงทางกันมาก คนจำพวกนี้คิดแต่มองทางลัดๆ ว่าจะทำยังไงให้ง่ายๆ ย่อหย่อนในการปฎิบัติ ไม่ได้อาศัยปัญญาบารมี วิริยบารมี ใจมีแต่ความมักง่าย คนจำพวกนี้จึงมักเป็นมิจฉาทิฏฐิกันมากเพราะการเห็นผิดเป็นถูก 4. ผู้ปฎิบัติสบายได้ผลเร็ว คือ ปฎิบัติไม่ลำบากและเห็นผลไว ได้ผลเร็ว คนจำพวกนี้บำเพ็ญบารมีมาดีแล้วแต่ชาติปางก่อน ทุกอย่างด้านบารมีทั้ง 10 ข้อก็ได้บำเพ็ญมาดีแล้ว เหมือนมะม่วงที่กำลังสุกงอม เมื่อมีลมมาพัดเป่าจึงหลุดออกจากขั้วได้โดยง่าย เช่น ได้มาเกิดในครอบครัวที่ศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา พ่อแม่ศรัทธา ได้เจอครูบาอาจารย์ ได้บรรลุธรรมตั้งแต่เล็ก เมื่อได้มาเกิดในบวรพระพุทธศาสนาได้ฟังธรรม ได้พังธรรมเทศนาเล็กๆ น้อยๆ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือข้อธรรมของพระอรหันต์ เขาจะสว่างขึ้นมาในใจแล้วบรรลุได้โดยง่ายด้วยบารมีที่ตั้งมั่น ถ้าความตั้งใจของเรามีความแน่วแน่ เหนียวแน่น มีความเด็ดขาด มีกำลังใจที่เต็ม ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าบารมีที่เราเต็มนั่นเอง เต็มทั้ง 10 บารมี สำหรับมรรคมีองค์ 8 ก็สำคัญ รวมถึงการมีอธิจิต อธิศีล และอธิปัญญาก็สำคัญเช่นเดียวกัน (https://fbcdn-sphotos-e-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn1/1009876_593588690685345_483927361_n.jpg) ซึ่งคนทั้ง 4 จำพวกนี้แตกต่างกันเพราะวัดกันที่การมีบารมี 10 นั่นเอง ผู้ที่ปฎิบัติง่ายได้ผลง่ายเป็นเพราะอาศัยปัญญาเข้าควบ และเขามีบารมีที่สะสมตั้งแต่อดีตมาจนถึงบารมีปัจจุบันด้วย ความตั้งใจเต็มของเขาเลยทำให้เขาได้อะไรมาง่ายๆ ได้เจอแต่ครูบาอาจารย์จริงๆ ดีๆ และของจริง ไม่ใช่ของปลอม จึงสำคัญที่ว่าถ้าใครมีปัญญาบารมีมากจะทำให้บารมีส่วนอื่นๆ เต็มได้ง่ายตาม กล่าวได้ว่าผู้ที่มีปัญญาบารมี คือ คนที่มีสมาธิจิตที่แนบแน่น มีสติดี มีสมาธิ มีจิตที่ตั้งมั่น มีกำลังใจที่แน่วแน่ สามารถรวมจิตทำกรรมฐานในกองใดก็ได้ เมื่อได้ฌานบุคคลนั้นปัญญาผ่องใส เพราะปัญญาเกิดขึ้นจากสมาธิและเกิดขึ้นจากสติที่รวมกันเป็นหนึ่ง ยิ่งมีสมาธิจิตมาก มีสติมาก สมาธิระดับของฌานจะยิ่งมากไปด้วยตามกำลังของสติ เมื่อมีฌานมาก ปัญญาญาณที่อยากจะรู้ในสิ่งต่างๆ ความเที่ยงแท้ ในเหตุและผล อยู่ในบาทฐานของอริยสัจจ์ย่อมมีมากขึ้นตาม เปรียบเหมือนเวลาเราเดินทางไปที่ไกลๆ ตอนกลางคืนถ้าเรามีไฟฉายอยู่กระบอกหนึ่ง เพื่อนร่วมทางของเรามีไฟฉาย บางคนมีไฟฉายใหญ่บ้าง เล็กบ้าง บางคนมีเป็นก้านธูป แต่ไฟฉายของเราใหญ่เป็นเหมือนสปอร์ตไลท์ ดังนั้นเมื่อมีอุปสรรคขวากหนามใดๆ เราย่อมจะมองเห็นก่อน แต่คนที่มีไฟฉายมองเห็นน้อยๆ เขาจะไม่ค่อยมองเห็นอะไรจึงเดินไปเหยียบนั่นเหยียบนี่เพราะความไม่รู้ ความสว่างของเทียนหรือความสว่างของแสงไฟส่องทางนั่นก็คือแสงสว่างของใจเราหรือคือสตินั่นเอง ยิ่งใจของเราสะอาด มีสติมาก เรายิ่งมีสมาธิมาก ความสะอาดของจิตจึงเกิดขึ้นจากสมาธิ ดังนั้นเมื่อจิตของเราสะอาด ปัญญาของเราจึงยิ่งมีมากตาม ขอบคุณบทความจาก http://www.jetovimut.com/forum/index.php/topic,1153.0.html (http://www.jetovimut.com/forum/index.php/topic,1153.0.html) ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ้ค Weera Sukmetup Phrakrusittisongvon หัวข้อ: Re: เราเป็นนักปฎิบัติธรรมแบบไหน.? ตรวจสอบได้เดี๋ยวนี้..!! เริ่มหัวข้อโดย: Jiraiya ที่ มิถุนายน 18, 2013, 10:29:02 am st11 st12 thk56
|