หัวข้อ: "สีลานุสติ" โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 20, 2013, 09:46:40 pm (http://www.dhammada.net/wp-content/uploads/2011/07/is3UTgH62138.jpg) สีลานุสติ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย เมื่อเราระลึกตามศีลที่เรารักษาว่า ข้อนั้นๆ เรางดเว้นไปแล้ว มันเป็นการระลึกถึงความดีของเรานั่นแหละ สีลานุสติ ก็ระลึกถึงความดีของศีลที่มีอยู่ในตัวของเรานั่นเอง ระลึกถึงศีลในที่นี้ไม่ได้หมายถึงศีลทีอยู่ภายนอก หมายถึง ศีลที่อยู่ในตัวของเรา รักษาตัวของเราให้เป็นคนดีขึ้นมา ผู้นับถือพุทธศาสนาต้องมีศีล ๕ เป็นฐาน ศาสนาจะตั้งอยู่ได้มั่นคงเพราะคนปฏิบัติตามหลักของศีล ถ้าเราไม่มีศีล ๕ เสียแล้ว จะเอาอะไรมารักษาพุทธศาสนา เราต้องรักษาศีล ๕ นี้เป็นพื้นเสียก่อน พื้นฐานจริง ๆ ของพุทธศาสนานั้นมี ๕ ประการ คือ ๑. นับถือพระพุทธเจ้า ๒. นับถือพระธรรม ๓. นับถือพระสงฆ์ ๔. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถือโชคลาภเครื่องรางของขลัง คือ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดีกับตนเอง ๕. ไม่นับถือศาสนาอื่น ลัทธิอื่น ไม่ถืออะไรทั้งหมดนอกจากพุทธศาสนา อุบาสก อุบาสิกา ต้องมี ๕ ประการนี้เป็นเครื่องอยู่เสียก่อน แล้วจึงค่อยมีศีล ๕ เป็นนิตย์ เป็นข้อที่ ๖ (http://www24.brinkster.com/thaniyo/images2/luangputhet2.jpg) ถ้าหากถือศีล ๕ ประจำเป็นนิตย์ไม่ขาดตกบกพร่องเลย ท่านให้เกียรติยศชื่อว่า โสดาบันบุคคล อีกด้วยแน่นอนทีเดียว เมื่อเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมแล้ว ที่จะไม่รักษาศีล ๕ ไม่มี เพราะความชั่วที่ทำผิดในศีลนั้น ๆ ก็เป็นกรรมอยู่โดยตรง เมื่อเราเชื่อกรรมอย่างลึกซึ้ง เข้าถึงจิตเข้าถึงใจจริง ๆ แล้ว การรักษาศีล ๕ ย่อมทำได้ง่าย จะรู้สึกว่าศีล ๕ ไม่ใช่ของยาก เป็นของรักษาง่ายนิดเดียว และศีลย่อมตามรักษาตัวเราอีกด้วย เลยไม่ต้องรักษาศีล ศีลกลับมาคุ้มครองรักษาตัวเราเองให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากอุปัทวอันตรายทั้งปวง ศีล ๕ ข้อนั้นจะจาระไนก็ยืดยาว คงเข้าใจกันดีแล้วทุกคน เรื่องศีลท่านพูดไว้มีอรรถ ๔ คือ ๑. สีลนฏโฐ แปลว่า ปกติ ผู้รักษาศีลมีปกติ กาย วาจา ใจ ไม่ให้กำเริบ คือไม่ทำ กาย วาจา ใจ ให้ผิดปกตธรรมดา คนเราเกิดมามิใช่เกิดเพื่อมาฆ่า เพื่อจะขโมยของ กันและกัน เพื่อประพฤติผิดประเพณี เพื่อพูดเท็จหลอกลวง หรือเพื่อดื่มสุราเมรัย ของเหล่านี้ล้วนแต่มาฝึกหัดเอาใหม่ทั้งนั้น ๒. สีลฏโฐ แปลว่า หินแข็ง หินแข็งเป็นหินปกติ ไม่หวั่นไหว ผู้รักษาศีลก็เช่นนั้นเหมือนกัน คือมีใจกล้าแข็งไม่ยอมทำตามอำนาจความชั่วให้ผิดจากศีล ๓. สีตลฏโฐ แปลว่า เย็น ผู้รักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว ย่อมได้รับความเยือกเย็น ไม่มีวิปฏิสาร คือ ความเดือดร้อนใจในการติเตียนเราเองด้วยศีลข้อนั้น ๆ ไม่บริสุทธิ์ ๔. สีสฏโฐ แปลว่า ยิ่ง เป็นของสูง ศีลนี้เป็นของสูง ยากที่จะมีผู้รักษาได้ เมื่อผู้ใดรักษาได้แล้ว ผู้นั้นก็เป็นผู้สูงด้วยคุณธรรมคือ ศีลนั้น ศีลเป็นของเลิศประเสริฐในโลกนอกจากศีลแล้วไม่มีอะไร (http://www.tourwat.com/wp-content/uploads/test3.jpg) สิรฏโฐ แปลว่า วิเศษ หรือยอด (เหมือนสีสฏโฐ) ศีลเป็นของวิเศษอยู่ในตัว ถ้ามารักษาศีล คือมีศีลอยู่ในตัวเข้าก็วิเศษไปด้วย วิเศษจนสามารถกระทำให้พ้นจากความชั่วช้าได้เป็นขั้น ๆ นอกจากศีลแล้วมีสิ่งใดที่จะขจัดความชั่วในตัวคนเราได้ ชนชั้นต่ำคือคนมีความเลวทรามอยู่ในตัว ไม่สามารถจะจับเอาศีลนี้ไว้ในตัวได้ คนไม่ศรัทธา ไม่กอปรด้วยปัญญาจะรักษาศีล ๕ ไม่ได้ ถึงรักษาก็ไม่อยู่ในตัวของเรา บางคนบอกว่ารักษาศีล ๕ เป็นของยาก ขอบอกไว้เลยว่า ถ้าเรามีศรัทธาแล้วเป็นของไม่ยากเลย เจตนา “งดเว้น” ตัวเดียวเท่านั้นแลเป็นศีลแล้ว เหมือนกฎหมายบ้านเมือง ถ้าคนไม่ทำผิดอย่างเดียวตำรวจ ทหาร และตุลาการก็ไม่ต้องมี นี่ก็เหมือนกัน เพราะมีคนประพฤติผิดนั่นแหละพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้รักษาศีล อย่างเด็กเกิดมาใหม่ ๆ มันไม่รู้ภาษาอะไร มันไม่ทำอะไร นอนอยู่บนผ้าอ้อมดิ้นแด่ว ๆ อยู่อย่างนั้น มันจะมีศีลอะไร ศีลอยู่ที่เจตนา เจตนางดอันนั้นแหละเป็นศีล เรางดเว้นจากฆ่าสัตว์ เราระลึกถึงว่าเราเคยฆ่าสัตว์เดี๋ยวนี้เรางดเว้นได้แล้วจิตใจมันก็เบิกบานแช่มชื่น เราเคยเป็นขโมยลักฉกสิ่งของเขาต่าง ๆ เวลานี้เรางดเว้นการลักขโมยได้แล้วจิตใจก็แช่มชื่นเบิกบาน แต่ก่อนเราเคยประพฤติผิดในมิจฉาจารกล่าวมุสาวาท ดื่มสุราเมรัย เราเคยประพฤติผิดเป็นอาจิณ หรือประพฤติเป็นบางครั้งบางคราวโดยเราไม่กลัวโทษ เห็นว่าเป็นการสนุกเฮฮา เมื่อมีสติครอบงำคุ้มครองจิตได้แล้ว มันเลยไม่กล้าทำความสนุกอันนั้น เมื่อไม่กล้าทำก็เกิดความละอาย งดเว้นจากโทษอันนั้น จิตใจมันก็เบิกบาน (http://www.dhammajak.net/board/files/1194713281_189.jpg) เราเกิดขึ้นมาได้ชื่อว่ามาสร้างคุณงามความดี ถ้าไม่มีศีลแล้วจะไปสร้างอะไร ชีวิตวันหนึ่ง ๆ ก็หมดไปเปล่า ๆ อย่างน้อยที่สุดมีศีลสักข้อหนึ่งก็ยังดี ถึงแม้ไม่เต็มไม่สมบูรณ์ เปรียบเหมือนกับคนพิการขาหักไปข้างหนึ่ง แขนด้วนไปข้างหนึ่ง มันไม่สมบูรณ์ แต่ยังดีกว่าไม่มีศีลเลย การรักษาศีลนี้ ขอให้พากันตั้งใจรักษาจริงๆ เถิดไม่ใช่ของยาก รักษาข้อหนึ่งให้ได้จริงๆ เมื่อมันสมบูรณ์จริง ๆ จัง ๆ แล้ว ข้อต่อ ๆ ไปก็เป็นของง่ายนิดเดียว บางคนเกิดขึ้นมาตั้ง ๔๐-๕๐ ปี หรือจนเฒ่าตายไปเสียเปล่า ๆ ศีลไม่เคยสมบูรณ์เลยสักที จะต้องขาดไป ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ หรือข้อใดข้อหนึ่งให้ได้ เข้าวัดเข้าวาก็พากันสมาทานศีล พอกลับไปยังไม่ทันพ้นเขตวัด ศีลก็กลับคืนมาหาพระเสียแล้ว ให้เข้าใจว่าศีลไม่ใช่ข้อรักษา เป็นข้องดเว้น เป็นข้องดเว้นต่างหาก ผู้มีศีล ๕ ประการได้ชื่อว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่สมบูรณ์แล้ว ถือพุทธศาสนาสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นที่ตัวของเรา ถ้าปฏิบัติแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะเกิดขึ้นที่ตัวของเรา ท่านสอนให้ระลึกถึงศีล จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ก็แล้วแต่ ตามฐานะของตน เมื่อมีศีลแล้วพึงระลึกถึงศีลของตนให้แน่วแน่เป็นอันหนึ่งอันเดียว นั่นแหละเรียกว่า สีลานุสติ จากหนังสือ ธรรมลีลา ฉบับที่ 40 มีนาคม 2547 http://www.kanlayanatam.com/sara/sara30.htm (http://www.kanlayanatam.com/sara/sara30.htm) ขอบคุณภาพจาก http://www.dhammada.net/ (http://www.dhammada.net/) , http://www24.brinkster.com/ (http://www24.brinkster.com/) , http://www.tourwat.com/ (http://www.tourwat.com/) หัวข้อ: Re: "สีลานุสติ" โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เริ่มหัวข้อโดย: Roj khonkaen ที่ กรกฎาคม 26, 2013, 08:54:16 am อนุโมทนา สาธุ :25: :93: |