หัวข้อ: ไม่ต้องสละเงิน...ก็เป็นบุญได้เหมือนกัน เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 28, 2013, 10:55:44 am (http://iam.hunsa.com/users/s/su/survivor3/uploads/00223_mhqhz.jpg) ไม่ต้องสละเงิน..ก็เป็นบุญได้เหมือนกัน เรามักคุ้นเคยกับการทำบุญแบบเสียเงิน จนคิดว่าการทะบุญมีแต่เฉพาะเรื่องการให้ทาน ลองย้อนกลับไปดู บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีอีกตั้ง ๙ วิธีที่ไม่ต้องเสียทรัพย์ก็เป็นบุญ ส่วนคนที่วิตกกังวลว่าเงินบริจาคจะถูกใช้ไปในจุดประสงค์อื่นที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ต้องวิตกกังวลอีกต่อไป เพราะต่อไปนี้คือวิธีทำบุญแบบไม่ต้องบริจาคเป็นเงิน ans1 ans1 ans1 ๑. ทำอาหารเลี้ยงเด็กกำพร้า หาโอกาสเหมาะ ๆ ลงขันกับเพื่อน ๆ ทำอาหารไปเลี้ยงเด็กตามสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ อาทิ เด็กพิการ เด็กกำพร้า เด็กติดเชื้อเอชไอวี ฯลฯ นอกจากจะได้บุญแล้วยังเป็นการอวดเสน่ห์ปลายจวักให้เด็ก ๆ ได้ลิ้มรสอาหารจากฝีมือของคุณอีกต่างหาก โรงพยาบาลหลายแห่ง มีเด็กอ่อนที่ถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างที่เด็กทั่วไปได้รับ การไปช่วยอุ้มเด็กเหล่านี้ให้เขาได้รับสัมผัสแห่งความรักและความอบอุ่นบ้าง มีความหมายอย่างมากต่อชีวิตจิตใจของเขา ๒. กิจกรรมสันทนาการ หากคุณเป็นนักกิจกรรมเก่ามาก่อน ลองหาเวลาว่างไปทำกิจกรรมสันทนาการกับเด็ก ๆ ตามสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ ดูสิ เพราะตามสถานสงเคราะห์เหล่านี้เขาต้องการอาสาสมัครไปช่วยงานอยู่แล้ว อาจจะไม่จำเป็นต้องเล่นเกม จะเป็นการวาดภาพ เล่านิทาน นิทานหุ่นกระบอก นิทานหุ่นมือหรืออะไรก็ได้ที่คุณถนัด แล้วแต่ว่าคุณมีความสามารถอะไรจะให้ความบันเทิงและมีสาระแก่เด็ก ๆ :welcome: :welcome: :welcome: ๓. สันทนาการกับผู้ใหญ่ ใช่ว่าจะมีแต่เด็กเท่านั้นที่ชอบสันทนาการ ผู้ใหญ่ก็ชอบเหมือนกันแต่ผู้ใหญ่ในที่นี้หมายถึงบุคคลที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ คงเคยเห็นนักดนตรีชื่อดังอาสาเข้าไปเล่นดนตรีให้คนในเรือนจำฟัง นั่นแหละ .. เดี๋ยวนี้มีกลุ่มละครบางกลุ่ม ติดต่อเข้าไปเล่นละครให้ชาวคุกได้ชมเหมือนกัน หากคุณมีความสามารถในการแสดง บันเทิงหรือสาระที่เป็นประโยชน์ก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เรือนจำเข้าไปแสดงได้จะได้เป็นการช่วยผ่อนคลายความเครียดและความหดหู่ ซึมเซาอันเกิดจากการถูกจองจำ หรืออยากจะทำบุญด้วยการทำอาหารไปเลี้ยงผู้ถูกคุมขังในเรือนจำก็ได้ เพราะปรกติแล้วอาหารในเรือนจำนั้น คงทราบกันดีว่าไม่ชวนให้เจริญอาหารเท่าไรนัก การนำอาหารไปเลี้ยงผู้ถูกคุมขังก็เป็นเรื่องที่เรือนจำสนับสนุนอยู่แล้ว (http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/374/838/large_tt921.jpg?1286038133) ๔. เยี่ยมคนชรา ไม่มีใครที่ไม่แก่ การไปเยี่ยมคนแก่ หรือแม้แต่นำอาหารไปเลี้ยงท่านเหล่านั้นที่บ้านพักคนชรา จึงเป็นทั้งบุญและเป็นการให้สติตัวเองไปด้วยในตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้สติปัญญาว่าคนเราต้องแก่เฒ่าหนังเหี่ยวย่น สำหรับคนชรายังไม่ค่อยเห็นมีใครเอาดนตรีเข้าไปเล่นให้ฟังบ้าง เรามักเข้าใจว่าโลกของคนแก่จำกัดอยู่แค่ความเงียบสงบเท่านั้น ที่จริงยังมีดนตรีอีกหลายประเภทที่คนชราก็น่าจะฟังได้ไม่ขัดหู อย่างเช่น ขลุ่ย ไวโอลิน หรือกีตาร์โฟล์คเบา ๆ ใครมีความสามารถตรงนี้ก็ลองท้าทายตัวเองหน่อย คนทุกเพศทุกวัยล้วนมีดนตรีในหัวใจ เขาจะได้มีถูกเลือกปฏิบัติให้อยู่ในโลกของความเงียบเหงาเหมือนกับที่ถูกพามาส่งให้อยู่ที่บ้านพักคนชราอย่างนี้ ๕. ครูข้างถนน ครูข้างถนนก็เป็นอีก “ บุญ ” หนึ่งที่คุณก็สามารถทำได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้เด็กข้างถนนคนหนึ่งมีเพื่อนมีคนที่รับฟังและพร้อมจะเข้าใจเขา ๖. บริจาคเสียง เป็นบุญอีกวิธีหนึ่ง คือการอ่านหนังสือออกเสียงบันทึกใส่เทปเป็นห้องสมุดเสียง อันนี้เป็นโครงการที่มีอยู่แล้วของมูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด เปิดโอกาสให้คนตาดีช่วยอ่านหนังสือบันทึกเสียงใส่เทปคาสเซ็ท เทปคาสเซ็ทนี้ก็จะเก็บไว้สำหรับคนตาบอดได้เลือกฟังในห้องสมุดเพื่อคนตาบอด ช่วยให้คนตาบอดได้มีโอกาสอ่านหนังสือได้มากขึ้นโดยคนตาดีช่วยอ่านให้ฟัง (http://www.budutani.com/pumisart/pictures/01/DSC00671-1.jpg) ๗. เป็นอาสาสมัครในวัด หากมีเวลาว่าง และอยากบริหารเวลามาใช้ในงานบุญบ้านลองหันไปเป็นอาสาสมัครให้กับวัดที่ทำงานพัฒนาให้กับชุมชนดูบ้าน เช่น วัดที่ดูแลเลี้ยงเด็กกำพร้า วันที่ดูแลผู้ป่วยเอดส์ วัดที่จัดงานปฏิบัติธรรม หรือไม่ก็เป็นอาสาสมัครในชุมชน ๘. ทำความดีกับคนรอบข้าง พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน มักเป็นบุคคลที่เราละเลยไปโดยไม่ตั้งใจ การหันกลับมาดูแลเอาใจใส่ก็เป็นอีกบุญหนนึ่งที่สามารถทำได้ง่าย ความต่างวัยระหว่างวัยรุ่นกับคนแก ระหว่างพี่กับน้อง ระหว่างเพศชายเพศหญิงและอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง ระหว่างสถานภาพในครอบครัว ระหว่างลัทธิความเชื่อที่ยึดถือ ถึงแม้จะอยู่ในรั้วบ้านเดียวกัน ความต่างเหล่านี้เราสามารถสานความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นได้ด้วยการถามอย่างใส่ใจบ้างว่า “เรียนหนังสือเป็นอย่างไรบ้าง” “ทำงานเหนื่อยบ้างไหม” “สุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง” “กินข้าวแล้วหรือยัง” พร้อมกับส่งยิ้มให้หนึ่งยิ้ม คนเราเมื่อเจอกันทุกวันมักไม่เห็นคุณค่าของกันและกัน จนวันหนึ่งต้องจากไปนั่นแหละจึงทำดีให้กันในวาระสุดท้าย ทำไมเราไม่ทำดีให้กันตั้งแต่ยังมีลมหายให้อยู่ (http://dc657.4shared.com/doc/iU9yGSr8/preview_html_7251cfe1.jpg) ๙. ปลูกป่ารักษาสิ่งแวดล้อม บุญแบบนี้เป็นสิ่งที่โลกกำลังต้องการอย่างยิ่ง วันหยุดสุดสัปดาห์ ลองชักชวนญาติพี่น้องหรือเพื่อน ๆ ไปปลูกต้นไม้ตามวัด สวนสาธารณะ หรืออุทยานแห่งชาติ มีตำรวจคนหนึ่ง ทุกวันจะตื่นแต่เช้ามืดขี่รถจักรยานต์ ขนกล้าไม้ไปปลูกริมทางข้างถนน และที่สาธารณะซึ่งรกร้าง พอเลิกงานก็ไปปลูกต้นไม้อีก วันหยุดก็ไม่เว้น ทำเช่นนี้ติดต่อมา ๑๕ ปี ปลูกต้นไม้ร่วม ๒ ล้านต้น ทำให้อำเภอทั้งอำเภอซึ่งเคยแห้งแล้งกลับอุดมร่มครึ้มด้วยต้นไม้ เมื่อใครมาถาม เขาก็ให้เหตุผลว่า เพราะต้องการทำบุญที่มีผลยั่งยืนถึงลูกหลาน ๑๐. แนะนำพร่ำสอนความดีให้กัน การเป็นพ่อแม่ที่มีความรับผิดชอบก็เป็นบุญวิธีอันหนึ่ง พ่อแม่ที่ดี คือพ่อแม่ที่มีเวลาให้ลูกสม่ำเสมอ ดูแลเอาใจใส่ความเป็นไปของลูก ๆ อย่างพอเหมาะพอดี ไม่ปล่อยทิ้งตามยถากรรมหรือบังคับขู่เข็ญจนเกินเหตุ ไม่ใช้ความรุนแรงกับลูก สอนลูกให้รู้จักรับผิดชอบช่วยเหลือตัวเองได้ มั่นใจในตัวเองดี เปิดโอกาสให้ลูกได้คิดเองบ้าง พร้อมกับสอนให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องกตัญญูกตเวที คือรู้คุณและตอบแทนคุณ โดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่าซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญในระดับครอบครัวจริง ๆ และที่ไม่ควรลืมคือ สอนให้ลูกนึกถึงส่วนรวม รับผิดชอบต่อสังคมและเอื้อเฟื้อแบ่งปันแก่คนรอบข้าง :49: :49: :49: ๑๑. ตอบแทนความดี ปรับความเข้าใจ ความดีที่เราได้รับมาจากผู้อื่นเป็นหนี้ความดีที่ค้างชำระ การตอบแทนความดีต่อผู้มีอุปการะนอกจากจะเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณแล้วก็ยังเป็นบุญอยู่ในตัวเอง เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในบุญให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้นระหว่างเรากับเขา ผู้อุปการะและเช่นกันในความขุ่นข้องหมองใจบางอย่างก็เป็นหนี้ กรรมค้างชำระได้การปรับความเข้าใจ เผยความในใจกับเขาที่เคยมีเรื่องไม่พอใจกันก็ยังไม่พ้นเรื่องของบุญ บุญนี่กินอาณาเขตกว้างขวางจริง ๆ ๑๒. เรียนรู้และเข้าใจ “เขา” ให้ความรัก ความเมตตา ความเข้าใจ และการยอมรับต่อบุคคลผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งบุคคลที่ได้รับความกดดันจากสังคมในรูปแบบอื่น คนที่เพิ่งออกจากเรือนจำ คนชรา ผู้หญิง เด็ก คนกลุ่มน้อยทางทางเชื้อชาติคลอดจนผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ศาสนา และเรื่องเพศ :25: :25: :25: ทุกวันนี้โลกเปิดเผยมากขึ้น ทำให้เราได้รับรู้ว่าโลกสีหม่นของคนบางกลุ่มที่สังคมหันหลังให้นั้นขาดชีวิตและสีสันอย่างไร การไม่ยอมรับก็คือบาปและความรุนแรงอย่างหนึ่ง บ่อยครั้งที่คนเราส่งบาปให้กันโดยไม่รู้ตัวอันนำไปสู่ความรุนแรงอื่น ๆ เป็นการดีกว่าหากเราหันมาเปิดใจ เข้าใจเขา เรียนรู้ความแตกต่างด้วยเมตตา เพราะเขาก็คือคนใกล้ตัวในสังคมที่เราต้องคอยดูแลเอาใจใส่ส่งบุญให้กัน ที่มา http://www.kanlayanatam.com/sara/sara42.htm (http://www.kanlayanatam.com/sara/sara42.htm) ขอบคุณภาพจาก http://iam.hunsa.com/ (http://iam.hunsa.com/) http://cdn.gotoknow.org/ (http://cdn.gotoknow.org/) http://www.budutani.com/ (http://www.budutani.com/) http://dc657.4shared.com/ (http://dc657.4shared.com/) |