หัวข้อ: “สันโดษ” ต้องรับใช้ “ไม่สันโดษ” เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 04, 2013, 07:57:20 am (http://www.madchima.net/forum/gallery/11_19_01_13_4_08_37.jpeg) “สันโดษ” ต้องรับใช้ “ไม่สันโดษ” ถ้ามีคนมาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษใช่ไหม.? ใครตอบว่า “ใช่” ก็ต้องว่าตอบผิด ถ้าให้คะแนน ก็คือศูนย์ หรือกรุณาที่สุด ก็ให้ ๕๐% ทำไมเป็นอย่างนั้น นี่แหละที่ต้องให้รอบคอบ ขอบอกสั้นๆ ว่าต้องแยกแยะออกไปให้ชัดว่า พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษในเรื่องไหนหรือให้ไม่สันโดษในเรื่องไหน ไม่ใช่ตอบโผงผางลงไปแง่เดียว เลยผิด! แล้วจะตอบอย่างไร จึงจะถูก ก็แยกแยะออกไปสิว่า - พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษในสิ่งเสพ หรือในวัตถุบำเรอความสุข - แต่พระพุทธเจ้าสอนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม หรือพูดให้คนยุคนี้เข้าใจง่ายขึ้นว่า ให้ไม่สันโดษในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ans1 ans1 ans1 เพื่อรวบรัด ก็ยกคำตรัสของพระพุทธเจ้ามาให้ดูกันเลย เอาข้อหลัง คือ “ไม่สันโดษในกุศลธรรม” ก่อน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ที่พระองค์ตรัสรู้นั้น ภิกษุทั้งหลาย เรารู้ซึ้งถึงคุณธรรม ๒ ประการ คือ ๑. ความเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ๒. ความเป็นผู้ไม่ระย่อในการบำเพ็ญเพียร หมายความว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะไม่สันโดษ (ในกุศลธรรม) ต้องเน้นว่า ในสิ่งที่ดีงาม ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์แล้ว ท่านไม่ยอมให้สันโดษเป็นอันขาด ถ้าเป็นกุศลธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยให้สันโดษเลย (ถ้าสันโดษในกุศลธรรม ก็คือประมาทนั่นเอง) เป็นอันว่า หลักความไม่สันโดษ (ในกุศลธรรม) นั้น ชัดเจนแล้ว ที่นี้ก็มาดู “สันโดษ” บ้าง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ (ตรัสแก่พระภิกษุ) ในหลักที่เรียกว่า อริยวงศ์ ๔ (เช่น องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๘/๓๕) ว่า ๑. ภิกษุสันโดษในจีวร ตามมีตามได้ ๒. ภิกษุสันโดษในบิณฑบาต ตามมีตามได้ ๓. ภิกษุสันโดษในเสนาสนะ ตามมีตามได้ ๔. ภิกษุเป็นผู้ยินดีในปหานะและภาวนา (ข้อ ๔ หมายความว่า พอใจ ใส่ใจ เพียรพยายาม ในปหานะ คือ การละอกุศล และในภาวนา คือการเจริญกุศล เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ) (http://www.madchima.net/forum/gallery/11_19_01_13_4_07_21.jpeg) จะเห็นว่า พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้พระภิกษุสันโดษในวัตถุสิ่งเสพบริโภค (จีวร-เครื่องนุ่มห่มบิณฑบาต-อาหาร เสนาสนะ-ที่อยู่อาศัย) สันโดษมา ๓ ข้อ พอถึงข้อที่ ๔ เปลี่ยนเป็นว่า ให้เอาใจใส่เพียรพยายามละอกุศลและเจริญกุศล เพื่อจุดหมายคือจะได้บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ข้อที่ ๔ นี้ ก็คือข้อที่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น หลักอริยวงศ์ ๔ นี้ จึงบอกอะไรๆ หลายอย่าง ความไม่สันโดษ (ในกุศลธรรม) เป็นหลักใหญ่อยู่ในขั้นปฏิบัติการที่จะให้บรรลุจุดหมาย ความสันโดษ (ในสิ่งเสพ) เป็นข้อปฏิบัติขั้นบุพภาพของความไม่สันโดษ (ในกุศลธรรม) นั้น หมายความว่า ความสันโดษในวัตถุ เป็นการเตรียมชีวิตความเป็นอยู่ในเอื้อให้พร้อมที่จะเดินหน้าก้าวไปกับความไม่สันโดษในกุศลธรรม พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ความสันโดษในวัตถุเป็นธรรมย่อย ที่มาสนองงาน มารองรับ หรือมารับใช้ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ask1 ask1 ans1 ans1 ถามว่า สันโดษใน ๓ ข้อแรก สัมพันธ์กับสิ่งที่จะทำในข้อ ๔ อย่างไรหรือถามสั้นๆ ว่าทำไมจึงสันโดษ ก็ตอบว่า เพราะว่า สันโดษเป็นตัวออมหรือช่วยสงวนเวลา-แรงงาน-ความคิดไว้ ถ้าภิกษุไม่สันโดษในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คือไม่สันโดษในวัตถุเสพ มัวยุ่งกับการหาอาหารอร่อยๆ ฉัน มัววุ่นวายอยู่กับการหาสิ่งของเครื่องใช้ฟุ่มเฟือย มัวหมกมุ่นกับวัตถุบำเรอความสุข ๑. เวลาก็หมดไป กับการหาการเสพสิ่งเหล่านี้ ๒. แรงงานก็หมดไป เพราะมัววุ่นวายกับเรื่องเหล่านี้ ๓. ความคิดก็หมดไป กับการครุ่นคิดหาทางให้ได้สิ่งเหล่านี้มาเสพเลยไม่เป็นอันได้เพียรพยายามเจริญสิกขาทำหน้าที่ แต่เมื่อภิกษุสันโดษในปัจจัย ๔ เวลาก็เหลืออยู่ แรงงานก็เหลืออยู่ความคิดก็เหลืออยู่ ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาระดมทำกิจหน้าที่ของตน ดังนั้น ทั้งสันโดษและไม่สันโดษ จึงมาออกผลที่ความเพียร นอกจากนั้นยังใจสงบ สบาย ไม่ห่วง ไม่พะวักพะวง ในเรื่องวัตถุหันไปมุ่งหน้าทำกิจหน้าที่และสร้างสรรค์ความดีต่างๆ ได้อย่างแน่วแน่เต็มที่โดยมีความสุขด้วย ตอนนี้สันโดษก็มีผลครบตลอดตามวัตถุประสงค์ คฤหัสถ์ก็เช่นกัน ถ้าญาติโยมไปมัววุ่นวายอยู่กับการแสวงสิ่งเสพบำรุงบำเรอหาความสุขส่วนตัว ก็จะหมดเวลา หมดเรี่ยวแรง หมดความคิดไปกับเรื่องเหล่านั้น จนไม่เป็นอันปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานสร้างสรรค์หน้าที่งานการสร้างสรรค์ที่พึงทำ ก็ไม่เป็นอันทำ อย่างน้อยก็ย่อหย่อน การทำความดี ทำประโยชน์สูงส่ง จนแม้กระทั่งบรรลุโพธิญาณเป็นไปไม่ได้ ถ้ามัวสันโดษในกุศลธรรม โดยไม่สันโดษในวัตถุเสพ (http://www.dhammathai.org/articles/data/imagedb/119.jpg) “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) จากหนังสือ มองธรรมถูกทาง มีสุขทุกที่ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) http://www.dhammathai.org/articles/dbview.php?No=121 (http://www.dhammathai.org/articles/dbview.php?No=121) ภาพจาก ww.madchima.net/ |