สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

กรรมฐาน มัชฌิมา => เกี่ยวกับ วัด พระสงฆ์ พระธาตุ พระเครื่อง => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กันยายน 07, 2013, 09:15:41 am



หัวข้อ: วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 4
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 07, 2013, 09:15:41 am
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000011580001.JPEG)

(http://รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 4)

แม้จะมีเนื้อที่เพียง 2 ไร่เศษ บริเวณด้านทิศเหนือของสวนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ แต่ “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ก็มีองค์ประกอบแห่งพระอารามครบถ้วน และสำคัญเหนืออื่นใดคือ พุทธสถานแห่งนี้เป็นพระอารามประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
       
       ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อสวนกาแฟหลวงที่รกร้าง แล้วโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ ตามโบราณราชประเพณี และเพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ พระอารามนี้จึงนับเป็นพระอารามแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต เพราะวัดธรรมยุตก่อนๆนั้น ได้ดัดแปลงมาจากวัดมหานิกายเดิม
       
       ในการสร้างพระอารามแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางแผนการก่อสร้างและกำหนดแบบศิลปกรรมในวัดด้วยพระองค์เอง ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ “ทรงกะไว้” เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างในวัดราชประดิษฐ ว่า
       
       “การที่ปลูกสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ทรงกะเองหมดทั้งนั้น เสด็จทอดพระเนตรการเสมอทุกวันไม่ได้ขาด จนการก่อสร้างล่วงไปได้เปนอันมาก ยังอยู่แต่การช่าง ถึงดังนั้น ก็ได้ทรงกะแล้วทุกอย่าง”

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000011580003.JPEG)

       สิ่งที่ทรงกะไว้มีดังต่อไปนี้ “บานหน้าต่างข้างนอกโปรดลายสลักบานประตูวัดสุทัศน์ หลังบานโปรดลายญี่ปุ่นวัดนางชี ท่านก็ทรงสั่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(จ๋อง)ให้ทำมา ลายเพดานโปรดอย่างวัดราชประดิษฐโบราณและวัดสุวรรณดาราราม แต่ดาวอย่างวัดสุวรรณฯรับสั่งว่าเปนเกือกพวงไป ทรงแก้ไขใหม่ให้เปนอย่างเช่นติดอยู่วัดราชประดิษฐเดี๋ยวนี้ ลายเขียนผนังทรงพระราชดำริเอง เปนเทพชุมนุม ซึ่งเทวดามีรัศมีเปนพวกๆครั้งแรก ซึ่งวัดอื่นเอาอย่าง...”
       
       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้ถมลานรอบพระวิหารหลวงและพระเจดีย์ให้สูงขึ้น เรียกว่า “พื้นไพที” หมายถึงพื้นอันเป็นที่รองรับพระวิหารและพระเจดีย์ของวัด เพื่อให้วัดมีความสง่างามยามน้ำท่วมขัง เนื่องเพราะบริเวณนั้นเป็นที่ลุ่ม และโปรดให้นำไหกระเทียมมาถมพื้นแทนการตอกเสาเข็ม ทรงให้เหตุผลว่า ดินไหกระเทียมแข็ง ไม่ผุเปื่อยเหมือนดินตุ่ม

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000011580008.JPEG)
ไหกระเทียมและตุ่มสามโคก ใต้ฐานพระวิหารหลวง

       ดังนั้น จึงได้มี “ประกาศแผ่พระราชกุศลบอกข้าวบิณฑ์ไหกระเทียมถมพื้นวัดราชประดิษฐ์” ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ประกาศบอกบุญไปยังราษฎรว่า ต้องพระราชประสงค์ไหกระเทียมทำจากดินเมืองจีนมาถมพื้นวัด โดยเปิดรับทั้งไหกระเทียมดีและแตกร้าว หรือนำมาขายให้ก็จะทรงคิดราคาใบละ 1-2 อัฐ
       
       นอกจากนี้ ยังทรงจัด “ละครรับข้าวบิณฑ์ไหกระเทียม” เป็นเวลา 3 วัน เก็บค่าเข้าชมเป็นไหกระเทียม หรือขวด ถ้ำชา โอ่ง อ่าง กระถางจากเมืองจีน นับเป็นพระราชกุศโลบายอันชาญฉลาด ที่เปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ชมละครหลวง และภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างวัดของพระมหากษัตริย์
       
       เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า "วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุตติการาม" ครั้นเมื่อสร้างแล้วเสร็จได้เปลี่ยนเป็น "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลารอบวัด รวม 10 หลัก ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลี และภาษาไทย ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ เพื่อให้สามารถทำสังฆกรรมได้ทุกที่ภายในวัด

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000011580005.JPEG)

       จากนั้นได้ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว ต่อมาคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช) หรือสามเณรสา ผู้สอบเปรียญ 9 ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร เป็นรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เมื่อ พ.ศ. 2408 ทรงกระทำการสมโภชทั้งเจ้าอาวาสและวัดใหม่เป็นเวลา 3 วัน และทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์สืบมาจนปัจจุบัน
       
       ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถานที่สำคัญ ภายในพระอารามแห่งนี้ ได้แก่ พระวิหารหลวง ปาสาณเจดีย์ ปราสาทพระจอม ปราสาทพระไตรปิฎก เป็นต้น

       พระวิหารหลวง ก่ออิฐถือปูนแบบทรงไทย มีมุขหน้า และหลัง ตั้งอยู่บนพื้นไพที ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหมด ซุ้มประตูและหน้าต่างพระวิหารหลวงเป็น “ซุ้มมงกุฎจอมแห” ประกอบลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสี
       
       ภายในพระวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน คือ พระพุทธสิหังคปฏิมากร ส่วนจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเทพชุมนุม ภาพพระราชพิธีสิบสองเดือน ภาพการทอดพระเนตรสุริยุปราคาในพระบรมมหาราชวัง

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000011580006.JPEG)

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000011580004.JPEG)

       ปาสาณเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ทรงลังกา ประดับด้วยหินอ่อนทั้งองค์ ยกเว้นช่วงปลียอดที่เป็นกะไหล่ทอง องค์พระเจดีย์สร้างเป็นซุ้ม ซุ้มด้านทิศเหนือประดิษฐานพระรูปหล่อสัมฤทธิ์ปิดทองของสมเด็จพระสังฆราช(สา ปุสฺสเทโว) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระเจดีย์เมื่อ พ.ศ. 2410
       
       ปราสาทพระจอมหรือปราสาทพระบรมรูป อยู่ด้านข้างพระวิหารหลวงทางทิศตะวันตก เป็นปราสาทยอดปรางค์ตามแบบศิลปะเขมร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขนาดเท่าพระองค์จริง
       
       ปราสาทพระไตรปิฎก อยู่ด้านข้างพระวิหารหลวงทางทิศตะวันออก เป็นปราสาทยอดปรางค์ศิลปะเขมรเช่นเดียวกัน เป็นสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000011580007.JPEG)

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000011580002.JPEG)

       ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ทำการปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั้งวัด และเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระราชพิธีสิบสองเดือนภายในพระวิหาร จากนั้นได้แบ่งพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปประดิษฐานไว้ในพระพุทธอาสน์ของพระประธานภายในพระวิหารหลวง
       
       ลุถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณะอีกครั้งหนึ่งโดยโปรดเกล้าฯให้สร้างปราสาทใหม่ 2 หลัง คือ ปราสาทพระจอมและปราสาทพระไตรปิฎก แทนปราสาทน้อยที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างไว้ และชำรุดทรุดโทรม จนไม่สามารถซ่อมแซมได้
       
       ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐฯ เมื่อปี 2553 โดยเริ่มจากพระวิหารหลวง ปราสาทพระบรมรูป และปราสาทพระไตรปิฎก ปาสาณเจดีย์ พื้นไพที และอาคารประกอบ ศาลาอเนกประสงค์ 2 หลัง คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤศจิกายน 2556

       
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9560000110336 (http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9560000110336)