สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กันยายน 25, 2013, 10:13:27 am



หัวข้อ: ภูเขาคันธมาทน์ อยู่ที่ไหน.?
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 25, 2013, 10:13:27 am

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2013/02/you02250256p1.jpg&width=360&height=360)

ภูเขาคันธมาทน์ อยู่ที่ไหน.?
คอลัมน์ : รู้ไปโม้ด โดย.น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com

ask1 ask1 ask1 
Siwakorn ถาม : เคยได้ยินชื่อ เขาคันธมาทน์ อยากทราบประวัติที่มาของภูเขานี้

ans1 ans1 ans1
ตอบ Siwakorn : ข้อเขียนนักวรรณศิลป์ ราชบัณฑิตยสถาน สมาภรณ์ ฤทธิ์สกุล ให้ความรู้ว่า "คันธมาทน์" เป็นชื่อภูเขาสำคัญลูกหนึ่งตามตำนานการสร้างโลกและจักรวาลในคติทางพุทธศาสนา เป็น 1 ใน 5 ขุนเขาที่ล้อมรอบสระอโนดาตในป่าหิมพานต์ ได้แก่ สุทัสนกูฏ จิตรกูฏ กาฬกูฏ คันธมาทนกูฏ และ ไกรลาส แต่ละลูกสูงถึง 200 โยชน์

คำ คันธมาทน์ มาจาก คันธ (กลิ่นหอม) + มาทน (ยินดี) คือ ภูเขาที่ให้ชาวโลกยินดีด้วยกลิ่นหอม ความหมายดังกล่าวเป็นคุณลักษณะประการสำคัญของเขาคันธมาทน์ คือเป็นขุนเขาที่พร้อมพรั่งไปด้วยพรรณไม้ที่ส่งกลิ่นหอม ดังในคัมภีร์โลกทีปกสารและไตรภูมิกถาพรรณนาลักษณะไว้ว่า

   "ยอดเขาคันธมาทน์นั้น มั่วมูลด้วยกลิ่น 10 ประการเหล่านี้คือ กลิ่นที่รากมีต้นกฤษณาเป็นต้น กลิ่นที่แก่นมีต้นจันทน์เป็นต้น กลิ่นที่กระพี้มีต้นสนเป็นต้น กลิ่นที่เปลือกมีต้นสวังคะเป็นต้น กลิ่นที่สะเก็ดมีมะขวิดเป็นต้น กลิ่นที่ยางมีต้นสัชฌะ เป็นต้น กลิ่นที่ ใบมีต้นพิมเสนเป็นต้น กลิ่นที่ดอกมีต้นบุนนาคและโกสุมเป็นต้น กลิ่นที่ผลมีต้นชาติผลเป็นต้น กลิ่นที่กลิ่นเพราะเป็นกลิ่นรวมของทุกๆ กลิ่นเป็นแหล่งรวมแห่งโอสถ" (คัมภีร์โลกทีปกสาร)

    "เขาอันชื่อคันธมาทนกูฏนั้นเทียรย่อมแก้วอันชื่อมสาลรัตนะ กลวงในเขานั้นดั่งถั่วสะแตกแลราชมาส พรรณไม้ที่เกิดในเขานั้น ลางต้นรากหอม ลางต้นแก่นหอม ลางต้นยอดหอม ลางต้นเปลือกหอม ลางต้นลำหอม ลางต้นดอกหอม ลางต้นลูกหอม ลางต้นใบหอม ลางต้นยางหอม ลางต้นหอมทุกอย่าง แลว่าไม้ในเขานั้นหอม 10 สิ่งดั่งกล่าวนี้แล ไม้ทั้งหลายนั้นเทียรย่อมเป็นยา แลว่าเชือกเขาเถาวัลย์อันมีในเขานั้นเทียรย่อมมีทุกสิ่ง แลเทียรย่อมหอมอยู่ทุกเมื่อบ่มิรู้วายรสเลย จึงเรียกว่าคันธมาทน์เพื่อดั่งนั้น" (ไตรภูมิกถา)


(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2013/02/you02250256p3.jpg&width=360&height=360)

ความมหัศจรรย์อีกประการหนึ่งของเขาคันธมาทน์ คือ ในวันเดือนดับและวันเดือนเพ็ญ ขุนเขาแห่งไม้หอมนี้จะมี แสงสว่างรุ่งโรจน์โชติช่วง ดังในไตรภูมิกถาพรรณนาไว้ว่า  "แลเขานั้นเมื่อเดือนดับแลรุ่งเรืองชัชวาลอยู่ดั่งถ่านเพลิง ถ้าเมื่อเดือนเพ็งเรืองอยู่ดั่งไฟไหม้ป่าแลไหม้เมืองแล"

    เขาคันธมาทน์ยังเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย ดังในคัมภีร์จักรวาฬทีปนีกล่าวไว้อย่างละเอียดว่า
    "ภูเขาชื่อคันธมาทน์ล่วงเลยภูเขาทั้งเจ็ดคือ จูฬกาฬบรรพต มหากาฬบรรพต ขุทกบรรพต จันทบรรพต สุริยบรรพต มณีบรรพต สุวรรณบรรพต ในหิมวันตประเทศ ณ ภูเขาคันธ มาทน์นั้นแลมีเงื้อมชื่อนันทมูลกะเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย
     มีถ้ำ 3 ถ้ำคือ ถ้ำทอง ถ้ำแก้วมณี และถ้ำเงิน ที่ปากถ้ำแก้วมณีมีต้นคำสูงโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง ต้นคำนั้นย่อม ผลิดอกบานสะพรั่งไปทั้งต้นโดยทั่วถึงทั้งในน้ำหรือบนบก
     โดยวิเศษในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้ามา ข้างหน้าต้นคำนั้นเป็นโรงกลมสำเร็จด้วยสรรพรัตนะ ณ โรงกลมนั้น สัมมัชนกวาต (ลมกวาด) กวาดหยากเยื่อทิ้ง สมกรณวาต (ลมเกลี่ย) เกลี่ยทรายซึ่งล้วนแล้วด้วยสรรพรัตนะให้เสมอ สิญจนวาต (ลมรด) นำน้ำจากสระอโนดาตมารด สุคันธกรณวาต (ลมกลิ่น) นำกลิ่นของต้นไม้หอมทุกอย่างมาจากป่าหิมพานต์ โอจินกวาต (ลมโปรย) โปรยดอกไม้ สันถรกวาต (ลมลาด) ปูลาดในที่ทุกแห่ง"
(จักรวาฬทีปนี)

นอกจากนี้ ในลิลิตโองการแช่งน้ำ วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น ก็มีพรรณากำเนิดภูเขาคันธมาทน์ในชื่อ "ผาหอมหวาน" หลังยุคไฟ น้ำและลมบรรลัยกัลป์ล้างโลกไว้ด้วย


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNakkxTURJMU5nPT0=&sectionid=Y25Wd1lXbHRiMlJs&day=TWpBeE15MHdNaTB5TlE9PQ== (http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNakkxTURJMU5nPT0=&sectionid=Y25Wd1lXbHRiMlJs&day=TWpBeE15MHdNaTB5TlE9PQ==)