สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

กรรมฐาน มัชฌิมา => เกี่ยวกับ วัด พระสงฆ์ พระธาตุ พระเครื่อง => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 18, 2013, 09:47:19 am



หัวข้อ: ที่ศักดิ์สิทธิ์กลางกรุง วัดปทุมวนาราม สถูปสรีรางคารแห่งราชสกุลมหิดล
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 18, 2013, 09:47:19 am
(http://www.watpathumwanaram.com/main/admin/gallery/33023308_52_gallery03-3.jpg)
พระอุโบสถ

ที่ศักดิ์สิทธิ์กลางกรุง วัดปทุมวนาราม สถูปสรีรางคารแห่งราชสกุลมหิดล
คอลัมน์ : ข่าวสด หลาก&หลาย

กลางย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพ มหานคร วัดปทุมวนารามราชวรวิหารตั้งอยู่สงบเงียบ บนถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน แม้ล้อมด้วยอาคารห้างสรรพสินค้า หากปกคลุมร่มรื่นด้วยต้น ไม้ใหญ่

วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร หรือ วัดสระปทุม เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในฐานะพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยมีพระราชดำริถึงบริเวณนาหลวง บริเวณริมคลองบางกะปิ ในพื้นที่ทุ่งพญาไท เป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังตลอดเวลาและมีบัวขึ้นอยู่ทั่วไป จึงมีพระราชประสงค์สร้างสระบัวเพื่อเป็นที่เสด็จประพาสในยามว่างจากพระราชกรณียกิจ

พ.ศ.2396 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จ้างจีนขุดลอกสระกว้าง 2 สระ สระทางด้านเหนือเรียกว่าสระใน ทางด้านใต้เรียกว่าสระนอก ปลูกบัวพันธุ์ต่างๆ ไว้ในสระทั้งบัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง ทางฝั่งเหนือของสระใน กำหนดเป็นเขตหวงห้ามส่วนพระองค์ ข้างในปลูกโรงเรือนขึ้นเป็นพระที่นั่งสำหรับประทับแรม 1 องค์ เรือนฝ่ายในเป็นที่ประทับแรมของเจ้าจอม โรงครัวข้างในและโรงครัวเลี้ยงขุนนาง ส่วนสระนอกอนุญาตให้เป็นที่เล่นเรือของข้าราชการและราษฎรทั่วไป

    รมณียสถานแห่งนี้พระราชทานนามว่า "ปทุมวัน" คำนี้แปลว่า ป่าบัวหลวง
    แต่เนื่องจากขุดไว้เป็นสระอย่างงดงาม จึงเรียกกันอย่างลำลองว่า "สระปทุม"
    ส่วนบริเวณที่ประทับ พระราชทานนามว่า "วังสระปทุม" สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2400



(http://www.watpathumwanaram.com/main/admin/gallery/31023143_100_gallery03-1.jpg)


เมื่อสร้างสระบัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นที่ทิศตะวันตกของสระนอก เพื่อพระราชทานพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระราชทานนามว่า วัดปทุมวนาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคไปเชิญพระใสและพระแสน มาจากวัดเขมาภิรตาราม นนทบุรี แล้วแห่แหนมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดปทุมวนาราม

วัดปทุมวนาราม แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าเป็นเขตพุทธาวาส มีพื้นที่ประมาณ 46x127 เมตร ทำแนวกำแพงล้อมโดยตลอด ภายในประกอบด้วยพระอุโบสถ พระเจดีย์ พระวิหาร และต้นพระศรีมหาโพธิ องค์ประกอบทั้งหมดจัดให้วางเรียงอยู่บนแนวแกนเดียวกันทั้งหมดตามลำดับ

พระอุโบสถ เป็นอาคารขนาดย่อม กว้างยาวประมาณ 10.20x 17.20 เมตร แบ่งเป็น 5 ห้อง รูปทรงอาคารทำหลังคาลดหน้า-หลังอย่างละชั้น หน้าบันใช้เครื่องไม้แกะสลักเป็น กระบวนลายกอบัวมีแนวคลื่นเหมือนน้ำ ตอนกลางสลักรูปพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานบนพานมีกรอบรูปดอกบัวล้อม ด้านนอกสลักลาย กนกเปลวโดยรอบ เครื่องประกอบหน้าเป็นเครื่องลำยอง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

พระอุโบสถ หันเข้าสู่สระปทุมวัน ด้านในของประตูหน้าต่าง เขียนรูปเครื่องบูชาแบบจีนสอดสีสวยงามยิ่ง ภายในพระอุโบสถมีพระประธานมีนามว่า "พระใส" เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนชุกชี 4 ชั้น ข้างหลังองค์พระมีซุ้มประทับ ส่องให้เห็นองค์พระงามเด่นยิ่งขึ้น ผนังหลังพระประธานเขียนเป็นรูปดอกบัวสวรรค์ขนาดใหญ่ แต่ละดอกมีนางฟ้าไปฟ้อนรำอยู่ถึง 7 นาง



(http://www.watpathumwanaram.com/useruploads/images/prasram.jpg)
พระเสริม


ถัดจากพระอุโบสถ เป็นพระเจดีย์รูปทรงกลม แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยม ตามมุมทั้งสี่มีพุ่มปั้น เป็นรูปดอกซ้อน 4 ชั้น เฉพาะฐานแท้ เป็นรูปกลมข้างในโปร่งเปิดเข้าไปเห็นผนังที่ก่อรับน้ำหนักสามชั้นแต่ละชั้นหนาประมาณสามศอก ตรงกลางเป็นลานว่าง

ปัจจุบัน ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองหินอ่อน บันไดขึ้นไปถึงตัวเจดีย์ สร้างเป็นรูปกลมข้างในโปร่งเหมือนกัน ตรงกลางมีพระพุทธรูปไสยาสน์หินอ่อน ด้านข้างมีพระพุทธรูปยืนในท่าต่างๆ ด้านตะวันออกมีรูปอดีตเจ้าอาวาสประดิษฐานอยู่

ถัดจากพระเจดีย์ไปทางทิศตะวันตก เป็นพระวิหาร มีรูปทรงคล้ายพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส หลังคาลดสองชั้น และต่อระเบียงยื่นหน้าหลัง มุงกระเบื้องลูกฟูกอย่างพระอุโบสถ ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันปิดกระจก พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 นิ้ว มีพระนามว่า "พระเสริม" ข้างหน้าพระเสริมมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยอย่างเดียวกัน แต่ย่อมกว่าอีกองค์หนึ่ง หน้าตักกว้าง 1 ศอก 6 นิ้ว มีพระนามว่า "พระแสน" ประดิษฐานลดลงมา



(http://www.watpathumwanaram.com/main/admin/gallery/35023350_257_gallery03-5.jpg)


ส่วนบริเวณที่หน้ามุขด้านทิศตะวันออกของโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดปทุมวนาราม เป็นที่ประดิษฐาน "พระสถูปเจดีย์" สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์ เพื่อบรรจุพระสรีรางคารของผู้ที่สืบสายตรงแห่งราชสกุลมหิดลของพระองค์ ด้วยพระองค์ท่านทรงมีความผูกพันกับวัดนี้เป็นอย่างมาก

พระสถูปเจดีย์บรรจุพระสรีรางคารของแต่ละพระองค์ ดังนี้
    1. พระบรมราชสรีรางคารส่วนหนึ่งของสมเด็จพระบรมราชชนก บรรจุเมื่อปีพ.ศ.2472 (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก่อนเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชชนกได้กราบบังคมทูลพระราชมารดา ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารส่วนหนึ่งของพระองค์ไว้ ณ พระสถูปเจดีย์ของวัดปทุมวนาราม เพื่อ "สังวาลย์และลูกๆ จะได้มาหาโดยสะดวก")
    2. พระทนต์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพัน วัสสาอัยยิกาเจ้า บรรจุเมื่อปี พ.ศ.2472
    3. พระทนต์ของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร บรรจุเมื่อปี พ.ศ.2481
    4. หนังส่วนพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล บรรจุเมื่อ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2538
    5. พระอัฐิส่วนหนึ่งของพระโสณี (สะโพก) ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี บรรจุเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2538
    6. พระทนต์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บรรจุเมื่อปี พ.ศ.2539

    พระสถูปเจดีย์แห่งนี้จึงเป็นสถานที่ส่วนพระองค์ของพระประยุรญาติที่สืบสายตรงในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายตลอดมา



(http://www.watpathumwanaram.com/main/images/sata/001.jpg)
ศาลาพระราชศรัทธา


บริเวณด้านหลังของวัด คือ สวนป่าพระราชศรัทธา บรรยากาศร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ทางเข้าสวนป่าด้านซ้ายมือ เคยมีกุฏิที่พักหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่าชื่อดัง เคยมาอยู่ที่นี่ เมื่อพรรษาที่ 8 ปัจจุบันรื้อออกไปสร้างเป็นกุฏิตึกแทน
   
นอกจากนี้ ยังมีศาลาพระราชศรัทธา ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เปิดให้ผู้ที่สนใจการปฏิบัติธรรมทั่วไปมานั่งสมาธิ ฟังธรรม หรือทำกิจทางศาสนา

 :96: :96: :96:

สำหรับประวัติความเป็นมาของศาลาพระราชศรัทธา ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทอดผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร

จากนั้นสองพระองค์เสด็จไปถวายบังคมพระสถูปเจดีย์ที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคารพระบรมราชชนก และเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปยังลานปฏิบัติธรรมลานสวนไผ่ ทรงมีพระราชปรารภถึงสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่ควรจะสร้างขึ้นอย่างถาวร ไม่ใช่เป็นหลังคาจาก หรือให้อยู่กันตามธรรมชาติแบบที่เป็นอยู่นี้ เพื่อว่าเมื่อมีสถานที่ที่สัปปายะพอสมควรแล้ว จะได้เป็นที่พักใจของคนเมืองกรุงด้วย

จากพระราชปรารภนั้น ต่อมา วัดปทุมวนาราม มีการจัดสร้าง "ศาลาพระราชศรัทธา" ขึ้นในที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้รับพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญตรา ภปร. ประดิษฐานไว้ที่หน้าบันศาลา ทั้งสองด้าน และที่ผ้าทิพย์องค์พระพุทธรูปพระเสริมจำลอง ซึ่งอัญเชิญเป็นพระประธานตลอดจนวัตถุมงคลต่างๆ ที่ได้สร้างขึ้นให้พุทธศาสนิกชนบูชา เพื่อนำรายได้สมทบทุนในการสร้างศาลาพระราชศรัทธา



(http://www.watpathumwanaram.com/main/admin/gallery/38023457_887_gallery03-8.jpg)


วันที่ 23 เมษายน 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังศาลาพระราชศรัทธา เพื่อทรงวางศิลาฤกษ์ และทรงเททองหล่อพระเสริมจำลอง อัญเชิญประดิษฐานเป็นพระประธานบนศาลาพระราชศรัทธา

วันที่ 25 มีนาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาในพิธีเปิดศาลาพระราชศรัทธา ทรงเจิมป้ายศาลา และทรงประกอบพิธีเปิดศาลาพระราชศรัทธาเป็นที่ปฏิบัติธรรม หลังจากนั้นได้เสด็จพระราช ดำเนินไปทอดพระเนตรสวนป่า ข้างศาลาพระราชศรัทธา และบริเวณโดยรอบ

ปัจจุบัน ศาลาพระราชศรัทธา อยู่ในการดูแลและบริหารงานของมูลศาลาพระราชศรัทธาและมูลนิธิถาวรจิตฺตถาวโร-วงศ์มาลัย โดยพระราชพิพัฒนาทร (หลวงพ่อถาวร จิตตถาวโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร จัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ ทั้งวันธรรมดา วันหยุด หรือปฏิบัติแบบต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปี


ขอบคุณบทความจาก http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE1UazRPRGt4TkE9PQ==&sectionid= (http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE1UazRPRGt4TkE9PQ==&sectionid=)
ภาพจาก http://www.watpathumwanaram.com/main/gallery.php (http://www.watpathumwanaram.com/main/gallery.php)