หัวข้อ: โทษของการละเมิดศีลห้า ในอรรถกถากล่าวไว้อย่างไร ข้อไหนสำคัญสุด.? เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 28, 2013, 10:02:06 am (https://fbcdn-sphotos-a-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn1/644348_655237237850044_1102691718_n.jpg) โทษของการละเมิดศีลห้า ในอรรถกถากล่าวไว้อย่างไร ข้อไหนสำคัญสุด.? ละเมิดศีลมีโทษมากหรือโทษน้อยต่างกันอย่างไร เมื่อว่าโดยโทษมาก บรรดาสัตว์มีชีวิตที่เว้นจากคุณ มีสัตว์เดียรัจฉานเป็นต้น ปาณาติบาตชื่อว่ามีโทษน้อย. ก็เพราะสัตว์ตัวเล็ก, ชื่อว่ามีโทษมาก ก็เพราะสัตว์ตัวใหญ่. เพราะเหตุไร. เพราะประโยคใหญ่ (ความพยายามมาก) แม้เมื่อมีประโยคเสมอกัน ชื่อว่า มีโทษมาก เพราะวัตถุใหญ่ ส่วนบรรดาสัตว์มีชีวิตที่มีคุณ มีมนุษย์เป็นต้น ปาณาติบาต ชื่อว่ามีโทษน้อย ก็เพราะมนุษย์มีคุณน้อย, ชื่อว่ามีโทษมาก ก็เพราะมนุษย์มีคุณมาก แต่เมื่อมีตัวและคุณเสมอกัน ก็พึงทราบว่า มีโทษน้อย เพราะกิเลสและความพยายามอ่อน และ มีโทษมาก เพราะกิเลสและความพยายามแรงกล้า แม้ในสิกขาบทที่เหลือก็นัยนี้ อนึ่ง ในข้อนี้ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานเท่านั้น ชื่อว่า มีโทษมาก ปาณาติบาต เป็นต้น หามีโทษมากเช่นนั้นไม่ เพราะอะไร เพราะทำอันตรายแก่อริยธรรม เหตุทำผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ให้กลายเป็นคนบ้า ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัย แม้โดยความมีโทษมาก ด้วยประการฉะนี้. ....ฯลฯ..... (https://fbcdn-sphotos-f-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn1/602874_655236647850103_426651341_n.jpg) องค์ประกอบของศีล ปาณาติบาต มีองค์ ๕ คือ ๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต ๒. ปาณสญฺญี สำคัญว่า สัตว์มีชีวิต ๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า ๔. วายมติ พยายาม ๕. เตน มรติ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น แม้อทินนาทาน ก็มีองค์ ๕ เหมือนกัน คือ ๑. ปรปริคฺคหิตํ ของมีเจ้าของหวงแหน ๒. ปรปริคฺคหิตสญฺญญี สำคัญว่า ของมีเจ้าของหวงแหน ๓. เถยฺยจิตฺตํ มีจิตคิดจะจะลัก ๔. วายมติ พยายาม ๕. เตน อาทาตพฺพํ อาทานํ คจฺฉติ ลักของได้มาด้วยความพยายามนั้น ส่วนอพรหมจรรย์ มีองค์ ๔ คือ ๑. อชฺฌาจริยวตฺถุ สิ่งที่พึงล่วงละเมิด ๒. เสวนจิตฺตํ จิตคิดจะเสพ ๓. ปโยคํ สมาปชฺชติ พยายามเข้าถึง ๔. สาทิยติ ยินดี มุสาวาท ก็มีองค์ ๔ เหมือนกัน คือ ๑. มุสา เรื่องเท็จ ๒. วิสํวาทนจิตฺตํ จิตคิดจะพูดท็จ ๓. วายาโม พยายาม เกิดแต่จิตนั้น ๔. ปรวิสํวาทนํ พูดเท็จต่อคนอื่น และเขารู้เรื่องเท็จ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ก็มีองค์ ๔ คือ ๑. สุราทีนํ อญฺญตรํ ของมึนเมามีสุราเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ๒. มทนียปาตุกมฺยตาจิตฺตํ จิตคิดอยากจะดื่มของมึนเมา ๓. ตชฺชํ วายามํ อาปชฺชติ ความพยายามเกิดแต่จิตนั้น ๔. ปีเต จ ปวิสติ ดื่มเข้าไปในลำคอ ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัย แม้โดยองค์ ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้. ....ฯลฯ..... (https://fbcdn-sphotos-c-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn1/1429_655240317849736_2108561157_n.jpg) วิบากกรรมของศีล เมื่อว่าโดยผล บาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นเหล่านี้ทั้งหมด ย่อมให้เกิดผลคือทุคติ และให้เกิดวิบากที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจในสุคติ ทั้งให้เกิดผลมีความไม่แกล้วกล้าเป็นต้น ในภายภาคหน้าและปัจจุบัน. อนึ่ง ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัย แม้โดยผลตามนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า วิบากของปาณาติบาตอย่างเบาที่สุด เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็ทำให้เป็นผู้มีอายุสั้น อีกประการหนึ่ง ในข้อนี้ ก็พึงทราบวินิจฉัย แม้โดยสมุฏฐาน เวทนา มูล กรรม และผลของเจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ในเจตนางดเว้นนั้น ให้เข้าใจกันดังนี้. เวรมณี เจตนางดเว้นเหล่านี้ทั้งหมด ตั้งขึ้นโดยสมุฏฐาน ๔ คือ กาย กายจิต วาจาจิต กายวาจาจิต. ทั้งหมดนั่นแหละประกอบด้วยสุขเวทนาก็มี ประกอบด้วยอทุกขมสุขเวทนาก็มี มีอโลภะอโทสะเป็นมูลก็มี มีอโลภะอโทสะและอโมหะเป็นมูลก็มี ในข้อนี้ เวรมณีแม้ทั้ง ๔ เป็นกายกรรม มุสาวาทาเวรมณีเป็นวจีกรรม แต่ก็ตั้งขึ้นจากจิต. ในขณะมรรคจิต แม้เวรมณีทั้งปวง ก็เป็นมโนกรรม. ปาณาติปาตา เวรมณี มีผลเป็นต้นอย่างนี้ คือ ความมีอวัยวะใหญ่น้อยสมบูรณ์ ความมีสมบัติคือความสูงใหญ่ ความมีสมบัติคือเชาว์ว่องไว ความมีเท้าตั้งอยู่เรียบดี ความงาม ความนุ่มนวล ความสะอาด ความกล้า ความมีกำลังมาก ความมีวาจาสละสลวย ความเป็นที่รักของชาวโลก ความมีวาจาไม่มีโทษ ความมีบริษัทไม่แตกกัน ความมีความองอาจ ความมีรูปไม่บกพร่อง ความเป็นผู้ไม่ตายเพราะศัตรู ความเป็นผู้มีบริวารมาก ความเป็นผู้มีรูปงาม ความเป็นผู้มีทรวดทรงดี ความมีโรคน้อย ความไม่เศร้าโศก ความไม่พลัดพรากกับสัตว์สังขารที่รักที่พอใจ ความมีอายุยืน. อทินนาทานา เวรมณี มีผลเป็นต้นอย่างนี้ คือ ความมั่งมีธนทรัพย์ ความมั่งมีธัญญทรัพย์ ความมั่งมีโภคทรัพย์ ความเกิดโภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิด ความมีความถาวรมั่นคงแห่งโภคทรัพย์ที่เกิดแล้ว ความได้โภคทรัพย์ที่ปรารถนาอย่างฉับพลัน ความมีโภคทรัพย์ไม่ถูกแบ่งด้วยภัย คือ พระราชา โจร น้ำ ไฟ ทายาทที่ไม่รักกัน ความได้ธนทรัพย์ที่ไม่สาธารณ์ ความได้โลกุตรทรัพย์ ความไม่รู้จักความไม่มี ความอยู่เป็นสุข. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี มีผลเป็นต้นดังนี้ คือ ความไม่มีศัตรู ความเป็นที่รักของคนทุกคน ความได้ข้าวน้ำผ้าและที่นอนเป็นต้น ความนอนสบาย ความตื่นสบาย ความพ้นภัยในอบาย ความเป็นผู้ไม่เกิดเป็นสตรีหรือเกิดเป็นคนไม่มีเพศ ความไม่โกรธ ความกระทำโดยเคารพ ความเป็นที่รักกันแห่งสตรีและบุรุษ ความมีอินทรีย์บริบูรณ์ ความมีลักษณะบริบูรณ์ ความไม่มีความสงสัย ความเป็นผู้ขวนขวายน้อย ความอยู่เป็นสุข ความไม่มีภัยแต่ที่ไหน ความไม่มีความพลัดพรากจากสัตว์สังขารที่รัก มุสาวาทา เวรมณี มีผลเป็นต้นอย่างนี้ คือ ความมีอินทรีย์ผ่องใส ความเป็นผู้พูดวาจาไพเราะสละสลวย ความมีฟันเรียงเรียบและสะอาด ความไม่อ้วนเกินไป ความไม่ผอมเกินไป ความไม่เตี้ยเกินไป ความไม่สูงเกินไป ความมีสัมผัสสบาย ความมีปากมีกลิ่นดังดอกอุบล ความมีคนใกล้ชิดเชื่อฟังดี ความมีวาจาที่เชื่อถือได้ ความมีลิ้นอ่อนแดงบางเสมือนดอกโกมลและอุบล ความไม่ฟุ้งซ่าน ความไม่คลอนแคลน. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี มีผลเป็นต้นอย่างนี้ คือ ความปฏิญาณได้ฉับพลันในกรณียกิจทั้งปวง ทั้งอดีตอนาคตและปัจจุบัน ความมีสติมั่นคงทุกเมื่อ ความไม่เป็นคนบ้า ความมีญาณ ความไม่เกียจคร้าน ความไม่โง่ ความไม่เป็นใบ้ ความไม่มัวเมา ความไม่ประมาท ความไม่หลง ความไม่หวาดกลัว ความไม่แข่งดี ความไม่ต้องสงสัย ความไม่ต้องแคลงใจ ความเป็นคนพูดสัจจะ ความเป็นคนพูดแต่วาจาไม่ส่อเสียด ไม่หยาบคาย ไม่เปล่าประโยชน์ ความเป็นคนไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน ความมีกตัญญู มีความกตเวที ความไม่ตระหนี่ ความเสียสละ ความมีศีล ความเป็นคนตรง ความไม่โกรธ ความมีหิริ ความมีโอตตัปปะ ความมีความเห็นตรง ความมีปัญญามาก ความมีความรู้ ความเป็นบัณฑิต ความฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์. ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัย แม้โดยสมุฏฐาน เวทนา มูล กรรม และผลด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้. ______________________________________________________ อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ สิกขาบท ๑๐ หัวข้อปาฐะว่าด้วยสิกขาบท http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=2 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=2) ขอบคุณภาพจาก http://www.flickr.com/photos/90000460@N08/with/8174856134/ (http://www.flickr.com/photos/90000460@N08/with/8174856134/) |