สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

กรรมฐาน มัชฌิมา => เกี่ยวกับ วัด พระสงฆ์ พระธาตุ พระเครื่อง => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มกราคม 03, 2014, 09:11:23 pm



หัวข้อ: “วิ่งม้าแก้บน” ทำบุญกุศลรับปีใหม่ ที่ “วัดสุวรรณาราม”
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มกราคม 03, 2014, 09:11:23 pm

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000000104502.JPEG)
พระอุโบสถของวัดสุวรรณาราม

“วิ่งม้าแก้บน” ทำบุญกุศลรับปีใหม่ ที่ “วัดสุวรรณาราม”
       
       “สวัสดีปีใหม่”       
       ฉันขอกล่าวคำทักทายนี้กับผู้อ่านที่น่ารัก ขอให้ทุกคนมีแต่ความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความคึกคักเหมือนกับปีม้าทองที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับปีใหม่แบบนี้ ฉันก็เลยขอแวะเข้าไปไหว้พระทำบุญที่วัดสักหน่อย
       
       แต่ต้องบอกว่าวัดนี้เขามีชื่อในเรื่องการแก้บน ที่ช่างสอดคล้องกับปีม้า 2557 นี้เสียเหลือเกิน เพราะที่วัดแห่งนี้เขาแก้บนกันด้วยการ “วิ่งม้า” ซึ่งหลายคนอาจจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่รู้จัก ฉันขอเฉลยเลยแล้วกันว่า วัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร” ตั้งอยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 และสามารถมาได้อีกทางคือการล่องเรือเข้าคลองบางกอกน้อยมายังท่าเรือของวัด



(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000000104503.JPEG)
พระวิหารที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

       วัดแห่งนี้มีความสำคัญหลายประการเลยทีเดียว อย่างแรกนั้น “วัดสุวรรณาราม” เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ประการถัดมา วัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และถือว่าเป็นวัติที่มีประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เกี่ยวเนื่องมาตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี มาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งฉันจะเล่าให้ฟังต่อไป อีกประการหนึ่งก็คือ ภายในพระอุโบสถของวัดแห่งนี้มีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก โดยเป็นฝีมือของจิตกรที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 3
       
       ก่อนที่จะเดินเข้าไปไหว้พระด้านในวัด เรามารู้จักความเป็นมาของวัดแห่งนี้กันก่อน “วัดสุวรรณาราม” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีชื่อว่า “วัดทอง” จนต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อครั้งที่พม่ายกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกทัพไปช่วย และสามารถจับเชลยศึกพม่ามาได้จากค่ายบางแก้ว จึงนำเชลยศึกมาประหารชีวิตเสียที่ วัดทอง คลองบางกอกน้อย (ในปัจจุบันคือ วัดสุวรรณาราม)
       
       จนกระทั่งมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม โดยสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร กำแพงแก้ว มีเก๋งด้านหน้าทั้ง 2 ข้าง และได้ทรงพระราชทานนามให้พระอารามใหม่ว่า “วัดสุวรรณาราม”



(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000000104504.JPEG)
พระพุทธรูปศิลา

       นอกจากนี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท : วังหน้าในรัชกาลที่ 1) มีพระราชศรัทธาสร้างเมรุหลวงสำหรับใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ไว้ที่วัดแห่งนี้ เนื่องจากตามประเพณีจะต้องนำไปฌาปนกิจนอกกำแพงพระนครชั้นนอก ซึ่งเมรุหลวงนี้ก็ได้ใช้มาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5
       
       ,มาถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณารามอีกครั้ง และในครั้งนี้ได้ทรงโปรดให้ช่างเขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถด้วย
       
       กลับมาสู่ยุคปัจจุบัน ฉันก็เล่นเข้าไปในวัด ได้เห็นพระอุโบสถหลังใหญ่สีขาวสะอาดตา เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่สร้างแบบฐานโค้งปากสำเภา ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายซึ่งได้นำมาผสมผสานกับระเบียบแบบแผนที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ มีเสาทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีระเบียงที่ด้านหน้าและด้านหลัง ช่อฟ้าใบระกาประดับกระจก หน้าบันจำหลักลายรูปเทพพนมและรูปนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง



(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000000104505.JPEG)
เจดีย์บรรจุอัฐิพระองค์เจ้าชายสุทัศน์

       หากมองดูเผินๆ แล้ว พระอุโบสถจะมีลักษณะคล้ายที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่มีความแตกต่างกันอยู่ที่พระอุโบสถที่วัดสุวรรณารามไม่มีเฉลียงรอบ ส่วนที่ฐานจะเป็นฐานปัทม์ทรงอ่อนโค้งปากสำเภา
       
       ข้างๆ กันนั้นเป็นที่ตั้งของพระวิหารหลังใหญ่ทรงไทย ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ลักษณะจะมีมุขขวางอยู่ 2 ข้าง ช่อฟ้าและใบระกาประดับกระจก หน้าบันจำหลักลวดลายเทพพนมปิดทอง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาเป็นพระประธาน มีพระอัครสาวก 2 องค์ ยืนพนมมือหันหน้าเข้าหาพระประธาน ส่วนที่ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธรูปทรงเครื่องอีก 2 องค์



(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000000104506.JPEG)
หอระฆัง

       ส่วนด้านหน้าพระวิหาร เป็นที่ตั้งของเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของพระองค์เจ้าชายสุทัศน์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศน์ กรมหมื่นไกรสรวิชิต : พระโอรสในรัชกาลที่ 1) และหากเดินออกมานอกกำแพงแก้วจะเห็นหอระฆังที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
       
       ชมพื้นที่รอบๆ วัดแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปภายในพระอุโบสถเพื่อสักการะองค์พระประธาน ฉันถอดรองเท้าไว้ด้านล่างก่อนจะขึ้นบันไดมาบนพระอุโบสถ จุดธูปเทียนไหว้พระที่ด้านนอกก่อนจะข้ามบานประตูเข้าไปภายใน



(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000000104507.JPEG)
จุดธูปเทียนไหว้พระก่อนเข้าไปในพระอุโบสถ

       ซึ่งภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน “หลวงพ่อศาสดา” พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปที่สง่างาม และมีทรวดทรงอ่อนช้อยงดงาม โดยเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านมาหลายชั่วอายุคนแล้ว มีการสันนิษฐานว่าน่าจะอัญเชิญมาจากสุโขทัยเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 เนื่องจากหลวงพ่อศาสดานั้นเป็นฝีมือช่างเดียวกันกับที่หล่อพระศรีสากยมุนี ที่วัดสุทัศน์
       
       นอกจากจะมาไหว้พระในพระอุโบสถเพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว ฉันก็ยังได้เห็นถึงความสวยงามโดดเด่นของจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถอีกด้วย เนื่องจากว่าจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ถือได้ว่าเป็นเพชรน้ำงามของจิตรกรรมไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์



(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000000104501.JPEG)
หลวงพ่อศาสดา พระประธานในพระอุโบสถ

       จากที่ฉันเคยเล่าไปแล้วว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการบูรณะวัดแห่งนี้ครั้งใหญ่ และได้มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นมาใหม่ โดยเป็นฝีมือของจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้แก่ หลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) และ หลวงเสนีบริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ)
       
       สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม) ได้ทรงกล่าวถึงครูช่างเขียน คือ ครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ ไว้ในหนังสือกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย) เมื่อ พ.ศ. 2458 ว่า “ครูทองอยู่เขียนเนมิราช ส่วนครูคงแป๊ะเขียนมโหสถ ฝีมือเป็นเอกทัดเทียมกันในสมัยรัชกาลที่ 3”



(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000000104508.JPEG)
ภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผม จิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม

       ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถนี้ เป็นภาพพุทธประวัติตอนสำคัญๆ และภาพทศชาติ ได้แก่ ผนังด้านหน้าพระประธานระหว่างช่องประตูเขียนภาพพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ และตอนประสูติ เหนือกรอบประตูขึ้นไปเขียนภาพมารผจญ ที่เรียกร้องให้พระพุทธองค์ลงจากบัลลังก์ แต่พระพุทธเจ้าปฏิเสธ และมีภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นพยาน
       
       ส่วนฝาผนังด้านซ้ายพระประธานระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพทศชาติ เหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปเขียนภาพเทพชุมนุม ผนังด้านหลังพระประธานระหว่างช่องประตูเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดก เหนือกรอบประตูขึ้นไปเขียนภาพพุทธประวัติตอนเปิดโลก พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ และทรงเปิดโลกสวรรค์ มนุษย์ และนรก ส่วนผนังด้านขวาพระประธานระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดกต่อไปจนครบ 13 กัณฑ์ เหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมเช่นเดียวกับผนังด้านซ้าย


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000000104509.JPEG)
ก่อนวิ่งม้าต้องมาไหว้ที่ใบเสมาใบแรกก่อน

       เล่าเรื่องจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามไปแล้ว คราวนี้ฉันจะเล่าเรื่องราวของการแก้บนที่อาจจะดูแปลกกว่าที่อื่นสักหน่อย ซึ่งที่วัดสุวรรณารามแห่งนี้ เขาจะแก้บนกันด้วยการ “วิ่งม้า” ซึ่งทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความเคารพศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อองค์หลวงพ่อศาสดา ทำให้นิยมมาบนบานศาลกล่าวในเรื่องต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องการงาน การค้าขาย และการบนบานเพื่อไม่ให้ถูกเกณฑ์ทหาร และจะมีข้อห้ามไม่ให้พูดคำว่า “ขอ” เป็นอันขาด
       
       ตามความเชื่อของชาวบ้านบุที่อาศัยอยู่ในละแวกวัดสุวรรณารามนั้น ว่ากันว่า หากมาบนบานหลวงพ่อศาสดาไว้แล้วก็ต้องมาแก้บน แต่หลวงพ่อศาสดาไม่ชอบให้แก้บนด้วยดนตรี ละคร หรือการละเล่นอื่นๆ แต่จะชอบให้แก้บนด้วยวิธีแปลกๆ ซึ่งมีอยู่ 3 อย่าง คือ บนเขกหัวตัวเอง บนตุ๊กตาล้มลุก และบนวิ่งม้า
       
       ในปัจจุบัน การแก้บนด้วยการเขกหัวตัวเองและบนตุ๊กตาล้มลุกนั้นไม่มีให้เห็นแล้ว เนื่องจากเป็นวิธีการที่ยาก จะเหลือให้เห็นก็แต่การวิ่งม้าแก้บน ซึ่งเชื่อกันว่าหลวงพ่อศาสดาโปรดปรานเป็นอย่างมาก วิธีการก็คือ หากมาบนบานไว้แล้วประสบความสำเร็จดังที่ต้องการจะต้องมาแก้บนที่ใบเสมาแรกทางดานหน้าของพระอุโบสถ เพราะตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับองค์หลวงพ่อศาสดา



(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000000104510.JPEG)
วิ่งม้าแก้บนรอบๆ พระอุโบสถ

       จากนั้นต้องนำผ้าขาวม้ามาวางหน้าใบเสมาและขมวดปมให้เรียบร้อย แล้วจึงนำไปวิ่งม้าแก้บน จะต้องวิ่ง 3 รอบขึ้นไป และระหว่างนั้นต้องร้องเสียงม้าไปด้วย เมื่อวิ่งเสร็จแล้วก็นำผ้าขาวม้ามาวางหน้าใบเสมาใบเดิมแล้วกราบลา เป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งปัจจุบันที่วัดก็มีบริการให้เยาวชนในชุมชนมาวิ่งม้าแก้บนแทนผู้ที่บนบานด้วย
       
       ถือได้ว่าการวิ่งม้าแก้บนนี้เป็นเอกลักษณ์ของวัดสุวรรณารามที่ไม่มีที่ไหนเหมือน และเป็นความเชื่อของชาวบ้านบุที่ยังได้รับการสืบทอดและปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
       
       ครั้งนี้ได้มาไหว้พระทำบุญที่วัด เป็นสิริมงคลกับปีใหม่ที่ผ่านเข้ามา ถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีที่เป็นมงคลกับชีวิต และเป็นจุดเริ่มต้นการใช้ชีวิตด้วยสติปัญญาตามหลักการของชาวพุทธไปด้วย หากใครอยากจะตามรอยฉันก็สามารถมากันได้ที่ “วัดสุวรรณาราม” หรือหากจะมาบนบานและแก้บนด้วยการวิ่งม้า ก็สามารถมาติดต่อที่วัดได้เลย
       
       :25: :25: :25:
       
       “วัดสุวรรณาราม” ตั้งอยู่ที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 (ตรงข้ามถนนบางขุนนนท์) เขตบางกอกน้อย กทม. การเดินทางสามารถขับรถเข้ามาทางถนนจรัญสนิทวงศ์ วัดตั้งอยู่ภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 หรือสามารถล่องเรือเข้ามาทางคลองบางกอกน้อย โดยขึ้นที่ท่าเรือของวัดได้เลย


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000001000 (http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000001000)