สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 12, 2014, 09:05:01 pm



หัวข้อ: หลักธรรมที่นำให้ “อายุยืน”
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 12, 2014, 09:05:01 pm

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000001366901.JPEG)

ธรรมาภิวัตน์ : หลักธรรมที่นำให้ “อายุยืน”

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้วครับ เพราะในจำนวนประชากรทั้งหมด 64 ล้านคน มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป อยู่ประมาณ 6.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 และในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากถึง 25% ของประชากรรวม
       
       สหประชาชาติได้นิยามความหมายของ “สังคมผู้สูงอายุ” “สังคมผู้สูงวัย” หรือ “สังคมคนชรา” ตามแต่จะเรียกขานไว้ว่า เมื่อประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เมื่อมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ครับ

        :25: :25: :25:

       เมื่อหันไปมองเพื่อนบ้านในอาเซียน และนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว ไทยเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุด รองลงมาคือสิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ 9 และอินโดนีเซีย ร้อยละ 6 ขยับไกลออกไปในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป็นสังคมสูงวัยสูงที่สุดถึงร้อยละ 24
       
       ขณะเดียวกันประชากรโลกโดยรวมก็ก้าวสู่การเป็นประชาคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป 8% หรือ 565 ล้านคน จากประชากรโลกทั้งหมดประมาณ 7,100 ล้านคน

        ans1 ans1 ans1

       สิ่งที่ตามมาในทางกาย หรือสังขาร คือ ความเจ็บป่่่วยชรา นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น จะมีความเสี่ยงต่อ 3 กลุ่มโรควัยชรา ดังต่อไปนี้     
       1. กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคกลุ่มหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง จากข้อมูลปัจจุบันคนไทยราว 55% มีปัจจัยเสี่ยงของโรคเหล่านี้ ทำให้คนไทยเกินครึ่งเสียชีวิตจากโรคกลุ่มนี้     
       2. โรคสมองเสื่อม ซึ่งมากับคนอายุยืน     
       3. โรคซึมเศร้า ซึ่งตามมากับภาวะสมองเสื่อมและโรคเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า       
       ซึ่งโรคซึมเศร้านี้เอง เป็นภาวะทาง “จิต” หรือ “ใจ” ซึ่งมาพร้อมกับการไม่ทำความเข้าใจในธรรมนิยาม หรือธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง อย่างถ่องแท้ ซึ่งก็คือหลักไตรลักษณ์นั่นเองครับ

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000001366902.JPEG)

       ไตรลักษณ์ แปลว่า “ลักษณะ 3 อย่าง” หมายถึง สามัญลักษณะ หรือลักษณะที่เสมอกัน หรือข้อกำหนด หรือสิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่าง ได้แก่       
       1. อนิจจตา(อนิจจัง) - ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป     
       2. ทุกขตา(ทุกขัง) - ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว       
       3. อนัตตตา(อนัตตา) - ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร       
       ลักษณะ 3 อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีเสมอกันแก่สังขารทั้งปวง และเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ธรรมนิยาม” คือกฎธรรมดาหรือข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร

        ans1 ans1 ans1

       ท่านพุทธทาสภิกขุได้เคยบรรยายใน ตุลาการิกธรรม เรื่องไตรลักษณ์ เมื่อปีพ.ศ. 2499 ให้กับบรรดาผู้พิพากษา ตอนหนึ่งท่านกล่าวไว้ว่า
       
       “…คำสอนเรื่องลักษณะ 3 ประการนี้ มีวิธีที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เห็นแจ้งมากมายหลายอย่างหลายวิธีด้วยกัน แต่ถ้าเอาผลของการปฏิบัติจนเห็นแจ้งในสิ่งเหล่านี้เป็นหลักแล้ว เราจะพบว่า มีข้อที่สังเกตได้ง่ายๆข้อหนึ่ง คือ การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ต้องเป็นการเห็นจนรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ ไม่มีอะไรที่น่าอยากน่าปรารถนาในทางที่จะเอา จะได้ จะมี จะเป็น ซึ่งอาตมาจะขอสรุปสั้นๆว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น” นี้เป็นความหมายที่กะทัดรัดที่สุดของการเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา…”

        :96: :96: :96:

       ลักษณะทั้งสามอย่างของไตรลักษณ์นี้มีความเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะสิ่งที่ประกอบกันเป็นขันธ์ 5 เพราะลักษณะไม่เที่ยงหรือความเปลี่ยนแปลงก็คือลักษณะที่เกิดมาจากการไม่คงทน การไม่สามารถอยู่ในสภาวะเดิมได้ ซึ่งเป็นลักษณะของความทุกข์ สาเหตุที่ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาวะเดิมได้ก็เพราะทุกสิ่งต้องไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยนั่นเองครับ
       
       คนเราทุกข์ก็เพราะเกิดจากการบังคับให้ทุกสิ่งเป็นไปตามความต้องการบัญชา เมื่อไม่ได้ดั่งใจหวัง ก็มักจะเกิดเป็นความทุกข์ตามมา ดังนั้น คนเราเป็นอนิจจังเพราะเป็นทุกข์ และเป็นทุกข์เพราะอนัตตา คือความไม่มีตัวตนที่คงที่และความไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเกิดขึ้น เพราะทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาวะเดิมได้ตลอดเวลา หรือเราอาจกล่าวได้ในทางกลับกันได้อีกเช่นกันว่า เป็นอนัตตาเพราะเป็นทุกข์ และเป็นทุกข์เพราะอนิจจัง เพราะสภาวะเหล่านี้เกี่ยวเนื่องถึงกันหมดเลยครับ

        :25: :25: :25:

       พระปริยัติสุธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม กล่าวในรายการธรรมาภิวัตน์เอาไว้ว่า ทางแก้หรือทางออกของผู้สูงอายุในการดำรงชีวิตอยู่ก็คือ การพิจารณาในหลักของไตรลักษณ์ครับ       
       "ร่างกายคนเรามีพัฒนาการตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ต้องยอมรับในกฎตรงนี้ว่า เราจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ไม่มีใครจะเป็นเด็กตลอดไป ไม่มีใครจะเป็นหนุ่มเป็นสาวได้ตลอด วันหนึ่งก็ต้องเข้าสู่วัยชรา
       
       เมื่อตกอยู่ในวัยชรา ความเสื่อมสภาพของร่างกายก็เกิดขึ้น ไม่มีใครหลีกหนีได้พ้น เมื่อเราพิจารณาได้เช่นนี้ ก็ทำให้เราเข้าใจในสังขารของตัวเองได้       
       ส่วนด้านจิตใจ ผู้สูงอายุก็อาจจะเกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ เมื่อบุตรหลานไม่ค่อยมีเวลาดูแล ปล่อยให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ที่อยู่ในวัยชรา อยู่กันเองตามลำพัง ก็จะเกิดความรู้สึกเหงา เศร้าซึม ว้าเหว่ ก็จะทำให้เกิดอาการจิตตก

        st12 st12 st12

       ดังนั้น ทางแก้คือต้องแก้ด้วยตนเองก่อน คือ อัตตาหิ อัตโน นาโถ - ตนแลเป็นที่พึงแห่งตน ดังนั้น ผู้สูงอายุพึงนำเอาหลักโลกธรรม 8 มาปฏิบัติใช้ คือ ให้เข้าใจโลกใบนี้ว่า มีลาภ-เสื่อมลาภ มียศ-เสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ มีสรรเสริญ มีนินทา เกิดขึ้นเป็นธรรมดาโลก ต้องพิจารณาหลักตรงนี้ให้เข้าใจ

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000001366903.JPEG)

       ต่อมา คือ บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ หรือที่ตั้งของความดี นั่นคือ
       1. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ ต้องรู้จักหมั่นให้ทาน
       2. สีลมัย คือ ทำบุญด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีมีระเบียบวินัย
       3. ภาวนามัย คือ ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิตใจ เพื่อให้จิตใจแข็งแรง
       
       เรื่องจิตใจนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าใจไปในทางบวก ร่างกายก็จะดีขึ้น แข็งแรง แต่ถ้าจิตใจห่อเหี่ยว ส่อไปในทางลบ ย่อมทำให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่่วยได้ง่าย ดังนั้น จิตใจของผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่บุตรหลานจะต้องเอาใจใส่ดูแล"
       
       การที่เราเป็นคนที่มีจิตใจเบิกบาน ไม่เครียดไม่คิดมาก ไม่ยอมให้จิตใจขุ่นมัว ก็ส่งผลให้ร่างกายมีความแข็งแรง มีพละกำลังได้ ตรงกันข้ามกับบุคคลที่ไม่มีกำลังใจ จิตใจหดหู่ท้อแท้ ร่างกายก็พานทรุดโทรมไปด้วย ทำให้อายุสั้นลงได้     
       และถ้าเรามีจิตใจที่เข้มแข็ง เราก็จะสามารถเผชิญกับความเป็นจริงของชีวิต ยอมรับกับสภาวะที่เป็นอยู่ได้ คลายจากความยึดมั่นถือมั่น เท่านี้ก็จะมีความสุขสบายใจได้ครับ

        :49: :49: :49:

       บางครอบครัว ตัดสินใจให้ผู้สูงอายุไปอยู่บ้านพักคนชรา เพียงเพราะคิดว่าจะมีคนช่วยดูแลพ่อแม่ของตนเอง และทำให้ท่านไม่เหงา เนื่องจากมีเพื่อนวัยเดียวกันอยู่มาก
       
       แต่ปัญหาที่บุตรหลานไม่ทันจะตระหนักก็คือ อาจจะเป็นการเพิ่มความทุกข์ให้กับท่านก็เป็นได้ เพราะผู้สูงอายุอาจจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับกลุ่มสังคมนั้นไม่ได้ ไม่สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลแปลกหน้าได้ เพราะอยู่กับบุตรหลานมาโดยตลอด

        :29: :29: :29:

       พระปริยัติสุธี ได้แนะนำว่า "ผู้สูงอายุควรนำหลักสังคหธรรม หรือหลักการอยู่ร่วมกัน พึงเข้าใจว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้ และเอาหลักกัลยาณมิตร คือเลือกคบคนที่ดี คนที่คบแล้วคุยด้วยแล้วสบายใจ รู้จักประมาณตน รู้จักเลี้ยงตัวให้พอเหมาะ กินแต่พออิ่มพอดี หรือสมชีวิตตา และพึงทำความเข้าใจว่า บ้านพักคนชราก็จะดูแลกันไปตามอัตภาพ จะให้สุขสบายเหมือนที่เคยเป็นมา ก็คงจะเป็นเรื่องยากไปสักนิด"
       
       ในทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ทรงประทานหลักธรรมที่จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข เป็นหลักในการใช้ชีวิตกับบุคคลรอบข้าง นั่นคือ พรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

        :32: :32: :32:

       คนเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสุขสงบนั้น จะต้องมีเมตตาต่อกัน การไม่เบียดเบียนกันไม่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน สังคมเราก็จะน่าอยู่ มีความสุขสงบ อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปนานๆ
       
       ชีวิตจะยืนยาวได้ ก็ต้องมาจากร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ครับ การเป็นคนอารมณ์ดี มีความสุขนั้น เป็นการช่วยส่งเสริมการมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น
       
       แต่ละคนนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆรอบตัวเอง ในที่นี้คือสิ่งแวดล้อมทางสังคม ซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ เพราะมนุษย์ถือเป็นสัตว์สังคม ดังนั้น เราจึงต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ และควรเป็นไปในทิศทางที่ดีด้วย เพื่อให้เราสามารถรื่นรมย์กับชีวิตได้อย่างยาวนาน

        :41: :41: :41:

       ความปรารถนาให้มีอายุที่ยืนยาวนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกของมนุษย์หรอกครับ แต่การจะดำรงทุกขณะของชีวิตให้มีความสุข ด้วยความเข้าใจในด้านหลักธรรมในพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นไตรลักษณ์ หรือหลักต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วก็ดีนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนส่งเสริมการมีอายุยืนยาวซึ่งได้แก่ สภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ และอาหารด้วย
       
       พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า สัตว์ทั้งปวงอยู่ได้ด้วยอาหาร แต่อาหารที่เป็นพิษก็มี ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องรู้จักรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย และต้องรู้จักทานอาหารอย่างพอประมาณ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
       
       การรู้จักแบ่งเวลาและรักษาเวลา ตรงต่อเวลากับทั้งตนเองและผู้อื่น ไม่เกียจคร้านผัดวันประกันพรุ่ง นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีชีวิตยืนยาวได้ คือรู้จักแบ่งเวลาว่า เวลาไหนควรทำอะไร ควรออกกำลังกาย ควรพักผ่อน ควรรับประทานอาหาร ควรทำให้สม่ำเสมอ อย่าทำผิดเวลามากหรือไม่แน่นอน ระบบในร่างกายจะทำงานผิดปกติ อาจจะนำพามาซึ่งโรคต่างๆได้

        ans1 ans1 ans1

       หลักธรรมในพุทธศาสนาเป็นเพียงหนทางหนึ่งครับ ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง สามารถดำเนินชีวิตอยู่บนโลกแห่งความวุ่นวายแบบนี้ได้อย่างไม่ทุกข์ร้อนและมีอายุที่ยืนได้ โดยการปฏิบัติตนเองให้ถูกทาง ใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต
       
       การจะเป็นบุคคลที่มีอายุยืนยาวได้นั้น เราจะต้องปฏิบัติด้วยตนเอง เหมือนที่พุทธพจน์กล่าวไว้ว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” ผลที่ได้ก็จะเกิดกับตนเองคือมีสุขภาพที่ดี ร่างกายและจิตใจดีแข็งแรง โดยไม่ต้องคาดหวังว่า จะให้บุตรหลานหรือคนใกล้ชิดคนใดมาคอยใส่ใจดูแลครับ

       
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV
http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9570000013196 (http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9570000013196)