สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

กรรมฐาน มัชฌิมา => เกี่ยวกับ วัด พระสงฆ์ พระธาตุ พระเครื่อง => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 20, 2014, 07:54:22 pm



หัวข้อ: วัดภคินีนาถ วัดของพระน้องนาง
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 20, 2014, 07:54:22 pm

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000002529301.JPEG)

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดภคินีนาถ วัดของพระน้องนาง


   วัดภคินีนาถ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 295 แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
       
   พระอารามแห่งนี้สันนิษฐานกันว่า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อ “วัดบางจาก” เพราะตั้งอยู่ปากคลองบางจาก แต่ชาวบ้านย่านนั้นมักจะเรียกว่า “วัดนอก” เพราะคู่กับ “วัดใน” คือ วัดเปาโรหิตย์ วัดทอง และวัดสิงห์
       
   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี พระราชธิดาองค์น้อย ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงสถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม ทรงเห็นว่า พระอุโบสถเดิมนั้นคับแคบ ไม่เหมาะแก่การเป็นพระอุโบสถที่สง่างาม จึงโปรดให้เปลี่ยนเป็นพระวิหาร และทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่
       
   และยังโปรดให้สร้างถาวรวัตถุต่างๆ ได้แก่ พระประธานในพระอุโบสถ พระระเบียง พระพุทธรูปปูนปั้น 80 องค์ พระเจดีย์ 4 องค์ที่มุมพระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ และศาลาเก๋งหน้าพระอุโบสถ

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000002529302.JPEG)

    การสถาปนาและทรงสร้างพระอุโบสถในครั้งนั้น มีขนาดยาว 1 เส้น 8 วา 2 ศอก พระประธาน หน้าตักกว้าง 5 ศอก สูง 7 ศอก พระอุโบสถมีพระระเบียง (วิหารคต) รอบพระอุโบสถ พระระเบียงสร้างยกฐานขึ้นเป็นอาสนสงฆ์โดยรอบ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป 80 องค์
       
    เมื่อทรงสถาปนาเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดภคินีนาถ” ซึ่งแปลว่า “วัดพระน้องนาง” ด้วยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี เป็นพระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อันเกิดจากพระชนกและพระชนนีเดียวกัน คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (แต่ในหนังสือกลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ของนายมี มหาดเล็ก บอกว่า เป็นชื่อพระราชทานในรัชกาลที่ 3)

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000002529303.JPEG)

   ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทอดกฐินที่วัดบางจาก และมีรับสั่งให้รื้อพระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว มาปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาส
       
    สมัยรัชกาลที่ 4 โด้มีการปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ มุขพระระเบียงอุโบสถ ปูพื้นหน้าพระวิหาร ขุดสระ พระวิหาร จากนั้นก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อมาโดยลำดับ โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ ศาลาเก๋งหน้าพระอุโบสถ
       
    ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระธรรมถาวร(เซ่ง) เป็นเจ้าอาวาสได้มีการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ได้แก่ พระอุโบสถ บานหน้าต่าง เขียนลายรดน้ำ ซุ้มลงรักปิดทองประดับกระจก ซ่อมหลังคา เปลี่ยนคันทวย ช่อฟ้า ใบระกา และปรับพื้นพระอุโบสถ รวมทั้งบูรณะพระระเบียง กุฏิเสนาสนะต่างๆ และหอระฆัง เป็นต้น
       
     และตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา ก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์โบสถ์ วิหาร อาคาร เสนาสนะต่างๆ เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000002529304.JPEG)

    โดยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดภคินีนาถวรวิหาร ทรงทอดพระเนตรจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ มีสภาพทรุดโทรมมาก จึงทรงมีพระราชดำริให้ปัจจัยในการทอดกฐินทั้งหมดในครั้งนั้น ใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์จิตรกรรมฝาผนัง
       
    ต่อมา ในปี 2554 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เริ่มจัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดภคินีนาถ เริ่มจากพระอุโบสถ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2556 จากนั้นในปี 2557 ได้เริ่มบูรณะพระระเบียงคต คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 และจะดำเนินการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังต่อไป

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000002529305.JPEG)

    สิ่งสำคัญในพระอารามแห่งมีมากมาย อาทิ
       
    • พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีทวยรองรับหลังคาปีกนกรอบพระอุโบสถ หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังจำหลักลาย ลงรักปิดทอง ประดับกระจก
       
    ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มปูนปั้นทรงเรือนแก้ว บานประตูหน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ เพดานมีรูปค้างคาวรุมล้อมลูกไม้ฉลุลายทองล่องชาด
       
    ผนังบริเวณเหนือหน้าต่างมีลายดอกไม้ร่วงระบายสีศิลปะแบบจีน ระดับต่ำลงมามีลายเครื่องบูชาของจีน เช่น แจกันดอกไม้ เครื่องลายคราม ถ้วยชา เป็นต้น และบานประตูหน้าต่างมีกรอบภาพพงศาวดารจีนติดอยู่โดยรอบพระอุโบสถ

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000002529306.JPEG)
   
    • พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อ ปางมารวิชัย งดงามตามแบบสุโขทัย       
    • พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย จำนวน 80 องค์ ประดิษฐานอยู่ภายในพระระเบียงวิหารคต     
    • พระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง ปางห้ามสมุทร 4 องค์ ขนาดสูงเท่าตัวคน แกนในเป็นหินทรายสีแดง ประดิษฐานอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ     
    • พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย นามว่า “หลวงพ่อดำ” เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก     
    • พระระเบียงวิหารคต ล้อมพระอุโบสถ มีประตู 4 ด้าน ซุ้มประตูเป็นหลังคามุขลด 2 ชั้น หน้าบันเป็นลายปูนปั้น เสาระเบียงทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีหัวเสาเป็นบัวแวง เพดานฉลุลายทองค้างคาวล้อมลูกไม้ ล่องชาด     
    • พระวิหาร เป็นพระอุโบสถหลังเดิม หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีพาไลหน้าหลังรองรับด้วยเสาสี่เหลี่ยม ประตูหน้าต่างเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมไม่มีซุ้ม     
    • กุฏิตำหนัก เป็นตำหนักเรือนไทยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี ที่รื้อมาปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาส ซึ่งปัจจุบัน พระอารามแห่งนี้มี พระมงคลสิทธิญาณ (วิสิทธิ์ นนฺทิโย) เป็นเจ้าอาวาส

       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000002529307.JPEG)

จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 159 มีนาคม 2557 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9570000024432 (http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9570000024432)