สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

กรรมฐาน มัชฌิมา => เกี่ยวกับ วัด พระสงฆ์ พระธาตุ พระเครื่อง => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 21, 2014, 09:40:56 am



หัวข้อ: ลอดพระแท่นล้างอาถรรพ์ ชมพระปรางค์ ไหว้พระ ยลงานศิลปะล้ำค่าที่"วัดอรุณฯ"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 21, 2014, 09:40:56 am

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164001.JPEG)
“วัดอรุณราชวราราม” เมื่อมองจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา


ลอดพระแท่นล้างอาถรรพ์
ชมพระปรางค์ ไหว้พระ ยลงานศิลปะล้ำค่าที่"วัดอรุณฯ"

       กรุงเทพมหานครนั้นเป็นที่ตั้งของวัดวาอารามมากมาย ซึ่งแต่ละที่ก็ล้วนแล้วเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวพุทธทุกคน อีกทั้งบางแห่งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกด้วย เที่ยวตามย่านในครั้งนี้ จะขอไปเที่ยว “วัดอรุณราชวราราม” หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆ ว่า วัดอรุณฯ โดยภายในวัดนั้นเป็นที่ตั้งของปูชนียสถานต่างๆ มากมาย ซึ่งแต่ละแห่งก็ล้วนถูกตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมอย่างวิจิตรงดงามให้ได้ชม และบริเวณพื้นที่ภายในวัดก็เปรียบได้กับย่านเล็กๆ แห่งหนึ่งก็ว่าได้
       
       แต่ก่อนจะไปเที่ยวภายในวัดนั้น ขอเล่าประวัติคร่าวๆ ให้ได้ฟังก่อน “วัดอรุณราชวราราม” ตั้งอยู่ที่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี เป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดมาหลายต่อหลายครั้ง เดิมทีนั้นวัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดมะกอก” โดยได้มีการสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่าบางมะกอก ซึ่งเป็นชื่อตำบลที่ตั้งของวัดในขณะนั้น และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดแจ้ง” อันเนื่อมาจากความเชื่อว่า “เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชประสงค์จะย้านราชธานีมาตั้งที่กรุงธนบุรี ใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้งพอดี จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง"



(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164002.JPEG)
อีกด้านหนึ่งของ พระปรางค์วัดอรุณฯ

       ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง เเละพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมาพระองค์มีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้นแต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดและสร้างพระปรางค์ให้แล้วเสร็จ เเละในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอีกครั้ง เเละได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164003.JPEG)
ซุ้มประตูยอดมงกุฎ และรูปปั้นยักษ์ ขวา: สหัสเดชะ ซ้าย : ทศกัณฐ์

       เริ่มต้นการเที่ยวครั้งนี้ ด้วยการไปสักการะประธานในพระอุโบสถเพื่อความเป็นสิริมงคลกันก่อน แต่ระหว่างทางก่อนจะเข้าไปสู่พระอุโบสถนั้นก็จะผ่าน “ซุ้มประตูยอดมงกุฎ” โดยเป็นประตูหน้าเข้าสู่พระอุโบสถ เป็นประตูจตุรมุขหลังคาสามชั้น มียอดเป็นทรงมงกุฎประดับด้วยกระเบื้องสลับสีอย่างดงาม ด้านหน้าประตูมีรูปปั้นยักษ์ตั้งอยู่ โดยรูปปั้นยักษ์ทางด้านขวานั้นมีนามว่า “สหัสเดชะ” และด้านซ้ายมีนาม “ทศกัณฐ์” ซึ่งยักษ์สองตนนี้คือยักษ์ที่เป็นตำนานคู่กับยักษ์วัดโพธิ์
       

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164004.JPEG)
พระพุทธรูปและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ “พระระเบียงคด”

       ถัดมาจากซุ้มประตูยอดมงกุฎ ก็จะเป็นแนว “พระระเบียงคด” หรือ “พระวิหารคด” ที่รายล้อมพระอุโบสถทั้ง4ทิศ พระระเบียงโดยรอบนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 120 องค์ และที่ฝาผนังของพระระเบียงมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามให้ได้ชม โดยเขียนเป็นรูปซุ้มเรือนแก้วลายดอกไม้ใบไม้


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164005.JPEG)
“พระพุทธนฤมิตร”

       เมื่อได้ชมความงดงามของพระระเบียงกันแล้ว เราก็จะไปชมความสวยงามของพระอุโบสถกันต่อ ลักษณะของพระอุโบสถ เป็นพระอุโบสถยกพื้นสูงหลังคาสองชั้นมุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ บนบุษบกด้านหน้าพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธนฤมิตร” โดยเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164006.JPEG)
"พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" พระประธาณภายในพระอุโบสถวัดอรุณฯ

       ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระธานพระพุทธรูปนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 กล่าวกันว่า “พระพักตร์เป็นฝีพระหัตถ์ของรัชกาล 2 ที่ได้ทรงปั้น” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งที่พระพุทธอาสน์นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ เมื่อปี พ.ศ.2438


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164007.JPEG)
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ

       ฝาผนังภายในพระอุโบสถทั้ง 4 ด้านมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามอลังการเป็นอย่างมากให้ได้ชม โดยเป็นเรื่องราวภาพพุทธประวัติฝีมือของช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้มีการมาซ่อมแซมบางส่วนในสมัยรัชกาลที่ 5


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164008.JPEG)
พระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

       ปัจจุบันวัดอรุณฯ แห่งนี้เป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะพระองค์เป็นผู้ริเริ่มการปฏิสังขรณ์ ซึ่งภายในวัดนั้นก็ได้เป็นที่ตั้งพระราชานุสาวรีย์ของพระองค์ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้สักการะและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164009.JPEG)
ทางเข้าพระปรางค์ด้านหน้า ขวา : โบสถ์น้อย ซ้าย : พระวิหารน้อย

       ถัดจากพระราชานุสาวรีย์รัชกาลที่2 มาไม่ไกลก็จะเป็นทางเข้าด้านหน้าพระปรางค์ ซึ่งบริเวณทางด้านขวาเป็นที่ตั้งของ “โบสถ์น้อย” โดยเป็นโบสถ์เก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งได้มีการสันนิษฐานว่าโบสถ์น้อยนั้น เป็นโบสถ์หลังแรกของวัดแห่งนี้เมื่อครั้งอดีต


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164010.JPEG)
“พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ด้านซ้ายคือ “ศาลสถิตดวงพระวิญญาณ”

       ภายในประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินให้ผู้ที่มาเยือนได้สักการะ และทางด้านซ้ายของบรมรูปหล่อ เป็นที่ตั้งของศาลสถิตดวงพระวิญญาณของพระองค์


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164011.JPEG)
“พระแท่นบรรทมสมเด็จพระเจ้าตากสิน”

       ตรงข้ามของพระรูปหล่อฯ เป็นที่ตั้งของ “พระแท่นบรรทมสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ซึ่งผู้ดูแลวัดได้บอกไว้ว่า “หากใครได้ลอดใต้พระแท่นบรรทมของพระองค์ท่านแล้ว ถือได้ว่าเป็นการล้างอาถรรพ์ต่างๆ ให้หมดไปจากชีวิต” ซึ่งหากใครต้องการจะลอดแล้วก็สามารถทำได้ แต่ต้องทำกระทำด้วยความสำรวม


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164012.JPEG)
ลอดพระแท่นบรรทม

       บริเวณด้านในหลังพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นที่ตั้งของฐานชุกชี (แท่นพระพุทธรูป) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนถึง 29 องค์ ให้ได้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164013.JPEG)
“พระจุฬามณีเจดีย์”

       และทางด้านซ้ายของทางเข้าพระปรางค์นั้น เป็นที่ตั้งของ “วิหารน้อย” ซึ่งได้มีการสันนิษฐานว่า ถูกสร้างมาพร้อมกับโบสถ์น้อยในสมัยอยุธยาที่ตั้งอยู่ข้างด้านข้าง ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน “พระจุฬามณีเจดีย์” เป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่หล่อด้วยโลหะ มีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลยืนเฝ้าพระเจดีย์อยู่ทั้ง 4 มุม ซึ่งเมื่อครั้งอดีตนั้น วิหารน้อยแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เมื่อครั้งที่ได้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164014.JPEG)
“พระปรางค์ใหญ่” และบันไดทางขึ้น

       ถัดเข้ามาจากทางเข้าก็จะเป็นที่ตั้งของ “พระปรางค์” โดยเป็นปูชนียสถานที่เป็นไฮไลท์ของวัดแห่งนี้ พระปรางค์วัดอรุณฯ นั้นถูกสร้างมาพร้อมกับโบสถ์น้อยและวิหารน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อครั้งอดีตมีความสูง 16เมตร ซึ่งต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาเสริมสร้างให้พระปรางค์สูงใหญ่เป็นพระมหาธาตุประจำพระนคร แต่พระองค์ทรงสวรรคตก่อนที่จะแล้วเสร็จ ซึ่งในรัชการที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดและสร้างพระปรางค์ให้แล้วเสร็จ


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164015.JPEG)
พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของวัดอรุณฯ

       พระปรางค์องค์ใหม่นั้นมีความสูง 82 เมตร มีพระปรางค์ใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางและมีพระปรางค์องค์เล็กตั้งอยู่ใน 4 ทิศ องค์พระปรางค์สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน ประดับประดาด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ อย่างประณีต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของวัดแห่งนี้ และยังมีงานปูนปั้น อาทิ ยักษ์,เทวดา,พญาครุฑ ประดับตกแต่งที่พระปรางค์อย่างดงามให้ให้ได้ชม


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164016.JPEG)
วิวทิวทัศน์ด้านบนพระปรางค์ใหญ่ สวยงามและกว้างไกล

       อีกทั้งองค์พระปรางค์ใหญ่ก็ยังสามารถที่จะขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ได้อีกด้วย ซึ่งทัศนียภาพนั้นก็นับได้ว่าสามารถมองได้เห็นอย่างกว้างไกล แต่ก็ขอเตือนเพราะบันไดที่ขึ้นไปนั้นสูงชันต้องใช้ความระมัดระวังกันสักหน่อย


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164017.JPEG)
หนึ่งใน “ตุ๊กตาปูนปั้น” ที่มีอยู่อย่างมากมายภายในวัด

       และอีกหนึ่งเอกลักษณ์เด่นที่จะขาดไปไม่ได้ คือเหล่าตุ๊กตาปูนปั้นหรือที่เรียกว่า “ตุ๊กตาอับเฉา” รูปทรงต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายอยู่ทุกมุมให้เราได้ชมตลอดเส้นทาง ความเป็นมาของรูปปั้นเหล่านี้ได้ถูกเล่าไว้ว่า เมื่อครั้งอดีตไทยเราค้าขายกับจีน สินค้าของไทยที่นำไปขายนั้นมีน้ำหนักมาก แต่ขากลับสินค้าจากจีนนั้นเบาเพราะส่วนใหญ่เป็นผ้าไหม จึงต้องมีการนำตุ๊กตาปั้นมาไว้ที่ห้องอับเฉาของเรือเพื่อถ่วงน้ำหนัก ตุ๊กตาปูนปั้นเหล่านี้จึงได้ชื่อว่าตุ๊กตาอับเฉา


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000007164018.JPEG)
“มณฑปพระพุทธบาทจำลอง”

       ปูชนียสถานภายในวัดอรุณฯ นั้นยังมีอีกมากมายให้เราได้ชม อาทิ พระวิหารหลวง, หอระฆัง, มณฑปพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งแต่ละแห่งล้วนแล้วถูกสร้างมาอย่างสวยงามและวิจิตรบรรจง หากใครได้มีโอกาสมาเที่ยวที่วัดอรุณฯ แล้วก็คงได้อิ่มเอมทั้งบุญ และอิ่มเอมกับการได้ชมงานศิลปะ ที่นับวันจะยิ่งสูงค่ามากขึ้นเรื่อยๆ และการมาเที่ยวในครั้งนี้ก็ทำให้ได้รู้ว่า สถาปัตยกรรมของไทยเราสวยงามไม่แพ้ชาติใดในโลก             
       
       การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 32 47 1 64 เเละ 53 ลงท่าเตียนต่อเรือแล้วนั่งเรือข้ามฟากมายังวัดอรุณ
       เรือด่วนเจ้าพระยา : ลงท่าเตียน แล้วนั่งเรือข้ามฟากมายังวัดอรุณ



ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000069319 (http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000069319)