สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 29, 2014, 09:44:48 am



หัวข้อ: แวะพักใจ ในวัดอโศการาม สนทนากับพระพุทธเจ้า
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 29, 2014, 09:44:48 am

(http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2014/06/19/g67hf7jkhfd79abdgi7d5.jpg)

แวะพักใจ ในวัดอโศการาม สนทนากับพระพุทธเจ้า
วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยมนสิกุล โอวาทเภสัชช์

เราทุกคนอาจเคยประสบกับภาวะทุกข์ใจที่หาทางออกไม่ได้กันมาบ้างไม่มากก็น้อย จนบางทีถึงขนาดหมดที่พึ่งจากผู้คนก็เข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์สนทนาภาษาใจจนมีความสบายใจขึ้นมาบ้างก็พบทางออกด้วยตนเอง หากเป็นคำสมัยใหม่อาจเรียกว่า 'ไดอะล็อก' ก็ไม่ผิดนัก เพียงแต่ว่าผู้ที่สนทนาด้วยไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นผู้ที่เราศรัทธาซึ่งอาจอยู่ที่ไหนสักแห่งในสิ่งสมมุติว่าศักดิ์สิทธิ์นี้

สำหรับพุทธบริษัทผู้ปวารณาตนเป็นศิษย์ตถาคต บูชาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งก็ย่อมเข้าหาพระธรรมเพื่อชำระจิตตนเองเป็นอันดับแรก หาใช่บุคคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดไม่

เมื่อไม่กี่วันมานี้ กับปัญหาคาใจที่แก้ไม่ตก ฉันเลือกที่จะให้ปัญหามันนอนก้นอยู่ในใจแล้วพาตนเองไปวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ เพื่อทำสังฆทาน เผื่อว่าจิตใจจะสงบขึ้น แล้วทางออกก็คงจะมาเอง ทั้งๆ ที่ไม่รู้หรอกว่าทางออกนั้นคืออะไร

 :49: :49: :49:

ยามบ่ายที่วัดอโศการามมีผู้คนประปราย ฉันเดินเข้าไปที่ศาลาทรงธรรม มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งมารอทำสังฆทานอยู่แล้ว ฉันเข้าไปสมทบ แล้วพระอาจารย์ท่านหนึ่งก็มานั่งทำหน้าที่ให้เราถวายสังฆทานกัน ซึ่งก่อนถวาย พระอาจารย์ท่านอธิบายอานิสงส์ของสังฆทานที่งดงามมาก จึงขอดึงความทรงจำที่หลงเหลืออยู่มาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านค่ะ

ท่านกล่าวว่า การถวายสังฆทานนั้น ก็คือการทำทาน ยังไม่ใช่บุญ แต่ทานก็เป็นฐานที่สำคัญ เช่นเดียวกับการรักษาศีล และการภาวนาที่มีอานิสงส์ทำให้ตัดภพชาติจากสังสารวัฏได้เลยทีเดียว สังฆทานสามารถถวายกับพระรูปใดก็ได้ ไม่เจาะจง แต่ให้ถวายเป็นของสงฆ์ทั้งหมด แล้วแต่ว่าคณะสงฆ์จะไปจัดการแบ่งปันอย่างไรก็แล้วแต่ท่าน

ของที่ถวายสังฆทาน ท่านบอกว่าไม่จำเป็นต้องไปซื้อของสำเร็จรูป เพราะหลายอย่างในนั้นอาจใช้ไม่ได้ เช่น บางทีใส่ผ้าอาบน้ำฝนมาครึ่งผืน ผ้าเช็ดตัวเป็นผ้ามุ้งผืนเล็กๆ ใช้ไม่ได้ ส่วนใหญ่ขายราคาในอนาคตด้วย คือ ราคาแพงกว่าตามความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องเป็นหีบห่อที่สวยงาม แต่ให้เป็นของที่พระใช้ได้จริง เพียงแค่ไม้จิ้มฟันอันเดียวแต่ถวายให้คณะสงฆ์ก็มีอานิสงส์มหาศาล

 st11 st11 st11

อานิสงส์ที่ได้เลยเดี๋ยวนั้น คือ ความสบายใจ และยิ่งได้สนทนากับพระ ครูบาอาจารย์ ที่สอนกรรมฐานด้วยแล้วล่ะก็ ถือว่าเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ ดังเช่นพระอาจารย์ท่านนี้ แม้ไม่ทราบฉายาท่าน แต่ก็กราบขอบพระคุณในใจเมื่อระลึกถึง ท่านอธิบายถึงอานิสงส์ของสังฆทานแล้ว ท่านยังแนะอานิสงส์ของการภาวนาว่า เพียงชั่วขณะของจิตที่สงบเพียงนิดเดียว แล้วแผ่เมตตาไปยังทุกภพภูมิที่เรามองไม่เห็น อันได้แก่เจ้ากรรมนายเวร เป็นต้น ก็อาจทำให้เจ้ากรรมนานเวรพอใจ ไม่จองล้างจองผลาญเราอีกต่อไปก็เป็นได้

การภาวนาที่พระอาจารย์ท่านแนะเป็นเรื่องอานาปานสติฉบับสั้น คือ หายใจเข้ายาวก็รู้ หายใจออกยาวก็รู้ หายใจเข้าสั้นก็รู้ หายใจออกสั้นก็รู้ สักแต่เพียงรู้ลมเข้าลมออกเท่านั้นเอง จนกระทั่งจิตสงบ ไม่แส่ส่าย ขณะนั้นเมื่อเข้าสู่วิปัสสนาปัญญาก็จะเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง

อานาปานสติที่พระท่านสอนมาจากพระพุทธเจ้า ซึ่ง ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ผู้ก่อตั้งและเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดอโศการามนี้นำมาปฏิบัติจนทะลุทะลวงวิชาอานาปานสติอย่างละเอียดลึกซึ้ง ท่านแนะว่า อานาปานสตินี้ สามารถระงับเวทนาของสังขารยามป่วยไข้ ไปจนถึงการช่วยให้การตายไปสู่สันติเลยทีเดียว 

 st12 st12 st12

ท่านพ่อลีเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ปรารภถึงท่านพ่อลีไว้ว่า "ท่านหลวงปู่มั่น โปรดที่จะสนทนาและเมตตามาก ไม่เคยตำหนิอะไรเลย มีแต่ยกย่องชมเชย ...เคยได้รับการยกย่องชมเชยจากหลวงปู่มั่นว่า ท่านลีนี้นะ กำลังใจดีมาก พลังจิตของท่านลีนี่ดีมาก"

พลังจิตของท่านพ่อลี เป็นอย่างไร มีบันทึกไว้ในหนังสือหลายเล่มที่ท่านวัดอโศการาม จึงไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ แต่อยากจะเชิญชวนพุทธบริษัทไปปฏิบัติธรรมที่วัดอโศการามบ้าง หากพอมีเวลา แล้วแวะไปนั่งสมาธิในพระธุตังคเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระธาตุพระอรหันต์ ๒๖ องค์ของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว เป็นต้น

ในพระธุตังคเจดีย์แห่งนี้ เราจะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม แล้วไดอะล็อกกับรูปปั้นและพระธาตุของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านใดก็ได้ ที่เราเคารพศรัทธา บางทีเราอาจพบกับคำตอบของปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์เลย หากเป็นเพราะจิตที่มีความสงบนั่นแหละ ที่ทำให้เราค้นพบคำตอบด้วยตนเอง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ตนแลคือที่พึ่งแห่งตน และกัลยาณมิตรคือที่สุดของชีวิต ซึ่งกัลยาณมิตรที่ดีที่สุด ก็คือตัวเราเอง



(http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2014/06/19/hbgfjj99ifabah9575bb6.jpg)


ความหมายของ 'พระธุตังคเจดีย์' และวัดอโศการาม

'พระธุตังคเจดีย์' เป็นเจดีย์หมู่ รวมเจดีย์ ๑๓ องค์ คือสัญลักษณ์แห่ง 'ธุดงควัตร ๑๓ ข้อ' พระเจดีย์ทุกองค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ตามดำริของท่านพ่อลี การถือธุดงค์ นั้นหมายถึง เจตนาที่แสดงออกเพื่อขจัดกิเลสของตน เกี่ยวกับเรื่องเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และความเพียร คำว่า พระธุดงค์ จึงหมายถึงพระภิกษุที่มีกิเลสอันตั้งใจกำจัดกิเลสด้วยการถือธุดงค์

ธุดงควัตร ๑๓ ข้อมีดังนี้ ๑.การสมาทานผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๒.การสมาทานธุดงค์ด้วยการถือใช้ผ้าเพียงสามผืนเป็นวัตร ๓.การสมาทานบิณฑบาตเป็นวัตร ๔.การเที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับแถวเป็นวัตร ๕.การสมาทานถือฉันจังหันในอาสนะเดียวเป็นวัตร (ฉันมื้อเดียว) ๖.การสมาทานฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๗.การสมาทานไม่รับภัตรที่นำมาถวายทีหลังเป็นวัตร ๘.การสมาทานถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๙.กรสมาทานอยู่รุกขมูลโคนไม้เป็นวัตร ๑๐.การสมาทานถืออยู่กลางแจ้งเป็นวัตร ๑๑.การสมาทานอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๑๒.การสมาทานยินดีในเสนาสนะที่ถูกจัดให้เป็นวัตร ๑๓.การสมาทานไม่นอนเป็นวัตร

 :25: :25: :25:

ในหนังสือ 'ท่านพ่อลีฝากไว้' ครบรอบวันมรณภาพปีที่ ๕๒ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) เมื่อวันที่ ๒๔-๒๕ เมษายน ๒๕๕๖ ปีที่ผ่านมา กล่าวถึงความเป็นมาของชื่อวัดและรูปปั้นพระเจ้าอโศกมหาราชว่า คราวหนึ่งท่านพ่อลี ได้เดินทางไปเยี่ยมดินแดนพุทธภูมิและนมัสการสังเวชนียสถานต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ และอยู่จำพรรษาที่ ต.สารนาถ เมืองพาราณสี ท่านเห็นพระเจดีย์และพระสถูปที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้ทรุดโทรมหักพัง ท่านจึงคิดจะสร้างพระเจดีย์เพื่อทดแทนไว้สักแห่งในประเทศไทย

ต่อมาประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๖ ท่านพ่อลีได้ไปนั่งสมาธิที่วัดเขาพระงาม จ.ลพบุรี ท่านเล่าว่า "คืนนั้นนั่งสมาธิตลอดสว่าง นั่งอยู่ด้วยกัน ๖ รูป และได้ยินเสียงแปลกประหลาดดังบนศีรษะห่างๆ คล้ายฝนตก สักครู่หนึ่งเห็นพระรูปตกลงมาใกล้ๆ เป็นแก้วเจียระไนสี่เหลี่ยม โดยประมาณนิ้วหัวแม่มือ "พระรูปดังกล่าวคือ พระรูปพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นผู้ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างใหญ่หลวง ด้วยเหตุนี้เมื่อท่านพ่อลีได้รับบริจาคที่ดินจากนางกิมหงษ์ และนายสุเมธ ไกรกาญจน์ เพื่อสร้างวัด ท่านจึงได้นำพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชมาตั้งชื่อวัด โดยให้ชื่อว่า 'วัดอโศการาม'

 ans1 ans1 ans1

กำหนดการปฏิบัติธรรมของวัดอโศการาม มีทุกวัน สำหรับอาทิตย์มีปฏิบัติธรรมที่ศาลาทรงธรรม ๐๙.๐๐-๑๕.๓๐ น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ๐-๒๓๘๙-๒๒๙๙

ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140620/186791.html (http://www.komchadluek.net/detail/20140620/186791.html)