หัวข้อ: มองเป็นเห็นธรรม : ยุทธวิธี สู้ปัญหาชีวิต เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 14, 2014, 07:54:19 am (http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000009028001.JPEG) มองเป็นเห็นธรรม : ยุทธวิธี สู้ปัญหาชีวิต การเดินทางไปสู่เป้าหมายของชีวิตที่ประสงค์ เปรียบดุจดังเดินทางในอุโมงค์ที่มืดมิด ด้วยความคิดที่มุ่งไปหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แม้ในขณะนั้นจะไม่เห็นแสงสว่างใดๆเลยก็ตาม คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีจิตใจมุ่งมั่นจะพาตน ไปให้ถึงเป้าหมายที่กำหดไว้ ปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา ล้วนถูกแรงความมุ่งมั่นนี้ทำลายลงไป เพื่อทำให้ชีวิตของเขาสามารถดำเนินต่อไปได้จนถึงที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ พระราชทานแก่พสกนิกรว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระราชปณิธานที่ยิ่งใหญ่นำให้พระองค์ทรงเจริญพระราชวิริยะอุตสาหะอย่างต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปประการ อันจักทำให้สามารถปลดเปลื้องความทุกข์ยากของพสกนิกรส่วนใหญ่ของประเทศ แล้วนำให้เขาเหล่านั้นมีความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงตามอัตภาพ ตลอดรัชสมัยที่ผ่านมา เชื่อว่ามีปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระองค์ พระองค์ทรงผ่านปัญหาเหล่านั้นมาได้ ด้วยพระราชหฤทัยที่เข้มแข็ง มุ่งสัมฤทธิผลในพระราชปณิธานที่พระราชทานไว้ พระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานแนวการวินิจฉัยตัดสินปัญหาแก่อนุชน ไว้ในพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ความว่า ans1 ans1 ans1 “...ปัจจัยสำคัญที่จะเกื้อกูลและส่งเสริมให้บุคคลประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งความเจริญมั่นคงในชีวิตได้แน่นอนนั้น ยังมีอีกส่วนหนึ่ง คือความสามารถในการวินิจฉัยตัดสินปัญหา การวินิจฉัยตัดสินปัญหามีหลายระดับ อย่างหยาบที่สุด ได้แก่ วินิจฉัยตัดสินตามความพอใจ ไม่อาศัยเหตุผลและหลักเกณฑ์ อีกอย่างหนึ่ง วินิจฉัยตัดสินตามประสบการณ์ที่เคยชิน และทำตามๆกันมา ซึ่งเหนือขึ้นมากว่าอย่างแรก แต่ยังถือว่าถูกต้องทีเดียวไม่ได้ เพราะขาดการพิจารณาสอบสวนที่แน่ชัด อย่างที่สาม ได้แก่ การวินิจฉัยตัดสินโดยอาศัยการพิจารณาวิเคราะห์ปัญหาอย่างถี่ถ้วน ให้ประจักษ์ความจริงทุกแง่มุม ทั้งสอบทานเทียบเคียง จนเห็นชัดว่าถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร อย่างไร เพียงใด ตามหลักวิชา หลักเหตุผล และหลักจริยธรรม ซึ่งนับเป็นการตัดสินวินิจฉัยที่ละเอียดรอบคอบ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์อันสมบูรณ์ สามารถนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาทั้งปวงในชีวิต ได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ...” (http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000009028002.JPEG) เมื่อพิเคราะห์พระบรมราโชวาท พบว่า ทรงจำแนกการวินิจฉัยตัดสินปัญหาเป็น ๓ ระดับ คือ ๑. การวินิจฉัยตัดสินปัญหาตามความพอใจ ทรงจัดว่าเป็นอย่างหยาบที่สุด เพราะไม่อาศัยเหตุผลและหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย เมื่อพิจารณาดูจะพบว่า นี่เป็นธรรมชาติของคนเรา ที่มักจะเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ ขาดการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม อัตราความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาจึงต่ำ และมักจะพบกับปัญหาเดิมๆอยู่เสมอ ทำให้เกิดความท้อแท้ในการดำเนินชีวิตได้ง่าย มักจะไม่มีความหวังต่ออนาคตของตนเองเลย ชีวิตจึงย่ำอยู่กับที่ เปรียบเหมือนคนที่เดินในอุโมงค์อันมืดมิด เมื่อเจออุปสรรคก็ไม่กล้าเดินต่อไป ลองพิจารณาถึงกรณีฝนแล้ง การวินิจฉัยตัดสินแก้ปัญหาฝนแล้งในกรณีนี้ก็คือ การบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ช่วยทำให้ฝนตก :91: :91: :91: ๒. วินิจฉัยตัดสินตามประสบการณ์ที่เคยชิน และทำตามๆกันมา เพราะขาดการพิจารณาสอบสวนที่แน่ชัด เมื่อพิจารณาดูจะพบว่า นี่เป็นธรรมชาติของคนเรา ที่มักจะเอาความเห็นของสังคมที่ตนอาศัยอยู่เป็นใหญ่ แม้มีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของความคิดในสังคมนั้น อัตราความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอาจจะดีกว่าแบบแรก ชีวิตก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้างตามทัศนคติของสังคม แต่โอกาสที่จะประสบปัญหาเดิมนั้นก็ยังคงมีอยู่ เปรียบเหมือนคนที่เดินในอุโมงค์อันมืดมิด เมื่อเจออุปสรรค ก็กล้าที่จะเดินต่อ แต่ไม่มีความมั่นใจ ลองพิจารณาถึงกรณีฝนแล้ง การวินิจฉัยตัดสินแก้ปัญหาฝนแล้งในกรณีนี้ ก็คือ การแห่นางแมว ซึ่งเชื่อสืบต่อกันมาว่าจะทำให้ฝนตก :s_hi: :s_hi: :s_hi: ๓. การวินิจฉัยตัดสินโดยอาศัยการพิจารณาวิเคราะห์ปัญหาอย่างถี่ถ้วน ประกอบด้วยหลักเกณฑ์อันสมบูรณ์ เมื่อพิจารณาดูจะพบว่า นี่เป็นธรรมชาติของคนเรา ที่มักจะเอาความเห็นที่ตรงตามธรรมเป็นใหญ่ อาศัยการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ด้วยตระหนักว่า ความสามารถของตนนั้นยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นจากท่านผู้รู้ มีความพร้อมที่จะนำความรู้ทั้งมวลมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาทั้งปวงในชีวิต ได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ ด้วยมุ่งหวังที่จะนำพาชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ตนกำหนดไว้ เปรียบเหมือนคนที่เดินในอุโมงค์อันมืดมิด เมื่อเจออุปสรรค ก็วิเคราะห์ด้วยหลักการ จนสามารถขจัดอุปสรรคนั้นได้ แล้วก็ก้าวเดินต่อไปจนพบแสงสว่าง ลองพิจารณาถึงกรณีฝนแล้ง การวินิจฉัยตัดสินแก้ปัญหาฝนแล้งในกรณีนี้ ก็คือแนวพระราชดำริแก้ไขปัญหาฝนแล้ง ที่นำมาซึ่งการทำฝนเทียมในที่สุด (http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000009028003.JPEG) การวิเคราะห์ปัญหาอย่างถี่ถ้วน ประกอบด้วยหลักเกณฑ์อันสมบูรณ์ ย่อมจะทำให้ทราบถึงขั้นตอนแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในที่นี้จักขอนำเสนอขั้นตอนการแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นแนวทางประการหนึ่งดังนี้ ๑. เมื่อประสบกับปัญหา ต้องทำความเข้าใจและกำหนดปัญหานั้นให้ถูกต้องชัดเจน นี่เป็นการใช้ความรู้ของตนเอง ในการวิเคราะห์ปัญหาที่ประสบ และเป็นการสร้างพฤติกรรมให้เกิดความเพียรในการดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่กำหนด ทุกปัญหาในชีวิตย่อมนำให้เกิดความทุกข์ขึ้น ต้องทำความเข้าใจถึงความทุกข์นั้นให้เด่นชัด ว่าเป็นความทุกข์เช่นใด แล้วจะทำให้เห็นถึงปัญหาอย่างชัดเจน ซึ่งนี่เป็นการเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง พึงเห็นได้จากที่เจ้าชายสิทธัตถะตั้งปรารถนาจะพบอมตธรรม ทุกข์ของท่านคืออะไร คืออมตธรรม ดังนั้น ปัญหาของท่านก็คืออมตธรรมคืออะไร? :49: :49: :49: ๒. วิเคราะห์สาเหตุสำคัญของปัญหา ธรรมชาติของคนเรามักติดกับความรู้ที่ตนมีอยู่ จนทำให้เกิดความเคยชินต่อสภาวการณ์ที่ประสบ บ่อยครั้งที่เจอปัญหาซ้ำซาก ก็มักจะใช้ความเคยชินในการวิเคราะห์ปัญหานั้น ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสาเหตุสำคัญของปัญหา ดังนั้น เมื่อสามารถกำหนดปัญหาได้อย่างถูกต้องชัดเจน ก็จะสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาได้อย่างถูกต้อง อันจะนำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น ปัญหาที่ดูเหมือนว่าหนักหนาสาหัส แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วจะพบว่า มีความซับซ้อนของปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ นี่ก็จะเป็นการบรรเทาความทุกข์จากปัญหาที่ประสบอยู่ ด้วยเริ่มเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ในหลักอริยสัจ ๔ เมื่อกำหนดรู้ว่าทุกข์คืออะไร ย่อมสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของทุกข์(สมุทัย) ได้ในที่สุดว่าคือตัณหา พึงเห็นได้จากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงกำหนดปัญหาของพระองค์ว่า อมตธรรมคืออะไร ? นำให้พระองค์ทราบถึงสาเหตุของปัญหาว่า ทรงไม่มีความรู้เรื่องอมตธรรมเลย st12 st12 st12 ๓. หาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผลตามเป็นจริง แล้วกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่สามารถทำได้จริง เมื่อทราบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง การแก้ไขปัญหาก็ย่อมตรงประเด็น ขบวนการคิดในการแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุผล ย่อมต้องอาศัยความรู้ที่ได้จากการศึกษา และประสบการณ์ในชีวิตเป็นพื้นฐาน แต่องค์ความรู้นั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้น การค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง หรือการสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะ กับท่านผู้รู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้าง ย่อมสามารถนำให้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ประสบอยู่ได้อย่างชัดเจน เมื่อนำความรู้ที่ผ่านการกลั่นกรองด้วยตัวปัญหา มาวิเคราะห์หาแนวทางการแก้ไขปัญหา ย่อมจะเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีความเป็นไปได้มากกว่า ๑ แนวทาง ต้องวินัยฉัยแนวทางนั้นให้ได้แนวทางหลัก เพื่อนำไปปฏิบัติ และแนวทางสำรองไว้ด้วย ในกรณีที่แนวทางหลักอาจดำเนินไปไม่ได้ดังความคิด ในหลักอริยสัจ ๔ เมื่อกำหนดความดับทุกข์(นิโรธ)ได้ ย่อมสามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติ ที่เป็นทางสายกลาง(มรรค)ได้ทันที พึงเห็นได้จากที่ เจ้าชายสิทธัตถะทรงกำหนดแนวทางแก้ความไม่รู้ในอมตธรรม ด้วยการมุ่งศึกษาหาความรู้ในอมตธรรม ตามความเชื่อในครั้งนั้น st11 st11 st11 ๔. ปฏิบัติตนตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ พร้อมทั้งติดตามและประเมินผลอยู่เสมอ เมื่อขบวนการคิดวินิจฉัยได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาได้แล้ว ก็เริ่มต้นปฏิบัติตนตามแนวทางนั้นไป จนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ ในขบวนการวินิจฉัยกับสภาวการณ์ความเป็นจริง อาจจะมีการสอดแทรกที่ไม่ทันได้คิดไว้เกิดขึ้น ดังนั้น การติดตามและประเมินผลแนวทางการแก้ไขปัญหา ย่อมจะทำให้เกิดความตื่นตัว และปลุกเร้าให้เกิดความเพียรในจิตใจ ที่จะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหา จนกว่าจะประสบความสำเร็จ โดยไม่ย่อท้อต่อขวากหนามทั้งปวง หลักอริยสัจ ๔ ได้วางแนวทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ไว้ด้วยมรรค มีองค์ ๘ แต่บุคคลที่จะสำเร็จมรรคผลจนเป็นพระอรหันต์ มีอยู่ไม่มาก ก็เพราะผู้ปฏิบัติขาดการปฏิบัติตนตามแนวทางของมรรค พร้อมทั้งการติดตามและประเมินผลในการปฏิบัติของตน นี่ฉันใด ในโลกนี้บุคคลที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต ย่อมต้องเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติตน ตามแนวทางที่ตนกำหนดไว้ และติดตามพร้อมทั้งประเมินผลในตนเองอยู่เสมอ พึงเห็นได้จากที่เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อตั้งใจจะศึกษาหาความรู้ในเรื่องอมตธรรมแล้ว ท่านเสด็จไปศึกษาในสำนักพระอาจารย์ใหญ่ในครั้งนั้นคือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส จนสำเร็จการศึกษา มีความรู้เสมอด้วยอาจารย์ทั้งสอง แต่ยังไม่พบอมตธรรม เจ้าชายสิทธัตถะจึงออกบำเพ็ญเพียรในทุกรกิริยา ที่เป็นความเชื่อว่า เป็นทางแห่งการพบอมตธรรม เมื่อปฏิบัติทุกรกิริยาจนถึงที่สุด พบว่านี่ไม่ใช่ทาง เจ้าชายสิทธัตถะจึงมาตริตรองวินิจฉัยหาแนวทางที่ถูกต้องจนพบ แล้วก็ปฏิบัติตามแนวทางนั้น ในที่สุดก็ตรัสรู้พบอมตธรรมได้ตามความประสงค์ :25: :25: :25: ๕. ทำใจให้เป็นกลาง(อุเบกขา) เมื่อปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดแล้ว ต้องทำใจให้เป็นกลาง เป็นปกติ อย่าไปใส่ใจในผลที่จักเกิดขึ้นว่า ต้องเป็นดังที่เราคาดคะเนไว้ เพราะนั่นเป็นการสร้างปัญหาทางจิตใจ อันนำไปสู่ปัญหาใหม่อีก ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามแนวทางจะเป็นเช่นไร ก็น้อมรับโดยสวัสดี เพราะการแก้ไขปัญหาไม่อาจกำหนดได้ด้วยระยะเวลา ดังนั้น พึงปฏิบัติตนไปตามแนวทางแก้ไขปัญหาที่กำหนดไว้จนถึงที่สุด ปัญหาก็จักหมดไป เหมือนดังที่เจ้าชายสิทธัตถะได้แก้ไขปัญหาของพระองค์จนสำเร็จ พระพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต ล้วนต้องประสบกับปัญหาในการดำเนินชีวิตทุกคน แต่ความเพียรในการต่อสู้ปัญหาจนถึงที่สุด เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะที่พึงมีของผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต เราไม่สามารถกำหนดเวลา ที่จะสัมผัสกับความสำเร็จได้ แต่เราสามารถกำหนดแนวทางสู้ปัญหาชีวิต ที่เป็นขวากหนามกั้นอยู่บนหนทางไปสู่ความสำเร็จของเราได้ จงศึกษาชีวิตของท่านผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วนำมาเติมเต็มเป็นกำลังใจในการสู้ปัญหาชีวิตของตน จนกว่าจะประสบความสำเร็จที่พึงปรารถนา การดำเนินชีวิตของเราก็จักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 164 สิงหาคม 2557 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม. ที่มา http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9570000087363 (http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9570000087363) |