หัวข้อ: บาลีวันละคำ (933) ธงชัยเฉลิมพล เริ่มหัวข้อโดย: ปัญญสโก ภิกขุ ที่ ธันวาคม 08, 2014, 06:44:43 pm บาลีวันละคำ (933)
ธงชัยเฉลิมพล (๑) “ธง” เป็นคำไทย ถ้าจะแปลเป็นบาลีคำสามัญคือ “ธช” (ทะ-ชะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่สะบัดไป” (หมายถึงธงทั่วไป) (๒) “ชัย” บาลีเป็น “ชย” (ชะ-ยะ) รากศัพท์ คือ ชิ (ธาตุ = ชนะ) แปลง อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย + อ ปัจจัย : ชิ > เช > ชย + อ = ชย แปลตามศัพท์ว่า “ความชนะ” หมายถึง การปราบ, การพิชิต, ชัยชนะ (vanquishing, overcoming, victory) ในบาลี “ธช” คำเดียว แปลว่า “ธง” แต่ถ้ามาคู่กับคำว่า “ปฏาก” (ปะ-ตา-กะ, หรือ “ปฏากา”) เป็น “ธชปฏาก” นิยมแปล ธช ว่า “ธงชัย” แปล ปฏาก ว่า “ธงแผ่นผ้า” สันนิษฐาน: ตามรูปความ “ธช” น่าจะหมายถึงธงผืนเดียวที่ผูกไว้กับคันธง ส่วน “ปฏาก” น่าจะหมายถึงธงที่เป็นแผ่นผ้าหลายผืนผูกเป็นราว อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์อรรถกถาพบคำว่า “ชยทฺธช” (ชะ-ยัด-ทะ-ชะ, = ชย + ธช) ซึ่งแปลได้ตรงตัวว่า “ธงชัย” ส่วนคำที่เราพูดกันว่า (ผ้ากาสาวพัสตร์เป็น) “ธงชัยของพระอรหันต์” บาลีเป็น “อรหทฺธช” (อะ-ระ-หัด-ทะ-ชะ) ในคำนี้ “ธงชัย” แปลมาจาก “ธช” ไม่ใช่ “ชยทฺธช” (“เฉลิม” เป็นคำไทย) (๓) “พล” บาลีอ่านว่า พะ-ละ แปลว่า ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force) ในที่นี้ “พล” หมายถึง กองกำลังทหาร คำว่า “ธงชัยเฉลิมพล” เพิ่งจะมีเก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 โดยบอกไว้ว่า - “ธงชัยเฉลิมพล : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ธงประจำหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานมี ๓ ชนิด คือ ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ และธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ.” : กล้าทำความดี เป็นศรีแก่ตน : เหมือนธงชัยเฉลิมพลเป็นศรีแก่กองทัพ --------------- (ขยายความจากคำถามของ Supachoke Thaiwongworakool ที่ถามว่า “ธงไชยเฉลิมพล” กับ “ธงชัยเฉลิมพล” สามารถใช้ได้ทั้งสองคำหรือเปล่า) |