หัวข้อ: มองเป็นเห็นธรรม : วาจาดี มีโชคชัย เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2015, 08:23:29 pm (http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000001335501.JPEG) มองเป็นเห็นธรรม : วาจาดี มีโชคชัย “คำพูดที่กล่าวออกไป หลังจากที่ได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างกว้างขวางและรอบคอบแล้ว ย่อมถือเป็นสัจวาจา ที่แสดงถึงความตั้งใจจริงที่บุคคลตั้งไว้แก่ตัวและผู้อื่น ผู้พูดจึงผูกพันบังคับตัวเองให้มั่นอยู่ในสัจวาจานั้น สิ่งใดที่พูดว่าจะทำหรือจะงดเว้น ต้องทำให้ได้โดยเคร่งครัดและครบถ้วน หาไม่จะกลายเป็นคนกลับกลอก ไม่มีความมั่นคงในคำพูดและการกระทำ ทำให้ไม่มีผู้ไว้วางใจ ไม่อาจทำให้งาน ให้ตนเองประสบผลสำเร็จที่ดีได้ ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม” :96: :96: :96: :96: ความตอนหนึ่งใน พระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ควรที่เราทั้งหลายผู้เป็นพสกนิกรในพระองค์ จักได้ตระหนักถึงคุณค่าของวาจาที่ตนพึงมีในการสื่อสารอยู่เสมอ ซึ่งสอดคล้องกับเรื่อง “มังสชาดก” ว่าด้วย “วาทศิลป์ของคนขอ” อันมีความโดยย่อดังนี้ ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นบุตรเศรษฐีในนครพาราณสี มีสหายที่สนิทเป็นบุตรเศรษฐีอยู่ ๓ คน นิยมนัดหมายพบปะสังสรรค์กันในที่ประชุมชนใกล้ประตูนครพาราณสี อยู่มาวันหนึ่ง มีนายพรานเนื้อคนหนึ่งได้นำเนื้อที่ล่าได้มาเป็นอันมาก บรรทุกเต็มเกวียนมายังนครพาราณสี ด้วยหวังว่าจักนำไปขาย เมื่อเขาขับเกวียนผ่านมาใกล้ถึงที่บุตรเศรษฐีนั่งสนทนากัน สหายคนหนึ่งเห็นพรานเนื้อบรรทุกเนื้อมา จึงกล่าวกับเพื่อนว่า “เราจะทำให้นายพรานนี้ มอบเนื้อแก่เรา” ว่าแล้วจึงเข้าไปหานายพรานเนื้อแล้วกล่าวว่า “เฮ้ย...พราน จงให้ชิ้นเนื้อแก่ข้าบ้าง” นายพรานเมื่อได้ยินคำพูดของเขา จึงกล่าวว่า “ธรรมดาผู้จะขออะไรๆผู้อื่น ต้องเป็นผู้มีคำพูดอันเป็นที่น่ารัก วาจาของท่านหยาบคายจริงหนอ ท่านขอเนื้อ แต่วาจาของท่านดังเช่นพังผืด ดูก่อนสหาย เราจะให้พังผืดแก่ท่าน” แล้วนายพรานก็ยกชิ้นเนื้อพังผืดอันไม่มีรสให้บุตรเศรษฐีไป :41: :41: :41: :41: เมื่อเขานำเนื้อพังผืดกลับไปหาเพื่อน สหายคนที่สองก็ถามขึ้นว่า “ท่านพูดว่าอย่างไรแล้วจึงขอ” สหายคนนั้นกล่าวว่า “เราพูดว่าเฮ้ย แล้วจึงขอ” สหายคนที่สองจึงกล่าวว่า “เราจักขอเขาดูบ้าง” แล้วสหายคนที่สองก็กล่าวกับนายพรานเนื้อว่า “พี่ชาย.. ท่านจงให้ชิ้นเนื้อแก่ฉันบ้าง” นายพรานกล่าวว่า “คำว่า พี่น้องชายหรือพี่น้องหญิงนี้ เป็นเช่นกับอวัยวะของมนุษย์ทั้งหลาย อันเขากล่าวกันอยู่ในโลก วาจาของท่านเป็นเช่นกับส่วนประกอบ ดูก่อนสหาย เราจะให้ชิ้นเนื้ออวัยวะแก่ท่าน” แล้วนายพรานก็ตัดเนื้ออันเป็นอวัยวะส่วนประกอบให้แก่เขา เมื่อสหายคนที่สองถือเนื้ออันเป็นอวัยวะกลับมายังกลุ่มเพื่อน สหายคนที่สามก็ถามว่า “ท่านพูดว่าอย่างไรแล้วจึงขอ” สหายคนที่สองกล่าวว่า “เราพูดว่าพี่ชาย แล้วจึงขอ” สหายคนที่สามจึงว่า “เราจะลองขอดูบ้าง” แล้วสหายคนที่สามก็กล่าวกับนายพรานว่า “ข้าแต่พ่อ ท่านจงให้ชิ้นเนื้อแก่ฉันบ้าง” :49: :49: :49: :49: นายพรานกล่าวว่า “บุตรเรียกบิดาว่าพ่อ ย่อมทำให้หัวใจของพ่อหวั่นไหว วาจาของท่านเช่นกับหัวใจ ดูก่อนสหาย เราจะให้เนื้อหัวใจแก่ท่าน” แล้วนายพรานก็ตัดเนื้ออันอร่อยพร้อมกับเนื้อหัวใจให้เขา เมื่อสหายคนที่สามถือเนื้ออร่อยพร้อมกับเนื้อหัวใจกลับมายังกลุ่มเพื่อน บุตรเศรษฐีผู้เป็นโพธิสัตว์ก็ถามว่า “ท่านพูดว่ากระไรแล้วจึงขอ” เขากล่าวว่า “เราพูดว่าพ่อ แล้วจึงขอ” บุตรเศรษฐีผู้เป็นโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า “เราจะลองดูบ้าง” แล้วบุตรเศรษฐีผู้เป็นโพธิสัตว์ก็กล่าวกับนายพรานเนื้อว่า “สหาย.. ท่านจงให้ชิ้นเนื้อแก่ฉันบ้าง” นายพรานกล่าวว่า “ในบ้านของผู้ใดไม่มีเพื่อน บ้านของผู้นั้นก็เป็นเหมือนกับป่า วาจาของท่านเป็นเช่นกับสมบัติทั้งมวล ดูก่อนสหาย เราจะให้เนื้อทั้งหมดแก่ท่าน มาเถิดสหาย ข้าพเจ้าจักนำเกวียนบรรทุกเนื้อนี้ทั้งหมดทีเดียวไปยังบ้านของท่าน” st12 st12 st12 st12 บุตรเศรษฐีผู้เป็นโพธิสัตว์ จึงให้นายพรานนั้นขับเกวียนไปยังเรือนของตน แล้วให้ขนเนื้อลง กระทำสักการะสัมมานะแก่นายพราน (ประกอบพิธีการยอมรับนับถือนายพรานเป็นสหาย) ให้เรียกบุตรและภรรยาของนายพรานมา แล้วให้เลิกจากกรรมอันหยาบช้า ให้อยู่ในท่ามกลางกองทรัพย์สมบัติของตน เป็นสหายที่แน่นแฟ้นกับนายพรานนั้น อยู่สมัครสมานกันจนตลอดชีวิต เมื่อมาพินิจในคำพูดของบุตรเศรษฐีทั้ง ๔ คน ย่อมจะเห็นผลแห่งคำพูดที่แตกต่างกันไป จากหยาบ มาจนถึงคำพูดที่จริงใจที่สุด แต่คำพูดที่จริงใจนั้น ย่อมต้องมีการกระทำที่บริสุทธิ์ใจประกอบด้วย จึงเป็นสัจวาจาดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปรารภในพระบรมราโชวาท ที่อัญเชิญมาเบื้องต้น บุคคลผู้สามารถกล่าวสัจวาจาได้ ย่อมเป็นผู้มั่นคงในการปฏิบัติตนอยู่กรอบของศีลข้อที่ ๔ คือ เว้นจากการกล่าวคำเท็จ คือเป็นคนที่มีปกติเว้นจากการพูดปด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด ด้วยมีจิตใจมั่นคงในธรรมข้อ ความเป็นผู้มีสัตย์ อันประกอบด้วย ans1 ans1 ans1 ans1 ๑. เป็นผู้ไม่ทำกิจการให้ผิดด้วยอำนาจอคติ ๔ คือ ๑.๑ ฉันทาคติ ถึงความลำเอียงเพราะความชอบใจ ๑.๒ โทสาคติ ถึงความลำเอียงเพราะเกลียดชัง ๑.๓ โมหาคติ ถึงความลำเอียงเพราะหลงไม่รู้ทัน ๑.๔ ภยาคติ ถึงความลำเอียงเพราะกลัว ๒. ความซื่อตรง คือ ความซื่อตรงต่อบุคคลที่เป็นมิตร เมื่อตนได้รับผูกไมตรีกับผู้ใดแล้ว ก็ไม่คิดร้ายแก่ผู้นั้น พึงเว้นจากโทษ ๔ คือ ๒.๑ ปอกลอกเพื่อน ๒.๒ ดีแต่พูด (มีวาจาปราศรัย ไม่สงเคราะห์จริง) ๒.๓ ประจบสอพลอ ๒.๔ ชักชวนในทางฉิบหาย และพึงประกอบด้วยคุณ ๔ สถาน คือ ๒.๕ อุปการะเพื่อน ๒.๖ ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ๒.๗ คอยตักเตือนให้สติแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๒.๘ มีความรักใคร่กันจริง ๓. สวามิภักดิ์ คือ ความจงรักภักดีต่อเจ้านายของตน เมื่อยอมยกให้ใครเป็นเจ้านายของตนแล้ว ก็ประพฤติซื่อสัตย์ต่อคนนั้น มีใจจงรักภักดี เป็นกำลังในการงานทุกอย่าง และป้องกันอันตราย เมื่อถึงเวลาก็อาจสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่เจ้านายของตนได้ ๔. ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการะที่ท่านได้ทำแล้วแก่ตน คู่กับกตเวที คือ การตอบแทนให้ทราบว่าตนรู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว หมายเอาเฉพาะแต่ว่า บุคคลได้รับอุปการะเช่นนั้นจากท่านใดแล้วยกย่องท่านผู้นั้น ตั้งไว้ในที่ผู้มีคุณ เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ เจ้านาย เป็นต้น ไม่แสดงอาการลบหลู่ดูหมิ่นและยกตนเทียมท่าน st11 st11 st11 st11 บุคคลผู้ดำรงตนมั่นในสัจวาจา ย่อมเป็นบุคคลผู้มีอินทรีย์ผ่องใส มีวาจาไพเราะสละสลวย มีถ้อยคำที่บุคคลเชื่อได้ มีบริวารล้วนแต่ขยันขันแข็ง เมื่ออยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใด ก็ได้รับการยกย่องสนับสนุนให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำประสิทธิผลให้เกิดขึ้นแก่องค์กรที่ตนเองรับผิดชอบอยู่เสมอ สมดังพระบรมราโชวาทที่พระราชไว้ว่า “การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม” เมื่อท่านปรารถนาให้ตนเป็นคนมีโชคดีเป็นนิตย์ ก็พึงกล่าววาจาดี เป็นสัจวาจา เพราะผู้กล่าววาจาดี ย่อมมีโชคชัยเสมอ จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม. http://manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9580000012929 (http://manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9580000012929) หัวข้อ: Re: มองเป็นเห็นธรรม : วาจาดี มีโชคชัย เริ่มหัวข้อโดย: noobmany ที่ กุมภาพันธ์ 15, 2015, 10:25:21 am สุนทรภู่ กล่าวถึงบ้านบางพูดไว้ในนิราศภูเขาทองว่า
“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา” st11 st12 st12 thk56 |