หัวข้อ: ตัวอย่างเรื่อง ของการให้พร และ การสวดพระปริตร ต่ออายุ เริ่มหัวข้อโดย: หมวยจ้า ที่ พฤศจิกายน 14, 2010, 04:51:43 am คนบางท่าน พูดเรื่องการให้พรของพระเป็นเรื่องเหลวไหล การสวดเจริญพระพุทธมนต์ฺ นั้นไม่มีในสมัยของ
พระพุทธเจ้า อันแท้ที่จริง การให้ พร และ การเจิรญพระปริตร ต่อายุมีในครั้งพระศาสดา โปรดอ่านได้จาก เรื่องนี้ คร้า... อายุวัฒนกุมาร โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สำหรับบุคคลตัวอย่างในวันนี้ ก็จะนำเอาเรื่อง “อายุวัฒนกุมาร” มาเล่าให้ท่านได้อ่านกันอีก เรื่องนี้ถึงแม้ว่าจะรู้สึกว่าไม่เข้ากับการเจริญพระกรรมฐานนัก แต่ทว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทก็จะได้ทราบชัดถึงกฎแห่งปาณาติบาต หรือว่าการต่ออายุเนื่องในบุคคลที่ถึงอุปฆาตกรรม ที่เรียกว่าจะตายในระหว่างอายุยังไม่สิ้นอายุขัย ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกระทำเอง เรื่องนี้มีอยู่ว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาศัย “ฑีฆะลัมพิกะนคร” และก็ทรงประทับอยู่ในกุฎีในป่า ทรงปรารภกุมารผู้มีอายุยืนเป็นเหตุ สมเด็จพระบรมไตรโลกเชษฐ์ได้ตรัสคาถานี้ว่า “อภิวาทะนะสีลิสสะ” เป็นต้น ความมีอยู่ว่า มีพราหมณ์สองสหายเป็นคนชาวฑีฆะลัมพิกะนคร บวชในลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา ที่เราเรียกว่า “เดียรถีย์” บำเพ็ญตบะสิ้นกาลนาน คำว่า “ตบะ” แปลว่า อุบายเป็นเครื่องทำลายกิเลส หรือเผาผลาญกิเลส หรือว่าอุบายเป็นเครื่องทำลายกิเลสให้เร่าร้อนทำให้กิเลสสิ้นไป เฉพาะเวลาที่ปฏิบัติสมณธรรมอยู่นี้ สิ้นเวลาไถึง 48 ปี (น่าคิด นานมาก) พราหมณ์สองคนนั้น คนหนึ่งคิดว่าประเพณีของเราจะเสื่อมเสียแล้ว นี่หมายความว่าการประพฤติปฏิบัติในสมณธรรมหรือในตบะเป็นไปไม่ได้ดี ถ้าขืนอยู่ก็จะเสีย จึงดำริต่อไปว่า ถ้าเราปฏิบัติเอาดีไม่ได้ จิตใจยังโลภโมโทสัน มีความกระสันในระหว่างเพศ มีความอยากรวย ยังมีความโกรธ ยังมีความหลงอย่างนี้ เราสึกดีกว่า เมื่อดำริดังนั้นแล้วจึงได้ขายบริขารคือเครื่องทำตบะไว้ให้แก่คนอื่น เมื่อสึกออกมาแล้วก็ได้ภรรยา การได้ภรรยาคนนี้ต้องเสียค่าอะไรกันบ้างล่ะ สมัยนี้เขาเรียกว่าเสียค่าสินสอดด้วยโค 100 ตัว กับทรัพย์อีก 100 กหาปณะ เป็นอันว่าวัว 100 ตัว กับเงินอีก 400 บาท (100 ตำลึงก็ 400 บาท สมัยนั้นแพงมาก) ให้ตั้งไว้เป็นกองทุน ในกาลต่อมาภรรยาของเธอตั้งครรภ์ขึ้น (ยังสงสัยเหมือนกัน แกบวชเป็นพราหมณ์ตั้ง 48 ปี ตอนสึกมานี้แก่อายุเท่าไร ถ้าว่ากันอย่างน้อย ๆ ก็ปาเข้าไป 70 ปี แล้วมาแต่งงาน มันใกล้จะตายเต็มที แต่เรื่องของคนจะแต่งงานเสียอย่างมันก็หมดเรื่อง) ว่ากันต่อไป ส่วนสหายของเขาคือพราหมณ์ที่อยู่ยังต่างถิ่น ในเวลาครั้งหนึ่งก็กลับมาสู่บ้านเดิม เมื่อพราหมณ์ที่ออกมามีเมียได้ยินข่าวว่าเพื่อนเก่ามา จึงได้พาบุตรกับภรรยาไปหาพราหมณ์เพื่อน เมื่อสนทนาปราศรัยกันแล้วเวลาจะกลับแกก็เอาลูกให้ภรรยาอุ้มกราบนมัสการลา ท่านพราหมณ์ผู้เป็นเพื่อนก็บอกว่า “ฑีฆายุโกโหตุ” ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืนนาน มาในตอนหลังพราหมณ์ก็ให้ลูกน้อยลาบ้าง เป็นอันว่าท่านพราหมณ์นั้นท่านนิ่งเสีย ทั้งสองคนผัวเมียก็ถามว่า “เวลาลูกของเราลาท่านทำไมไม่ให้พรแบบนั้น” ท่านก็บอกว่า “การให้พรแบบนี้ไม่ได้ เพราะว่าลูกของท่านจะตายภายใน 7 วัน คือจากวันพรุ่งนี้ไป 7 วัน ลูกของท่านจะตาย ถ้าเราให้พรอย่างนั้นมันก็ให้พรผิด ให้ไม่ได้” พราหมณ์ผู้เป็นเพื่อนคือผู้เป็นพ่อของเด็กก็ถามว่า “มีวิธีอะไรที่จะแก้ไขไหม” ท่านก็บอกว่า “ฉันได้แต่รู้ว่าเด็กจะตาย แต่ว่าวิธีแก้ไขนี่ฉันไม่รู้” เพื่อนจึงได้ถามต่อไปว่า “ถ้าอย่างนั้นใครเป็นคนรู้” ท่านพราหมณ์ที่ยังบวชอยู่ก็บอกว่า “มีพระสมณโคดมเท่านั้นที่จะรู้ คนอื่นเห็นจะไม่รู้ นอกจากพระสมณโคดมแล้วอาจจะมีสาวกของท่านรู้ก็ได้ ความรู้ของเราไม่มีถึงขนาดนั้น” ท่านพราหมณ์สองตายายผู้เป็นพ่อแม่ของเด็ก เมื่อฟังคำนี้แล้วจึงลาออกจากสำนักมุ่งตรงไปยังมหาวิหารที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงประทับ ท่านเข้าไปเฝ้าแล้วก็ทำแบบเดิม หมายความว่าผลัดกันไหว้ นี่เข้าไปหาหมอดู พอพ่อไหว้ พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า “ขอท่านจงมีอายุยืน” แม่ไหว้ท่านก็บอกว่า “ขอท่านจงมีอายุยืน” แม่ไหว้ ท่านก็บอกว่า “ขอท่านจงมีอายุยืน” พอให้ลูกไหว้ พระพุทธเจ้านิ่ง ท่านก็ถามความนั้น พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “นับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป 7 วัน คือวันที่ 7 ลูกของท่านจะตาย ฉันให้พรแบบนี้ไม่ได้ ให้มันก็ผิด” พราหมณ์จึงถามองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “มีอุบายอะไรบ้างหรือไม่พระพุทธเจ้าข้า ที่จะแก้กรรมของเด็กนี้ได้ คือไม่ให้ตายในระหว่างชีวิตที่ยังเป็นเด็ก” พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า “มี” พราหมณ์ถามว่า “จะทำอย่างไร” องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงตรัสว่า “ถ้าท่านจะพึงตบแต่งมณฑป คือทำเป็นโรงพิธีไว้บริเวณกลางลานบ้านของท่าน แล้วก็ให้ตั้งเครื่องบูชาที่มณฑปนั้น ปูอาสนะไว้ 8 หรือ 16 ก็ได้ ปูล้อมรอบตั่ง คือตั้งตั่งไว้แล้วปูอาสนะสำหรับพระนั่ง 8 ที่นั่ง หรือว่า 16 ที่นั่งก็ได้ แล้วให้นิมนต์สาวกของเราไปนั่งบนอาสนะนั้น ให้ทำการสวดพระปริตร 7 วัน 7 คืนไม่มีเวลาว่าง สวดติดต่อกันไป (สำหรับพระปริตรก็หมายความว่า มนต์ที่พระท่านสวดมนต์เป็นกันนี่แหละ พระที่สวดกันทุกวันนี่เขาเรียกว่า สวดพระปริตร) เมื่อครบ 7 วันแล้ว อันตรายของเด็กจะพึงเสื่อมไปด้วยอุบายแบบนี้ นี่เป็นวิธีต่ออายุของคนที่ยังไม่ถึงกาลสมัยที่จะต้องตายในระหว่างก่อนอายุขัยของอำนาจอุปฆาตกรรม” เมื่อพราหมณ์นั้นได้ฟังองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กล่าวว่า “พระโคตมะผู้เจริญ (หรือพระโคดมผู้เจริญ) ข้าพระองค์จะทำมณฑปที่พระองค์สั่ง แล้วจะได้สาวกของพระองค์อย่างไรพระพุทธเจ้าข้า” พระศาสดาจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า “เมื่อท่านทำกิจเสร็จแล้ว เราจะส่งสาวกของเราไป ขอให้ส่งข่าวมาก็แล้วกัน” พราหมณ์กราบทูลรับว่า “ดีละ พระเจ้าข้า” แล้วก็กลับไปสร้างมณฑปทำปะรำพิธีเสร็จเพราะกลัวลูกจะตาย ตอนนี้ไม่เหนื่อย เป็นอันว่าเมื่อเขาทำเสร็จ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงส่งพระสงฆ์ไป (แต่ว่าจำนวนพระสงฆ์ที่ส่งไปนี่ไม่ทราบว่าเท่าไร ตามบาลีไม่ได้บอก) ไม่มีเวลาเว้น ไม่ใช่ว่าไปสวดประเดี๋ยวเดียวแล้วก็กลับ ทั้งกลางวันกลางคืนสวดติดต่อกันไปหมด กลางวันก็เต็มวัน กลางคืนก็เต็มคืน เพราะว่าเป็นของไม่หนัก เพราะเวลานั้นสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าที่แวดล้อมพระองค์อยู่ มีถึง 500 รูป ด้วยกัน เพราะผลัดกันไป เวลาที่พระชุดนี้สวดพอสมควร พระชุดที่สองเข้านั่งแทนแล้วสวดต่อ ว่ากันอย่างนี้ถึงวันที่ 7 พอในวันที่ 7 สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ก็เสด็จไปเอง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไป บรรดาเทวดาก็ดี พรหมทั้งหลายก็ดี มาประชุมกันเต็มจักรวาล ท่านกล่าวว่า เด็กที่จะตายนั้นเพราะอาศัยอาวะรุทธ ยักษ์ตนหนึ่งบำรุงท้าวเวสสุวัณแล้ว 12 ปี เมื่อจะได้พรจากสำนักท้าวเวสสุวัณนั้น ได้รับพรว่า “ในวันที่ 7 จากวันนี้ ท่านจงจับเอาเด็กคนนี้” (หมายความถึงทำให้เด็กตาย ให้ร่างกายมันตาย แต่เอาจิตใจคืออทิสสมานกายไปเป็นลูกน้องของตน) ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า อำนาจของเขาบาปปาณาติบาตในชาติก่อน เด็กคนนี้ได้ทำไว้มากจึงกลายเป็นคนอายุสั้น แต่ความจริงไม่ถึงอายุขัย เขาก็มีบุญทำไว้ ทำทั้งบุญและบาป บุญก็หนัก บาปก็หนัก แต่คราวนี้โทษของบาปให้ผลก่อน เดชะบุญที่มาพบองค์สมเด็จพระชินวรเข้า มาเล่าเรื่องนั้นกันต่อไป เพราะฉะนั้น ยักษ์ตนนั้นจึงได้มายืนอยู่ในวันที่ 7 คือวันอื่นเขาไม่มา พระล้อมอยู่แล้วมาไม่ได้ เพราะไม่มีวันที่จะมารับเด็ก วันที่ 7 ก็มายืนคอยท่า เพราะเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปที่มณฑปนั้น พวกเทวดาที่มีอำนาจบุญญาธิการใหญ่กว่ายักษ์ตนนั้นมาประชุมกัน และพวกพรหมก็มา อีตายักษ์ตนนั้นแกเหมือนพลทหารนี่ พลทหารไปยืนอยู่ เมื่อนายสิบมา พลทหารก็ถอยออกไปหน่อยหนึ่ง จ่ามาพลทหารก็ถอยออกไปหน่อยหนึ่ง นายร้อยมานายพันมาแกก็ถอยออกไปตามลำดับ ในที่สุดท่านมหาพรหมมาเป็นจอมทัพ พลทหารก็ไปอยู่สุดแถว ไม่มีโอกาสที่จะเอาชีวิตเด็กได้ ท่านกล่าวว่า ในระยะที่อาวะรุทธยักษ์ยืนอยู่นั้น ไกลจากเด็กถึง 12 โยชน์ (แหม เทวดากับพรหมมาเยอะ) เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทำพระปริตรตลอดคืนยันรุ่ง (นี่พระองค์ก็สวดเองเหมือนกัน) เมื่อ 7 วันผ่านไปแล้ว อาวะรุทธยักษ์ก็ไม่มีโอกาสที่จะเอาชีวิตเด็กได้เพราะเลยกำหนดคำสั่ง นี่คำสั่งเขาเป็นคำสั่งจริง ๆ ผีหรือเทวดาเขาไม่เหมือนคน ไม่กลับกลอก ในวันที่ 8 พออรุณขึ้นเท่านั้น สองสามีภรรยาได้นำด็กมาถวายองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ขอเจ้าจงมีอายุยืนนานเถิด” ตอนนี้ให้พรอย่างนี้ได้ ในเมื่อพราหมณ์ผู้เป็นพ่อได้ฟังคำพรอย่างนั้น จึงได้กราบทูลถามองค์สมเด็จพระพิชิตมารว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เด็กคนนี้จะมีอายุยืนนานสักเท่าไรพระพุทธเจ้าข้า” สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า “พราหมณ์ ดูก่อนพราหมณ์ เด็กคนนี้จะมีอายุยืนประมาณ 120 ปี” (แหม น่าคิด ดีนะที่บาปปาณาติบาตไม่ได้เอาไปเสียก่อน) ตอนนี้ก็ขอกระตุ้นเตือนใจนิดหนึ่งเพื่อความเข้าใจว่า การตายของคนนี้มีอยู่สองอย่าง คือ กาลมรณะอย่างหนึ่ง อกาลมรณะอย่างหนึ่ง สำหรับ “กาลมรณะ” นั้น จะต้องตายก่อนอายุขัยที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าอำนาจของโทษปาณาติบาตเดิมที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมามาก มันเข้ามาริดรอนชีวิต ถ้าโทษอย่างนี้จะพึงมีขึ้น ถ้ารู้ทันเสีย ทำพิธีการต่ออายุได้ เพราะว่าอายุมันยังไม่หมด สมมุติว่าเขากำหนดว่าคนนี้จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ 60 ปี พออายุ 10 ปี 20 ปี 30 ปี หรือเท่าไรก็ตาม อุปฆาตกรรมมันเข้ามาถึง โทษแห่งการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจะเข้ามาปลิดชีวิตในระหว่างนี้ ตอนนี้เราทำพิธีต่ออายุกันได้ แต่ว่าการทำพิธีต่ออายุนี้ต้องมีคนรู้ คำว่า “รู้” ในที่นี้ก็หมายความว่า ต้องรู้เรื่อง ไม่ใช่ต่อส่งเดช ถ้าต่อส่งเดช ดีไม่ดีไปต่ออายุของหมอเข้า หมอบอกว่าเคราะห์ร้าย แกจะต้องตาย หมอให้ต่ออายุ พอเริ่มต่อ หมอเขาเรียกเป็นพันเป็นหมื่น เป็นอันว่าคนนั้นอายุน้อยเพิ่มขึ้น แบบนี้ใช้ไม่ได้ คนที่จะต่ออายุได้จริง ๆ ถ้าเป็นพระ ก็ต้องมีอารมณ์ไม่น้อยกว่าวิชชาสาม หรืออภิญญาหก หรือปฏิสัมภิทาญาณ น้อยกว่านั้นจะรู้เหตุนี้ไม่ได้ อย่างนี้เป็นการที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่ต้องหาพระประเภทนั้นให้ได้ เป็นอันว่า สองสามีภรรยาก็ขนานนามเด็กนี้ว่า “อายุวัฒนกุมาร” แปลว่ากุมารผู้มีความเจริญในอายุ และก็อายุวัฒนกุมารนั้น เมื่อเติบโตขึ้นแล้วก็มีบุรุษคืออุบาสก 500 คนแวดล้อม หมายความว่าเป็นคนดี มีความรู้ มีความประพฤติดี ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามระบบที่บิดามารดาและพระสั่งสอน เมื่อเธอเป็นคนดีแล้ว ก็มีอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายยอมรับนับถือประมาณ 500 คน จะไปไหนก็ไปเป็นคณะ 500 คน ท่านกล่าวตามพระบาลีต่อไปว่า ภายหลังในวันหนึ่งเมื่อภิกษุสนทนากันในระหว่างโรงธรรมว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านจงดู ได้ยินว่าอายุวัฒนกุมารจะพึงตายในวันที่ 7 บัดนี้ อายุวัฒนกุมารนี้จะต้องดำรงอายุต่อไปได้อีก 120 ปี และระหว่างนี้ในเมื่อเธอเติบใหญ่ขึ้นมา (ใหญ่ตอนนี้ไม่ได้ใหญ่มาก แต่ว่าสัก 5-6 ขวบ พอเดินได้สบาย ๆ ) จะไปไหนก็มีคนแวดล้อมทั้ง 500 คน ถือว่ามีเกียรติใหญ่ เหตุแห่งเครื่องความเจริญของอายุของสัตว์เหล่านี้นั้น เห็นจะพึงมี บาลีท่านว่าอย่างนี้ เลยไม่ต้องรู้เรื่องกัน ว่าท่านก็หมายความถึงคำพูดว่า ความจริงถ้าคนใดจะต้องพึงตาย แต่ปัจจัยที่ทำให้บุคคลนั้นจะต้องมีอายุยาวต่อไปได้นั้นคงจะมีแน่ นี่ว่าเป็นภาษาไทยชัด ๆ สำนวนบาลีนี่ฟังท่านจริง ๆ ก็ปวดหัวเหมือนกัน นี่ต้องคอยแก้ไขสำนวนเหมือนกัน ลำดับนั้น องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา แล้วก็ถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอประชุมกันด้วยเรื่องอะไร” บรรดาภิกษุทั้งหลาย เหล่านั้น จึงกราบทูลองค์สมเด็จพระจอมไตรว่า “ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าประชุมกล่าวกันด้วยเรื่องชื่อนี้ (คือหมายความว่า ปรารภถึงอายุวัฒนกุมารเป็นเหตุ) ว่าเด็กซึ่งจะมีอายุสั้นพลันตาย มาพบองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาแล้วกลับมีอายุยืนนาน” องค์สมเด็จพระพิชิตมารจึงตรัสว่า “ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายุเจริญอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ สัตว์เหล่านี้ไหว้ผู้มีพระคุณ ย่อมเจริญด้วยเหตุ 4 ประการ พ้นจากอันตราย ดำรงอยู่ตลอดอายุ) เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิพระสัทธรรมเทศนา ก็ตรัสคาถาว่า “ธรรม 4 ประการ คืออายุ หมายถึงว่ามีอายุยืนนาน วรรณะ หมายถึงว่ามีผิวพรรณผ่องใส มีความสวยงาม สุขะ มีความสุข พละ มีกำลัง เจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ” คือผู้อ่อนน้อมแด่ท่านผู้เจริญเป็นนิจเป็นปกติ นี่หมายความว่า “อปจายนกรรม” คือ ความที่อ่อนน้อมแก่บุคคลผู้เจริญ ผู้ทรงคุณ เป็นปัจจัยให้คนนั้นมีอายุยืนด้วย มีผิวพรรณผ่องใสด้วย มีความสุขด้วย มีกำลังด้วย เพราะอาศัยมีความเคารพในบุคคลผู้มีคุณ ในเมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาแบบย่อ ๆ นี้จบ ก็ปรากฎว่า อายุวัฒนกุมารได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล และบรรดาอุบาสก 500 คน ที่แวดล้อมนั้นแล้ว ต่างคนก็ต่างบรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น นี่หมายความว่า 500 คน บางคนก็เป็นพระโสดา บางคนก็เป็นสกิทาคา บางคนก็เป็นอนาคา แต่ยังไม่ถึงพระอรหันต์ สำหรับเรื่องนี้ ที่นำมาเล่าให้บรรดาท่านทั้งหลายได้อ่านกัน ถ้าจะว่ากันตามนัยของการเจริญพระกรรมฐานก็จะเห็นว่ายังไม่เข้ากันนัก แต่ทว่ามีจุดหนึ่ง เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาเพียงเล็กน้อย เด็กน้อยคืออายุวัฒนกุมารก็ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล ทำไมเขาจึงได้ ที่ได้เพราะว่าเด็กน้อยคนนี้มีชีวิตินทรีย์โตขึ้นมาได้เพราะอาศัยความดี ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสงเคราะห์ มิฉะนั้น เธอก็ต้องเป็นเหยื่อของยักษ์ เพราะอะไร ก็เพราะว่าเธอจะต้องเป็นเหยื่อยักษ์ เนื่องด้วยว่าเธอนั้นจะต้องหมดอายุ คือว่า อายุจริง ๆ ไม่หมด แต่ว่ามีกรรมคือปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในชาติก่อน จะเข้ามาริดรอนชีวิตของเธอ ถ้าบังเอิญบิดาของเธอไม่ได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว และองค์สมเด็จพระประทีปแก้วไม่ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ เธอก็ต้องตาย แต่เธอไม่ตาย เพราะอาศัยองค์สมเด็จพระจอมไตรเป็นเหตุ ฉะนั้น ความรักความเคารพในองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ และความรักเคารพในบรรดาพระอริยสงฆ์ทั้งหลายที่ไปนั่งสวดมนต์ถึง 7 วัน 7 คืน ก็มีอยู่ในใจของเธอ เมื่อความรักความเคารพมีในพระพุทธเจ้า มีในพระอริยสงฆ์ ก็ชื่อว่ามีในพระธรรมด้วย จัดว่าเป็นจุดหนึ่งที่เธอจะได้พระโสดาปัตติผล และต่อมาเมื่อองค์สมเด็จพระทศพลตรัสอย่างนั้น เพราะอาศัยธรรมปีติปรากฎในจิตของเธอ แต่ความจริงพระพุทธเจ้าไม่ได้เทศน์สั้นเพียงเท่านั้น นอกจากนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงชี้แจงเหตุผลว่า เมื่อมีความเคารพในบุคคลผู้มีคุณแล้ว ก็ต้องละปัญจเวร 5 ประการ คือไม่ละเมิดศีล 5 เด็กน้อยได้ฟังวาจาองค์สมเด็จพระบรมศาสดาซึ่งมีความเคารพอยู่แล้ว ก็มีจิตมั่นคงในศีล 5 ประการ ฉะนั้น เมื่อจบพระธรรมเทศนาที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารตรัส เธอจึงได้บรรลุพระโสดาปัตติผล สำหรับอุบาสกคือผู้ใหญี่ที่ติดตามมาได้ผลมากกว่า คือบางท่านก็เป็นพระโสดาบ้าง เป็นสกิทาคาบ้าง เป็นอนาคาบ้าง เรื่องนี้จะชี้ให้เห็นได้ว่า ชีวิตของคนที่จะมีอายุยืนยาวนานหรือมีอายุสั้นก็เพราะอาศัยการมีเมตตาและขาดเมตตาเป็นสำคัญ ถ้ามีเมตตาปรานีไม่ทำลายชีวิตสัตว์ บุคคลนั้นก็มีอายุยืนยาม บุคคลใดที่มีความเคารพมีความอ่อนน้อมต่อบุคคลผู้มีคุณ คนประเภทนี้ก็มีอายุยืนยาวด้วย มีวรรณะผิวพรรณผ่องใสด้วย มีความสุขด้วย มีกำลังดีด้วย เพราะท่านช่วยสอนให้ตั้งอยู่ในความดี นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เมื่ออ่านพระธรรมเทศนานี้แล้ว ขอบรรดาท่านทั้งหลายจงพากันคิดว่า อายุวัฒนกุมารเป็นพระโสดาบันได้เพราะอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้าสอนให้มีความเคารพในท่านผู้มีคุณ นี้อย่างหนึ่ง อีกประการหนึ่ง อายุวัฒนกุมารมีความเคารพในพระรัตนตรัย นี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยมีความเคารพในพระพุทธเจ้า อายุวัฒนกุมารจึงเจริญศีล 5 ประการครบถ้วน จึงเป็นพระโสดาบัน เป็นอันว่า ความเป็นพระโสดาบันนี้เป็นไม่ยาก คือมีความเคารพในท่านผู้มีคุณ มีความเคารพในพระรัตนตรัย ทรงศีล 5 บริสุทธิ์เท่านั้น นี่สำหรับฆราวาส เณต้องศีล 10 พระต้องศีล 227 ในเมื่อจิตมีอารมณ์ตรงเป็นเอกัคตารมณ์อย่างนี้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นพระอริยบุคคลในศาสนาขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วอย่างอายุวัฒนกุมาร สำหรับตอนนี้ เวลาหมดแล้วก็ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี หัวข้อ: Re: ตัวอย่างเรื่อง ของการให้พร และ การสวดพระปริตร ต่ออายุ เริ่มหัวข้อโดย: หมวยจ้า ที่ พฤศจิกายน 14, 2010, 04:52:34 am คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘ ในส่วนบาลีมีคาถาธรรมบทที่สำคัญและเป็นที่รู้จักอยู่จำนวนมาก เรื่องของท่านอายุวัฒนกุมาร ปรากฎในอรรถกถานี้เอง ท่านอายุวัฒนกุมารเมื่อครั้งเป็นเด็ก ไม่มีผู้ใดให้พรว่า 'ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืน.' เลย เนื่องด้วยเป็นผู้มีอันตราย จักเป็นอยู่อีกเพียง ๗ วัน แต่เมื่อบิดาได้พาไปเฝ้าพระศาสดา และพระองค์ตรัสบอกอุบายป้องกัน โดยให้ทำพระปริตร ๗ วันไม่มีระหว่าง เด็กนั้นพ้นอันตรายกลับมีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี เรื่องนี้เป็นที่สนทนากันของภิกษุทั้งหลาย เมื่อเหล่าภิกษุได้กราบทูลเรื่องนี้ต่อพระศาสดา ตอนหนึ่งพระองค์ได้ตรัสพระคาถา บทว่า "...อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ..." เมื่อจบเทศนานี้ ท่านอายุวัฒนกุมารตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระคาถานี้ภายหลังปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของคำให้พรของพระสงฆ์ที่ใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง
- - -v- - - คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘ ชนะ ...บุคคลใดพึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพัน ใน สงคราม บุคคลนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงคราม ส่วนบุคคลใดพึงชนะตนผู้เดียว บุคคลนั้นแล ชื่อว่าเป็น ผู้ชนะอย่างสูงสุดในสงคราม ตนแลอันบุคคลชนะแล้ว ประเสริฐ ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ๆ อันบุคคลชนะแล้วจัก ประเสริฐอะไร... อภิวาท ... ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการ อภิวาทเป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิตย์... (http://i2.photobucket.com/albums/y18/meiko2/Kra/Pucca01.jpg) |