สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 09, 2015, 09:22:44 pm



หัวข้อ: ตราจักรีที่พระตะบอง ปริศนาร่องรอยสยาม
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 09, 2015, 09:22:44 pm

(http://www.thairath.co.th/media/EyWwB5WU57MYnKOuFtKhA4pyJgejBWdYhDiiS8CoLTgekyHs0CnoBx.jpg)

ตราจักรีที่พระตะบอง ปริศนาร่องรอยสยาม

สยามปกครองพระตะบองตั้งแต่ พ.ศ.2338 และสิ้นสุดเมื่อ พ.ศ.2450 ตลอดเวลา 112 ปี ปรากฏร่องรอย “สยาม” ในพระตะบองหลายแห่ง

ล่าสุดพบตรา “จักรี” หน้าบันพระอุโบสถวัดปราบปัจจามิตร

“ร่องรอยสยาม” ในพระตะบองที่รู้จักกันในวงกว้างคือ ตราแผ่นดินสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ติดอยู่ที่หน้าบันพระอุโบสถวัดดำเริยซอ หรือวัดช้างเผือก ตั้งอยู่กลางเมืองพระตะบอง ใกล้ๆกันยังมีศาลากลางจังหวัดพระตะบองหลังเก่า สร้างสมัยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศสยาม


(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1DISlguksXRlpXgd8GyFnzL7mWDTy.jpg)

หน้าศาลากลางจังหวัดพระตะบองยังมีปืนใหญ่สยามอยู่ 2 กระบอก ก้นกระบอกปืนมีอักษรไทยสวยงามเขียนว่า “กระสุนขนาด 8 นิ้ว” พร้อมระบุปี คาดว่าเป็นปีผลิตคือ “A 1789” ตามประวัติทางกัมพูชาบอกว่า ปืนนี้สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ มาอยู่พระตะบองตั้งแต่ พ.ศ.2380 มาพร้อมๆกันกว่า 100 กระบอก

เอกสารการค้นคว้าฝ่ายกัมพูชาระบุว่า สมัยฝรั่งเศสปกครอง “เขายิงปืนใหญ่ทุกๆเช้าในเวลาเคารพธงชาติ ต่อมามีความผิดพลาดทางเทคนิค ทำให้คนยิงเสียชีวิตไป เขาก็เลยหยุดยิง” และฝรั่งเศสได้นำปืนไปเป็นของโบราณและทำสะพานเหล็กอีกด้วย


(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1DISlguksXRlpXgeAJ5MTxpPZcnuq.jpg)

ส่วนร่องรอยอื่นๆ นอกจากปืนใหญ่และวัดดำเริยซอ คณะของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำโดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เดินทางไปสำรวจอีกครั้ง พบว่าที่วัดปราบปัจจามิตร ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองมีร่องรอยหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องและอาจเกี่ยวข้องกับสยาม

การสืบค้นครั้งนี้ ภญ.สุภาภรณ์บอกว่า เริ่มจากดูเอกสารโบราณ และพบว่ามีจดหมายโต้ตอบระหว่างเจ้าพระยาอภัยภูเบศรแห่งเมืองพระตะบองกับสยาม เรื่องการนำพระไตรปิฎกไปประดิษฐาน ณ วัดปราบปัจจามิตร เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2442 และมีการสมโภชด้วยมหรสพ อาทิ โขน ละคร และการละเล่นต่างๆ ก่อนอัญเชิญไปประดิษฐานวัดอื่นต่อไป

(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1DISlguksXRlpXgd6Xv8QMUb3vW74.jpg)
ดร.อุเทน

พระไตรปิฎกที่สมโภชนั้น ดร.อุเทน วงษ์สถิตย์ อาจารย์คณะ โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ครั้งแรกของโลก เพราะว่าหลังจากบ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤตการณ์ รศ.112 รัชกาลที่ 5 ถือว่าจะต้องทำบุญครั้งใหญ่ ช่วงเวลานั้นวิทยาการการพิมพ์ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ว่ายังไม่เคยมีใครนำมาใช้กับพระไตรปิฎกที่เป็นพระคัมภีร์ชั้นสูง

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ต้องการประกาศตน ในการเป็นศาสนูปถัมภก คือผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา โดยใช้วิทยาการเข้ามารองรับพระธรรมคำสอน ทรงให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นมาเป็นครั้งแรก แล้วโปรดเกล้าฯ ให้แจกจ่ายไปตามวัดต่างๆทั่วพระนคร และส่งไปในขอบขัณฑสีมาด้วย

วัดปราบปัจจามิตร ชาวกัมพูชาเรียก “วัดกดล” แปลว่า วัดกระโดน ในประวัติศาสตร์ไทย ภญ.สุภาภรณ์บอกว่า เป็นวัดที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตั้งทัพและสร้างไว้ ต่อมาค่อยสร้างเพิ่มเติมให้ใหญ่โตสมัยท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)


(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1DISlguksXRlpXgeBaDnc19VoSu3T.jpg)

ความอัศจรรย์ใจต่อวัดนี้คือ มี “ตราจักรีและพระขรรค์ชัยศรี” ที่หน้าบันพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก และหน้าบันด้านทิศตะวันตกยังมีตราสัญลักษณ์พระตะบองบนพานแว่นฟ้า อันเป็นตราสัญลักษณ์ของผู้ปกครองเมืองพระตะบอง

อาจารย์อุเทนอธิบายว่า “ตราที่หน้าบันมีความชัดเจน มีตรีศูลอยู่ตรงกลาง และมีจักรตรงตรีศูลสอดคล้องกับชื่อราชวงศ์จักรี ซึ่งได้ตั้งตามตำแหน่งอย่างเป็นทางการของรัชกาลที่ 1 ก่อนขึ้นครองราชย์ ท่านเป็นที่พระยาจักรี เลยนำชื่อตำแหน่งเดิมมาตั้งชื่อราชวงศ์”

ส่วนพระขรรค์ชัยศรี “ตำนานว่า ชาวบ้านทอดแหเจอแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ”

พิจารณาหน้าบันพบว่าสียังสดใส บอกให้รู้ว่าอาจทาสีใหม่ ซ่อมใหม่ หรือไม่ใช่ของเดิม อาจารย์อุเทนบอกว่า “สันนิษฐานว่าซ่อมบนพื้นเดิม เพราะว่าสังเกตดูลวดลายและอะไรต่างๆ แม้จะมีการบูรณะ แต่การบูรณะไม่ประณีตเท่าที่ควร อย่างเช่นรูป

จักรีที่ซุ้มประตูด้านหนึ่งได้รับการซ่อมแซม แต่ว่าช่างทำรูปของตรีศูลนั้นดูเบี้ยวขาดสมมาตรไปนิดหนึ่ง แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ช่างคงจะยังรักษาของเดิมไว้ เมื่อทำเป็นรูปจักรและตรีศูลก็น่าที่จะรักษาไว้เช่นเดิม”

นอกจากตราสัญลักษณ์ทั้งสองแห่ง อาจารย์อุเทนชี้ชวนให้ดู จิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์รอบกำแพงพระอุโบสถ พลางชี้ว่า “ในกัมพูชามีอยู่ 2 แห่งคือ วัดพระแก้วที่กรุงพนมเปญและวัดเรียชโบร์ หรือวัดโบร์ แล้วพบอีกแห่งที่วัดปราบปัจจามิตรนี้ แห่งนี้เป็นลายปูนปั้นรอบกำแพงแก้วพระอุโบสถ ซึ่งไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน”


(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1DISlguksXRlpXgd89Gp8hEnPpxBS.jpg)
ภญ.ดร.สุภาภรณ์

ปณิธานการ “สืบหา” ร่องรอยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ภญ.สุภาภรณ์บอกว่า “มีความตั้งใจว่า อะไรที่เจ้าพระยาท่านทำค้างไว้ก็อยากฟื้นฟูสืบสาน อยากดูแล จึงอยากรู้ว่ามีอะไร อยู่ที่ไหนบ้าง อยากรู้ว่าท่านมีห่วงอะไร เลยไปค้นหนังสือ จึงได้พบจดหมายที่หอสมุดแห่งชาติ เป็นจดหมายโต้ตอบกันระหว่างพระตะบองกับกรุงเทพฯ มีอยู่ตอนหนึ่งว่า มีพระไตรปิฎกมาที่วัดปราบปัจจามิตร เจ้าพระยาได้รับแล้วก็สมโภช”

จากนั้นอาศัยเคยรู้จักลูกหลานเจ้าพระยาอภัยภูเบศร “มาก็พบตราสัญลักษณ์และรูปปั้นของท่าน แรกๆก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเจ้าพระยา แต่เมื่อเห็นหลายอย่างประกอบกันก็เลยทราบ”

เดินผ่านกำแพงแก้วพระอุโบสถไป ด้านหลังมีเจดีย์ขนาดใหญ่ หน้าเจดีย์ด้านทิศเหนือมีรูปชายหนวดงามเฟิ้ม ภญ.สุภาภรณ์เชื่อว่าเป็นรูปปั้นของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) พิจารณาเปรียบเทียบกับรูปภาพที่อาคารเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่ จ.ปราจีนบุรีแล้ว ก็พบว่ามีความใกล้เคียง


(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1DISlguksXRlpXgd4hv7s2ruI2jna.jpg)

ส่วนการสร้างวัด “แม้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างไว้ แต่ไม่เหลือร่องรอยของเจ้าพระยาบดินทร์ แต่ไปเจอร่องรอยท่านที่วัดหลวงบดินทร์ จังหวัดปราจีนบุรี”

ในจังหวัดพระตะบองยังพบร่องรอยอื่นๆ ของ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” อีก เช่นที่วัดสำโรงกนง หรือวัดสำโรงในมีเจดีย์บรรจุอัฐิของเครือญาติเจ้าพระยาอภัยภูเบศร วัดส็องแกร์พบเจดีย์เก็บอัฐิเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (เยีย) และคุณหญิงทับทิม

และยังมีบ้านทายาทอาลักษณ์ของท่านเจ้าพระยาชื่อ หลวงเสน่หาพิมล นามเดิมว่าตับ บ้านอยู่ชุมชนวัดโก ตั้งอยู่ทิศเหนือของตัวจังหวัดพระตะบอง ทายาทชื่อ ยี สาริต อายุ 69 ปี บอกว่าสาเหตุที่บรรพบุรุษของท่านไม่ย้ายมาอยู่ปราจีนบุรี เพราะเกรงว่างานน้อย จึงตัดสินใจปลีกตัวมาสร้างบ้านอยู่อย่างสงบ ปลูกละมุด และผลไม้อื่นๆทิ้งไว้ให้ลูกหลานมากมาย

ร่องรอย “สยาม” ในเขตพระตะบองท้าทายให้ค้นหา ขณะเดียวกัน จุดที่พบแล้วก็ท้าทายให้ศึกษาค้นคว้าและพิสูจน์ให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนต่อไป.


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.thairath.co.th/content/496773 (http://www.thairath.co.th/content/496773)


หัวข้อ: Re: ตราจักรีที่พระตะบอง ปริศนาร่องรอยสยาม
เริ่มหัวข้อโดย: PRAMOTE(aaaa) ที่ พฤษภาคม 09, 2015, 11:35:23 pm

    ประเทศเขมร นั้น น่าจะเป็นที่รวม แห่ง นักปั้น นักแกะสลัก มาตั้งแต่บรรพบุรุษ

       แบบมีอยู่ในสายเลือด

   เช่น อย่างงานปูนปั้น แถบนครนายก  ก็นำเอาช่างมาจากเขมรเป็นส่วนมากครับ