สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 13, 2015, 08:26:15 am



หัวข้อ: ท่องไปกับใจตน : เนปาลอย่ายอมแพ้
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 13, 2015, 08:26:15 am

(http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2015/05/08/c8ej7kggb87g5hdg9fb8f.jpg)

ท่องไปกับใจตน : เนปาลอย่ายอมแพ้
โดย...ธีรภาพ โลหิตกุล teeraparb108smile@gmail.com

ธรณีพิโรธบนแดนหิมาลัยครั้งล่าสุดในรอบ 80 ปี สะเทือนเลื่อนลั่นจนคนทั้งโลกต้องระดมทั้งแรงใจและกำลังทรัพย์ ไปบรรเทาทุกข์ชาวเนปาลอย่างเร่งด่วน แล้วยังต้องคอยลุ้นกันวันต่อวันว่าจะมีผู้รอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์จากการติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังกี่คน ตัวเลขผู้สูญเสียจะทะลุหลักหมื่นหรือไม่ อีกทั้งแหล่งโบราณสถานทรงคุณค่าระดับ “มรดกโลก” จะรอดพ้นแรงสั่นสะเทือนสักกี่แห่ง
 
เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า โบราณสถานในหุบเขากาฐมาณฑุของเนปาล ไม่ใช่ “อุทยานประวัติศาสตร์” (Historical Park) ที่แยกขาดจากชุมชนเหมือนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา กำแพงเพชร ฯลฯ แต่เป็นปูชนียสถานในท่ามกลางชุมชน ที่ผู้คนยังสักการบูชาและเซ่นไหว้ด้วยผงสี กลีบดอกไม้ เมล็ดข้าว ทุกวี่วัน ดังนั้น วัด วัง และเทวสถานในศาสนาฮินดู กับสถูปเจดีย์ในศาสนาพุทธนิกายวัชรยานมากมายในหุบเขานี้ จึงเป็นทั้งที่พึ่งทางจิตใจ และที่พึ่งทางเศรษฐกิจของชาวเนปาลส่วนใหญ่ ที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยรายได้จากการท่องเที่ยว

 
(http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2015/05/08/bc66cjefk8f6i5g8aef6g.jpg)

วัด วัง สถูป เจดีย์เหล่านั้น เป็นผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะล้ำเลอค่าที่บรรพชนชาวเนปาลรังสรรค์ไว้ และได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยองค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในหุบเขานี้ 7 แห่ง เป็นมรดกโลกของมวลมนุษยชาติ ในนาม “หุบเขากาฐมาณฑุ” (Kathmandu Valley) จนกล่าวได้ว่าเป็นหุบเขาเดียวในโลกที่มีแหล่งมรดกโลกชุมนุมกันมากมาย อีกทั้งแผ่นดินไหวครั้งนี้ ก็มิได้ทำลายสิ่งก่อสร้างทุกอย่างจนพังราบเป็นหน้ากลอง จึงต้องตรวจสอบว่ามีกี่แห่งที่พังทลาย และกี่แห่งที่ยังยืนหยัดอยู่
 
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า แหล่งมรดกโลกในหุบเขากาฐมาณฑุ ประกอบด้วย ประเภท
    1.จัตุรัสพระราชวัง (Durba Square) 3 แห่ง แต่ละจัตุรัสมีศาสนสถานของฮินดูและพุทธหลายหลัง ประดิษฐานอยู่รวมกับพระราชวังประจำเมือง ประเภท
    2.วัดในศาสนาฮินดู (Hindu Temple) 2 วัด แต่ละวัดประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลายหลัง ประเภท
    3.สถูปเจดีย์ในศาสนาพุทธ (Buddhist Stupa) 2 องค์ แต่ละองค์ ประกอบด้วยสถูปประธาน และสถูปบริวารหลายองค์

 
(http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2015/05/08/bhd5diicb5be95ed9hbad.jpg)

จากการตรวจสอบจากภาพถ่ายและแหล่งข่าวสำนักต่างๆ ปรากฏว่า

1.จัตุรัสพระราชวังกาฐมาณฑุ มีเทวสถานสำคัญพังลงมา 2 หลัง คือ เทวสถานพระนารายณ์ (Temple of Narayan) และเทวสถานพระศิวะ (Temple of Shiva) ที่ประดิษฐานบนฐานทรงพีระมิด และชาวเนปาลมักใช้เป็นอัฒจันทร์นั่งชมงานเทศกาลสำคัญ และพระราชานุสาวรีย์ กษัตริย์ประทัป มัลละ ก็หักพังลงมา ส่วนวังหนุมาน โดกา (Hanuman Doga) ได้รับความเสียหายบางส่วน แต่ เทวสถานตะเลจูภวานี-นารีเทพผู้คุ้มครองเนปาล และวังกุมารี (Kumari Bahal) รวมถึงตำหนักพระศิวะมหาเทพกับพระนางปารพตี (Shiva-Parvati Temple House) ซึ่งชาวเนปาลนิยมมาทำพิธีแต่งงานกันตรงลานหน้าพระตำหนัก ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคู่หวานชื่นยืนยาวนั้น ยังคงอยู่
 
2.จัตุรัสพระราชวังลลิตปูร์ (ปาฏัน) มีเทวสถานชาร์ นารายัน (Char Narayan) อายุ 450 ปี นับเป็นเทวสถานเก่าแก่สุดในจัตุรัสนี้ กับเสาที่ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์พระเจ้าสิทธินรสิงห์ ที่หักพังลงมา ส่วนเทวสถานองค์สำคัญอันเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นของเมือง คือเทวสถานศิลาทรงศิขร สร้างถวายพระกฤษณะ (Krishna Temple) และกฤษณะมันดิร์ (Krishna Mandir) ที่มีภาพจำหลักหินเล่าเรื่องมหาภารตยุทธ และมหากาพย์รามายณะ ไม่ได้รับความเสียหาย
 
3.จัตุรัสพระราชวังภักตะปูร์ ได้รับความเสียหาย 2 หลังคือ เทวสถานทรงศิขร ถวายพระแม่ทุรคา (Batsara Durga Temple) และเทวสถานราเมศวร (Rameshwar Temple) ที่สร้างถวายแด่พระศิวะ ส่วนที่ยังคงอยู่ คือพระราชวัง 55 พระแกล (Palace of 55 Windows) เทวสถานปศุปตินาถ (Pashupatinath Temple) รวมถึงประตูทอง (Sun Dhoka) ที่งามที่สุด และลานสุนทรี (Sundari Chowk) ซึ่งในอดีตเป็นที่สรงน้ำ และเคยเป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ “The Little Buddha” ได้รับความเสียหายเล็กน้อย
 
4.สถูปสวยัมภูนาถ (Swoyambhunath Buddhist Stupa) องค์สถูปประธาน ที่มีรูปดวงตาประดับบัลลังก์ทั้งสี่ด้าน ไม่ได้รับความเสียหาย แต่มีสถูปบริวารทรงเนปาล 1 องค์ และทรงศิขร 1 องค์ กับอาคารร้านค้าที่รายรอบบางส่วนพังลงมา
 
5.สถูปพุทธนาถ หรือโพธินาถ (Boudhanath Buddhist Stupa) เสียหายเฉพาะสถูปบริวาร และอาคารร้านค้าบางส่วน แต่องค์สถูปประธานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเนปาล และเคยเป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ The Little Buddha ยังโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของหุบเขาแห่งศรัทธานี้ 6.วัดปศุปตินาถ (Pashupatinath Temple) สร้างถวายพระศิวะ ได้รับความเสียหายเล็กน้อย และ 7.วัดฌังกู นารายัน (Changu Narayan Temple) ได้รับความเสียหายบางส่วน ทั้งนี้ หอคอยธราหาร (Dharahara Tower) ที่หักพังลงมานั้น ไม่อยู่ในบัญชีมรดกโลกของยูเนสโก

 
(http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2015/05/08/7i8abecg9igdbaef96gh5.jpg)

โดยรวมแล้วจึงกล่าวได้ว่า แม้จะมีศาสนสถานหลายแห่งพังทลายด้วยแรงเขย่าของแผ่นดินไหว แต่ไม่ถึงกับยับเยิน หรือราพนาสูรอย่างที่ประเมินกันในระยะแรก เพราะความมั่งคั่งทางศิลปะและอารยธรรมของหุบเขากาฐมาณฑุ ที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มัลละ เมื่อเกือบ 500 ปีก่อน ทำให้ยังมีเทวสถาน วัด วัง สถูปเจดีย์ ยืนหยัดต้านแรงสั่นสะเทือนอีกจำนวนมาก หากในอนาคต มีการตรวจสอบความแข็งแกร่งของโครงสร้างแต่ละอาคารที่เหลืออยู่ให้มั่นใจอีกครั้ง และชาวเนปาลข้ามผ่านภาวะเลวร้ายจากการไร้ที่พักพิง ขาดแคลนน้ำและอาหารไปได้แล้ว เชื่อว่า การท่องเที่ยวเนปาลก็จะฟื้นคืนกลับมา ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ชาวเนปาลลุกขึ้นยืนอย่างทระนงองอาจด้วยตัวของเขาเองอีกครั้ง

ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20150510/205976.html (http://www.komchadluek.net/detail/20150510/205976.html)