สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 09, 2015, 09:32:32 pm



หัวข้อ: งานบุญคู่งานช้าง โคราช-สุรินทร์
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 09, 2015, 09:32:32 pm

(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/9D99DCF0EF424C5581CDE92F705A81E3.jpg)

งานบุญคู่งานช้าง โคราช-สุรินทร์
โดย...กาญจน์ อายุ

เข้าสู่ช่วงเข้าพรรษาอย่างเป็นทางการพร้อมสายฝนที่พอให้ชาวนาชื้นใจ หลังจากนี้เป็นต้นไปงานบุญจะน้อยลงจนถึงวันออกพรรษา สอดคล้องกับวิถีเกษตรกรที่จะทำไร่นาช่วงหน้าฝนแล้วรอเก็บผลิตผลปลายปี งานบุญส่งท้ายอย่างวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญที่มาคู่กันตลอด เส้นทางตักบาตรบนหลังช้างเนื่องในวันอาสาฬหบูชา จ.สุรินทร์ และงานแห่เทียนโคราช จึงเป็นงานที่เชื่อมต่อกันได้อย่างลงตัว

ตักบาตรบนหลังช้าง

จุดเช็กอินในงานตักบาตรบนหลังช้างขึ้นว่า “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่” พอเห็นแล้วเลือกเช็กอินชื่อนี้เพราะมันอธิบายความเป็นสุรินทร์ได้ดี สุรินทร์เป็นที่ตั้งของบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นถิ่นฐานของชาวส่วย หรือ กูย หรือกวย ชนพื้นเมืองที่มีความชำนาญในการจับช้างป่าและเลี้ยงช้างเสมือนสมาชิกในครอบครัว ย้อนกลับไปในอดีต จ.สุรินทร์ เคยเป็นเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาสักซึ่งในขณะนั้นเป็นดินแดนของชาวกูยทำให้สุรินทร์กลายเป็นถิ่นช้างใหญ่ตั้งแต่ 300 ปีที่แล้ว ชาวกูยก็ยังอาศัยอยู่แต่ไม่สามารถจับช้างป่าได้แล้ว หมู่บ้านช้างจึงถูกพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ ศูนย์อนุรักษ์และสถานที่ท่องเที่ยว


(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/7ECC6BAB44594750B905C9D88991D7FC.jpg)
ช้างเอราวัณและพญานาค 7 เศียร

ใน 1 ปี จ.สุรินทร์ มีงานเกี่ยวกับช้างหลายหนตั้งแต่เดือน ก.พ. มีพิธีแต่งงานแบบชาวกูย หรือที่เรียกว่า พิธีชัตเต โดยใช้ช้างแห่ขันหมาก เดือน พ.ค. งานประเพณีบวชนาคช้างจัดขึ้นที่บ้านตากลาง เดือน ก.ค. อย่างที่ผ่านไปในวันอาสาฬหบูชามีงานตักบาตรบนหลังช้าง จากนั้นปลายปีในเดือนพ.ย. งานมหัศจรรย์ช้างสุรินทร์ เป็นการเลี้ยงอาหารช้างและการแสดงช้างกว่า 300 เชือก

วันอาสาฬหบูชาที่ผ่านมามีไอยรา 88 เชือกร่วมเป็นพาหนะให้พระสงฆ์ออกบิณฑบาต งานจัดขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง โดยมีสแตนด์ให้ประชาชนขึ้นไปตักบาตร นอกจากคนจะใส่บาตรพระด้วยข้าวสารอาหารแห้งแล้ว ยังเตรียมผลไม้มาให้ช้างด้วย ถ้าใครไม่ได้เตรียมมาก็ให้แบงก์ยี่สิบแทน ช้างจะม้วนงวงรับและยกส่งต่อให้ควาญโดยอัตโนมัติ เรียกได้ว่างานนี้ไม่ได้แค่ทำบุญแต่ยังสร้างรายได้พิเศษให้ควาญช้าง


(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/BF024CB09B3E49CFB3EE93DA1306665A.jpg)
ช้างร่วมหล่อเทียน

นอกจากนี้ วันก่อนหน้าวันอาสาฬหบูชาทาง อบจ.ได้จัดงานมหกรรมแห่เทียนพรรษาจาก 12 คุ้มวัดชื่อดังในสุรินทร์ ขบวนแห่ยืดยาวและอลังการเพราะแต่ละขบวนจะต้องมีนางรำ 100 คน และผู้ร่วมขบวนอย่างต่ำอีก 100 คน ถ้าคูณ 12 เข้าไปทั้งหมดจะมีคนร่วมอย่างน้อย 2,400 คน เป็นว่าวันนั้นนักเรียนไม่ต้องไปโรงเรียน ร้านเช่าชุดไทยไม่ต้องเปิดเพราะทุกชุดถูกเช่ามาในงานหมดแล้ว พอตกเย็นช้าง 88 เชือกจะมาร่วมเดินขบวนด้วย โดยมีการประดับไฟบนผ้าคลุม เดินฝ่าความมืดปิดท้ายขบวนไปรอบตัวเมืองสุรินทร์

ช้างสุรินทร์ได้รับบทบาทสำคัญในงานบุญเช่นนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า แล้ววันอื่นๆ เรามองช้างอย่างไร


(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/8F3C59ABC72345098F46A3478EF541E6.jpg)
นางรำแต่งหน้าก่อนเดินขบวน

 
แห่เทียนโคราช

งานแห่เทียนพรรษาที่นครราชสีมาเกิดขึ้นหลังอุบลราชธานี แต่ทุกปีจะมีไฮไลต์ที่เทียนล้อการเมือง ยกเว้นปีนี้...ปี 2558 แต่ละคุ้มวัดงดทำเทียนล้อการเมืองเพราะอยู่ภายใต้รัฐบาล คสช. แล้วมาทำขบวนแห่เทียนแบบคลาสสิก คือเล่าเรื่องพุทธประวัติ และประเภทโชว์ความคิดสร้างสรรค์ คนทำเทียนโคราชมีต้นฝีมืออยู่ที่ อ.พิมาย โดยอำเภอจะจัดงานแห่เทียนพิมายขึ้นก่อนวันงานแห่เทียนโคราช 1 วัน

(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/D0AD06EC9F5740D89A1768656F587836.jpg)
ชาวบ้านแต่งชุดแฟนซีเพื่อรับบริจาคเงินเข้าวัด

งานแห่เทียนโคราชอลังการไม่แพ้มหกรรมแห่ที่สุรินทร์ แต่ละขบวนประกอบด้วยต้นเทียนที่ถูกแกะสลักเป็นเรื่องราว ได้คุยกับคนทำเทียนได้ข้อมูลว่า เทียนที่เห็นถูกออกแบบมาตั้งแต่ออกพรรษาปีที่แล้วค่อยๆ ประดิดประดอยจากเล็กน้อยกลายเป็นใหญ่โต ซึ่งถ้าเห็นด้วยตาจะรู้ว่ามันมีรายละเอียดเพราะไม่ใช่แค่ด้านนอกที่เห็นชัดเท่านั้น ด้านในยังมีตัวละครอีกมากมายที่บางจุดมองไม่เห็น แต่คนทำเทียนก็ยังแกะสลักอย่างวิจิตรไม่ต่างจากด้านนอก นี่แหละที่เรียกว่าความงามที่มองไม่เห็นมีอยู่จริงในทุกๆ ขบวน

นอกจากนี้ ยังมีกองทัพนางรำและขบวนรถกระบะบรรทุกนักแสดงที่เป็นชาวบ้านโชว์เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมสุรินทร์ บาปบุญคุณโทษ รวมถึงเสียดสีสังคมซึ่งขำร้ายเอาการ ยกตัวอย่าง รถมีเมียเด็กป้าย 30 บาท เอาพาราฯ ไปกิน รถทำแท้งเถื่อน รถโคโยตี้ แต่ละคันทำอย่างเรียบง่ายแต่จริงใจนัก


(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/31249AD27CCD44C38676DD46076698C0.jpg)
ขบวนเทียนวัดนอกได้รับรางวัลชนะเลิศ

สำหรับใครที่เคยไปงานแห่เทียนอุบลราชธานีคงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบ เพราะที่อุบลฯ จัดการจริงจัง มีการปิดถนนให้รถขบวนเทียนพรรษาจอดโชว์ และจัดสปอตไลท์แบบคิดองศามาแล้วซึ่งเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว ทำให้ประชาชนเข้าชมไม่ลำบากและได้ภาพสวยๆ อัพขึ้นเฟซบุ๊ก แต่ที่โคราชไม่ได้จัดการเช่นนี้ ภาพที่ออกไปจึงไม่สวยงามเท่าทั้งที่ขบวนเทียนช่างงดงามไม่ต่างกัน

ถ้าถามว่าปีหน้าจะไปดูเทียนอุบลฯ หรือโคราช ตอนนี้ขอตอบว่าจะกลับไปหาย่าโมอีกรอบ เพราะอยากเห็นเทียนล้อการเมืองกับตาสักที


(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/8924CCF658D34E4299062D37294A0E44.jpg)
แมสคอตประจำขบวนเทียน


ช้างเอราวัณ วัดบ้านไร่

แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ทำบุญแห่งใหม่ของโคราชอยู่ที่วิหารเทพวิทยาคม อุทยานธรรมวัดบ้านไร่ใครเห็นก็ต้องตาค้างเพราะความยิ่งใหญ่ของช้างเอราวัณ พอทราบว่าวิหารเทพวิทยาคมสร้างเสร็จภายใน 2 ปียิ่งอึ้งเข้าไปใหญ่ เพราะเพียงหัวช้างเอราวัณก็น่าจะกินเวลาไป 2 ปีแล้ว วิหารมีตั้งแต่ชั้นบาดาลถึงดาดฟ้าไล่เรียงไป หากคุณไปพร้อมผู้สูงอายุให้ขึ้นลิฟต์ไปยังชั้นดาดฟ้าก่อนแล้วค่อยเดินลง ดาดฟ้าเป็นที่สถิตรูปหล่อสำริดปิดทองคำบริสุทธิ์หลวงพ่อคูณปริสุทฺโธ และพระพุทธรูปปางลีลาประทานพร

ชั้น 3 เกี่ยวกับพระอภิธรรมปิฎกและจิตรกรรมเพดานใบโพธิ์ 84,000 ใบ
ชั้น 2 ห้องพระวินัย ห้องพระทรงธรรม และนิทรรศการวิวัฒนาการพระพุทธศาสนาจากทั่วโลก
ชั้น 1 เป็นจิตรกรรมภาพพุทธประวัติและต้นโพธิ์อธิษฐานที่ถ้าโยนเหรียญลงไป บัวจะเปลี่ยนสี ทำนายว่าสิ่งที่ขอจะสัมฤทธิ์แบบใด และชั้นบาดาล ตามความเชื่อเพชรเจ็ดสีมณีเจ็ดแสงและสิ่งมงคลศักดิ์สิทธิ์ 7 อย่างให้คนรับใบเสี่ยงทาย


(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/356B537D839F4838A971E024FCEACE49.jpg)
ขบวนเทียนผ่านอนุสาวรีย์ พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง

วิหารประดับประดาด้วยเซรามิกชิ้นเล็กๆ มากกว่า 20 ล้านชิ้น ทุกชิ้นติดด้วยมือคนไทย ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้เซรามิกโมเสกมากที่สุดในโลก นอกจากนี้การทำบุญในวิหารได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ชื่อว่า บัตรเติมบุญ ก่อนเข้าวิหารจะต้องเช่าบัตรสมาร์ทการ์ดโดยมีค่ามัดจำบัตรละ 100 บาท จะเติมเงินเท่าไรก็ได้เพื่อนำไปแตะทำบุญแลกของที่ระลึกตามจุดต่างๆ หากทำบุญทุกจุดจะต้องมีเงินในบัตร 1,380 บาท ได้รับบทสวดมนต์ 9 บท คำเสี่ยงทาย ซองพลาสติกปลุกเสกโดยหลวงพ่อคูณ และของมงคล 7 สี ทั้งนี้เหตุที่ต้องใช้บัตรเติมบุญก็เพราะความโปร่งใสเรื่องเงินบริจาค

ผู้เข้าชมจะเข้าเป็นรอบๆ แต่ละรอบห่างกัน 15 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่นำชมทุกรอบ หมายความว่าผู้เข้าชมไม่สามารถเดินดุ่มๆ เข้าไปเองได้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พาเข้าไปแล้วสามารถแยกตัวเดินตามอัธยาศัย แต่แนะนำให้เดินตามเจ้าหน้าที่จะดีกว่า เพราะเขาจะพาชมตามจุดต่างๆ พร้อมอธิบายความหมายของศิลปกรรมเหล่านั้น เป็นความรู้และความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่สร้างข้อคิดให้ชีวิตไม่มากก็น้อย นอกจากนี้เมื่อไปถึงวัดบ้านไร่แล้ว อย่าพลาดชมพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณและกราบพระประธานในพระวิหาร ซึ่งทั้งหมดน่าจะใช้เวลาครึ่งวันในการเยี่ยมชม

สุรินทร์และโคราชอยู่ห่าง 167 กม. ขับรถเรื่อยๆ ไม่เกิน 2 ชม. จะเชื่อมโยงกันเป็นเส้นทางช้างจากหมู่บ้านช้างตากลางสุรินทร์จรดวิหารช้างเอราวัณโคราช แต่ถ้ารอถึงปีหน้าเส้นทางตักบาตรบนหลังช้างและแห่เทียนโคราชจะเป็นเส้นทางบุญที่สามารถเที่ยวตามรอยช้างได้ในคราวเดียว


(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/302434E18CF4463DA4A79F131C18A592.jpg)
บัตรเติมบุญสำหรับทำบุญในวิหารเทพวิทยาคม

(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/2006485915DF4392B3D71AA4C6FBA261.jpg)
กองทัพช้างประดับไฟ

(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/A06FB5A1313B494EAF9E67DFB52EB956.jpg)
ชั้นบาดาลใต้วิหารเทพวิทยาคม

(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/0D93A9F15ECB41B8A2D13D37E4FB14B5.jpg)
ช้าง 88 เชือกในงานตักบาตรบนหลังช้าง

(http://www.posttoday.com/media/content/2015/08/08/48CE5AEDE0DE44E7A73AB98F5F3F80EF.jpg)
นางเทียนนั่งอยู่บนขบวนเทียน จ.สุรินทร์

ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.posttoday.com/travel/thailand/380877 (http://www.posttoday.com/travel/thailand/380877)