สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กันยายน 01, 2015, 10:46:10 am



หัวข้อ: การเข้าหา "อาจารย์ผู้ให้กัมมัฏฐาน"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 01, 2015, 10:46:10 am
(http://www.madchima.net/forum/gallery/30_26_03_15_6_54_47.jpeg)


อาจารย์ผู้ให้กัมมัฏฐาน
    ท่านผู้ใดก็ตามที่ให้กัมมัฏฐานทั้ง ๒ อย่างที่กล่าวแล้วนี้ได้ ท่านผู้นี้แหละชื่อว่าผู้สามารถ ให้พระกัมมัฏฐาน ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ข้างต้นนั้น ผู้ประสงค์จะเจริญกัมมัฏฐานพึงเข้าไปหาท่านผู้เช่นนั้นนั่นเทียว

    ส่วนคำว่า กัลยาณมิตร นั้น หมายเอากัลยาณมิตรผู้ที่ดำรงตนอยู่ในฝ่ายข้างดี มีจิตมุ่งในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติประจำตนมีอาทิอย่างนี้ คือ :-
           ปิโย ครุ ภาวนีโย วตฺตา จ วจนกฺขโม
           คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา โน จฏฺฐาเน นิโยชโก

    ๑. มีคุณสมบัติเป็นที่รัก
    ๒. มีคุณสมบัติเป็นที่น่าเคารพ
    ๓. มีคุณสมบัติเป็นที่น่าสรรเสริญ
    ๔. เป็นผู้สามารถว่ากล่าวตักเตือน
    ๕. เป็นผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำต่ำ ๆ สูง ๆ ได้
    ๖. เป็นผู้สามารถชี้แจงถ้อยคำที่สุขุมลุ่มลึกได้ และ
    ๗. เป็นผู้ไม่แนะนำในทางที่ไม่สมควร



อธิบายลักษณะกัลยาณมิตร
    อธิบายว่า ท่านผู้เป็นกัลยาณมิตรนั้น
    ย่อมเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศรัทธา ๑
     สมบูรณ์ด้วยศีล ๑
      สมบูรณ์ด้วยสุตะ ๑
       สมบูรณ์ด้วยจาคะ ๑
        สมบูรณ์ด้วยวีริยะ ๑
         สมบูรณ์ด้วยสติ ๑
          และเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ๑

     คือ ย่อมเชื่อมั่นต่อความตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า และเชื่อมั่นต่อกรรมและผลแห่งกรรม ด้วยศรัทธาสมบัติ ไม่ยอมปล่อยวางการแสวงหาประโยชน์ แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายอันเป็นเหตุแห่งสัมมาสัมโพธิญาณ
    ด้วยศรัทธาสมบัตินั้น ย่อมเป็นที่รักเป็นที่น่าเคารพเป็นที่น่าสรรเสริญ
    เป็นผู้ทักท้วงตำหนิโทษว่ากล่าว
    เป็นผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำของสัตว์ทั้งหลายได้ ด้วยศีลสมบัติ
    เป็นผู้สามารถชี้แจงถ้อยคำอันลุ่มลึก ซึ่งประกอบด้วยสัจธรรม และปฏิจจสมุปปาทธรรมเป็นต้น ด้วยสุตสมบัติ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ ด้วยจาคสมบัติ
    เป็นผู้เพียรพยายามในการปฏิบัติทั้งที่เป็นประโยชน์ตน และประโยชน์คนอื่น ด้วยวีริยสมบัติ เป็นผู้มีสติตั้งมั่นในทางดี ด้วยสติสมบัติ
    เป็นผู้มีจิตใจไม่คิดฟุ้ง มีจิตมั่นคงด้วยสมาธิสมบัติ และรู้แจ้งชัดไม่วิปริตผิดเพี้ยน ด้วยปัญญาสมบัติ
    ท่านผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเห็นปานนี้นั้น ย่อมสอดส่องมองเห็นคติแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรม ด้วยสติรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นโทษของสัตว์ทั้งหลายตามเป็นจริง ด้วยปัญญา มีจิตแน่วแน่อยู่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษนั้น ด้วยสมาธิ ช่วยกำสิ่งที่เป็นโทษ พยายามชักจูงแนะนำ สัตว์ทั้งหลายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ด้วยวีริยะ ฉะนี้



(http://www.madchima.net/forum/gallery/30_26_03_15_6_56_53.jpeg)


กัลยาณมิตรตัวอย่าง
    ก็แหละ กัลยาณมิตรผู้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติทุกๆ ประการนั้น คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระบาลีรับรองว่า :-
       ดูก่อนอานันทะ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชาติความเกิดได้ ด้วยอาศัยกัลยาณมิตรคือ เราตถาคตนั่นเทียว

     เพราะเหตุดังนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น การเรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคนั้นนั่นแลเป็นประเสริฐที่สุด แต่เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว ในบรรดาพระมหาสาวก ๘๐ องค์ องค์ใดยังมีชนมายุอยู่ การเรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระมหาสาวกองค์นั้น ย่อมเป็นการสมควร
     เมื่อพระมหาสาวกนั้นไม่มีอยู่แล้ว ก็พึงเรียนเอาในสำนักของพระอรหันตขีณาสพองค์ที่ได้ฌานจตุกกนัยหรือฌานปัญจกนัย ด้วยพระกัมมัฏฐานบทที่ตนประสงค์จะเรียนเอานั้น แล้วเจริญวิปัสสนาซึ่งมีฌานเป็นปทัฏฐาน จนได้บรรลุถึงซึ่งความสิ้นสุดแห่งอาสวะกิเลสนั่นเถิด

    ถาม : ก็แหละ พระอรหันตขีณาสพนั้น ท่านประกาศตนให้ทราบหรือว่าท่านเป็นพระขีณาสพ.?
    ตอบ : จะต้องตอบทำไม เพราะพระอรหันตขีณาสพนั้น ท่านรู้ถึงภาวะที่ผู้จะทำความเพียรแล้วย่อมแสดงตนให้ทราบด้วยความอาจหาญและรื่นเริง โดยชี้ให้เห็นถึงภาวะแห่งการปฏิบัติไม่เป็นโมฆะ
    พระอัสสคุตตเถระรู้ว่า ภิกษุนี้เป็นผู้จะทำกัมมัฏฐาน ฉะนี้แล้ว ท่านปูลาดแผ่นหนังไว้บนอากาศแล้วนั่งขัดสมาธิอยู่บนแผ่นหนังนั้น บอกพระกัมมัฏฐานแก่ภิกษุผู้ปรารภพระกัมมัฏฐานแล้ว มิใช่หรือ.?

     :25: :25: :25: :25:

    เพราะเหตุฉะนั้น ถ้าโยคีบุคคลได้พระอรหันตขีณาสพ ข้อนั้นนับว่าเป็นบุญ
    แต่ถ้าหาไม่ได้ พึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้ทรงคุณสมบัติเหล่านี้ โดยจากก่อนมาหลัง คือ   
    พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน ปุถุชนผู้ได้ฌาน
    ท่านผู้ทรงจำปิฏกทั้งสาม ท่านผู้ทรงจำปิฏกสอง ท่านผู้ทรงจำปิฏกหนึ่ง
    แม้เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฏกหนึ่งก็ไม่มี ท่านผู้ใดมีความชำนาญแม้เพียงสังคีติอันเดียวพร้อมทั้งอรรถกถา และเป็นผู้มีความละอายด้วย พึงเรียนกัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้นั้นเถิด

     ด้วยว่าบุคคลผู้มีลักษณะเห็นปานฉะนี้ ชื่อว่าเป็นผู้รักษาประเพณี เป็นอาจารย์ผู้นับถือมติของอาจารย์ ไม่ใช่ผู้ถือมติของตนเองเป็นใหญ่
     เพราะเหตุฉะนี้แหละ พระเถระในปางก่อนทั้งหลาย จึงได้กล่าวประกาศไว้ถึง ๓ ครั้งว่า
     ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา ฉะนี้

     st12 st12 st12 st12

    ก็แหละ ในบรรดากัลยาณมิตรเหล่านั้น กัลยาณมิตรที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เป็นอาทิ ที่ข้าพเจ้ากล่าวมาในตอนต้น ท่านย่อมบอกพระกัมมัฏฐานให้ได้เฉพาะแต่แนวทาง ที่ท่านได้บรรลุมาด้วยตนเองเท่านั้น
    ส่วนกัลยาณมิตรผู้เป็นพหุสูต เพราะเหตุที่พระบาลีและอรรถกถาอันเป็นอุปการะแก่กัมมัฏฐานเป็นสิ่งที่ท่านได้เข้าไปหาพระอาจารย์นั้นๆ แล้วเรียนเอาอย่างขาวสะอาด ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยอยู่ ท่านจึงเลือกสรรเอาแต่สุตบทและเหตุอันคล้อยตามสุตบทซึ่งสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้นๆ จากนิกายนี้บ้างโน้นบ้าง แล้วเอามาปรับปรุงให้เป็นที่สะดวกสบายเหมาะสมแก่โยคีบุคคลผู้ที่ท่านจะให้กัมมัฏฐาน แสดงวิธีแห่งกัมมัฏฐานให้เห็นแนวทางอย่างกว้างขวาง เป็นดุจพญาช้างบุกไปในสถานที่รกชัฏ จึงจักบอกกัมมัฏฐาน

    เพราะเหตุฉะนั้น โยคีบุคคลพึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้กัมมัฏฐาน ซึ่งมีคุณสมบัติเห็นปานฉะนี้ ทำวัตรปฏิบัติแก่ท่านแล้ว พึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานเถิด



(http://www.madchima.net/forum/gallery/30_26_03_15_6_58_40.jpeg)


ระเบียบเข้าหาอาจารย์ผู้กัลยาณมิตร
     แหละถ้าโยคีบุคคลได้กัลยาณมิตรนั้นในวัดเดียวกัน ข้อนั้นนับว่าเป็นบุญ
     แต่ถ้าหาไม่ได้ ท่านอยู่ ณ วัดใดก็พึงไป ณ ที่วัดนั้น และเมื่อไปนั้น อย่าล้างเท้า อย่าทาน้ำมัน อย่าสวมรองเท้า อย่ากั้นร่ม อย่าให้ศิษย์ช่วยถือทนานน้ำมันและน้ำผึ้งน้ำอ้อย เป็นต้น
     อย่าไปอย่างมีอันเตวาสิกห้อมล้อม แต่พึงไปอย่างนี้ คือ พึงทำคมิกวัตร (วัตรของผู้เตรียมจะไป) ให้เสร็จบริบูรณ์แล้วถือเอาบาตรและจีวรของตนด้วยตนเองไป
     เมื่อแวะพัก ณ วัดใดๆ ในระหว่างทาง พึงทำวัตรปฏิบัติ ณ วัดนั้นๆ ตลอดไป คือ ในเวลาเข้าไป พึงทำอาคันตุกวัตร ในเวลาจะออกมา พึงทำคมิกวัตร ให้บริบูรณ์ พึงมีเครื่องบริขารเพียงเล็กน้อยและมีความประพฤติอย่างเคร่งครัดที่สุด

     ก่อนแต่จะเข้าไปสู่วัดนั้น พึงให้ทำไม้ชำระฟันให้เป็นกัปปิยะสมควรแก่ที่จะใช้ได้เสียแต่ในระหว่างทาง แล้วพึงถือเข้าไป และอย่าได้ไปแวะพัก ณ บริเวณอื่น ด้วยตั้งใจว่าจะแวะพักสักครู่หนึ่ง ล้างเท้าทาน้ำมันเท้าเป็นต้นแล้วจึงจะไปสำนักของอาจารย์
     เพราะเหตุไร.?
     เพราะว่า ถ้าในวัดนั้นจะพึงมีพวกภิกษุที่ไม่ลงคลองกันกับอาจารย์นั้น ภิกษุเหล่านั้น ก็จะพึงซักถามถึงเหตุที่มาแล้ว ประกาศตำหนิติโทษของอาจารย์ให้ฟัง จะพึงก่อกวนให้เกิดความเดือดร้อนใจว่า ฉิบหายแล้วสิ ถ้าคุณมาสู่สำนักของภิกษุองค์นั้น ข้อนี้ก็จะพึงเป็นเหตุให้ต้องกลับไปเสียจากที่นั่นได้ เพราะฉะนั้น พึงถามถึงที่อยู่ของอาจารย์แล้วตรงไปยังที่นั้นเลยทีเดียว



(http://www.madchima.net/forum/gallery/30_22_06_15_10_47_19.jpeg)


ระเบียบปฏิบัติต่ออาจารย์
     ถ้าแหละ แม้อาจารย์นั้นจะเป็นผู้อ่อนพรรษากว่า ก็อย่าพึงยินดีต่อการช่วยรับบาตรและจีวรเป็นต้น ถ้าท่านแก่พรรษากว่า พึงไปไหว้ท่านแล้วยืนคอยอยู่ก่อน
     พึงเก็บบาตรและจีวรไว้ตามที่ท่านแนะนำว่า “อาวุโส เก็บบาตรและจีวรเสีย”
     ถ้าปรารถนาอยากจะดื่มก็จงดื่มตามที่ท่านแนะนำว่า “อาวุโส นิมนต์ดื่มน้ำ”
     แต่อย่าพึ่งล้างเท้าทันทีตามที่ท่านแนะนำว่า “ล้างเท้าเสีย อาวุโส” เพราะถ้าเป็นน้ำที่พระอาจารย์ตักเอามาเอง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร
     แต่เมื่อท่านแนะนำว่า “ล้างเถิด อาวุโส ฉันไม่ได้ตักมาเองดอก คนอื่นเขาตักมา” พึงไปนั่งล้างเท้า ณ โอกาสอันกำบังที่อาจารย์มองไม่เห็น หรือ ณ ส่วนข้างหนึ่งของวิหารอันเป็นที่ว่างเปล่า

     ถ้าแหละ ท่านอาจารย์หยิบเอาขวดน้ำมันสำหรับทามาให้ พึงลุกขึ้นรับโดยเคารพด้วยมือทั้งสอง เพราะถ้าไม่รับ ความสำคัญเป็นอย่างอื่นก็จะพึงมีแก่อาจารย์ว่า ภิกษุนี้ทำการสมโภคคือการใช้ร่วมกันให้กำเริบเสียหายตั้งแต่บัดนี้เทียว (รังเกียจการใช้สิ่งของร่วมกัน) แต่ครั้นรับแล้วอย่าพึงทาตั้งต้นแต่เท้าไป เพราะถ้าน้ำมันนั้น เป็นน้ำมันสำหรับทาตัวของพระอาจารย์แล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้น พึงทาศรีษะแล้วทาตามลำดับตัวเป็นต้นก่อน
     แต่เมื่อท่านแนะนำว่า “อาวุโส ทาเท้าก็ได้ น้ำมันนี้เป็นน้ำมันรักษาอวัยวะทั่วไป” พึงทาที่ศรีษะนิดหน่อยแล้วจึงทาเท้า ครั้นทาเสร็จแล้วพึงเรียนว่า “กระผมขออนุญาติเก็บขวดน้ำมันนี้ขอรับ” เมื่อท่านรับเองก็พึงมอบถวายคืน

     อย่าเพิ่งเรียนขอว่า “ขอท่านกรุณาบอกพระกัมมัฏฐานให้แก่กระผมด้วย” ตั้งแต่วันที่มาถึง แต่ถ้าอุปัฏฐากประจำของท่านอาจารย์มี พึงขออนุญาตกะเขาแล้วทำวัตรปฏิบัติแก่ท่านนับตั้งแต่วันที่สองไป ถ้าแม้ขอแล้วแต่เขาไม่ยอมอนุญาตให้ เมื่อได้โอกาสก็พึงทำทันที เมื่อทำวัตรปฏิบัติพึงจัดเอาไม้ชำระฟัน ๓ ชนิดเข้าไปวางไว้ คือ ชนิดเล็ก ชนิดกลาง และชนิดใหญ่ พึงตระเตรียมน้ำบ้วนปากและน้ำสรง ๒ ชนิด คือ น้ำเย็นและน้ำอุ่น แต่นั้นพึงสังเกตุไว้ ท่านอาจารย์ใช้ชนิดไหนถึง ๓ วัน ก็พึงจัดเฉพาะชนิดนั้นตลอดไป เมื่อท่านไม่ถือระเบียบแน่นอน ใช้ตามมีตามเกิด ก็พึงจัดไปไว้ตามที่ได้

      st12 st12 st12 st12

     ธุระอะไรที่ข้าพเจ้าจะต้องพิจารณามากเล่า วัตรปฏิบัติโดยชอบอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แล้วฉันใด พึงทำวัตรปฏิบัติแม้นั้นให้ครบทุกๆ อย่าง ซึ่งมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหาขันธกะวินัยปิฏก มีอาทิว่า :-

     ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงประพฤติปฏิบัติโดยชอบในพระอาจารย์ กิริยาที่ประพฤติปฏิบัติโดยชอบในพระอาจารย์นั้น ดังนี้ พึงลุกขึ้นแต่เช้าแล้วถอดรองเท้าเสีย ห่มจีวรเฉวียงบ่า ถวายไม้ชำระฟัน ถวายน้ำล้างหน้า ปูลาดอาสนะ ถ้ามีข้าวต้มพึงล้างภาชนะให้สะอาดแล้วน้อมข้าวต้มเข้าไปถวาย

     เมื่อโยคีบุคคลทำให้ท่านอาจารย์พอใจด้วยวัตรสมบัติอยู่โดยทำนองนี้ ตกถึงเวลาเย็น กราบท่านแล้ว เมื่อท่านอนุญาติให้ไปว่าไปได้ฉะนี้ จึงค่อยไป
     เมื่อใดท่านถามว่า “เธอมา ณ ที่นี้เพื่อประสงค์สิ่งใดหรือ ?” เมื่อนั้น พึงกราบเรียนเหตุที่มาให้ทราบ
     ถ้าท่านไม่ถามเลย แต่ก็ยินดีต่อวัตรปฏิบัติ ครั้นล่วงเลยมาถึง ๑๐ วันหรือปักษ์หนึ่งแล้ว แม้ถึงท่านจะอนุญาติให้ไป ก็อย่าพึ่งไป พึงขอให้ท่านให้โอกาสแล้ว พึงกราบเรียนถึงเหตุที่มา ให้ทราบสักวันหนึ่ง หรือพึงไปหาท่านให้ผิดเวลา เมื่อท่านถามว่า มาทำไม.? พึงฉวยโอกาสกราบเรียนถึงเหตุที่มา ถ้าท่านนัดหมายให้มาเช้า ก็พึงเข้าไปเช้าตามนัดนั่นแล

     ก็แหละ ถ้าตามเวลาที่นัดหมายนั้น โยคีบุคคลเกิดเสียดท้องด้วยโรคดีกำเริบก็ดี หรืออาหารไม่ย่อยเพราะไฟธาตุอ่อนก็ดี หรือโรคอะไรอย่างอื่นเบียดเบียนก็ดี พึงเรียนโรคนั้นให้ท่านอาจารย์ทราบตามความจริง แล้วกราบเรียนขอเปลี่ยนเวลาที่ตนสบาย แล้วพึงเข้าไปหาในเวลานั้น ทั้งนี้เพราะว่า ในเวลาที่ไม่สบายแม้ท่านอาจารย์จะบอกพระกัมมัฏฐานให้ก็ไม่สามารถที่จะมนสิการได้

    อรรถาธิบายพิสดารในหัวข้อสังเขปว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน ยุติเพียงเท่านี้


อ้างอิง :-
วิสุทธิมรรค รจนาโดย พระพุทธโฆสะ
ฉบับแปลโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสโภ) และคณะ
วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ภาคสมาธิ ปริเฉทที่ ๓ กัมมัฏฐานคหณนิเทศ หน้าที่ ๑๕๔-๑๖๐
https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๑_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๓_กัมมัฏฐานคหณนิเทศ_หน้าที่_๑๕๑_-_๑๕๕ (https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๑_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๓_กัมมัฏฐานคหณนิเทศ_หน้าที่_๑๕๑_-_๑๕๕)
https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๑_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๓_กัมมัฏฐานคหณนิเทศ_หน้าที่_๑๕๖_-_๑๖๐ (https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๑_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๓_กัมมัฏฐานคหณนิเทศ_หน้าที่_๑๕๖_-_๑๖๐)


หัวข้อ: Re: การเข้าหา "อาจารย์ผู้ให้กัมมัฏฐาน"
เริ่มหัวข้อโดย: nopporn ที่ กันยายน 01, 2015, 12:26:51 pm
  st11 st12 st12 st12
  ไม่ใช่แต่เพียงเนื้อหา แต่ ภาพ ลุงปุ้ม ( เรียกตามเขานะ ) ก็ใส่ใจละเอียด
 อันทีจริงก็ยังมาคิดอยู่ว่า เราไปขึ้นกรรมฐาน ที่วัดราชสิทธาราม แล้ว แต่ไม่ได้ขึ้นกับพระอาจารย์
 พอเรียนถามท่าน ๆ บอกว่า ไม่ต้องเป็นศิษย์ พี่ ศิษย์ น้อง แล้ว

   ไม่เอา ไม่เอา ไม่อยากเป็น ศิษย์พี่ ศิษย์น้อง กับท่าน อยากเป็นศิษย์ท่านมากกว่า

 :49: :25: :25: :25: :25:


หัวข้อ: Re: การเข้าหา "อาจารย์ผู้ให้กัมมัฏฐาน"
เริ่มหัวข้อโดย: PRAMOTE(aaaa) ที่ กันยายน 01, 2015, 06:47:07 pm

           ขออนุโมทนาสาธุ


หัวข้อ: Re: การเข้าหา "อาจารย์ผู้ให้กัมมัฏฐาน"
เริ่มหัวข้อโดย: Admax ที่ กันยายน 01, 2015, 08:31:16 pm
 st12 st12 st12