สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กันยายน 12, 2015, 09:14:46 pm



หัวข้อ: นานาสารธรรม : ความเป็นมาของ “อุโบสถศีล”
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 12, 2015, 09:14:46 pm

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000010265001.JPEG)

นานาสารธรรม : ความเป็นมาของ “อุโบสถศีล”

คำว่า อุโบสถ (อ่านว่า อุโบสด เขียนตามคำบาลีว่า อุโปสถะ) เป็นศัพท์บัญญัติทางพระพุทธศาสนา แยกกล่าวเป็น ๒ ประเภท คือ
       
       ๑. อุโบสถสำหรับภิกษุสงฆ์ ได้แก่ การสวดปาติโมกข์ของพระภิกษุสงฆ์ทุกครึ่งเดือน คือทุกวันจันทร์เพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันจันทร์ดับ แรม ๑๕ หรือแรม ๑๔ ค่ำ เมื่อเดือนขาด โดยเรียกการประชุมสวดปาติโมกข์ว่า การทำอุโบสถ (อุโบสถกรรม หรือเรียกว่า สังฆอุโบสถ) เพื่อเป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์ทางพระวินัยบัญญัติของพระภิกษุทั้งหลาย และทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของสงฆ์ด้วย เป็นพระพุทธบัญญัติ และจัดเป็น อธิสีลสิกขา การศึกษาในอธิศีล คือข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติชั้นสูง ได้แก่ ปาติโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต จัดเป็นศีลที่ยิ่งกว่าสูงกว่าศีลทั่วไป เพราะนอกจากพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีใครสามารถบัญญัติได้
       
       ๒. อุโบสถสำหรับคฤหัสถ์ แปลว่า การอยู่จำ การเข้าจำ หมายถึง การรักษาศีล ๘ และบำเพ็ญข้อปฏิบัติอย่างอื่นที่สมควร มีฟังพระธรรมเทศนาเป็นต้นของคฤหัสถ์ อันมีลักษณะเป็นการอยู่จำ คือหยุดประกอบกิจการงานของฆราวาส เช่น ทำนา ทำไร่ เป็นต้น ไว้ชั่วคราว เพื่อบำเพ็ญกุศลกรรมทำความดีพิเศษตามหลักพระศาสนา ในกาลที่กำหนดนิยม คือ วันขึ้นและวันแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญหรือวันจันทร์ดับ
       
       อุโบสถที่จะกล่าวรายละเอียดในที่นี้ คือ อุโบสถสำหรับคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นเรื่องของกุศลกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ คือ อุบาสกอุบาสิกา เรียกเต็มว่า อัฏฐังคิกอุโบสถ อุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ หรือ ศีล ๘ ข้อ (อัฐศีล) คือศีลที่กำหนดรักษาเป็นพิเศษเฉพาะคราวของคฤหัสถ์ เพื่อฝึกควบคุมกายและวาจาให้ประณีตยิ่งขึ้นไป ซึ่งเป็นอุบายขัดเกลากิเลสอย่างหยาบให้เบาบาง และเป็นทางแห่งความสงบระงับ อันเป็นความสุขอย่างสูงในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น จึงเรียกการรักษาศีล ๘ ของคฤหัสถ์ว่า การรักษาอุโบสถ ซึ่งจัดเป็นบุญสิกขาประการที่ ๒ ในบุญสิกขา ๓ ที่พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์คืออุบาสกอุบาสิกา พึงนิยมหาโอกาสประพฤติตามสมควร


        ans1 ans1 ans1 ans1

       • ความเป็นมาของอุโบสถ
       อุโบสถนั้นปฏิบัติกันมาก่อนพุทธกาล คือ เป็นเรื่องที่คนในสมัยก่อนพระพุทธเจ้าของเราเสด็จอุบัติตรัสรู้ ได้ประพฤติปฏิบัติกันมาก่อนแล้ว เพราะถือกันว่าเป็นเรื่องหยุดพักประชุมปรึกษาหารือกัน หรือประชุมทำความดี ดังหลักฐานเรื่องเล่าถึงความเป็นมาในอุโปสถขันธกะแห่งพระวินัยปิฎกมหาวรรค ปฐมภาค (พระไตรปิฎกเล่ม ๔) ความว่า
       
       สมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ พวกปริพาชก (นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาลัทธิหนึ่ง) ประชุมกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ มีคนจำนวนมากไปฟังธรรมของพวกเขา แล้วเลื่อมใสขอบวชเป็นสาวกของปริพาชกเหล่านั้น พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า แม้พระสงฆ์ก็สมควรจะประชุมกันในวันเช่นนั้นบ้าง จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องนั้นแล้วเสด็จกลับ

        :25: :25: :25: :25:

       พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกพระภิกษุสงฆ์มาแล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมพร้อมเพรียงกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ”
       
       ต่อมาพระภิกษุทั้งหลายได้ประชุมกันตามพุทธดำรัส แต่นั่งอยู่เฉยๆ ชาวบ้านมาเพื่อจะฟังธรรมก็ไม่พูดด้วย จึงถูกติเตียนค่อนขอดว่าเหมือนพวกสุกรใบ้ พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนั้นแล้วจึงตรัสเรียกพระภิกษุสงฆ์มาแล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมกันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ” พระภิกษุสงฆ์จึงปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสนับแต่นั้นมา

        st12 st12 st12 st12

       ในอดีตกาล ครั้งที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ (ผู้บำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตรัสรู้โพธิญาณ) ก็ได้เคยใช้สัจจบารมีรักษาศีลอุโบสถอย่างเคร่งครัดถึงขั้นเสียชีวิต และได้รับผลแห่งการรักษาอุโบสถนี้มาแล้ว ดังที่พระพุทธองค์ตรัสเป็นเรื่องเล่าไว้ใน อรรถกถาคังคมาลชาดก อัฏฐกนิบาต (คัมภีร์อรรถกถาชาดก ขยายความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗) ซึ่งในที่นี้นำมากล่าวโดยสรุปความว่า
       
       สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ตรัสเรียกพวกคนที่รักษาอุโบสถมา แล้วตรัสว่า “พวกเธอทั้งหลายทำความดีแล้วที่รักษาอุโบสถ พวกเธอผู้รักษาอุโบสถ ควรให้ทาน รักษาศีล ไม่ควรทำความโกรธ ควรเจริญเมตตาภาวนา ควรอยู่จำอุโบสถให้ครบเวลา เพราะว่าบัณฑิตในปางก่อนอาศัยอุโบสถเพียงกึ่งเดือน ยังได้ยศใหญ่มาแล้ว”
       
       พวกอุบาสกและอุบาสิกาที่รักษาอุโบสถฟังเช่นนั้นแล้ว จึงพากันกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนั้นให้ฟังเป็นทิฏฐานุคติ (แบบอย่างแห่งการประพฤติดีที่เห็นชัดเจน) พระพุทธองค์จึงทรงนำนิทานชาดกมาตรัสเล่าว่า


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000010265002.JPEG)

       ในอดีตกาล มีเศรษฐีคนหนึ่ง มีทรัพย์มาก มีบริวารจิตใจสะอาด ชอบทำบุญบริจาคทาน และภรรยา บุตรธิดา บริวารชน แม้กระทั่งคนเลี้ยงโคของเศรษฐีนั้น ล้วนเป็นผู้เข้าจำอุโบสถเดือนละ ๖ วัน ในครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เกิดในครอบครัวคนยากจนมีอาชีพรับจ้าง อยู่อย่างอัตคัดขัดสน วันหนึ่งได้เข้าไปยังบ้านของเศรษฐีนั้นเพื่อขอทำงาน
       
       เศรษฐีนั้นบอกเงื่อนไขว่า “ทุกคนในบ้านนี้ล้วนแต่เป็นผู้รักษาศีลอุโบสถ ถ้าเธอรักษาได้ ก็ทำงานได้”
       
       ด้วยความที่มุ่งแต่จะทำงาน ชายโพธิสัตว์จึงยอมรักษาศีลอุโบสถ ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าศีลนั้นคืออะไร มีวิธีการรักษาอย่างไร เมื่อทำงานก็ตั้งใจทำงานแบบถวายชีวิต เป็นคนว่าง่าย ไม่คำนึงถึงความยากลำบาก ตื่นก่อนนอนทีหลังเจ้านายเสมอ

        :96: :96: :96: :96:

       ต่อมาวันหนึ่ง มีมหรสพในเมือง เศรษฐีเรียกสาวใช้มาสั่งว่า “วันนี้เป็นวันอุโบสถ เธอจงหุงอาหารให้คนงานแต่เช้าตรู่ พวกเขารับประทานอาหารแล้วจะได้รักษาอุโบสถ”
       
       ฝ่ายชายโพธิสัตว์ตื่นนอนแล้วได้ออกไปทำงานแต่เช้ามืด ไม่มีใครบอกว่าวันนั้นเป็นวันอุโบสถ คนทั้งหมดรับประทานอาหารเช้าแล้ว ต่างรักษาอุโบสถกัน แม้เศรษฐีพร้อมภรรยาและบุตรธิดาก็ได้อธิษฐานอุโบสถ ไปยังที่อยู่ของตน แล้วนั่งนึกถึงศีลอยู่
       
       ชายโพธิสัตว์ทำงานตลอดวัน เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน จึงได้กลับมา แม่ครัวนำอาหารไปให้ รู้สึกแปลกใจ จึงถามว่า “วันอื่นๆเวลานี้มีเสียงดัง วันนี้คนเหล่านั้นไปไหนกันหมด”

        :29: :29: :29: :29:

       ครั้นทราบว่าทุกคนสมาทานอุโบสถ ต่างอยู่ในที่ของตน จึงคิดว่า “เราคนเดียว ไม่มีศีลในท่ามกลางของผู้มีศีล จะอยู่ได้อย่างไร เราจะอธิษฐานอุโบสถในตอนนี้ จะได้หรือไม่หนอ”
       
       จึงเข้าไปถามเศรษฐี ได้รับคำตอบว่า “เมื่อรักษาอุโบสถตอนนี้จะได้อุโบสถครึ่งเดียว เพราะไม่ได้อธิษฐานแต่เช้า”
       
       ชายโพธิสัตว์บอกว่า “ครึ่งเดียวก็ได้” จึงสมาทานศีลกับเศรษฐี อธิษฐานอุโบสถ เข้าไปยังที่อยู่ของตนนอนนึกถึงศีล ในปัจฉิมยาม หิวอาหารจนเป็นลม เพราะยังไม่ได้รับประทานอาหารเลยตลอดทั้งวัน เศรษฐีนำเอาสิ่งต่างๆมาให้ ก็ไม่ยอมรับประทาน ยอมเสียชีวิต แต่ไม่ยอมเสียศีล

        :41: :41: :41: :41:

       ในขณะใกล้จะสิ้นชีวิต พระเจ้าพาราณสีเสด็จประพาสพระนครมาถึงที่นั้น ชายโพธิสัตว์ได้เห็นพระสิริแห่งพระเจ้าแผ่นดิน จึงปรารถนาราชสมบัติ ครั้นสิ้นชีวิตแล้ว ได้ถือปฏิสนธิในพระครรภ์อัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสีนั้น เพราะผลแห่งอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง ครั้นประสูติแล้วทรงได้รับการขนานนามว่า “อุทัยกุมาร” และได้ครองสิริราชสมบัติในกรุงพาราณสี สืบแทนพระราชบิดาในกาลต่อมา
       
       จากข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่ยกมากล่าวโดยสรุปนี้ ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่า อุโบสถนั้นมีปฏิบัติกันมาก่อนแล้ว และเป็นชื่อของวันที่เจ้าลัทธินั้นๆ กำหนดไว้เพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรมตามลัทธิของตนด้วยการงดอาหาร ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว จึงทรงบัญญัติอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ พร้อมทั้งสรณคมน์

       
(ข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือคู่มือพุทธศาสนิกชน โดยกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)

       ans1 ans1 ans1 ans1

       ศีล 8 ข้อ มีดังนี้
       ๑. ไม่ฆ่าสัตว์และไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
       ๒. ไม่ลักเองและไม่ใช้ให้ผู้อื่นลักสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
       ๓. ไม่เสพเมถุน (ไม่ร่วมประเวณี)
       ๔. ไม่พูดปด
       ๕. ไม่ดื่มสุราเมรัย
       ๖. ไม่กินอาหารในเวลาบ่ายและกลางคืน (ไม่กินอาหารหลังเที่ยงวัน)
       ๗. ไม่แสดงการรื่นเริงและแต่งตัว (ไม่สนใจสิ่งบันเทิงเริงโลกีย์)
       ๘. ไม่นอนบนที่นอนสูงและที่นอนใหญ่
       

จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ
http://manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9580000099153 (http://manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9580000099153)


หัวข้อ: Re: นานาสารธรรม : ความเป็นมาของ “อุโบสถศีล”
เริ่มหัวข้อโดย: PRAMOTE(aaaa) ที่ กันยายน 12, 2015, 10:59:39 pm
 :welcome: :58:
ขออนุโมทนาสาธุ ธรรมครับ