หัวข้อ: สิ่งที่คนอยากเปลี่ยนคือเวลา อยากหยุดก็คือเวลา หนีไม่ได้ก็คือเวลา เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 15, 2015, 11:41:54 am (https://scontent.fbkk5-1.fna.fbcdn.net/hphotos-prn2/v/t1.0-9/601456_359767250771402_658651419_n.jpg?oh=d3362ba5815b70692b13caa0a73035fb&oe=566140AB) กาลเวลาย่อม กลืนกินสรรพสัตว์ พร้อมทั้งตัวของมันเอง มติชนรายวัน 14 พฤษภาคม 2557 : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เนื่องในวาระแห่งวันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ผู้เขียนได้นั่งระลึกทบทวนชีวิตที่ผ่านมาในช่วงก่อนวันวิสาขบูชาเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในวันสำคัญที่จะมาถึง ก็เกิดการระลึกถึง พ.ศ.2517 ขึ้นมาได้ในระหว่างที่บ้านเมืองกำลังปั่นป่วนโกลาหลจากอาการสำลักประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่โหยหากันมานานนับทศวรรษด้วยการเฉลิมฉลองที่ได้หลุดพ้นจากเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์และพรรคพวก ผู้เขียนเกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่ายในบรรยากาศขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ปรารภกับท่านอาจารย์สิงห์ทอง พรนิคม ผู้เป็นเพื่อนอาจารย์อาวุโสที่สอนวิชาปรัชญาและศาสนาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขณะนั้นว่าอยากจะเรียนรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าให้รู้มากกว่านี้ (ตอนนั้นผู้เขียนเป็นเพียงพุทธศาสนิกชนตามทะเบียนบ้านเท่านั้น) ท่านอาจารย์สิงห์ทองก็ดีใจหายได้พาผู้เขียนไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนธรรมศึกษาตรีที่สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ ผู้เขียนก็ไปเรียนในช่วงค่ำเป็นประจำเว้นเฉพาะวันพระและวันโกน ยังพอจำมิตรสหายที่เรียนได้อยู่บ้าง เช่น สามเณรูปหนึ่ง ปัจจุบันก็ได้ข่าวว่าไปจำพรรษาประจำอยู่ที่ประเทศอังกฤษและแม่ชีที่พระอาจารย์ผู้สอนเรียกว่าอุบาสิกาที่เรียนเก่งชะมัดเลยได้ข่าวว่าสอบได้เปรียญ 9 ประโยคไปแล้วคนหนึ่ง :25: :25: :25: :25: ผู้เขียนได้เรียนรู้และเข้าใจพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นตามสมควรพอสอบสนามวัด (สอบซ้อม) ครั้งแรกก็ประเดิมด้วยการสอบตก แต่ครั้นสอบสนามหลวง (สอบจริง) ก็สอบได้ (หวุดหวิด) หลังจากนั้นก็เลิกราในการเรียนธรรมะอย่างเป็นทางการไปเนื่องจากการงานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็เริ่มรัดตัวมากขึ้น การจราจรก็ติดขัด นั่งรถเมล์มาจากบางเขนถึงท่าพระจันทร์ก็ล่าช้าจนมาเรียนไม่ทันแต่ก็ยังหาอ่านหาฟังธรรมตามโอกาสอยู่เสมอ (ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่องบุญชูผู้น่ารักที่ฮิตมากในช่วง ปี 2531 ไม่ได้แสดงถึงความยากลำบากในการเดินทางระหว่างมหาวิทยาลัยเลย) ที่รำพึงรำพันเสียยกใหญ่ก็เพื่อที่จะอ้างถึงพุทธภาษิตบทหนึ่งที่ติดใจมาตั้งแต่ตอนเรียนธรรมะครั้งนั้นคือ "กาโล ฆะสะติ ภูตานิ สัพพาเนวะ สะหัตตะนา" แปลว่า "กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์กับทั้งตัวมันเอง" ที่จำได้แม่นยำก็เพราะว่าเป็นข้อสอบวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมในตอนสอบสนามวัดซึ่งผู้เขียนสอบตก ผู้เขียนเลยนึกสนุกอยากจะทดลองทำข้อสอบที่ตกไปครั้งนั้นอีกสักที จะได้หรือตกก็ไม่เป็นไรแล้ว ขอเสนอให้ท่านผู้อ่านที่เคารพอ่านสนุกๆ นะครับ (https://scontent.fbkk5-1.fna.fbcdn.net/hphotos-xpa1/v/t1.0-9/644579_432448983503228_1996492368_n.jpg?oh=4472e2993e0ff08d50a8a3131d036502&oe=565F6533) กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา - กาลย่อมกินสรรพสัตว์กับทั้งตัวมันเอง ณ บัดนี้ จักได้ขยายความแห่งธรรมภาษิตนี้ต่อไป กาล คือเวลา ได้แก่ วัน เดือน ปี ที่กำหนดกาลเป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต นั่นแหละ ส่วนคำว่า "สรรพสัตว์" ในกระทู้นี้ ได้แก่ บรรดาสัตว์ทุกชนิดในโลกนี้ แต่ในที่นี้เน้นเฉพาะมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นภัพพสัตว์ คือเหล่าสัตว์ที่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินั้น ส่วนที่ว่า "กาลย่อมกินสรรพสัตว์กับทั้งตัวมันเอง" นั้น ก็เพราะว่าบรรดาสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมเหมือนกันทั้งสิ้นคือ ต้องมีความเจริญหรือความเสื่อมของร่างกายโดยแบ่งได้ด้วยชั้นแห่งวัย อันแยกได้เป็น 3 วัย คือ วัยต้น ร่างกายอยู่ในฝ่ายเจริญเติบโต จิตเจตสิกแล่นเร็ว เต็มไปด้วยความสนุกสนาน แต่ความยั้งคิดยังมีน้อย ต่อมาเป็น วัยกลาง ร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ รู้จักยั้งคิดในการทำและพูด รู้จักผิดชอบ จิตเจตสิกหนักแน่น และ วัยชรา ร่างกายอยู่ในข้างทรุดโทรมลง จิตเจตสิกเริ่มเซื่องซึมชักช้า สัญญา (ความจำ) ก็เริ่มเลอะเลือน (https://scontent.fbkk5-1.fna.fbcdn.net/hphotos-xap1/v/t1.0-9/166766_436056946475765_409578777_n.jpg?oh=ec89aac5887fdad562490bf71e50a2d0&oe=566B7628) การหมุนเวียนแห่งกาลเวลาวันคืนเปลี่ยนไปเท่าใด วัยแห่งสัตว์และมนุษย์ ก็ย่อมต้องเปลี่ยนตามไปเท่านั้น อีกนัยหนึ่งคือความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์มีเท่าใด กาลเวลาย่อมมีเท่านั้น ทุกๆ ระยะแห่งความก้าวหน้าหรือถอยหลังกลับของบรรดามนุษย์ที่เคลื่อนไหวอย่างไร กาลเวลาก็ย่อมก้าวไป ติดตามไปเสมอ ในขณะเดียวกันกาลเวลาเองก็ย่อมหมดสิ้นไปเหมือนกัน อาทิ วันจันทร์สิ้นไป วันอังคารก็เกิดแทน วันอังคารสิ้นไป วันพุธก็มาแทน จะเห็นได้ว่า วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธเป็นกาลเวลาก็ย่อมหมดสิ้นไปด้วย ฉะนั้น บรรดาสัตว์โลกทั้งหลายนี้ จึงถูกความหมุนเวียนแห่งกาลเวลากลืนกินเอา และกาลเวลาก็หมดสิ้นไปด้วย ร่างกายของมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อันเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์อันเป็นความจริงแท้ของสภาวธรรมทั้งหลายในโลก คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (แปลว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้และไม่มีตัวตน) นั่นเอง (http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2014/05/act02140557p1.jpg) ขอแถมอีกนิดคือ ทางศาสนาฮินดูก็มีการเล่าถึงเรื่องกาลเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องของความโกรธของพระศิวะที่ว่า ครั้งหนึ่งมีพญายักษ์นามว่าชลันธรได้บำเพ็ญตบะจรแก่กล้าจนได้รับพรจากพระศิวะให้รบสู้กับใครแล้วให้ได้รับชัยชนะโดยตลอดครั้นได้พรแล้ว พญายักษ์ชลันธรก็เกิดความฮึกเหิม ลำพองเที่ยวไปข่มเหงรังแกผู้อื่นเป็นนิจ โดยไม่มีใครสู้ได้ จนกระทั่งลืมตัวถึงขนาดจึงให้พระราหูไปบอกพระศิวะให้มารบกันโดยมีเดิมพันว่า หากพระศิวะแพ้ต้องยกนางปารพตีมเหสีให้แก่ตน พระศิวะได้ทราบเข้าดังนั้นก็ออกอาการโกรธจัด เกิดมียักษ์หน้าสิงห์โดดออกจากหว่างคิ้วของพระศิวะ ตรงเข้าไปจะกินพระราหู พระราหูเห็นดังนั้นก็ตกใจขอให้พระศิวะช่วย พระศิวะทรงห้ามยักษ์ไม่ให้ทำร้ายพระราหู ฝ่ายยักษ์หน้าสิงห์นั้นก็หิวเหลือเกิน (คงจะจริงเพราะคนโมโหมักหิวจัด) เลยกินขาตัวเองด้วยความหิวโหย เมื่อยักษ์ได้กัดกินแข้งขาของตัวเองแล้วยังไม่อิ่ม จึงกินตัว กินท้อง จนถึงคอจนหมด แถมกินกรามล่างเข้าไปด้วย เหลือส่วนหัว พระศิวะเห็นอย่างนั้นก็เลยให้พรยักษ์หน้าสิงห์นั้นให้ไปเฝ้าอยู่ที่ประตูของพระศิวะตลอดไป ผู้ใดไม่เคารพจะไม่ได้รับพรจากพระศิวะ หลังจากนั้นพระศิวะจึงไปปราบพญายักษ์ชลันธรต่อไป (ปัญหาที่พระศิวะให้พรใครแบบไม่ดูตาม้าตาเรือจนทำให้เดือดร้อนอยู่เสมอมีอยู่ในศาสนาฮินดูเต็มไปหมด ว่าไปแล้วก็เหมือนผู้ใหญ่บางคนในบ้านเมืองของเราเหมือนกัน) ขอบคุณภาพและบทความจาก http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1400071891 (http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1400071891) หัวข้อ: Re: สิ่งที่คนอยากเปลี่ยนคือเวลา อยากหยุดก็คือเวลา หนีไม่ได้ก็คือเวลา เริ่มหัวข้อโดย: Admax ที่ กันยายน 15, 2015, 12:39:39 pm st12 st12 st12
|