สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กันยายน 25, 2015, 09:15:27 am



หัวข้อ: ปรองดองแบบพุทธ "ทฤษฎีมี..รอปฏิบัติ"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 25, 2015, 09:15:27 am
(http://old.mbu.ac.th/images/stories/0154/630.jpg)

ปรองดองแบบพุทธ "ทฤษฎีมี..รอปฏิบัติ"

"เชื่อกันว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ เขาบอกว่าตั้งแต่มีศาสนาพุทธกำเนิดมามีสงครามมาตลอด แล้วเราเอาอะไรมาพูดว่าเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ"

พระดร.อนิลมาน ธมมฺสากิโย แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ยกส่วนหนึ่งของคำนำจากหนังสือ สงครามพระพุทธศาสนา (Buddhist Warfare) ผลงานของนักสังคมศาสตร์กับนักศาสนศึกษา ในอเมริกา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อปีที่แล้ว ขึ้นมากล่าวเปิดการบรรยายธรรมเรื่อง "ความปรองดองในพุทธทัศน์" ให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นักวิชาการทั้งสองบอกว่าตั้งแต่ศาสนาพุทธกำเนิดมามีสงครามตลอด ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ต้องการตีแผ่ว่าในแง่สงครามที่เกิดขึ้นนั้น มีสถาบันสงฆ์ มีวัดเข้าไปเกี่ยวข้อง

     "บางคนก็สุดโต่งและบอกว่า พุทธศาสนาไม่ควรไปยุ่งกับการเมือง ฟังดูเป็นคำแนะนำที่ดีเหลือเกิน ที่ไม่ต้องนำศาสนาไปเปื้อนเลือด แต่จะเป็นไปได้หรือที่จะแยกการเมืองออกจากกัน การเมืองมีอยู่ทุกหนแห่ง ทุกองค์กรในสังคม คงไม่ผิดถ้าจะพูดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตล้วนมีการเมืองมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น..."

    :96: :96: :96: :96:

    พระอาจารย์อนิล ออกตัวว่าอาตมาไม่ฝักใฝ่ "การเมือง" ดังนั้นมุมมองที่จะพูดคืออีกมุมมองหนึ่ง คือการนำเอาหลักธรรมะมาใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้น พูดกันอย่างตรงประเด็นก็จะพบว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นจากการกระทำของปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มคน เมื่อเริ่มไปแล้ว การแก้แค้นก็จะเกิดขึ้น และวัฏจักรของการแก้แค้นก็จะหมุนไปอย่างไม่สิ้นสุด แล้วเราจะหยุดยั้งวัฏจักรแห่งการแก้แค้นได้อย่างไร

ความสำคัญของหลักธรรมที่ว่าด้วย อภัยทาน และความปรองดองก็จะมาเกี่ยวข้องโดยตรง ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าไม่ได้แสดงเกี่ยวกับหลักธรรมที่ว่าด้วยความปรองดองโดยตรงไว้มากนัก หลักธรรมสำคัญที่สุดมีกล่าวไว้ในคัมภีร์ ธรรมบทที่รู้จักกันมากที่สุดว่า "เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร"

      :25: :25: :25: :25:

      ความปรองดองเป็นสิ่งสำคัญในพุทธทัศน์ แต่ถ้าจะมองหาคำว่า "ปรองดอง" ในพระไตรปิฎกมีไหม อาจจะไม่มีโดยตรง อาจมีคำว่า "ปฏิสรณียกรรม" ที่จะใกล้เคียงที่สุด

      "ปฏิสรณียกรรม" หมายถึง กลับมาสู่ความเป็นฉันมิตร ซึ่งต้องใช้หลักธรรมมากกว่าการให้อภัย จำเป็นต้องให้กลับมาไว้วางใจเหมือนเดิม ถ้าปฏิเสธไม่รับผิดชอบต่อการกระทำที่ตนเองกระทำลงไป หรือยืนยันว่าตนไม่ผิด ก็ไม่มีทางที่ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้



(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1GEtfZooyIndA9T597ZcnIb1UAQQA.jpg)


     ในประเด็นเรื่องความปรองดองในพุทธทัศน์ ความปรองดองที่จะเกิดขึ้นได้
      มี 2 ประเด็นที่จะต้องคิด ในแง่ของพุทธศาสนามองว่า
      หลักธรรมที่ 1 คือ การขอขมา อภัยทาน กับอันที่สอง คือ การปรองดอง
      เป็นสองระดับของจิตใจ เมื่อทำล่วงเกินไปแล้ว พระพุทธเจ้าสอนว่า
      "เมื่อเราทำผิดให้เรายอมรับผิดเสีย และเมื่อเขายอมรับผิด อีกคนหนึ่งก็ต้องให้รับผิดเขา"

     เพื่อส่งเสริมให้มีความปรองดองอย่างถูกต้องระหว่างหมู่สงฆ์สาวก พระพุทธเจ้าได้วางวิธีการอย่างละเอียดเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง ตามหลักพระวินัยได้แสดงถึงวิธีการแสดงอาบัติระหว่างสงฆ์กันและกัน ซึ่งก็คือการแสดงสิ่งที่ตนเองได้ล่วงเกินสิกขาบทต่างๆ ทั้งที่ล่วงโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม

     :96: :96: :96: :96: :96:

     ส่วนของพระวินัยข้อนี้มีชื่อเรียกว่า อธิกรณสมถะ อยู่ท้ายๆของพระปาติโมกข์ อธิกรณสมถะ ไม่ใช่เป็นชื่ออาบัติ แต่เป็นชื่อสิกขาบท สำหรับยุติอธิกรณ์ คำว่า "อธิกรณ์" นี้ ไม่ตรงกับคำว่า "คดีความ"...บางอย่างเป็นเรื่องของกิจกรรมอย่างหนึ่งที่สงฆ์จะต้องทำให้เสร็จ อธิกรณสมถะ เมื่อแปลตามศัพท์แปลว่า สงบระงับการกระทำที่ล่วงไปแล้ว ความหมายโดยอรรถก็คือการปรองดองนั้นเอง อธิกรณ์ในพระวินัยมีอยู่ 4 ประเภท คือ

    1. วิวาทาธิกรณ์ การปรองดองในเรื่องการโต้เถียงกันในเรื่องพระธรรมวินัย
    2. อนุวาทาธิกรณ์ การปรองดองในเรื่องการโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ
    3. อาปัตตาธิกรณ์ การปรองดองในเรื่องการต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตนให้พ้นจากอาบัติ 4. กิจจาธิกรณ์ การปรองดองในเรื่องกิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ

      :41: :41: :41: :41:

     เมื่อเกิดอธิกรณ์ขึ้นหน้าที่ของสงฆ์คือ ต้องระงับหรือยุติหรือทำให้จบลงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งมีด้วยกัน 7 วิธี ที่เรียกว่า อธิกรณสมถะ 7 คือ
     1. สัมมุขาวินัย วิธีปรองดองต่อหน้า คือการปรองดองในที่พร้อมหน้า
     2. สติวินัย วิธีปรองดองด้วยถือสติเป็นหลัก
     3. อมูฬหวินัย วิธีปรองดองอธิกรณ์แก่ผู้เป็นบ้า เมื่อจำเลยเป็นบ้า
     4. ปฏิญญาตกรณะ วิธีปรองดองด้วยการยุติตามที่จำเลยรับ อาจเรียกว่าปรองดองด้วยการยอมรับสารภาพในความผิดที่จำเลยทำผิดไปแล้ว
     5. ตัสสปาปิยสิกา วิธีปรองดองด้วยการตัดสินลงโทษแก่ผู้ผิด ที่ไม่รับผิด กรณีนี้ใช้กับกรณีที่มีหลักฐานของการทำผิดมากมาย แม้ผู้ทำผิดดื้อไม่ยอมรับ
     6. เยภุยยสิกา วิธีปรองดองด้วยการอาศัยเสียงข้างมากตัดสินปัญหา ซึ่งคือการใช้วิธีโหวตเสียง ใช้เสียงข้างมากเป็นการตัดสิน
     7. ติณวัตถารกวินัย วิธีกลบไว้ด้วยหญ้า หรือวิธีปรองดองด้วยการใช้วิธีประนีประนอม...เมื่อมีความซับซ้อน และมีผู้ทำผิดกันเป็นจำนวนมาก จึงต่างคนต่างกล่าวโทษซึ่งกันและกัน หาจุดจบมิได้ ถ้าขืนต่อความยาวออกไป ก็จะเป็นเรื่องลุกลามรุนแรง วิธีการอย่างนี้ เหมือนเอาหญ้ากลบไว้
     ติณวัตถารกะ หรือกลบไว้ด้วยหญ้านั้น ให้ทั้งสองฝ่ายสารภาพความผิดกว้างๆ โดยไม่ต้องพาดพิงถึงรายละเอียด และให้สัญญาซึ่งกันและกันว่าจะไม่ขุดคุ้ยความผิดเล็กๆน้อยๆที่ล่วงเกินซึ่งกันและกัน



(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1GEtfZooyIndA9T6HSyJNg8avnp3W.jpg)


     กระบวนการของการก่อให้เกิดความสมานฉันท์ก็นับว่ามีความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายที่ถูกต้องใช้อำนาจในทางที่ผิด พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่า ขอให้ตั้งสติพิจารณาให้แยบคายเสียก่อน ก่อนที่จะคาดโทษผู้อื่นว่าเขาผิด

     พระองค์ตรัสไว้ว่า ปัญหาที่ต้องถามตนเองก่อนก็คือว่า...
     "ข้าพเจ้ามีความบริสุทธิ์จากสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดความปรองดองหรือไม่.?
      ข้าพเจ้ามีพื้นฐานจิตใจเป็นเมตตา กรุณา มากกว่าการผูกเวรและแก้แค้นหรือไม่.?
      ข้าพเจ้ามีความเข้าใจกับมาตรฐานที่ทั้งสองฝ่ายตั้งไว้ชัดเจนหรือไม่.? "

    ถ้าคำถามเหล่านี้ เมื่อถูกถามแล้ว ได้รับคำตอบว่า "ใช่" เรื่องความปรองดองก็สามารถนำขึ้นมาพิจารณาได้

      st12 st12 st12 st12

     เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญของความปรองดองต้องเกิดจากตนเองเสียก่อน ขอให้สังเกตว่า เมื่อเราชี้นิ้วกล่าวโทษผู้อื่น ดูซิว่าอีกสามนิ้วชี้ไปที่ไหน ซึ่งก็หมายความว่า ตนนั้นแหละมีความผิดสามเท่ากว่าคนที่ตนเองชี้กล่าวโทษ

     ฉะนั้น ตามพุทธทัศน์มีวิธีการคิดอย่างน้อย 5 ความคิดที่จะนำไปสู่ความปรองดองในสังคม กล่าวคือ
     1. ตนต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเลือกปฏิบัติของตนเอง
     2. ควรเอาใจของตนใส่ใจคนอื่นเสมอ
     3. ทุกชีวิตมีค่าต่อความเคารพ
     4. ผู้ชี้ความผิดให้ควรถือเสียว่าเป็นเสมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้กับตน
     5. ไม่ควรมีข้ออ้างใดๆที่จะกล่าวว่าเป็นเป้าหมายสูงกว่าการล่วงละเมิดศีลธรรมและจริยธรรม

    เพื่อให้มาตรฐานเหล่านี้มีประสิทธิผล พระพุทธเจ้าจึงได้สร้างบริบทของคุณค่าต่างๆ ที่ส่งเสริมให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายของความแตกแยก นำเข้าสู่กระบวนการของความปรองดอง ให้มีการใช้สัมมาวาจา มีความซื่อสัตย์ และมีความรับผิดชอบในการพิจารณาตน
     นอกจากจะสร้างความสามัคคีในสังคม การปฏิบัตินี้ยังเป็นปัจจัยให้ พัฒนาใจของตน ดังนั้นกระบวนการความปรองดองจะพัฒนาจิตไปในตัว

      ans1 ans1 ans1 ans1

     ในส่วนความปรองดองทางสังคม ปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ...
      - ความรับผิดชอบต่อความปรองดอง ผู้นำรัฐบาลจะพูดกับประชาชนที่ได้รับความทุกข์ ทรมานจากความรุนแรงอย่างไร? ทุกฝ่ายจำต้องรับผิดชอบต่อความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม พร้อมกับควรมีโครงการต่างๆที่ช่วยริเริ่มการเยียวยา ทั้งในระดับจิตใจ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
      - ถัดมา...ประโยชน์ส่วนตนและความปรองดอง สิ่งเดียวที่ควรต้องพลีชีพในนามของความปรองดองก็คือ ประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช่ชีวิต
      - ข้อที่สาม...ความสัมพันธ์ระหว่างสันติภาพกับอำนาจ เสมือน 2 ด้านของเหรียญ ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถรักษาความสมดุลระหว่างสันติภาพและอำนาจระหว่างกลุ่มที่เกี่ยวข้องกันไว้ได้
      - สุดท้าย...กิจกรรมส่งเสริมความปรองดอง เมื่อความปรองดองจะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกทุกคนในสังคมมีเจตจำนงที่แน่วแน่จึงสมควรที่จะมีกิจกรรมส่งเสริมนำสมาชิกในสังคมไปสู่ความสมัครสามัคคีต่างๆ

      หลักธรรมเรื่องการปรองดองนั้นเสมือนเรามีขุมทรัพย์อยู่ในมืออยู่แล้ว  แต่จะมีใครที่ตัดสินใจใช้ขุมทรัพย์นั้นมาให้ก่อให้เกิดความปรองดองในสังคมเล่า.


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.thairath.co.th/content/143011 (http://www.thairath.co.th/content/143011)