สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กันยายน 25, 2015, 10:18:44 pm



หัวข้อ: ชัยชนะของคนแพ้
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 25, 2015, 10:18:44 pm

ชัยชนะของคนแพ้
โดย พระมหาบุญไทย ปุญญมโน

ในการแข่งขันต่างๆย่อมจะมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ แต่ส่วนมากจะมีคนแพ้มากกว่าผู้ชนะ เช่นการสมัครเข้าโรงเรียนหรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆ คนที่สอบได้หรือผู้ชนะย่อมมีน้อยกว่าผู้แพ้ บางโรงเรียนรับนักเรียนได้เพียง 200 คน แต่มีผู้สมัครมากถึง 2,000 คน แสดงว่าอีก 1,800 คน ต้องกลายเป็นผู้แพ้ การชนะนั้นไม่ต้องฝึกก็ได้เพราะการชนะมีเสน่ห์ในตัวอยู่แล้ว แต่การพ่ายแพ้ต้องฝึกจึงจะทำใจให้ยอมรับได้ จนทำให้กลายเป็นชัยชนะของคนแพ้

นานมาแล้วเคยอ่านหนังสือ ชัยชนะของคนแพ้ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ แต่จำเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้ วันนี้ขอยืมมาเป็นชื่อเรื่องเท่านั้นส่วนเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด   
   
มีมหาเศรษฐีคนหนึ่งให้ สัมภาษณ์กับนักข่าวถึงความสำเร็จในปัจจุบันว่ามาจากไหน  เศรษฐีคนนั้นให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนเป็นหนุ่มผมไปสอบแข่งขันเป็นภารโรงที่ โรงเรียนในชนบทแห่งหนึ่ง มีคนเข้าสอบแข่งขันเพียงสองคน เรื่องความสามารถต่างๆผมผ่านการทดสอบหมดทุกอย่างแล้ว ผลปรากฎว่าเราทั้งสองคนไม่แตกต่างกันนัก แต่ผมมีความสามารถเหนือกว่าในด้านการก่อสร้าง ขั้นตอนสุดท้ายจึงมีการสอบ สัมภาษณ์ กรรมการถามผมว่าเรียนจบชั้นไหน ตอนนั้นผมจบเพียงชั้นประถมปีที่สาม ต้องลาออกไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ซึ่งก็โยกย้ายไปหลายที่ ในที่สุดผมก็ไม่ได้เรียนต่อ ส่วนอีกคนหนึ่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่หก ผมจึงแพ้ ไม่ได้เป็นภารโรงตามที่ตั้งใจไว้ จากนั้นมาผมก็ไม่เคยเข้าสอบแข่งขันที่ไหนอีกเลย”


(http://www.cybervanaram.net/images/stories/news/aid08.jpg)
ภาพพ่อค้าขายกล้วยนี้ ถ่ายที่สิบสองปันนา

เขาเล่าต่อไปว่า“จากวันนั้นมาผมก็ประกอบอาชีพหลายอย่างทั้งกรรมกรก่อสร้าง พ่อ ค้าขายกล้วย ขายไข่ปิ้ง จนในที่สุดก็มายึดอาชีพเก็บขยะขาย เลี้ยงชีพเรื่อยมา ได้พบรักกับสาวก่อสร้างคนหนึ่งและได้เแต่งงานอยู่กินด้วยกันจนถึงปัจจุบัน ช่วยกันทำมาหากินจนสามารถเก็บหอมรอมริบมีเงินเหลือมากกว่ารายจ่าย รวบรวมเงินได้จำนวนหนึ่งจากที่เคยเดินก็ซื้อรถสามล้อคันหนึ่ง ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากรถสามล้อก็ซื้อรถกระบะ จากรถกระบะก็กลายเป็นรถสิบล้อ ในที่สุดจากคนเก็บขยะขายก็กลายมาเป็นคนซื้อ ผมรับซื้อเศษขยะแล้วนำมาแยกเป็นหมวดหมู่ นำมาแปรสภาพจากสิ่งที่ไร้ค่าก็กลายเป็นสิ่งที่มีค่า ชีวิตผมเริ่มต้นจากศูนย์คือไม่มีอะไร แต่ผมมีชีวิตที่ไม่ยอมแพ้ จนปัจจุบันผมสามารถประกอบอาชีพหลายอย่างทั้งขายอุปกรณ์ทางการเกษตร ซื้อสินค้าทางการเกษตร มีโรงสี มีโรงมันสัมปะหลัง มีโรงงานน้ำตาล ชีวิตผมเริ่มต้นจากกองขยะ”

เมื่อนักข่าวถามว่า “ท่านมีปรัชญาในการดำเนินชีวิตอย่างไร จึงทำให้ประสบความสำเร็จ”เขาตอบว่า “ไม่ยอมแพ้ ขยัน ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า วันหนึ่งต้องให้มีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับ หรือมีรายรับมากกว่ารายจ่าย”


(http://www.cybervanaram.net/images/stories/news/aid02.jpg)
หญิงคนงานชาวพม่า ถ่ายที่พระธาตุอินแขวน เมียนมาร์

นักข่าวกล่าวเสริมว่า “ถ้าท่านเรียนจบระดับปริญญาคงรวยมากกว่านี้”
เศรษฐีคนนั้นตอบว่า “อย่าว่าแต่จบปริญญาเลย หากวันนั้นผมจบชั้นประถมปีที่หกเท่านั้นคงสอบได้ ป่านนี้ผมคงกลายเป็นภารโรงขี้เมา ยากจนเหมือนคนที่สอบเอาชนะผมไปในครั้งนั้น ผมต้องขอบคุณโชคชะตาในครั้งนั้นที่ทำให้ผมแพ้ ที่ทำให้ผมชนะได้ในวันนี้ เรียกว่าเป็นชัยชนะของคนแพ้คงไม่ผิดนัก”

นักเรียนที่สมัครเข้าเรียน ไม่ได้ นักศึกษาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ คนที่สอบแข่งขันเข้าทำงานไม่ได้ เพราะตำแหน่งมีจำกัด ไม่ต้องท้อแท้ ยังมีที่ให้เรียนอีกมาก ยังมีงานให้ทำอีกมาก งานอะไรไม่สำคัญขอให้เป็นงานที่สุจริต จากนั้นจะนำปรัชญาของเศรษฐีกองขยะไปใช้ก็ไม่สงวนกรรมสิทธิ์แต่ประการใด 


(http://www.cybervanaram.net/images/stories/news/aid07.jpg)
แม่น้ำโขงยามสนธยา วันลอยกระทง ถ่ายจากแขวงห้วยทราย สปป.ลาว

คนทุกคนย่อมมีแพ้มากกว่าชนะ มีเรื่องเล่าว่าโทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้ผลิตหลอดไฟฟ้า ประสบความล้มเหลวในการค้นคว้าเพื่อผลิตหลอดไฟฟ้า  99 ครั้ง แต่ครั้งที่หนึ่งร้อยเขาประสบความสำเร็จ  เขามักถูกนักข่าวถามเสมอว่าเอดิสันคิดอย่างไรกับการที่คนทั่วไปเรียกเขาว่า อัจฉริยะ เขาตอบว่า  “คำว่าอัจฉริยะในความคิดของผม ประกอบด้วยพรสวรรค์เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 99 เปอร์เซ็นต์มาจากความพยายาม”  อัจฉริยะก็แพ้มากกว่าชนะ ถ้าไม่มีเอดิสันในครั้งนั้น ปัจจุบันโลกเราอาจต้องพึ่งแสงสว่างจากดวงตะวันเหมือนในอดีตก็ได้

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน เรียบเรียง 25/03/53


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://old.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=2269&Itemid=148 (http://old.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=2269&Itemid=148)