สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กันยายน 27, 2015, 09:16:42 am



หัวข้อ: การบำเพ็ญปรมัตถ์บารมี ของพระโพธิสัตว์
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 27, 2015, 09:16:42 am

(https://scontent.fbkk5-1.fna.fbcdn.net/hphotos-xfa1/v/t1.0-9/425208_258421017572693_375767740_n.jpg?oh=0bb42f4e27176d8f32a1986ce617f978&oe=565EC134)


การบำเพ็ญปรมัตถ์บารมี ของพระโพธิสัตว์

ส่วนในกาลต่อจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสป นั้นมาเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ของเราทั้งหลายแล้ว จะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นหาได้ไม่. ก็พระโพธิสัตว์ได้รับพยากรณ์จากสำนักพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์มีพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น พุทธการกธรรมมีทานบารมีเป็นต้นเหล่าใด ที่พระโพธิสัตว์ทรงประมวลธรรม ๘ ประการ(ธรรมสโมธาน ๘ ประการ)เหล่านี้ คือ
              ๑. มนุสฺสตฺตํ (ความเป็นมนุษย์)
              ๒. ลิงคสมฺปตฺติ (ถึงพร้อมด้วยเพศ)
              ๓. เหตุ (มีอุปนิสสัยแห่งพระอรหัต)
              ๔. สตฺถารทสฺสนํ (การได้เห็นพระศาสดา)
              ๕. ปพฺพชฺชา (การบรรพชา)
              ๖. คุณสมฺปตฺติ (ถึงพร้อมด้วยคุณ)
              ๗. อธิกาโร (มีความปรารถนาแรงกล้า)
              ๘. ฉนฺทตา (มีความพอใจ)

บุญญาภินีหาร ย่อมสำเร็จได้เพราะธรรมสโมธาน ๘ ประการ แล้วทรงทำอภินีหารที่บาทมูลของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร ทรงตั้งอุตสาหะว่า เอาละ เราจักค้นหาพุทธการกธรรมทุกด้าน ดังนี้ เห็นแล้วว่า ในครั้งนั้น เมื่อเลือกเฟ้นอยู่ เราได้เห็นทานบารมีก่อน จึงบำเพ็ญพุทธการกธรรมเหล่านั้นจนถึงความเป็นพระเวสสันดร.

      ask1 ask1 ask1 ask1

     อนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงบรรลุอานิสงส์ของพระโพธิสัตว์ผู้มีอภินิหารอันกระทำไว้แล้ว อานิสงส์เหล่านั้นท่านพรรณนาไว้ว่า
     นรชนทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยองค์คุณทั้งปวงอย่างนี้ เป็นผู้เที่ยงเพื่อจะตรัสรู้ เมื่อยังท่องเที่ยวไปสู่สังสารวัฏสิ้นกาลนาน
      - แม้ตั้งร้อยโกฏิกัป ก็ไม่ไปเกิดในอเวจีและในโลกันตรนรก ไม่เกิดเป็นนิชฌามตัณหิกเปรต ขุปปิปาสิกเปรต กาลกัญชิกเปรต แม้จะเกิดในทุคติก็ไม่เกิดเป็นสัตว์เล็กๆ
     - เมื่อเกิดในมนุษย์ ย่อมไม่เกิดเป็นผู้บอดแต่กำเนิด ไม่เป็นคนหูหนวก ไม่เป็นคนใบ้ ไม่เป็นคนพิการ ไม่เกิดเป็นหญิง ไม่เป็นอุภโตพยัญชนะ ไม่เป็นบัณเฑาะก์ ย่อมไม่เป็นบุคคลผู้นับเนื่องแล้วจากอภัพบุคคลทั้งหลาย เป็นผู้พ้นแล้วจากอนันตริยกรรม เป็นนรผู้เพียงเพื่อจะตรัสรู้ มีโคจรบริสุทธิ์ในที่ทั้งปวง ไม่เสพมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นในการกระทำว่าเป็นกรรม     
     - แม้เมื่ออยู่ในสวรรค์ ก็ไม่เกิดในอสัญญีภพ ชื่อว่าเหตุเกิดในสุทธาวาสทั้งหลายก็ไม่มี เป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ เป็นสัตบุรุษ ไม่ติดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ย่อมเที่ยวไป เพื่อประพฤติประโยชน์แก่ชาวโลก ย่อมบำเพ็ญบารมีทั้งปวง ดังนี้.


(https://scontent.fbkk5-1.fna.fbcdn.net/hphotos-xfa1/v/t1.0-9/425668_258420980906030_318746800_n.jpg?oh=5f750db593ac1f5abc3390e860ace132&oe=568D283E)


     เมื่อพระโพธิสัตว์บรรลุอานิสงส์เหล่านั้น มาบำเพ็ญบารมีทั้งหลายอยู่
     ในกาลเสวยพระชาติเป็นอกิตติพราหมณ์ ในกาลเสวยพระชาติเป็นสังขพราหมณ์
     ในกาลเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าธนัญชัย ในกาลเสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุทัศนะ
     ในกาลเสวยพระชาติเป็นมหาโควินทะ ในกาลเสวยพระชาติเป็นพระเจ้านิมิมหาราช
     ในกาลเสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร ในกาลเสวยพระชาติเป็นวิสัยหเศรษฐี
     ในกาลเสวยพระชาติเป็นสสบัณฑิต ในกาลเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสีวิราช
     ในกาลเป็นพระเวสสันดร ดังนี้     
     ชื่อว่า ปริมาณอัตภาพที่บำเพ็ญทานบารมี มีคุณนับไม่ได้.

     ว่าด้วยทานที่เป็นปรมัตถ์               
     อนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสสบัณฑิต ได้สละอัตภาพที่ท่านกล่าวไว้ในสสบัณฑิตชาดก อย่างนี้ว่า เราเห็นพราหมณ์ผู้มาขอ จึงสละอัตภาพของตน ทานของเราไม่มีใครเสมอ นั่นเป็นทานบารมีของเรา ดังนี้.
     ชื่อว่า การบำเพ็ญทานเป็นปรมัตถบารมีโดยส่วนเดียว.

     ว่าด้วยศีลบารมีที่เป็นปรมัตถ์               
     อนึ่ง ชื่อว่า ปริมาณอัตภาพที่บำเพ็ญศีลบารมีมีคุณที่นับไม่ได้ คือ ในกาลเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสีวิราช ในกาลเสวยพระชาติเป็นจัมเปยยนาคราช ในกาลเสวยพระชาติเป็นภูริทัตตนาคราช ในกาลเสวยพระชาติเป็นพญาฉัททันต์ ในกาลเสวยพระชาติเป็นราชบุตรของพระเจ้าทิศราช ในกาลเสวยพระชาติเป็นอลีนจิตตกุมาร.
     ก็เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นทำการบริจาคอัตภาพที่กล่าวไว้ในสังขปาลชาดก อย่างนี้ว่า
     เราแม้ถูกยิงด้วยลูกศรทั้งหลาย แม้ถูกแทงด้วยหอกทั้งหลาย ก็ไม่โกรธบุตรนายบ้าน นั่นเป็นศีลบารมีของเรา ดังนี้.
     ชื่อว่า การบำเพ็ญศีลเป็นปรมัตถบารมี โดยส่วนเดียว.

     ว่าด้วยเนกขัมมบารมีที่เป็นปรมัตถ์               
     อนึ่ง ชื่อว่า การปริมาณอัตภาพที่สละราชสมบัติใหญ่บำเพ็ญเนกขัมมบารมี มีคุณนับไม่ได้ คือในกาลที่เสวยพระชาติเป็นโสมนัสสกุมาร ในกาลเสวยพระชาติเป็นหัตถิปาลกุมาร ในกาลเสวยพระชาติเป็นอโยฆรบัณฑิต.
     ก็เมื่อพระโพธิสัตว์สละราชสมบัติออกผนวช เพราะการสละที่ท่านกล่าวไว้ในจูฬสุตตโสมชาดก อย่างนี้ว่า
     เราสละราชสมบัติใหญ่ที่อยู่ในพระหัตถ์ เหมือนสละก้อนเขฬะ เมื่อเราสละอยู่ ก็ไม่มีความเสียดายเลย นั่นเป็นเนกขัมมบารมีของเรา ดังนี้.
     ชื่อว่า การบำเพ็ญเนกขัมมะเป็นปรมัตถบารมี โดยส่วนเดียว.

     ว่าด้วยปัญญาบารมีที่เป็นปรมัตถ์               
     อนึ่ง ชื่อว่า ปริมาณอัตภาพที่บำเพ็ญปัญญาบารมีที่มีคุณนับไม่ได้ คือ ในกาลที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นวิธูรบัณฑิต ในกาลที่เสวยพระชาติเป็นบัณฑิตนามว่ามหาโควินท์ ในกาลเสวยพระชาติเป็นกุททาลบัณฑิต ในกาลเสวยพระชาติเป็นอรกบัณฑิต ในกาลเสวยพระชาติเป็นโพธิปริพาชก ในกาลเสวยพระชาติเป็นมโหสธบัณฑิต.
     ก็เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเสนกบัณฑิต ในสัตตุภัสตุชาดก แสดงอยู่ซึ่งงูพิษในถุง ที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่า
     เราใช้ปัญญาพิจารณาอยู่ จึงช่วยพราหมณ์ให้พ้นจากทุกข์ ปัญญาของเราไม่มีใครเสมอ นั่นเป็นปัญญาบารมีของเรา ดังนี้.
     ชื่อว่า การบำเพ็ญปัญญาเป็นปรมัตถบารมีโดยส่วนเดียว.

     ว่าด้วยวิริยบารมีเป็นต้นที่เป็นปรมัตถ์               
     อนึ่ง ชื่อปริมาณอัตภาพที่บำเพ็ญแม้วิริยบารมีเป็นต้นเป็นคุณนับไม่ได้ก็เหมือนกัน. ก็เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมหาชนกผู้ข้ามมหาสมุทรที่กล่าวไว้ในมหาชนกชาดก อย่างนี้ว่า
     มนุษย์ทั้งหลายมองไม่เห็นฝั่ง พากันตายไปในท่ามกลางมหาสมุทร จิตของเรามิได้เปลี่ยนเป็นอื่น นั่นเป็นวิริยบารมีของเรา ดังนี้.
     ชื่อว่า การบำเพ็ญวิริยะเป็นปรมัตถบารมี โดยส่วนเดียว.

      st12 st12 st12 st12 st12

     ว่าด้วยขันติบารมีเป็นต้นที่เป็นปรมัตถ์               
     เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นขันติวาทีดาบส ทรงอดกลั้นอยู่ซึ่งทุกข์ใหญ่ ดุจไม่มีจิตใจ ที่กล่าวไว้ในขันติวาทิชาดก อย่างนี้ว่า
     เมื่อพระเจ้ากาสิราชใช้ขวานอันคม ฟันเราผู้คล้ายกับไม่มีจิต เราก็ไม่โกรธ นั่นเป็นขันติบารมีของเรา ดังนี้.
     ชื่อว่า ความบำเพ็ญขันติเป็นปรมัตถบารมี โดยส่วนเดียว.

     ว่าด้วยสัจจบารมีเป็นต้นที่เป็นปรมัตถ์               
     เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุตตโสม ได้สละชีวิต รักษาความสัตย์ที่กล่าวไว้ในมหาสุตตโสมชาดก อย่างนี้ว่า
     เราสละชีวิตของเราตามรักษาอยู่ซึ่งวาจาสัตย์ ให้ปล่อยกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ นั่นเป็นสัจจบารมีของเรา ดังนี้.
     ชื่อว่า บำเพ็ญสัจจบารมีเป็นปรมัตถบารมี.

     ว่าด้วยอธิษฐานบารมีเป็นต้นที่เป็นปรมัตถ์               
     เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ ทรงสละแม้ชีวิตอธิษฐานวัตร กล่าวไว้ในมูคปักขชาดก (ชาดกว่าด้วยบุคคลผู้เป็นใบ้และพิการ) อย่างนี้ว่า
     พระมารดาพระบิดามิใช่เป็นผู้น่าเกลียดชังของเรา อิสริยะใหญ่ก็มิได้เป็นที่เกลียดชังของเรา แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น การอธิษฐานจึงเป็นวัตรของเรา ดังนี้.
     ชื่อว่า อธิษฐานบารมีเป็นปรมัตถบารมี.

     ว่าด้วยเมตตาบารมีเป็นต้นที่เป็นปรมัตถ์               
     เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเอกราชผู้มิได้เห็นแม้แก่ชีวิตของพระองค์ ทรงเจริญเมตตาที่กล่าวไว้ในเอกราชชาดก อย่างนี้ว่า
     ใครๆ ย่อมไม่ดุร้ายกับเรา แม้เราก็ไม่กลัวใครๆ ในกาลนั้นเราได้กำลังเมตตาอุปถัมภ์แล้ว ย่อมยินดีในป่าใหญ่ ดังนี้.
     ชื่อว่า ได้บำเพ็ญเมตตาบารมีเป็นปรมัตถบารมี.

     ว่าด้วยอุเบกขาบารมีเป็นต้นที่เป็นปรมัตถ์               
     เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนักบวช ชื่อว่าโลมหังสะ ไม่ละความเป็นอุเบกขาในพวกเด็กชาวบ้านผู้ยังความทุกข์และความสุขให้เกิดขึ้น ด้วยการถ่มน้ำลายรดเป็นต้น และด้วยการนำดอกไม้ของหอมมาให้เป็นต้นตามที่กล่าวไว้ในโลมหังสชาดก อย่างนี้ว่า
     เรานอนในป่าช้า มีกระดูกศพเป็นหมอนหนุน พวกเด็กชาวบ้านเข้าไปแสดงรูปไม่น้อย ดังนี้.
     ชื่อว่า อุเบกขาบารมีเป็นปรมัตถบารมี.

     ความย่อในที่นี้มีเท่านี้ ส่วนเนื้อความพิสดารพึงถือในจริยาปิฎก.



(https://scontent.fbkk5-1.fna.fbcdn.net/hphotos-ash2/v/t1.0-9/536181_276417265773068_281514201_n.jpg?oh=ffea7eded55634d506bc79b4bb560e9c&oe=5692ED5E)


     พระโพธิสัตว์ ครั้นบำเพ็ญบารมีทั้งหลายอย่างนี้แล้ว ดำรงอยู่ในอัตภาพของพระเวสสันดร ได้สร้างบุญเป็นอันมากอันเป็นเหตุให้แผ่นดินใหญ่ไหว ตามที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่า
     แผ่นดินนี้ไม่มีจิต ไม่ทราบถึงความสุขและทุกข์ แม้กระนั้นก็ยังไหวถึง ๗ ครั้ง เพราะกำลังทานของเรา.

       st12 st12 st12 st12

     เมื่อสิ้นพระชนมายุแล้ว ก็ทรงจุติจากโลกนี้ บังเกิดขึ้นในสวรรค์ชั้นดุสิต พระองค์ทรงยิ่งใหญ่กว่าเทวดาอื่นในดุสิตนั้น ด้วยฐานะ ๑๐ ประการ ทรงเสวยทิพยสมบัติตลอดพระชนมายุ ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี โดยการนับปีของมนุษย์
     บัดนี้อีก ๗ วันจักถึงการสิ้นอายุขัย เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดบุพนิมิต ๕ เหล่านี้ คือ
          ๑. ผ้าทั้งหลายเศร้าหมอง
          ๒. ทิพยมาลาเหี่ยวแห้ง
          ๓. พระเสโทไหลออกจากพระกัจฉะ (รักแร้)
          ๔. พระฉวีวรรณะในสรีระปราศจากไป
          ๕. ทรงเบื่อหน่ายทิพยอาสน์.

     เหล่าเทวดาเห็นนิมิตเหล่านั้น ก็พากันสลดใจกล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย สวรรค์จักว่างเปล่าหนอ ดังนี้
     ครั้นทราบว่า พระมหาสัตว์บำเพ็ญบารมีเต็มแล้ว จึงคิดว่า
     บัดนี้ พระโพธิสัตว์นี้จะไม่ทรงอุบัติในเทวโลกอื่นๆ จะทรงอุบัติในมนุษยโลกแล้วบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า พวกมนุษย์จักพากันทำบุญเป็นอันมาก จุติแล้วๆ ก็จักยังเทวโลกให้บริบูรณ์ ดังนี้
     จึงพากันกราบทูลเพื่อประโยชน์แก่ความเป็นพระพุทธเจ้า ดังที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า
     ในกาลที่เราตถาคตเป็นเทพบุตร นามว่าสันดุสิต อยู่ในพวกเทพชั้นดุสิต เหล่าเทวดามีประมาณหนึ่งหมื่นพากันมาประนมอัญชลี วิงวอนเราว่า ข้าแต่พระมหาวีรเทพ กาลนี้เป็นเวลาสมควรแล้วที่พระองค์จักทรงอุบัติในครรภ์พระมารดา ตรัสรู้อมตบท โปรดชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก ดังนี้.

     พระองค์จึงทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ เหล่านี้ คือ
     กาล ทวีป ประเทศ ตระกูล และกำหนดอายุพระพุทธมารดา ตกลงพระทัยแล้ว จึงเสด็จจุติจากดุสิตมาถือปฏิสนธิในศากยสกุล ได้รับการบำรุงบำเรอด้วยสมบัติมากมายในศากยสกุลนั้น ทรงถึงความเป็นหนุ่มสง่างามตามลำดับ...ฯลฯ...(ยกมาแสดงบางส่วน)


อ้างอิง :-
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ มาติกา ติกมาติกา ๒๒ ติกะ
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=34.0&i=1&p=2 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=34.0&i=1&p=2)