สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 06, 2015, 08:19:23 am



หัวข้อ: ทำใจลำบาก.!! เมื่อพ่อสั่ง "ไม่ให้ยื้อชีวิตในวาระสุดท้าย"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 06, 2015, 08:19:23 am
 
(https://scontent.fbkk5-1.fna.fbcdn.net/hphotos-xaf1/v/t1.0-9/523134_287800147968113_36582860_n.jpg?oh=9e4e81d2dfa18188addfd6dbd5d2fed5&oe=56862A8F)

ทำใจลำบาก.!! เมื่อพ่อสั่ง "ไม่ให้ยื้อชีวิตในวาระสุดท้าย"
ปุจฉา-วิสัชนากับ พระไพศาล วิสาโล

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ผมมีคำถามอยากเรียนถามพระอาจารย์เรื่องหนึ่งครับ คือคุณพ่อของผมท่านป่วยเรื้อรังเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการค่อยๆ ทรุดลงๆ จนไม่สามารถเดินหรือขยับได้อย่างคนปกติ การหายใจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเกือบตลอดเวลา ท่านมีความทุกข์ทรมานทางกายและใจมาก ท่านสั่งอยู่เสมอว่าหากท่านมีอาการทรุดหนักแล้วต้องเข้าโรงพยาบาล ท่านขอไม่ให้ยื้อชีวิตท่านด้วยเครื่องช่วยใดๆ เพื่อให้ท่านไปสบายพ้นจากความทุกข์ทรมาน

หลายปีผ่านไป เวลานั้นก็มาถึงเมื่อร่างของท่านถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยอาการเกี่ยวกับการหายใจ ท่านหมดสติหยุดหายใจไป ๑๓ นาที แต่หมอก็พยายามยื้อด้วยการปั๊มหัวใจจนกลับมาหายใจได้อีกครั้ง ทว่าคราวนี้ท่านไม่รู้สึกตัวอีกเลยเป็นเวลาเกือบสัปดาห์หนึ่งแล้ว หมอบอกว่าการขาดออกซิเจนนานขนาดนั้นทำให้สมอง (และอวัยวะอื่น) เสียหาย แต่ไม่ทั้งหมด ยังให้ยายับยั้งความเสียหายแต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น และดูภายนอกร่างกายของคุณพ่อก็แย่ลงไปเรื่อยๆ การรักษาแบบนี้ค่าใช้จ่ายก็สูงมาก

แต่นั่นไม่สำคัญเท่าสิ่งที่คุณพ่อย้ำอยู่เสมอว่าท่านไม่ต้องการให้ยื้อชีวิต ทำให้ลูกและญาติๆ ทำใจลำบาก คือจะบอกให้หมอหยุดการให้ยายับยั้งก็รู้สึกผิดบาป แต่ก็สงสารคุณพ่อที่ต้องมาติดล็อกในสภาวะแบบนี้ หมอเองก็บอกว่าต้องให้ญาติเท่านั้นตัดสินใจ หมอไม่มีข้อแนะนำอะไร

ผมจึงขอกราบเรียนถามพระอาจารย์ว่าควรวางใจในเรื่องนี้อย่างไรดีครับเพื่อที่จะไม่ให้เกิดเป็นตราบาปติดตัวไปและให้คุณพ่อท่านไปสู่สุคติภพด้วยความไม่ทุกข์ทรมาน ขอบพระคุณครับ


 ans1 ans1 ans1 ans1

วิสัชนา : แม้คุณไม่สามารถสั่งให้หมอยุติการให้ยายับยั้ง แต่คุณยังสามารถทำอะไรได้มากกว่าการทำใจ นั่นคือดูแลช่วยเหลือจิตใจของท่าน

ถึงแม้ท่านมีสภาพเหมือนผัก ไม่สามารถพูดจาสื่อสารหรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ แต่อาตมาเชื่อว่าท่านยังสามารถรับรู้ เช่น ได้ยินเสียงที่อยู่รอบตัวได้ ดังนั้นคุณจึงควรพูดในสิ่งที่ทำให้ท่านสบายใจ เช่น พูดถึงประสบการณ์ที่เคยมีความรู้สึกดี ๆ ด้วยกัน หรือพูดถึงสิ่งที่คุณประทับใจในตัวท่าน หยิบยกเรื่องที่ท่านภาคภูมิใจมาคุยให้ท่านฟังด้วยความชื่นชม

หากท่านสนใจธรรมะ ก็อ่านหนังสือธรรมะให้ท่านฟัง หรือพูดถึงบุญกุศลรวมทั้งความดีที่ท่านเคยทำ รวมทั้งพูดให้ท่านคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับครอบครัวหรือลูกหลาน

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ท่านสบายใจ เป็นไปได้ว่าตอนนี้ท่านอาจไม่ได้ทุกข์ทรมานหรือมีความเจ็บปวดทางกายอย่างที่คุณเข้าใจ หากดูแลจิตใจของท่านให้ดี ท่านก็จะไม่ทุกข์กับสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้และหากร่างกายของท่านมาถึงจุดสิ้นสุด ท่านก็จะไปด้วยใจสงบ


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20151005/214508.html (http://www.komchadluek.net/detail/20151005/214508.html)