หัวข้อ: พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญ ประดิษฐาน ณ พุทธมณฑล ๑-๑๖ พ.ย. ๒๕๕๘ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 06, 2015, 09:47:08 pm (http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2015/11/06/k58b9c6bd7gjhdbbie5ak.jpg) พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญ ประดิษฐาน ณ พุทธมณฑล ๑-๑๖ พ.ย. ๒๕๕๘ ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมธาตุ คือ พระอัฐิของพระพุทธเจ้า เป็นศัพท์เฉพาะใช้เรียกเฉพาะพระธาตุของพระพุทธเจ้า หากเป็นของพระอรหันตสาวกจะเรียกว่า “พระธาตุ” เท่านั้น ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพระพุทธประสงค์ให้พระพุทธสรีระของพระองค์แตกกระจายไปจำนวนมาก พระบรมสารีริกธาตุขนาดเล็กสุดแม้ประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ดังปรากฏความในคัมภีร์ “ปฐมสมันตปาสาทิกา” ว่า “โย จ ปูเชยฺย สมฺพุทฺธํ ติฏฺนฺตํ โลกนายกํ ธาตุ สาสปมตฺตมฺปิ นิพฺพุตสฺสาปิ ปูชเย ฯ สเม จิตฺตปฺปสาทมฺหิ สมํ ปุญฺ มหคฺคตํ ตสฺมา ถูปํ กริตฺวาน ปูเชหิ ชินธาตุโยฯ" หมายถึง “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานพระธาตุให้กระจายว่า เราอยู่ได้ไม่นานก็จะปรินิพพาน ศาสนาของเรายังไม่แพร่หลายไปในที่ทั้งปวงก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อเราแม้ปรินิพพานแล้ว มหาชนถือเอาพระธาตุแม้ขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดทำเจดีย์ในที่อยู่ของตน ปรนนิบัติ จงมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า” ทั้งนี้มีคติความเชื่อในดินแดนต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างนับถือว่า พระบรมสารีริกธาตุเป็นวัตถุสูงค่าสูงสุด เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า จึงนิยมกระทำการบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุโดยประการต่างๆ เช่น การสร้างเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระธาตุไว้สักการะ โดยเชื่อว่ามีอานิสงส์ประดุจได้บูชาแด่พระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ :25: :25: :25: :25: ในประเทศไทยมีหลักฐานจารึกโบราณของไทยที่กล่าวถึงปาฏิหาริย์ของพระบรมสารีริกธาตุโดยละเอียด ในประเทศไทยสมัยโบราณ ปรากฏหลักฐานความเชื่อปาฏิหาริย์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมสารีริกธาตุที่เก่าที่สุดในจารึกวัดศรีชุม ซึ่งเป็นศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ โดยพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า ซึ่งเป็นพระโอรสของพระยากำแหงพระราม และเป็นพระนัดดาของพ่อขุนผาเมือง เป็นผู้จารึกขึ้นในระหว่าง พ.ศ.๑๘๙๐-๑๙๑๗ นอกจากนี้ในสมัยอยุธยายังปรากฏหลักฐานความเชื่อปาฏิหาริย์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมสารีริกธาตุในพระราชพงศาวดารหลายแห่ง เช่น ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นต้น และในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในเหตุการณ์ที่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ที่องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นต้น (http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2015/11/06/jikgkac86cd9fcah7kjh8.jpg) ฉลองสัมพันธ์ทางการทูต ๖๐ปี ไทย-ศรีลังกา ในโอกาสฉลองครบรอบ ๖๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับประเทศศรีลังกา รัฐบาลไทยเตรียมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างยิ่งใหญ่ โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ประเทศศรีลังกามาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ที่หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นเวลา ๑๖ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑-๑๖ พฤศจิกายน เพื่อเปิดให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวต่างประเทศได้มีโอกาสเข้าสักการะ ถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ ห้องรับรองพิเศษ สนามบินสุวรรณภูมิ รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ได้ต้อนรับประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา นายไมตรีปาละ สิริเสนา ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาลไทย พร้อมรับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากวัดมหิยานกะนะ ราชมหาวิหาร เมืองอนุราชปุระ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดพิธีรับมอบอย่างยิ่งใหญ่ :25: :25: :25: :25: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการด้านศาสนา ได้มอบหมายให้พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมจิตโต) กรรมการมหาเถรสมาคม และคณะจำนวน ๑๐ รูป เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยในพิธีรับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากศรีลังกา จากนั้นขบวนรถอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ได้เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังหอประชุมพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อประดิษฐานเป็นการชั่วคราว โดยในขบวนรถอัญเชิญประกอบด้วยขบวนธงชาติไทย ขบวนธงชาติศรีลังกา ขบวนธงธรรมจักร ขบวนธงฉัพพรรณรังสี ขบวนนางฟ้าถือโคมแก้ว ขบวนกลองยาว ขบวนทหาร ขบวนเสลี่ยงประดับตกแต่งสวยงาม ขบวนนางรำกิ่งไม้เงิน, กิ่งไม้ทอง ขบวนเครื่องบูชาล้านนา, ตุงชัย, ตุงหูช้าง ขบวนตัวโต ขบวนกลองชัยมังคละ ขบวนทหารม้า ขบวนทหารโบราณ ขบวนรถพระมณฑปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและกองทหารโบราณ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาวไทยร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกา ณ หอประชุมพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน เวลา ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น. ในโอกาสนี้ด้วย (http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2015/11/06/f79g6dkgdf7j8ag8bbhdc.jpg) (http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2015/11/06/dgdc6fbce6f9idaja9b8k.jpg) พระรากขวัญแห่งวัดมหิยานกะนะ สำหรับพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระรากขวัญ หรือกระดูกไหปลาร้า ที่ไทยจะได้อัญเชิญมาจากศรีลังกานั้น นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้ถูกเก็บไว้ ณ มหิยานกะนะราชามหาวิหาร ประเทศศรีลังกา สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ก่อสร้างขึ้นในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพและมีอายุยาวนานกว่า ๒๕๐๐ ปี หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ๙ เดือน พระพุทธเจ้าได้เสด็จเยือนศรีลังกาเป็นครั้งแรก และทรงประทับรอยพระบาทไว้ในบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดแห่งนี้ ในเวลาต่อมาหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอรหันต์นามว่า สาราพุ มหาเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุซึ่งเป็นกระดูกไหปลาร้าด้านซ้ายของพระพุทธองค์จากเถ้ากระดูกไปบรรจุและสักการะที่สถูป วัดมหิยานกะนะ ซึ่งได้รับการบูรณะตกแต่งโดยใช้หินสีทองและยกขึ้นให้สูงเป็น ๑๒ ศอก ภายหลัง กษัตริย์อรรถฐา จุฬาพญา ได้ยกสถูปให้มีความสูงเพิ่มขึ้นเป็น ๓๐ ศอก โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถูปเดิม :25: :25: :25: :25: รายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถูปมหิยานกะนะกล่าวถึงรัชสมัยของกษัตริย์วิเจยะบาที่ ๑ กษัตริย์พระองค์แรกผู้ปกครองอาณาจักรโปโลนนาฬุวะ บทที่เกี่ยวกับสถูปมหิยานกะนะของหนังสือเรื่องสถูปของศรีลังกา เขียนโดย ศ.เสนารัตน์ ปรณาวิทนะ ระบุว่า กษัตริย์วิเจยะบาที่ ๑ ทรงบูรณะสถูปโดยคงความสูงไว้ที่ ๘๐ ศอกเท่าเดิม และในขณะเดียวกันก็ทรงรักษาไว้ซึ่งสถูปเดิมที่สร้างโดยนายสุมนาและพระอรหันต์สาราพุ มหาเถระ รวมทั้งยังฝังสิ่งของโบราณต่างๆ ทั้งสินค้าและเหรียญที่ใช้ในยุคที่พระองค์ครองราชย์ และวางตลับหินที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวนหนึ่งซึ่งเคยฝังไว้ในสมัยกษัตริย์ตุทุเกมุนุไว้ในห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หลังจากยุคของกษัตริย์วิเจยะบาที่ ๑ การบูรณปฏิสังขรณ์สถูปครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วง ๒ ทศวรรษ คือ ค.ศ.๑๙๕๐-๑๙๖๐ งานบูรณะเริ่มขึ้นในช่วงของนายกรัฐมนตรีคนแรกของศรีลังกา นายดีเอส เสนานะยะเก และนายดัดลี เสนานะยะเก ได้เปิดส่วนยอดของสถูปที่บูรณะออก และในระหว่างการบูรณะพระบรมสารีริกธาตุจำนวนหนึ่งที่ถูกเก็บไว้ในตลับโดยกษัตริย์ตุทุเกมุนุได้ถูกบรรจุกลับไว้ดังเดิมในสถูปที่บูรณะและได้เก็บรักษาไว้ในที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของวัดมหินยานกะนะ ขอบคุณภาพข่าวจาก http://www.komchadluek.net/detail/20151106/216445.html (http://www.komchadluek.net/detail/20151106/216445.html) |