สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 08, 2015, 07:40:19 am



หัวข้อ: “ตักบาตรพระร้อยทางเรือ” ประเพณีท้องถิ่นของชาวลาดกระบัง
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 08, 2015, 07:40:19 am

(http://www.banmuang.co.th/uploads/column/img/l/1656_th.jpg)

“ตักบาตรพระร้อยทางเรือ” ประเพณีท้องถิ่นของชาวลาดกระบัง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมงานบุญ “ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ” จัดขึ้นที่วัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง ตามคำเชิญชวนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพมหานคร ที่มีการสืบทอดประเพณีนี้มาอย่างยาวนาน
 
ในอดีตท้องถิ่นลาดกระบัง เป็นที่ราบลุ่มอุดมไปด้วยคูคลอง ที่ทางราชการทำการขุดขึ้น และคลองที่เกิดเองตามธรรมชาติ เพื่อเป็นการระบายน้ำและการสัญจร มีคลองประเวศบุรีรมย์เป็นคลองสายหลัก และมีคลองเล็กน้อยมากกว่า 60 คลอง สำหรับใช้ในการสัญจรไปมา การค้าขาย การประกอบอาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม จึงต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง โดยเฉพาะคลองลำปลาทิว ซึ่งเป็นคลองที่น้ำไหลผ่านหน้าวัดสุทธาโภชน์ นับว่าเป็นคลองสายหลักที่มีความสำคัญต่อวิถีถิ่นในการระบายน้ำจากคลองแสนแสบไปสู่คลองประเวศบุรีรมย์
ทุกบ้านจะต้องมีเรือไม่น้อยกว่า 2-3 ลำตามประเภทของการใช้งาน วัดจำเป็นต้องมีเรือไว้สำหรับพระสงฆ์ออกบิณฑบาตซึ่งมีอยู่ทุกวัดในเขตลาดกระบัง ดังนั้นเรือจึงเป็นพาหนะที่สำคัญ เมื่อถึงวันตักบาตรพระร้อยทางเรือ พระสงฆ์ที่มารับบิณฑบาตก็จะต้องลงเรือมาดเพื่อมารอรับบิณฑบาต เหล่าสาธุชนคนในท้องถิ่นก็จะนำเรือจากบ้านออกมาตักบาตรแด่พระสงฆ์ และได้ยึดถือปฏิบัติกันจนเป็นประเพณีของท้องถิ่น และเรียกประเพณีนี้ว่า “ตักบาตรพระร้อยทางเรือ”  ซึ่งพี่น้องชาวรามัญ หรือมอญ ในเขตลาดกระบังและชาววัดสุทธาโภชน์ได้ยึดปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลามากกว่า 100 ปี

 
(http://www.banmuang.co.th/uploads/column/img/galleryL/1656_1446870709_5_th.jpg)

(http://www.banmuang.co.th/uploads/column/img/galleryL/1656_1446870709_4_th.jpg)

ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ เป็นประเพณีของท้องถิ่นที่ได้ยึดถือปฏิบัติต่อกันมาของพี่น้องชาวรามัญ ชาววัดสุทธาโภชน์และชาวลาดกระบัง ที่ได้แสดงออกถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ร่วมกันรักษาประเพณีไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
 
สำหรับประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือได้กำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกหลังวันออกพรรษาของทุกปี โดยในปีนี้ได้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา พิธีในตอนเช้าจะมีพระภิกษุสงฆ์จำนวนกว่า 100 รูปลงเรือรับบิณฑบาตด้วยขบวนเรือมาด โดยนำขบวนด้วยเรือมาดของเจ้าจอมมารดากลิ่นที่บริเวณสองริมฝั่งคลองลำปลาทิว ส่วนสิ่งของที่ใช้ตักบาตรได้แก่ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวสาร ข้าวสุก อาหารแห้ง ไข่ต้ม ผลไม้ หรือสิ่งของตามความประสงค์ของผู้มีจิตศรัทธาที่มาร่วมประเพณีดังกล่าว

 
(http://www.banmuang.co.th/uploads/column/img/galleryL/1656_1446870709_3_th.jpg)

(http://www.banmuang.co.th/uploads/column/img/galleryL/1656_1446870709_2_th.jpg)

จากนั้นในช่วงกลางวันเป็นพิธีถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์จากเจ้าภาพที่ได้รับการจองไว้ เป็นสำรับคาวหวานที่สวยงามกลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นจำนวนกว่า 100 ชุด เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ที่มารับบิณฑบาตในตอนเช้า และในตอนบ่ายมีประเพณีแข่งเรือพาย เรือที่ใช้สำหรับแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นเรือที่มีอยู่ในท้องถิ่น ที่เรียกว่า เรือเพรียว และเรือมาด จุดมุ่งหมายของการจัดการแข่งขันเพื่อเสริมสร้าง ความรัก ความสามัคคีของคนในท้องถิ่น
 
และในวันเดียวกันนั้นผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมงานพิธีห่มผ้าองค์พระสมุทรเจดีย์ ซึ่งพิธีจะเริ่มต้นโดยการแห่ผ้าห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ไปรอบตลาดปากน้ำ และที่อำเภอพระประแดงในช่วงเช้า แล้วจึงนำผ้าห่มฯ มาที่วัดพระสมุทรเจดีย์ เพื่อทำการแห่รอบองค์พระสมุทรเจดีย์หลังจากแห่รอบองค์พระสมุทรเจดีย์ครบ 3 รอบ ก็เข้าสู่พิธีการห่มผ้าองค์พระสมุทรเจดีย์ โดยการห่มผ้าฯ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาช้านานโดยสมาชิกจากครอบครัวรุ่งแจ้งจะเป็นผู้ดำเนินการโดยปีนขึ้นไปเพื่อห่มผ้ารอบองค์พระสมุทรเจดีย์
จากความร่วมแรงร่วมใจ และความเข้มแข็งของชุมชน ที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ ก็เพื่อให้คนรุ่นหลังมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตนเอง

 
(http://www.banmuang.co.th/uploads/column/img/galleryL/1656_1446870709_1_th.jpg)

ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.banmuang.co.th/column/sport/1656 (http://www.banmuang.co.th/column/sport/1656)